เลื่อน กม.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อย่าชะล่าใจ นำเสนอละเมิดยังเข้าข่ายผิด

เลื่อน กม.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อย่าชะล่าใจ นำเสนอละเมิดยังเข้าข่ายผิด กองบรรณาธิการจุลสารราชดำเนินออนไลน์

ภายหลังรัฐบาลตัดสินใจขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ในบางหมวด ออกไปอีก 1 ปี โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 พร้อมกับออก พ.ร.ฎ.กำหนดหน่วยงานและกิจการที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 พ.ศ.2563 มาเป็นเกราะป้องกันให้บางหน่วยงาน หรือบางกิจการ รวมกว่า 22 ประเภท ที่ตอนนี้ยังไม่มีความพร้อมปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ให้สามารถทำงานต่อไปได้

นั่นจึงทำให้การประกอบกิจการของภาคธุรกิจหลายๆ ประเภทตามที่กฎหมายฉบับใหม่กำหนดเอาไว้ ยังพอมีเวลาปรับตัว ปรับปรุง และยังสามารถใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลแบบอิสระไปได้อย่างน้อยก็อีก 1 ปี โดยไม่ต้องรับผิดทางอาญา และยังไม่ต้องรับผิดในโทษปรับทางปกครองตามกฎหมาย แม้ว่าการกระทำดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลก็ตาม ส่วนการทำงานของ สื่อมวลชน ก็พลอยได้อานิสงส์เช่นเดียวกันในการเตรียมตัวรับกับการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้อย่างเป็นทางการ เรามาทำความรู้จักกับ  พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 กัน สำหรับ พ.ร.บ.ฉบับ นี้ นับเป็นกฎหมายสำคัญในการคุ้มครองข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ทั้งการศึกษา ฐานะการเงิน ประวัติสุขภาพ ประวัติอาชญากรรม ประวัติการทำงาน และข้อมูลส่วนบุคคลต่าง ๆ โดยห้ามไม่ให้ผู้อื่นนำข้อมูลที่ว่าไปใช้เพื่อประโยชน์ด้านใดด้านหนึ่งที่เจ้าของข้อมูลไม่ยินยอม เพราะในปัจจุบันเราต้องใช้ข้อมูลส่วนตัวในการติดต่อเพื่อทำธุรกรรมต่าง ๆ กับหน่วยงานหรือองค์กรภาครัฐและเอกชน โดยองค์กรเหล่านั้นกลับนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ด้วยขายข้อมูลของเราให้หน่วยงานหรือองค์กร เพื่อไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ อีกทั้งยังมีผลทางด้านการค้า และการทำธุรกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ประกอบการไทยที่ต้องติดต่อ หรือรับส่งข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนในประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปก็ต้องมีมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่สอดคล้องกับระเบียบการคุ้มครองทั่วไป ซึ่งเป็นเป็นกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรปที่มีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 สาระสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ มี 3 ประเด็นหลัก คือ เจ้าของข้อมูลต้องให้ความยินยอม ในการเก็บรวบรวม การใช้ และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลตามวัตถุประสงค์ที่ผู้เก็บรวบรวม ผู้ใช้แจ้งไว้ตั้งแต่แรกแล้วเท่านั้น

หากผู้นำเสนอต้องการได้ข้อมูลต้องขออนุมัติจากเจ้าของข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน จึงสามารถใช้ข้อมูลได้ ประเด็นต่อมา ผู้เก็บรวบรวมข้อมูลต้องรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล ไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือถูกเข้าถึงโดยผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลที่มีความอ่อนไหว เช่น ข้อมูลของผู้ป่วย หรือข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงิน

ประเด็นสุดท้าย เจ้าของข้อมูลมีสิทธิ์ถอนความยินยอม ขอให้ลบหรือทำลายข้อมูลเมื่อใดก็ได้ หากเป็นความประสงค์ของเจ้าของข้อมูล และผู้เก็บรวบรวมข้อมูลต้องปฏิบัติตามทันที หากผู้เก็บรวบรวมข้อมูลฝ่าฝืน จะมีบทลงโทษทั้งทางอาญา และทางปกครอง โดยมีโทษทางอาญาคือ จำคุกไม่เกิน 6 เดือนถึง 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาทถึง 1 ล้านบาท ส่วนโทษทางปกครอง มีโทษปรับตั้งแต่ไม่เกิน 5 แสนบาท ถึง 5 ล้านบาท ก็ตาม แม้ว่าตามมาตรา 4 ของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะกำหนดให้กฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช้บังคับ แก่บุคคล หรือนิติบุคคล ซึ่งใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่ทำการเก็บรวบรวมไว้เฉพาะเพื่อกิจการสื่อมวลชน งานศิลปกรรม หรืองานวรรณกรรมอันเป็นไปตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ หรือเป็นประโยชน์สาธารณะเท่านั้น แต่ก็มิอาจปฏิเสธได้ทั้งหมดว่า การทำงานของสื่อมวลชนในบางเรื่องมียังมีความเกี่ยวข้องกับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล และอาจต้องอยู่ภายใต้การดูแลของกฎหมายนี้ เช่น ในกรณีการนำภาพข่าวบุคคลมานำเสนอ หรือนำคลิปวิดีโอ ซึ่งขณะนี้สื่อมวลชนหลายประเภท ทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ มักหยิบเอาคลิปวิดีโอเรื่องราวของบุคคลที่เป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง หรือความรุนแรงที่ด้านต่างๆ มานำเสนอ แม้ว่าจะระบุชื่อเจ้าของ ชื่อบุคคลลงไปด้วย แต่หากคลิปวิดีโอที่นำเสนอไปนั้น กระทบกับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ทำให้เกิดความเสียหาย ก็อาจมีความผิด เพราะถือว่าเป็นการกระทำละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 ตามมาตรา 420  กำหนดว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น ขณะเดียวกันยังอาจเข้าข่ายมีความผิดตามมาตรา 423  กำหนดว่า ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้ หรือผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ ไปอีกหนึ่งกระทงด้วย ช่นเดียวกันกับการนำภาพทั้งภาพนิ่ง หรือวีดีโอ ซึ่งเป็นภาพที่มีความอ่อนไหวต่อสังคม หรือภาพที่ทำให้บุคคลในภาพได้รับผลกระทบ ได้รับความอับอาย หรือเป็นภาพที่ไม่อยู่ในสถานที่ และบริบทที่ไม่ควรนำมาเผยแพร่ หากหยิบยกมานำเสนอแล้วอาจเป็นที่โจษจันในสังคมวงกว้าง กรณีเช่นนี้ แม้กฎหมาย คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อาจะมีข้อยกเว้นไว้ให้ แต่สุดท้ายก็ยังมีความผิดเกี่ยวกับการละเมิดอยู่ดี นี่ยังไม่นับภาพที่เข้าข่ายละเมิดและผิดกฎหมายของกรมกองอื่นๆ อีก ทั้งภาพการละเมิดต่อเด็ก เยาวชน สตรี หรือภาพที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ภาพผู้ต้องหาที่มีเครื่องพันธนาการ ตั้งแต่โซ่ตรวน กุญแจมือ และกุญแจเท้า แม้กระทั่งภาพที่แฝงไปด้วยการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ เหล้านี้ล้วนอยู่เหนือเส้นแบ่งแยกของความเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะทั้งสิ้น รวมถึงภาพที่โชว์บนหน้าหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์ต่างๆ ซึ่งมักจูงใจให้คนอ่านด้วยภาพผู้เสียชีวิต หรือภาพที่มีลักษณะอุจาดและสร้างความรู้สึกสยดสยอง ต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะกรณีเหล่านี้ แม้จะไม่ได้มีความผิดตามข้อกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลโดยตรง แต่ก็ถือเป็นการซ้ำเติมความทุกข์โศกของญาติผู้เสียชีวิต และผิดหลักจรรยาบรรณของสื่อมวลชนที่ดีอย่างไม่ต้องมีข้อสงสัย อีกกรณีที่อยากยกมา คือ การนำเสนอภาพข่าวจากกล้องติดหน้ารถยนต์ หลายคนคงได้เห็นการนำเสนอข่าวในประเภทนี้มาไม่น้อย ส่วนมากมักเป็นกรณีของการนำเสนอข่าวเรื่องอุบัติเหตุ ซึ่งกรณีการหยิบยกภาพข่าวในลักษณะนี้ขึ้นมาเผยแพร่เป็นสาธารณะนั้น อาจมีความสุ่มเสี่ยงให้มีความผิดเกี่ยวกับการละเมิดเกิดขึ้นได้ และยังต้องระวังด้วยว่า ภาพเหล่านั้นเมื่อนำเสนอเป็นสาธารณะแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่ภาคธุรกิจอาจนำภาพเหล่านั้นไปใช้ในเชิงธุรกิจของตัวเองอีกด้วย อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง ให้ความเห็นว่า แม้ว่ากฎหมายจะเลื่อนออกไป แต่การทำงานของสื่อก็ควรต้องระมัดระวังการนำเสนอข่าวสารผ่านสาธารณะเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่า ในกรณีที่สื่อเปิดเผยข้อมูลไปแล้ว แต่ข้อมูลที่นำเสนอนั้น ไม่ได้ทำให้แหล่งข้อมูลได้รับความปลอดภัย อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ ขณะเดียวกันในอนาคต การนำเสนอข่าวอาจทำได้ไม่เหมือนเดิม หรืออาจเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม เพราะสื่อมวลชนต้องกลับมาพิจารณาเรื่องการคุ้มครองข้อมูลของบุคคล โดยหันมาเน้นเรื่องของความปลอดภัยเป็นหลัก แทนที่จะเน้นการสื่อสารออกไปเชิงธุรกิจ “การนำเสนอข่าวสารตอนนี้สื่อต้องการภาพเพื่อไปขาย ซึ่งก็ถือเป็นธุรกิจอีกอย่างหนึ่ง แต่ต่อไปการที่จะลงภาพต่อไปนี้คงต้องเบลอมากขึ้น หรือเปิดเผยได้เล็กน้อย เพราะต้องยึดเรื่องของความปลอดภัย และเรื่องความมั่นคงตามมาอีก ที่ผ่านมาจากประสบการณ์อยู่ต่างประเทศหลายปีไม่เคยเห็นหน้าหนังสือพิมพ์ต่างประเทศลงข่าวเหมือนหนังสือพิมพ์ในไทย ส่วนตัวไม่อยากให้เอาความบกพร่องตรงนี้มาทำเป็นธุรกิจหลักของสื่อ เพราะการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสิ่งสำคัญ ที่สื่อไม่จำเป็นต้องนำเสนอทั้งหมด สามารถหยิบเอาโมเดลของต่างประเทศมาใช้ได้ หรือถ้าลงก็อาจลงเป็นเชิงบวก เหมือนหนังสือพิมพ์ต่างประเทศเล่มหนึ่งที่ลงชื่อของผู้เสียชีวิตจากโควิดเพื่อแสดงความอาลัย” เขาให้ความเห็นอีกว่า ในช่วงเวลาที่เหลืออีก 1 ปีก่อนกฎหมายฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ อยากเสนอแนะว่า ภาครัฐควรต้องหันหน้าคุยกับทั้งภาคเอกชน รวมถึงองค์กรสื่อต่างๆ ถึงผลกระทบที่แท้จริง และการใช้ประโยชน์ร่วมกันจากกฎหมายฉบับนี้ โดยอาจนำโมเดลจากต่างประเทศมาปรับใช้ ทั้งจากยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา หากเรายึดโยงกฎหมายจากประเทศที่มีกฎหมายนี้แล้วมาปรับใช้ จะมีผลดีคือ กฎหมายของเราจะเชื่อมโยงไปในทิศทางเดียวกับต่างประเทศ ประโยชน์ที่จะตามมามีมหาศาล เพราะสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศจากกรอบการตกลงด้านต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ที่กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการค้าของโลกจากนี้เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามระยะเวลาที่เหลือ 1 ปีจากนี้ ทั้งสื่อมวลชน คนทั่วไป และภาคธุรกิจ คงต้องมาศึกษารายละเอียดของข้อกฎหมายฉบับนี้อย่างจริงจัง มิเช่นนั้นอาจกลายเป็นผู้กระทำผิด จนส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสังคมในวงกว้าง

ดาวโหลด พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562