อ่านความคิด วัชรพลรุ่นที่ 3 ทายาทสื่อเครือไทยรัฐ ในภาวะ media disruption

... ถ้าพูดตรงๆ เลย ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องกลัว ถ้ามันจะเป็นขึ้นมา เพราะเราเองก็สื่ออื่นที่รองรับอยู่ เราก็มีทีวี มีดิจิตอล คือมันอาจจะน่ากลัวถ้า you เป็นหนังสือพิมพ์อย่างเดียวแล้วไม่มีอะไรอย่างอื่น ถ้าหนังสือพิมพ์ตายไป ก็เป็นของyou คนเดียว แต่อันนี้มันก็มีสื่ออื่นที่รองรับอยู่ แต่หนังสือพิมพ์ก็ยังมีคนอ่านอยู่ บางคนก็ยังชอบการที่ได้จับกระดาษ ยังไม่ชอบอ่านออนไลน์ก็มี คืออาจจะไม่ได้ตายไปเลยก็ได้ print industry ก็อาจไม่ได้ sunset ไปหมด

ธนาวลัย วัชรพล เจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการออนไลน์ไทยรัฐออนไลน์ -ทายาทสื่อเครือไทยรัฐ

อ่านความคิด วัชรพลรุ่นที่ 3 ทายาทสื่อเครือไทยรัฐ ในภาวะ media disruption

โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

สถานการณ์ธุรกิจสื่อมวลชนทุกแขนง หลัง Post Covid-19 ยังเป็นเรื่องที่คนทำสื่อ-นักข่าว-สื่อมวลชน  ยังคงต้องติดตามกันต่อไป เพราะธุรกิจสื่อ ก็ไม่แตกต่างจากธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกัน จากที่เดิม ธุรกิจสื่อ ก็อยู่ในสภาพน่าเป็นห่วง มาหลายปีติดต่อกันแล้ว ยิ่งมาเจอกับวิกฤตไวรัสโควิด-19 เลยยิ่งทำให้ สถานการณ์ธุรกิจสื่อ ยิ่งต้องดิ้นรนหนักมากขึ้นไปอีก

หนึ่งในธุรกิจสื่อค่ายยักษ์ใหญ่ ย่านถนนวิภาวดีรังสิต อย่าง”สื่อเครือไทยรัฐ” ของตระกูล”วัชรพล” ที่มีธุรกิจสื่อในเครือทั้งไทยรัฐทีวี ที่บริหารงานโดย บริษัท ทริปเปิลวีบรอดคาสต์ จำกัด-เว็บไซด์ไทยรัฐออนไลน์ ที่บริหารโดย บริษัท เทรนด์ วีจี3 จํากัด และหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ บริหารงานโดย บริษัท วัชรพล จำกัด พบว่าช่วงหลายวันที่ผ่านมา ได้ถูกพูดถึงในแวดวงธุรกิจสื่อไม่น้อย หลังมีข่าวว่า “หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ”ที่เป็นธุรกิจสื่อฐานหลักที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มสื่อเครือไทยรัฐมาถึงปัจจุบัน กำลังจะมีการปรับโครงสร้างองค์กร-กองบรรณาธิการข่าว

อย่างไรก็ตาม ในหนังสือ”วันนักข่าว 5 มีนาคม 2563” ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงของธุรกิจสื่อเครือไทยรัฐ   คือ ธนาวลัย วัชรพล เจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการออนไลน์ไทยรัฐออนไลน์ (บริษัท เทรนด์ วีจี3 จํากัด) หนึ่งในทายาทเครือวัชรพล เจ้าของสื่อในเครือไทยรัฐ ซึ่ง”ธนาวลัย” ปัจจุบัน รับผิดชอบการบริหารงานข่าวของสื่อออนไลน์ทั้งหมดของไทยรัฐโดยเฉพาะ”ไทยรัฐออนไลน์

บทสัมภาษณ์ดังกล่าว  กองบรรณาธิการ “เพจจุลสารราชดำเนิน” เห็นว่า มีเนื้อหาบางส่วน ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะมุมมองของ ผู้บริหารสื่อรุ่นใหม่ค่ายยักษ์ใหญ่ ที่เป็นทายาทสื่อเครือไทยรัฐรุ่นที่  3 ที่ให้ความเห็นถึงทิศทางสื่อ-ธุรกิจสื่อยุคปัจจุบัน -การเตรียมใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วงในการทำงานข่าว -การปรับตัวของธุรกิจสื่อ คนทำสื่อ นักข่าว ในการนำเสนอ content ในยุคที่เรียกกันว่า Disrupt สื่อ โดยมีรายละเอียด ทั้งหมดที่ตีพิมพ์ ดังนี้

...........................................

ก้าวย่าง ไทยรัฐออนไลน์

กับอาวุธใหม่ เทคโนโลยี AI

เสริมแกร่งงานข่าว

....................................

ผู้บริหารองค์กรสื่อยักษ์ใหญ่ ค่าย”ไทยรัฐ”ของกลุ่มตระกูล”วัชรพล”ที่มีสื่อในเครือหลายแพลตฟอร์ม และแต่ละแพลตฟอร์มก็ได้รับความนิยมในอันดับต้นๆ ทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ -เว็บไซด์ข่าวไทยรัฐออนไลน์-ไทยรัฐทีวี จึงทำให้น่าติดตามว่า ทิศทางต่อจากนี้ของสื่อในเครือไทยรัฐ กับการนำเทคโนโลยี -นวัตกรรมต่างๆ มาใช้ในการนำเสนอข่าว และการทำงานของกองบรรณาธิการสื่อในเครือไทยรัฐ จะเป็นอย่างไร ต่อไป

เรื่องนี้ เราได้รับการเปิดเผยจากผู้บริหารระดับสูงของสื่อในเครือไทยรัฐคือ “ธนาวลัย วัชรพล เจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการออนไลน์ไทยรัฐออนไลน์ (บริษัท เทรนด์ วีจี3 จํากัด) “หนึ่งในทายาทเครือวัชรพล เจ้าของสื่อในเครือไทยรัฐ โดย ธนาวลัย ปัจจุบัน รับผิดชอบการบริหารงานข่าวของสื่อออนไลน์ทั้งหมดของไทยรัฐโดยเฉพาะ”ไทยรัฐออนไลน์

“ธนาวลัย”บอกว่า หน้าที่หลักๆตอนนี้คือ นอกจากคุมงานด้านสื่อออนไลน์ของไทยรัฐแล้ว ก็ยังรับผิดชอบงานด้าน เทคโนโลยี โดยเฉพาะ การวิจัยและพัฒนา หรือ research and development( R&D)รวมถึงรับผิดชอบดูแลทีมproduction ของไทยรัฐทีวี แต่งานหลัก ๆก็คือการรับผิดชอบไทยรัฐออนไลน์ที่ตอนนี้เพิ่งครบรอบสิบปีของไทยรัฐออนไลน์เพื่อก้าวเข้าสู่ปีที่ 11

..ปัจจุบัน กองบก.ไทยรัฐออนไลน์ ก็มีบุคลากรเยอะพอสมควร  เพราะเรามีทีมที่จะทำในส่วนของการทำคอนเทนต์วีดีโอ แต่ถ้าเฉพาะกองบก.ไทยรัฐออนไลน์อย่างเดียวก็ประมาณ40-50คน  โดยข่าวของเราก็จะมาจากที่นักข่าวหนังสือพิมพ์ไปทำข่าวแล้วส่งข่าวเข้ามาในกองบก. ที่ข่าวก็จะถูกส่งมาอยู่ในระบบที่นำไปใช้ทั้งกับหนังสือพิมพ์ปกติและนำมาใช้กับไทยรัฐออนไลน์ ขณะเดียวกัน ในส่วนของไทยรัฐออนไลน์ มีการแบ่งทีมงานกันออกเป็นหลายโต๊ะมีโต๊ะที่ทำวีดีโอ และ กองบก.ที่ทำโซเชียลมีเดีย ที่จะรับผิดชอบโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม

..สำหรับรายได้หลักของธุรกิจสื่อในเครือ ตอนนี้ ก็มีไทยรัฐทีวี ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำรายได้ให้บริษัทมากเช่นกัน เช่นเดียวกับไทยรัฐออนไลน์เช่นกัน  เพราะรายได้ของหนังสือพิมพ์ก็ลดน้อยลงอยู่แล้วตามเทรนด์แต่ก็ยังเป็นรายได้หลักอยู่ แต่ทั้งทีวีและออนไลน์ ก็เป็นอีกสองช่องทางที่ทำรายได้ตามมา

"ซีอีโอ-ไทยรัฐออนไลน์"เปิดเผยว่าสำหรับความนิยมของไทยรัฐออนไลน์ปัจจุบันที่เป็นเว็บไซด์ที่มียอดวิวอยู่ในอันดับต้นๆ และเป็นเว็บไซด์ข่าวอันดับหนึ่ง ว่าปัจจุบันไทยรัฐออนไลนมี Daily Active Users (DAU)สองล้านต่อวัน Monthly active users (MAU) 25 ล้านต่อเดือน ที่เข้ามาโดยเราจะอยู่ในอันดับที่สองตลอดของทั้งปี 2562ที่ในอันดับเว็บไซด์ทั้งหมด ก็จะมีไทยรัฐออนไลน์กับsanook.com แต่หากเป็นหมวดข่าว ไทยรัฐออนไลน์ก็อยู่อันดับหนึ่ง  โดยข่าวที่คนคลิกเข้ามาอ่านส่วนใหญ่ของไทยรัฐออนไลน์ ก็เป็นข่าวที่อยู่ในความสนใจของคนในสังคม ส่วนข่าวการเมืองก็มีคนเข้ามาอ่านมาก แต่ก็เป็นช่วงๆ เป็นระยะๆ  ที่ผ่านมา ก็มีการนำคลิปวีดีโอต่างๆ เข้ามานำเสนอมากขึ้น ส่วนรายได้ของออนไลน์ ทำได้ดีมาก มีผลกำไร โดยโฆษณาก็จะมีเข้ามาตลอด

“ไทยรัฐออนไลน์ มีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ ก็พยายามใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงาน มีการพูดคุยจับมือกับหลายบริษัทเพื่อจะนำเรื่องเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในการทำงาน เช่นการหาสตาร์ทอัพ ที่เก่งในเรื่องเทคโนโลยีAI มาช่วยในการเขียนข่าว สรุปข่าว การเขียนพาดหัวข่าว อย่างไรให้ได้ใจความ ทำให้คนสนใจ และลดช่วยกระบวนการทำงานได้ด้วย”

ส่วนข้อสงสัยว่า เทคโนโลยี AI ดังกล่าว จะมาสนับสนุนการทำงานของกองบรรณาธิการข่าวไทยรัฐได้อย่างไร เรื่องนี้ “ธนาวลัย”อธิบายขั้นตอนไว้ว่า กระบวนการก็จะเป็นลักษณะการนำข่าวหรือdata-baseที่เรามี เช่นการนำข่าวของไทยรัฐออนไลน์เช่นหนึ่งหมื่นข่าว ที่มีอยู่ ป้อนเข้าไปในกระบวนการ AIให้เรียนรู้ เป็น machine learning ให้เข้าใจว่าข่าวแบบนี้ กองบก.เราจะโปรยหัวข่าวประมาณไหน ทำให้AI ดังกล่าวได้เรียนรู้ไประดับหนึ่งแล้วจากนั้น อนาคตพอเรานำข่าวชิ้นหนึ่งส่งเข้าไปในกระบวนการ โดยที่ข่าวที่ส่งไปไม่ได้มีการโปรยไปให้ แต่กระบวนการAIดังกล่าวที่ได้เรียนรู้จากข่าวหมื่นข่าวที่เราเคยส่งเข้าไปในระบบแล้ว ก็จะโปรยข่าวดังกล่าวที่เราส่งไปให้หนึ่งชิ้นกลับออกมา แต่เราก็ต้องใช้ data-base มหาศาลที่เรามี เป็นAccess นั้น

...เปรียบเหมือนเช่น AI ดังกล่าวตอนแรก ยังเป็นเด็กอนุบาล แต่ถ้าเรามีข้อมูล ป้อนเข้าไปในระบบ จนต่อมา ก็มีการพัฒนาเติบโตขึ้นมาตามระบบก็มาเป็นเด็กป.2 ป.3 ไปเรื่อยๆ ที่ก็คือเราต้องมีฐานข้อมูล เป็นdata  ไปสอนระบบให้มันฉลาดขึ้น

ถามเพื่อให้เห็นภาพให้ชัดเจนมากขึ้นว่า หมายถึงหากเกิดอะไรเกิดขึ้นเช่น สภาฯล่ม องค์ประชุมไม่ครบ นักข่าวส่งข่าวมาตอน11.00 น. หรือเกิดเหตุฆาตกรรม แล้วจับคนร้ายได้ กองบก.ก็ส่งข่าวเขาไปในระบบAIแล้วจากนั้นระบบจะทำงานอย่างไร “ธนาวลัย”อธิบายว่า กองบก.ที่รับผิดชอบในการเขียนข่าวดังกล่าว ก็นำส่งข่าวดังกล่าวเข้าระบบ ตัวAIดังกล่าว ก็จะส่งกลับออกมาพร้อมโปรยและพาดหัวข่าว

อย่างไรก็ตาม”ธนาวลัย”ออกตัวไว้ว่า อันนี้คือ process ที่เรากำลังทำอยู่ ยังไม่ได้นำมาใช้ ซึ่งต่างประเทศเช่นที่จีน ก็มีการนำAI หรือ machine มาช่วยเขียนข่าวแทนมนุษย์ เราก็พยายามนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาใช้ ที่ขั้นตอนอยู่ระหว่างการ PLANING แต่หลักๆที่ช่วยได้ก็คือ ข้อมูลที่เป็นข่าวของเรา เพราะเรามี data -baseเยอะมาก มีข่าวเป็นหมื่นๆ แสนๆ ตรงนี้เป็นส่วนที่ไทยรัฐลงทุนได้เพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไร

ต้องเปลี่ยน reporter

ให้เป็น content creator

“ธนาวลัย”ในฐานะผู้บริหาร ไทยรัฐออนไลน์กล่าวถึงทิศทางของไทยรัฐออนไลน์ ต่อไปว่า ก้าวย่างต่อไปของไทยรัฐออนไลน์ต่อจากนี้มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาอยู่ตลอดเวลา โดยปี2563 จะมีการบุกเบิกทำธุรกิจโมเดลใหม่ๆในปีนี้ จากB2B (Business-to-Business) ก็จะขยับเป็นฺB2C (business-to-consumers)มากขึ้น เพื่อจะได้ไม่ต้องมาขายโฆษณาอย่างเดียว

...นอกจากนี้ที่ผ่านมา กลุ่มไทยรัฐ ก็มีการขยายไปทำธุรกิจอย่างอื่นด้วย ที่ไม่เกี่ยวกับสื่อเลยเช่น เครื่องสำอาง อย่างไรก็ตาม ก็ยอมรับว่า ในส่วนของไทยรัฐเอง ก็มีการ discuss  กันอยู่ถึงเรื่องการนำข้อมูลของข่าวไทยรัฐไปต่อยอดทำอย่างอื่น เพราะเรื่อง Big Data ก็เป็น กลยุทธ์อย่างหนึ่งที่เรากำลังมุ่งเน้นทำอยู่โดยนำ Dataที่มีอยู่พวกนี้มาใช้ ทั้งในการพัฒนาคนในองค์กร รวมถึงนำไปทำอย่างอื่นเช่น คนหนึ่งคนมาอ่านข่าวไทยรัฐข่าวหนึ่ง แต่อาจจะไม่ได้เห็นเหมือนกับที่คนอื่นมาอ่านข่าวเดียวกัน เพราะคนหนึ่งชอบอ่านข่าวกีฬา แต่อีกคนอ่านข่าวบันเทิง เราก็จะมี recommend เป็นการเสิร์ฟข่าวให้อ่านกันตาม behavior ของคนอ่านโดยใช้ AI มาช่วยศึกษา เหมือนกับคนๆหนึ่งเข้ามาในเว็บไทยรัฐ แล้วเขาชอบอ่านข่าวแนวไหน เราก็จะเสิร์ฟข่าวที่ถูกจริตของคุณกลับไปให้

..นอกจากนี้ในปีนี้ 2563 สิ่งที่เราตั้งใจกันตอนนี้เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลง ก็คือการเปลี่ยนนักข่าว จาก reporter  ธรรมดา ให้เป็น content creator ก็คือนักข่าวหนึ่งคน ไม่ใช่แค่เขียนข่าวธรรมดาอย่างเดียวแล้ว คุณต้องสามารถทำวีดีโอได้ เขียนสคิปต์ได้ เปิดหน้ากล้องได้ ตัดต่อได้ ทุกอย่างจบในคนเดียว คือการพัฒนาศักยภาพนักข่าวให้เป็นมากกว่าแค่ Reporter

...เป้าหมายดังกล่าว ทางเราก็มีการเทรนนิ่งนักข่าวมาตลอด  ตอนแรกอาจเป็นอยู่หลังจอ ก็ยังอาจมีบุคคิกที่ยังไม่ดี เราก็มีการเทรนนิ่งเรื่องบุคลิกภาพให้เขาเช่นการรายงานข่าวแบบเปิดกล้อง จะทำอย่างไรให้เขาดูมี Charm อย่างไรให้ดูดี หรือการถ่ายวีดีโอ ที่ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องมือที่แพง แต่ใช้โทรศัพท์มือถือก็สามารถเป็นวีดีโอ คอนเทนต์ได้ ช่วงแรก การเทรนนิ่งดังกล่าว ก็เน้นไปที่ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ แต่ตอนหลังก็พยายามจะให้มีการทำงานร่วมกันของสามสื่อหลักในเครือทั้งไทยรัฐออนไลน์ หนังสือพิมพ์ และไทยรัฐทีวี

..อย่างกรณีของหนังสือพิมพ์ แม้ กองบก.จะไม่ได้ลงมาทำคอนเทนต์วีดีโอเอง แต่ก็ทำให้นักข่าวในส่วนของฝั่งหนังสือพิมพ์เข้าใจการทำงานของกองบก.ไทยรัฐออนไลน์มากขึ้น เพราะอย่างตอนแรกที่ไทยรัฐออนไลน์ เริ่มบุกเบิกทำ คนในส่วนของฝั่งหนังสือพิมพ์ตอนแรกเขาอาจยังไม่เข้าใจสิ่งที่ทางทีมออนไลน์ต้องการคืออะไร เพราะลักษณะกองบก.หนังสือพิมพ์ เขาจะมีเวลาอย่างน้อยก็หนึ่งวันในการเขียนข่าวให้ตกผลึกจนกว่าจะถึงช่วงเวลาปิดหน้าหนังสือพิมพ์แต่ละวัน เช่น ข่าวหนึ่งข่าว กองบก.ก็อาจมีการสัมภาษณ์คนที่เกี่ยวข้องในข่าวนั้นๆ ให้ครบแต่ละประเด็นจนนำไปสู่การเขียนเป็นข่าวหนึ่งข่าว แต่สำหรับออนไลน์ ลักษณะแตกต่างกัน เพราะออนไลน์มีเรื่องของเวลาการนำเสนอที่ต้องแบบเรียลไทม์ เราต้องการข่าวเร็ว

ระยะหลัง ก็พบว่าฝั่งหนังสือพิมพ์ก็มีการปรับตัวในการนำเสนอให้เร็วขึ้นแม้จะไม่ได้ลงมาทำแบบออนไลน์เช่นการทำวีดีโอคอนเทนต์ แต่เขาก็เข้าใจมากขึ้นว่าผู้บริโภคข่าวทางออนไลน์เขาต้องการอะไร ก็จะมีการทำงานที่support กันมากขึ้นเช่นหากกองบก.หนังสือพิมพ์เวลามีการทำข่าวหรือไปสัมภาษณ์ใคร ก็มีการส่งคลิปเข้ามาให้กองบก.เพื่อนำไปใช้ในสื่อออนไลน์ได้รวดเร็วกว่าเดิม

-กองบรรณาธิการของสื่อในเครือไทยรัฐ ไล่ตั้งแต่ระดับบก.ข่าว หัวหน้าข่าวแต่ละโต๊ะ แต่ละแพลตฟอร์ม  เขามีทัศนคติอย่างไรกับการต้องปรับตัว ต้องมีการเทรนนิ่งเพื่อให้การทำงานเข้ากับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน?

ทุกคนเต็มร้อย อยากปรับตัวกันมาก ไม่ว่าจะเป็นคุณลุง คุณป้า ในกองบก.หนังสือพิมพ์ เขาก็ถามตลอดว่าจะมีอะไรให้เขาลงมาช่วยหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา ผู้บริหารก็พยายามจะรวมกองบก.ทั้งสามส่วน (ทีวี-หนังสือพิมพ์-ออนไลน์) ให้เข้ามาใกล้ชิดกันมากขึ้นซึ่งอย่างฝั่งหนังสือพิมพ์เขาก็ดีใจ ทุกคนก็อยากช่วยเราอย่างเต็มที่ ทุกคนมีความกระตือรือร้น อยากปรับเปลี่ยนตลอดเพราะทุกคนก็ทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับวงการสื่อสารมวลชน เช่นหนังสือพิมพ์ตอนนี้เป็นอย่างไร เขาก็อยากเข้ามาsupport

-การที่องค์กรสื่อเครือไทยรัฐ เป็นองค์กรสื่อขนาดใหญ่ มีบุคลากรมาก ทำให้การปรับตัวทำได้ช้าหรือเร็ว ?

ก็มีทั้งสองด้าน ก็มีบางpartที่ปรับตัวเร็ว มีการศึกษาเทคโนโลยี ใหม่ๆ ตลอดเวลา ก็พยายามปรับตัว แต่กีมีบางpart ซึ่งด้วยความที่เราเป็น legacy มันก็จะมีความยากบ้าง เหมือนกับคนทำงานก็ค่อนข้างจะมีความต่างในเรื่องเจเนอเรชั่นกันเยอะ ก็มีตั้งแต่รุ่นคุณลุง คุณป้า จนถึงรุ่นแบบเด็กมากๆ รุ่นน้อง ก็มีสองแบบ

เราถามถึง จุดแข็ง brand ไทยรัฐ "ธนาวลัย-ทายาทคนเล็กสื่อยักษ์ค่ายไทยรัฐ ที่เป็นทายาทวัชรพล รุ่นที่ 3 "มองว่า ไทยรัฐ เป็นbrandที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน จุดแข็งก็ต้องเรื่องข่าวอยู่แล้ว จุดดังกล่าวทำให้ตอนไทยรัฐ เราตัดสินใจไปสู่ธุรกิจสื่อทีวี กลยุทธ์ของเราตอนนั้นก็คือ นำสิ่งที่แข็งที่สุดของไทยรัฐคือ “ข่าวชนละคร” ถึงแม้ว่าเราจะประมูลเป็นช่องวาไรตี้ แต่ไทยรัฐทีวีก็กล้า เอาข่าว ลงช่วงไพรทไทมส์ และทำให้เราเป็นหนึ่งในช่องที่เป็นผู้นำด้านนี้ได้ และแข่งกับละคนได้เหมือนกัน ทำให้เราก็มีpositioning ที่แข็งแรงพอสมควร

...ส่วนไทยรัฐออนไลน์ ก็ยังได้ความเป็นไทยรัฐอยู่ แต่เป็นไทยรัฐในรูปแบบใหม่ เป็นยุคใหม่ของไทยรัฐ คือยังมีลักษณะเหมือนกับการเป็นหนังสือพิมพ์อยู่เช่น วันที่มีการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล ยอดก็ยังดีอยู่ ยังมีความเป็นไทยรัฐอยู่แต่ว่าก็ปรับตัวในความเป็นดิจิตอลด้วย ทำให้เราก็แข็งแรง เพราะเราก็มีฐานเก่า ฐานหลักคือคนที่อ่านหนังสือพิมพ์ แต่เราก็ได้ขยายฐานคนไปด้วย ได้ฐานใหม่เช่น คนอ่านที่เด็กขึ้น หรือtarget ที่อ่านแบบเจาะลึกมากขึ้น อย่างเรามี Data journalismเหมือนกับเอาเทคโนโลยีกับเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่อาจจะไม่ได้สนใจข่าวขนาดนั้น เราก็นำเรื่องที่เกิดขึ้นมาเล่าเรื่องด้วยรูปแบบใหม่ เราก็ได้ฐานคนอ่านข่าวใหม่เข้ามาโดยที่หนังสือพิมพ์อาจไม่ได้มา

ไทยรัฐออนไลน์เอง ก็พยายามปรับตัวในการที่จะหาคอนเทนต์ ที่จะเสริมกลุ่มเป้าหมายต่างๆ เช่นเสนอข่าวให้จับกลุ่มคนเมืองมากขึ้น จับกลุ่มเด็กมากขึ้น เราก็พยายามจะเพิ่มฐานออกไป หลังจากนี้ ก็จะได้เห็นคอนเทนต์ที่เป็นวีดีโอมากขึ้นในเว็บไทยรัฐออนไลน์ เพราะเทรนด์วีดีโอมันมา แล้วเราก็จะปรับให้เป็นเหมือน format ที่คนจะบริโภคจากมือถือเลย รวมถึงการเสนอคอนเทนต์ด้วยวิธีการเล่าเรื่องแบบแปลกๆ ใหม่ๆ ให้ดูแปลกตา เช่น คอนเทนต์ ปลาทูที่ไทยรัฐออนไลน์นำเสนอออกไป ก็เป็นวิธีการนำเสนอแบบใหม่ที่เราอยากจะนำเสนอแล้วเหมือนเป็น Leaders ในเมืองไทยเพื่อยกระดับการเสนอข่าว ไม่ใช่ด้วยวิธีการเดิมๆ

"เราก็แฮปปี้ในการที่เราจะสามารถทำให้ไทยรัฐเป็นสื่อเพื่อประชาชนต่อไปได้  สมัยก่อนอาจจะเป็นหนังสือพิมพ์แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไป แต่เราก็ยังสามารถที่จะสานต่อในสิ่งที่คุณตา สร้างไว้ได้ในยุคแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือเราก็ไม่ได้ยึดแต่หนังสือพิมพ์แต่ก็เป็นสื่อช่องทางอื่นๆ อย่างทีวี-ออนไลน์ได้" ธนาวลัย กล่าวหลังเราถามถึงว่า ในความเป็นวัชรพล รุ่นที่3มองพัฒนาการของสื่อไทยรัฐในเวลานี้อย่างไร

"ธนาวลัย-ผู้บริหารไทยรัฐรุ่นใหม่"มองปรากฏการณ์ Disruption Media ในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันที่สร้างผลกระทบให้กับองค์กรสื่อ-นักข่าว ที่ตอนนี้ทุกค่ายต้องปรับตัวกันตลอดเวลาเพื่อรองรับกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยให้ทัศนะว่า สภาวะดังกล่าว เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะเมื่อเทคโนโลยีเข้ามา มันก็disrupt ทุก industry สื่อก็เช่นกัน เพราะก็มีโซเชียลมีเดียเข้ามาอย่าง Facebook -google ก็มองว่าไม่ใช่ enemy  เรา แต่เราต้องนำสิ่งเหล่านั้นมาช่วยเหมือนทำให้เราเข้าถึงประชาชนได้ง่ายขึ้นมากกว่าด้วยซ้ำ อย่างที่เคยได้ยินคนพูดเปรียบเทียบกันว่า เมื่อก่อนเราทำหนังสือพิมพ์ เราขายหนังสือพิมพ์ ทำเสร็จแล้วก็เอาหนังสือพิมพ์ไปส่งขาย เอาหนังสือพิมพ์ไปส่งให้ถึงหน้าบ้านคนอ่าน โซเชียลมีเดียวตอนนี้ ก็ช่วยทำแบบนั้นคือไปเสริฟ์ข่าวให้อ่านถึงหน้าจอ ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทาง เพราะเทคโนโลยีทำให้พฤติกรรมการรับข่าวสารของคนเปลี่ยนแปลงไป มันไมใช่เรื่องdisrupt อะไรที่น่ากลัวก็เพียงแต่แค่ คุณปรับตัวได้ทัน มันก็ไปต่อได้ แต่ต้อง adapt เร็ว

"ธนาวลัย-ผู้บริหารองค์กรสื่อรุ่นใหม่"กล่าวถึงการปรับตัวขององค์กรสื่อและคนทำสื่อว่า สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือต้องปรับโดยเทรนให้คน มี Mind set ให้เป็น Digital mindsetมากขึ้น คือDigital mindset กับ  digital savvyแตกต่างกัน

...Digital mindset ก็คือ คุณต้องนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยในการทำงาน ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น อันนั้น คือ Digital mindsetและคือสิ่งที่ถูกต้อง แต่ถ้า คุณ digital savvy คือคุณแค่รู้วา gadget อันนี้เป็นของใหม่ เช่น ไอโฟน ออกมือถือรุ่นใหม่มา แต่แบบนี้มันไม่สำคัญกับการเป็นDigital Transformation แต่ต้องมี Digital mindsetว่าจะนำเทคโนโลยีต่างๆ มาปรับใช้อย่างไรในการทำงานให้ดีขึ้น เราต้องการ ทรานฟอร์ม พนักงานของเราให้เป็นแบบนี้ คือมีDigital mindset แล้วเมื่อเทรนคนให้เข้าใจมากยิ่งขึ้นแล้ว

เราก็ต้องพัฒนาเขา จากแค่ reporter ก็ต้องพัฒนาเขาให้เป็น content creator ได้ โดยเราต้องมีเทคโนโลยีและอุปกรณ์ต่างๆ คอยsupport รองรับเขาด้วย เพื่อทำให้การTransformของเขามันง่ายขึ้น เพราะบางทีเราก็นำเทคโนโลยีต่างๆ มาต่อยอด access ของเราที่มี

ไทยรัฐเองมีproject หนึ่งที่เราทำอยู่คือการนำคลังข้อมูลข่าวที่เรามีมหาศาลมากคือข่าวจากหนังสือพิมพ์ที่เราเก็บไว้ เราก็มีการจะนำทุกอย่างมาสู่ระบบดิจิตอลหมด โดยสแนกข่าวทุกอันเข้าสู่ระบบดิจิตอล เพื่อจะได้หาข่าวที่ต้องการได้ จากเดิมที่จะมีแค่ไม่กี่คนในการที่จะทำการเก็บข้อมูลแล้วก็จะมีแค่คนกลุ่มดังกล่าวที่จะหาข่าว หรือข้อมูลนั้นได้ เพราะรู้ว่าได้เก็บไว้แบบไหน เหมือนกับๆ เป็น librarian โดยระบบดังกล่าว จะทำให้ต่อไปนักข่าวสามารถเข้าถึงคลังข้อมูลนั้นที่อยู่ในรูป text ในคอมพิวเตอร์เพื่อนำไปต่อยอดได้ เช่น ต้องการหาข่าวเกี่ยวกับอะไร ก็พิมพ์เข้าไปในเครื่องได้เลย ระบบก็จะเรียกข้อมูลนั้นขึ้นมา นักข่าวก็นำข้อมูลไปทำข่าวต่อได้ ซึ่งtext ดังกล่าว เราทำย้อนหลังไปประมาณหกสิบปี

เราตั้งคำถามแย้งไปว่า การปรับตัว การใช้เทคโนโลยีต่างๆ มาพัฒนาองค์กร ปรับปรุงการทำขาว องค์กรขนาดใหญ่อย่างไทยรัฐ ก็ได้เปรียบ ทำได้ง่าย เพราะเป็นองค์กรใหญ่ สายป่านยาว ทุนหนา แต่องค์กรสื่อขนาดเล็กไม่มีทุนในการดำเนินการ เรื่องนี้"ธนาวลัย-ผู้บริหารสื่อเครือไทยรัฐ"ฟังคำถามแล้ว เธอตอบทันทีว่า "จริงๆ แล้ว มันก็ง่ายสำหรับองค์กรขนาดเล็ก เพราะเขาอาจมี mind set เช่น เป็นองค์กรที่มีคนรุ่นใหม่ๆ เรื่องแบบนี้มันก็ถูกซึมซับเข้ามาในคัลเจอร์ของเขาอยู่แล้วในการต้องเปลี่ยนให้ไว ยิ่งหากเป็นองค์กรขนาดเล็ก การจะเปลี่ยนความคิด เปลี่ยน culture น่าจะง่ายกว่าด้วย คิดว่าจุดนี้ไม่น่าจะเป็นอุปสรรค แต่เป็นเรื่องของ mind set ถ้าจะเปลี่ยนเป็นดิจิตอล ไม่ใช่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแล้วต้องใช้เงิน แต่สิ่งสำคัญคือ culture"

Digital Transformation

คือ Opportunity

--ในฐานะผู้บริหารองค์กรสื่อรุ่นใหม่ มองว่า media disruption   เป็นวิกฤตหรือโอกาสของคนทำสื่อ?

เรามองว่าเป็น Opportunity ที่เราจะเข้าไปถึงคนได้ เพราะsocial media ต่างๆ ทำให้ได้ รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทำให้คนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้มากขึ้น ทำให้ทุกคนมีมือถือ ที่เป็นเรื่องดีสำหรับเราเพราะว่า อย่างของเรา คนอ่านเว็บไทยรัฐ 90 เปอร์เซ็นต์ อ่านผ่านโทรศัพท์มือถือ เราก็จะใช้การดีไซน์หน้าเว็บ เพื่อตอบโจทย์คนใช้มือถือ เราก็มีทีมที่จะดูแลเรื่อง ความรู้สึก experience ของคนที่เข้ามาดูมาอ่านข่าวในมือถือว่าเขาเป็นอย่างไร เช่นการเข้ามาที่หน้าเว็บผ่านมือถือ ปุ่มสัมผัสต่างๆ ในโทรศัพท์เป็นอย่างไร ทีมก็จะเข้าไปดูว่าจะทำอย่างไรให้คนเข้ามาอ่านข่าวได้ง่ายผ่านการดูมือถือ

...ในทุกยุคทุกสมัย ก็จะต้องมีอะไรเข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ตลอด คำว่าdisrupt อาจทำให้คนแอบกลัวแต่ว่า มันก็ต้อง disrupt เพื่อทำให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะยังไงต่อไป ก็ต้องมีสิ่งใหม่ๆเข้ามา disrupt ยุคสมัยต่างๆ ไปเรื่อยๆ หากคุณมัวแต่กลัวการ disrupt มันก็ตายไม่รอด ดังนั้น ก็ต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แต่ก็เห็นด้วยกับคำพูดที่คนทำสื่อชอบพูดกันว่า  Content Is King แต่ขณะเดียวกัน  Distribution Is Queenอย่างที่เขาพูดกัน คือยังไง Content จะต้องดีด้วย เพราะคนเสพproduct ของเราคือcontent แต่ Distribution Is Queenก็คือ Distributionเราก็ต้องดีด้วย คือไปในที่ซึ่งมีคนอยู่ด้วย

-ไทยรัฐออนไลน์ สามารถทำธุรกิจ นำเสนอข่าวสารโดยไม่ต้องพึ่งแพลตฟอร์มระดับโลกอย่าง facebook หรือ Line ได้หรือไม่ ?

บอกเลยว่าไม่ได้ มันเหมือนกันไปฝืนธรรมชาติเพราะคนไปอยู่ตรงที่นั่น เราก็ต้องไป เราก็เคยทำแบบ customer interviews คุยกับคนที่เหมือนเป็นคนอ่านของเราจริงๆ บนออนไลน์ รวมถึงคนทั่วๆไป เช่น แม่บ้าน ก็อยากรู้ว่าเขาเสพข่าวแต่ละวันอย่างไร เขาก็บอกก็ไม่รู้ ก็กดไม่เป็น ก็กดๆไป แต่กดเข้าไปดูข่าวจากfacebook เขาบอกถ้าอ่านจากfacebook ทำได้ แต่ถ้าจะเข้าไปกดอ่านข่าวจากเว็บไซด์ ต้องพิมพ์ www…แบบนี้เขาบอกกดไม่เป็น

..ทำให้เราพอรู้ว่าบางคนเขาอาจไม่ได้รู้เรื่องเทคโนโลยีอะไร เป็นคนกลุ่ม mass แต่ว่าเขาเล่นเฟสบุ๊กเป็น เขาเล่นไลน์ได้ แล้วหากมีการส่งข่าวผ่านไปช่องทางนั้น เขาก็จะอ่านข่าวของเรา เป็นแบบนี้ ก็แล้วจะไปฝืนทำไม ถ้าเขาอยู่ คือเราก็รู้ว่า เราต้องสร้าง brandของเรา ให้คนเข้ามาอ่านเราแบบ direct มากขึ้น เราก็พยายามทำมากขึ้น แต่หากจะบอกว่าไม่ให้เราไปทางนั้นเลย แล้วไปยืนด้วยขาของตัวเองโดยที่ไม่มีแพลตฟอร์มแบบนั้นเลย มันก็ยาก

เมื่อตั้งคำถามว่า คิดว่า สื่อหนังสือพิมพ์จะหายไปไหม “ธนาวลัย”ตอบว่า “eventually ถ้าพูดตรงๆ เลย ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องกลัว ถ้ามันจะเป็นขึ้นมา เพราะเราเองก็สื่ออื่นที่รองรับอยู่ เราก็มีทีวี มีดิจิตอล คือมันอาจจะน่ากลัวถ้า you เป็นหนังสือพิมพ์อย่างเดียวแล้วไม่มีอะไรอย่างอื่น ถ้าหนังสือพิมพ์ตายไป ก็เป็นของyou คนเดียว แต่อันนี้มันก็มีสื่ออื่นที่รองรับอยู่ แต่หนังสือพิมพ์ก็ยังมีคนอ่านอยู่ บางคนก็ยังชอบการที่ได้จับกระดาษ ยังไม่ชอบอ่านออนไลน์ก็มี คืออาจจะไม่ได้ตายไปเลยก็ได้ print industry ก็อาจไม่ได้ sunset ไปหมด”

-ตัวคุณอ่านหนังสือพิมพ์หรือไม่?

หนังสือพิมพ์ถ้าอ่านจะอ่านจากออนไลน์ แต่ถ้าเป็นหนังสือ จะอ่านจากหนังสือไม่อ่านในไอแพด เพราะยังชอบfeeling การอ่านหนังสืออยู่

ถามปิดท้ายว่า การเป็นผู้บริหารไทยรัฐ เป็น วัชรพล รุ่นที่สาม ที่ก้าวขึ้นมาบริหารองค์กร หนักใจ หรือกดดัน หรือไม่ เพราะคนก็จับตามองว่าจะขึ้นมาแล้วจะสานต่อธุรกิจไปได้ไกลแค่ไหน”ธนาวลัย”ตอบอย่างเชื่อมั่นว่า“สำหรับเรา มองว่าเป็น drive มากกว่า ที่เราสามารถมาอยู่ตรงนี้และเป็น position ที่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ จึงมองเป็น Opportunity ที่สิ่งที่ family เราสร้างขึ้นมามันดีขึ้นไปกว่าเดิมอีก”