สิ่งพิมพ์อาการหนัก นักข่าวลด – กองบก.เล็กลง ‘ออนไลน์’ เสี่ยงไม่แพ้

สิ่งพิมพ์อาการหนัก นักข่าวลด - กองบก.เล็กลง ‘ออนไลน์’ เสี่ยงไม่แพ้

ความเคลื่อนไหวของแวดวงสื่อสารมวลชนนับตั้งแต่ถูกมรสุมโควิดเล่นงาน เรียกได้ว่า ซ้ำเติมจากผลกระทบเดิมดิสรัปชั่นที่มีอยู่แล้วให้หนักหน่วงขึ้นอีก ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เราจึงเห็น อัตราเร่งที่เกิดกับค่ายสื่อที่ยังมีหนังสือพิมพ์เพื่อลดขนาดกองบรรณาธิการลง

เริ่มตั้งแต่การปิดตัวลงของหนังสือพิมพ์คมชัดลึกของเครือเนชั่นเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา พร้อมกับการออกมาตรการลดขนาดองค์กรในเครือ ไม่ว่าจะเป็น การเลิกจ้างพนักงานบางส่วนนอกเหนือไปจากในส่วนของหนังสือพิมพ์คมชัดลึก การลดเงินเดือน ค่าเดินทาง และสวัสดิการต่าง ๆบางส่วน

การพยายามลดค่าใช้จ่ายของสื่อในเครือเนชั่น คณะกรรมการบริหารกำหนดให้แต่ละแผนกไปกำหนดแนวทางกันเองภายใต้นโยบาย 1. พิจารณาปรับลดเงินเดือนพนักงานทุกคนของแต่ละหน่วยธุรกิจ2. ให้พนักงานลางานโดยไม่รับเงินค่าจ้าง (leave without pay) เป็นการชั่วคราว 3. ให้ทุกหน่วยธุรกิจบริหารจัดการกำลังคนและปฏิบัติงานในเวลาทำงานปกติ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ให้มีการทำงานล่วงเวลา

4. ยกเลิกสวัสดิการต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและการปฏิบัติงานโดยตรง เช่น ค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกในครอบครัวของพนักงาน ค่าทันตกรรม ของขวัญบุตร ของขวัญสมรส ทุนช่วยเหลือการศึกษาบุตรของพนักงาน เป็นต้น 5. ยกเลิกค่าตอบแทนอื่นที่นอกเหนือจากเงินเดือนประจำ เช่น ค่าพาหนะ ค่าโทรศัพท์ ค่าตำแหน่ง ค่าประสุบการณ์ เป็นต้น

จากนโยบายดังกล่าวนำมาสู่การปิดหนังสือพิมพ์คมชัดลึก และการเลิกพนักงานในกองบรรณาธิการบางส่วน ส่วนพนักงานที่ยังทำงานต่อจะต้องถูดลดเงินเดือนตามขั้นบัน ขณะที่ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ในเครือที่มีกำไร ไม่ได้ใช้แนวทางเลิกจ้างพนักงาน แต่พนักงานทุกคนพร้อมใจที่ยอมลดเงินเดือนชั่วคราวเพื่อให้ตัวเองและบริษัทผ่านพ้นสถานการณ์นี้

ต่อด้วยสองหนังสือพิมพ์หัวใหญ่ทั้งเดลินิวส์ และไทยรัฐ ที่มีส่วนแบ่งในตลาดหนังสือพิมพ์มากที่สุด ได้เริ่มลดค่าใช้จ่ายไม่ต่างจากค่ายบางนา

เดลินิวส์ ออกโครงการสมัครใจเกษียณอายุก่อนกำหนด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงโครงสร้างและการบริหารอัตรากำลังภายในองค์กรอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และเพื่อปรับปรุงโครงสร้างต้นทุนทางบุคลากร และลดภาระค่าใช้จ่ายโดยรวมในระยะยาว  ซึ่งจะได้รับเงินชดเชยตามอายุงาน ตั้งแต่วันที่เข้าทำงานกับบริษัทฯ จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563 ในอัตราตั้งแต่ 30-400 วัน ขึ้นอยู่กับอายุงาน

โครงการดังกล่าว บริษัทฯ จะพิจารณาเห็นชอบพนักงานที่ขอลาออกตามโครงการฯ นี้ เป็นความต้องการและสมัครใจร่วมกันทั้งสองฝ่ายระหว่างบริษัทฯ กับพนักงาน เป็นสิทธิฝ่ายเดียวของบริษัทฯ ในการอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้พนักงานลาออกตามโครงการ กรณีที่มีผู้เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก บริษัทฯ สงวนสิทธิ์ที่จะพิจารณาคัดเลือกตามเกณฑ์ที่บริษัทฯ กำหนด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่บริษัทฯ

พนักงานที่ได้รับการอนุมัติจากบริษัทฯ แล้ว จะยกเลิกการลาออกตามโครงการฯ ภายหลังไม่ได้ และต้องมาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ พร้อมทั้งส่งมอบงานให้เรียบร้อยก่อนสิ้นสภาพการเป็นพนักงาน และบริษัทฯ จะไม่รับพนักงานที่ได้รับการอนุมัติเข้าร่วมโครงการฯ กลับเข้าทำงานในฐานะพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทฯ อีก ทั้งนี้ พนักงานที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ที่ได้รับการพิจารณาอนุมัติ จะมีผลในวันที่ 1 ก.ค. 2563 และรับเงินค่าจ้างเดือนสุดท้ายพร้อมเงินชดเชยเป็นเช็ค ในวันที่ 30 มิ.ย. 2563

ขณะที่ ไทยรัฐ เบอร์หนึ่งในวงการประกาศลดพนักงานในส่วนของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐลงประมาณ 50%  เพื่อลดต้นทุน และทุ่มทรัพยากรไปในการดำเนินกิจการโทรทัศน์และสื่อออนไลน์แทน

ไม่ต่างอะไรกับ บริษัทบางกอกโพสต์ จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันเหลือหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ซึ่งถือเป็นหนังสือพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศอายุ 73 ปี และเป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษฉบับเดียวที่ยังเหลืออยู่ในประเทศ ก็มีสถานะที่เปราะบางเช่นกัน แม้ก่อนหน้านี้จะมีการปิดหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์และเอ็มทูเอฟไปแล้ว แต่ก็ยังลดต้นทุนต่อเนื่องทั้งการลดสวัสดิการพนักงาน ลดรายได้ตามนโยบาย leave without pay  เมื่อไม่นานมานี้ได้ประกาศขายอาคารและที่ดินของบริษัทบริเวณคลองเตย รวมถึงโรงพิมพ์ย่านบางนา เพื่อชำระหนี้สถาบันการเงิน

ยังมีสื่ออื่นๆ ที่บรรดาผู้บริหารได้ลดต้นทุน เช่น ลดการจ่ายโอที   นายจ้างขอหยุดหรือเลื่อนจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ล้วนกระทบกับรายได้พนักงานทั้งนั้น การหารายได้เป็นเรื่องยากยิ่งจากภาวะดิสรัปชั่นสู่วิกฤตโควิด  ภาคเอกชนที่เคยสปอนเซอร์ก็ไม่มาลงให้สื่อเพราะต้องประหยัดเงิน ขณะที่ภาครัฐก็มีมาตรการให้หน่วยงานต่างๆ ลดงบประชาสัมพันธ์ลง นั่นหมายถึง น้ำเลี้ยงที่เคยเป็นสปอนเซอให้สื่อกกระดาษก็หายไปอีก  แม้แต่การที่สื่อจะจัดอีเว้นท์ซึ่งช่วงหลังทำกันหลายค่ายเพื่อหารายได้ ก็ยากอีกเช่นกันจากผลกระทบต่อเนื่องจากโควิด

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดคำถามว่าขนาดยักษ์ใหญ่ในวงการยังออกอาการ แล้วอนาคตของสื่อสิ่งพิมพ์ในไทยจะเป็นอย่างไร 'ไตรลุจน์ นวะมะรัตน' นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย หรือ MAAT (Media Agency Association of Thailand) มองสถานการณ์ว่า "ตอนนี้ไม่มีสื่อไหนอยู่ในสภาพดีเลย เพราะเศรษฐกิจแย่ สินค้าขายไม่ดีเท่าไหร งบประมาณด้านการโฆษณาน้อยลงแน่นอน เท่าที่ทราบลดลงถึง 10%และไม่รู้จะมากไปกว่านี้เท่าไหร เพราะสินค้าขายไม่ได้”

ไตรลุจน์ นวะมะรัตน   นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT)

“แต่สถานการณ์ของสื่อตอนนี้มันประกอบกันหลายอย่าง สิ่งพิมพ์โดนdisruptจากออนไลน์เยอะพอสมควร อย่าว่าแต่สิ่งพิมพ์เลยขนาดโทรทัศน์เองยังโดน สิ่งพิมพ์โดนเร็วกว่าคนอื่น หนังสืออยู่ได้ด้วยโฆษณาไม่ใช่ยอดขายของหนังสือพิมพ์ เมื่อโฆษณาไม่มายอดขายก็ช่วยอะไรไม่ได้ ย่อมต้องขาดทุน"

"เมื่อขาดทุนแล้ว ถ้าปรับตัวทัน ลดต้นทุนทัน ก็ถือว่าเพิ่มช่องทางที่จะได้รายได้ทางออนไลน์ก็พอจะจุนเจือได้ แต่ผมเชื่อว่าคงไม่ได้ทุกเล่ม ผมเชื่อว่าด้วยความเป็นไทยรัฐหรือเดลินิวส์ก็คงยังอยู่นะครับ แต่จำนวนหน้าและกระดาษลดลงเพื่อลดต้นทุน นักข่าวก็อาจน้อยลง กองบรรณาธิการเล็กลงเพื่อควบคุมต้นทุน แต่ถามว่าอยู่ได้ไหม ผมคิดว่าสายป่านอาจยาวพอที่จะอยู่ได้ ในแง่ของผู้บริโภคยังมีคนที่อ่านกระดาษอยู่นะครับ เพราะบางคนไม่ได้อยู่กับจอตลอดเวลา แต่คงจะเป็นกลุ่มที่เล็กลง เชื่อว่าถึงที่สุดแล้วหนังสือพิมพ์ยังคงอยู่ เพราะมีภาพลักษณ์ที่มีความน่าเชื่อถือ แต่จะไม่ใหญ่โตเหมือนเดิม"

แม้หลายสื่อหนังสือพิมพ์หลายค่ายจะลงมาในสนามออนไลน์ แต่ในทัศนะของไตรลุจน์แล้วคิดว่าก็มีความเสี่ยงต่อการขาดทุนเช่นกัน เพียงแต่สื่อหนังสือพิมพ์ยังมีข้อได้เปรียบตรงที่มีต้นทุนและทรัพยากรที่สะสมมาก่อนเป็นทุนเดิมอยู่ การเข้าในสื่อออนไลน์จึงไม่ได้เริ่มจากศูนย์เหมือนกับผู้ประกอบการรายอื่น

"ออนไลน์แข่งขันกันมากเหมือนกัน แต่หนังสือพิมพ์มีต้นทุนและทรัพยากรอยู่แล้ว ดังนั้น การจะเข้าไปในออนไลน์จึงไม่ได้เป็นการเข้าไปเริ่มใหม่ตั้งแต่ หลายเล่มทำได้ดีและช่วยให้มีรายได้เข้ามา จึงขึ้นอยู่กับการควบคุมต้นทุนว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ทำต่อไปได้" ไตรลุจน์ กล่าว

สุดท้ายไตรลุจน์ มองไปข้างหน้าถึงความเป็นไปได้ที่สื่อหนังสือพิมพ์จะกลับมายืนได้อย่างแข็งแรงว่า "ถ้าดูจากความเป็นจริง ณ วันนี้คงยาก แต่ผมไม่รู้ว่า 5ปี10ปีจะเกิดอะไรขึ้น หากเกิดอะไรที่เป็นทางลบกับออนไลน์ เช่น ข่าวปลอมมาก ก็มีสิทธิเป็นไปได้เหมือนกันที่ความเป็นฐานันดรของหนังสือพิมพ์จะกลับมาเช่นกัน อะไรที่มันเคยถึงจุดสูงสุดก็ย่อมลงมาได้เหมือนกัน เราไม่รู้ว่าออนไลน์จะไปได้แค่ไหน"

“สื่อออนไลน์ที่ใช้กันอยู่นี้มาจากต่างประเทศ ซึ่งเราไม่เสียเงิน รัฐบาลไม่ได้เก็บภาษี หากเมื่อใดที่รัฐบาลสามารถเก็บภาษีได้ แล้วเขาเริ่มคิดเงินกับคนใช้ เท่ากับผู้บริโภคต้องเสียเงินแล้ว เพราะเหมือนกับการไปซื้อหนังสือพิมพ์ จะเป็นตัวหนึ่งที่ทำให้ออนไลน์ทรงๆไม่ได้พุ่งพรวดขึ้นไปอีก ออนไลน์มันดีตรงมันฟรี ซื้อโทรศัพท์ครั้งเดียวเล่นได้หมดแล้ว แต่ถ้าเริ่มต้องเสียเงินก็ต้องคิดดูก่อนเหมือนกัน” ไตรลุจน์ กล่าวสรุป