สื่อฮ่องกงหวั่นโดนจีนปิดปาก ภายใต้คราบ “กฎหมายความมั่นคง”

สื่อฮ่องกงหวั่นโดนจีนปิดปาก ภายใต้คราบ “กฎหมายความมั่นคง”

ร่างกฎหมายความมั่นคงฮ่องกงฉบับใหม่ที่ออกโดยรัฐบาลจีน มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เวลา 23.00 น. ของวันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา หรือเพียง 1 ชั่วโมงก่อนวันครบรอบ 23 ปีเหตุการณ์สหราชอาณาจักรส่งมอบฮ่องกงคืนให้จีน

กระบวนการผ่านกฎหมายดังกล่าวใช้เวลาสั้นมาก คือมีการนำเสนอต่อการประชุม “สองสภา” ในปักกิ่งในเดือนพฤษภาคม หรือไม่ถึงสองเดือนที่แล้วนี่เอง เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลจีนมีจุดประสงค์ในการออกกฎหมายฉบับนี้อย่างเต็มที่

กฎหมายความมั่นคงนี้เป็นที่หวาดกลัวของสื่อมวลชนฮ่องกงหลายคน เนื่องด้วยเนื้อหาของตัวกฎหมายที่สามารถตีความได้กว้างมาก โดยระบุอย่างสั้นๆเพียงว่าการกระทำที่ตีความได้ว่า “ต่อต้านอำนาจรัฐบาลแผ่นดินใหญ่” หรือ “สนับสนุนการแยกดินแดน” หรือ “ร่วมมือกับกลุ่มผู้ไม่หวังดีต่างชาติ” ล้วนแล้วแต่มีความผิดทั้งสิ้น

เท้าความสักเล็กน้อยก่อนว่า กฎหมายความมั่นคงล่าสุดเกิดขึ้นหลังการประท้วงต่อต้านอิทธิพลจีนแผ่นดินใหญ่ที่ลุกลามไปทั่วฮ่องกงเป็นเวลาหลายเดือน ตั้งแต่เดือน มิ.ย. ปีที่แล้ว จนกระทั่งกระแสเริ่มแผ่วในช่วงวิกฤติโคโรน่าไวรัส

การประท้วงเริ่มจากการชุมนุมต่อต้าน “กฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน” อย่างสันติ แต่ต่อมาได้บานปลายเป็นการใช้ความรุนแรงอย่างแพร่หลาย มีการทำร้ายประชาชนที่คิดเห็นต่าง จุดไฟเผาสถานที่และขนส่งสาธารณะ อีกทั้งผู้ชุมนุมหัวรุนแรงจำนวนหนึ่งยังพยายามวางระเบิดในสถานที่ต่างๆด้วย

ขณะที่ฝ่ายตำรวจฮ่องกง ก็ถูกประณามว่าใช้ความรุนแรงปราบผู้ชุมนุมโดยเกินแก่เหตุ และไม่ยอมจับกุม “ม็อบเสื้อขาว” ที่รุมทำร้ายผู้ชุมนุมเช่นกัน (มีผลสำรวจระบุว่าชาวฮ่องกงมีความเชื่อมั่นในตำรวจของตน ต่ำเป็นประวัติการณ์)

ส่วนทางรัฐบาลจีนก็ยืนยันว่า มีหลักฐานว่ารัฐบาลต่างชาติมีส่วนในการประท้วงด้วย มีการสงสัยว่าสหรัฐอเมริกาอาจเป็นผู้ให้เงินสนับสนุนผู้ประท้วงผ่าน และกระทำสงครามจิตวิทยาในฮ่องกง จึงเป็นที่มาของกฎหมายความมั่นคงฉบับล่าสุด ที่มีเนื้อหาหลักๆคือ

ห้ามให้การสนับสนุนกิจกรรมที่ส่อไปทางแบ่งแยกดินแดน, ต่อต้านอำนาจรัฐบาลกลาง, ก่อการร้าย (รวมถึงสร้างความเสียหายแก่ระบบขนส่งสาธารณะด้วย), และ สมคบคิดกับชาติอื่นๆ ข้อหาเหล่านี้มีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี และบางกรณีสามารถไต่สวนลับ หรือส่งไปขึ้นศาลที่จีนแผ่นดินใหญ่ได้

นอกจากนี้ รัฐบาลกลางของจีนมีอำนาจเด็ดขาดในการตีความกฎหมายทั้งฉบับแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งถ้าหากขัดกับกฏหมายใดๆของฮ่องกง ให้ยึดเอาการตีความของรัฐบาลจีนเป็นสำคัญ และจะมีการส่งเจ้าหน้าที่แผ่นดินมาตั้งสำนักงานด้านความมั่นคงในฮ่องกง เพื่อติดตามการบังคับใช้กฎหมายนี้โดยเฉพาะ

ดังนั้น สื่อมวลชนฮ่องกงจึงระบุว่า เอาแน่เอานอนกับกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เลย เพราะนิยามของความผิดแต่ละอย่าง กว้างเกินกว่าที่บุคคลธรรมดาจะเข้าใจได้ และคนตีความมีเพียงจีนเท่านั้น

เช่น สิ่งใดบ้างที่ถือเป็นความผิด การเสนอภาพผู้ประท้วงที่ชูป้าย “ฮ่องกงเอกราช” หรือทุบทำลายรถไฟใต้ดิน จะมีความผิดโทษฐานสนับสนุน “แบ่งแยกดินแดน” หรือ “ก่อการร้าย” หรือไม่?

ในบรรยากาศความกังวลเช่นนี้ สื่อมวลชนฮ่องกงจำนวนมากจึงไม่มีทางเลือกนอกจาก “เซนเซอร์ตัวเอง” ไปก่อน เพราะไม่มีใครทราบว่าข่าวไหนบ้างที่อาจทำให้นักข่าวติดคุกเสียเอง เท่ากับกลายเป็นการลดทอนเสรีภาพสื่อในการรายงานข่าวไปในตัว

“พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนอาจได้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการไปแล้ว โดยไม่ต้องบังคับใช้กฎหมายจริงๆ” สตีเว่น บัตเลอร์ ผู้อำนวยการคณะกรรมการปกป้องผู้สื่อข่าว (CPJ) ประจำภูมิภาคเอเชีย ให้สัมภาษณ์ CNN

อีกมาตราหนึ่งที่สร้างความกังวลให้สื่อ ระบุว่ารัฐบาลมีหน้าที่สร้างความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับกฎหมายความมั่นคงผ่านสื่อและอินเตอร์เน็ต

ทำให้มีการตั้งคำถามว่า กฎหมายให้อำนาจรัฐบาลกำหนดเนื้อหาข่าวและคอลัมน์ของสื่อมวลชน และยึดสื่อให้กลายเป็นกระบอกเสียงประชาสัมพันธ์ด้านเดียวหรือไม่?

“ตอนนี้เราก็เริ่มเห็นการเซนเซอร์ตัวเองอย่างแพร่หลายแล้ว”  นักวิชาการด้านสื่อฮ่องกง ชาร์รอน ฟาสต์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว Hong Kong Free Press “ดิฉันคิดว่าเป็นการเตรียมรับมือกับคำถามที่ว่า รัฐบาลจะไปไกลแค่ไหนที่จะปฏิบัติตาม ‘หน้าที่’ ดังกล่าว ซึ่งไม่มีนิยามที่ชัดเจน”

ฟาสต์ยังระบุด้วยว่า กฎหมายความมั่นคงอนุญาตให้เจ้าหน้าที่จีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงในการดักฟังโทรศัพท์หรือแอบอ่านข้อความที่สื่อสารกันในกลุ่มคนที่เชื่อได้ว่าอาจมีความผิดตามกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งในทางปฏิบัติ อาจกลายเป็นเครื่องมือในการตามล่าแหล่งข่าวคนสำคัญที่เปิดโปงความไม่ชอบมาพากลในรัฐบาลก็เป็นได้

นอกจากนี้ ยังมีมาตราที่ระบุว่า รัฐบาลมีหน้าที่ในการออกมาตรการควบคุมและดูแลสื่อต่างชาติหรือข้อมูลข่าวสารที่มาจากนอกประเทศอย่างเข้มงวด

มาถึงตรงนี้บรรดาผู้สื่อข่าวต่างชาติในฮ่องกงต้องหนาวกันเป็นแถว เพราะที่ผ่านมาฮ่องกงเป็นศูนย์กลางของสื่อมวลชนในภูมิภาคที่สนใจประเทศจีน เนื่องจากฮ่องกงมีกฎหมายท้องถิ่นที่เคารพเสรีภาพสื่อ แต่ความคุ้มครองนั้นกลายเป็นรองกฎหมายความมั่นคงล่าสุดทันที

“มาตรานี้พยายามควบคุมการรายงานข่าวที่ไม่ได้เกิดขึ้นในฮ่องกงด้วยซ้ำ แต่รวมถึงข่าวจากภายนอกด้วย” ฟาสต์กล่าว พร้อมเตือนว่าอีกไม่นานผู้สื่อข่าวต่างชาติจะยิ่งไม่กล้ามาทำงานในฮ่องกงหรือรายงานข่าวเกี่ยวกับฮ่องกง

ด้านสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำฮ่องกง (FCCHK) ได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึงผู้ว่าราชการฮ่องกง “แคร์รี่ หลำ” เพื่อชี้แจงถึงจุดมุ่งหมายและการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงนี้โดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะผลกระทบต่อเสรีภาพสื่อมวลชน

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวยังเป็นเสมือนสัญลักษณ์ว่าหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ที่จีนเคยให้คำมั่นสัญญาไว้ในปี 2540 และธรรมนูญปกครองตนเองของฮ่องกง กลายเป็นเสือกระดาษที่ไม่สามารถพึ่งพาได้จริง

เพราะกฎหมายความมั่นคงที่จีนผลักดัน ได้กลายเป็นเสมือนพลังเหนือธรรมนูญของฮ่องกงไปโดยปริยาย และจะยิ่งทำให้คนทั่วโลกตั้งคำถามกับจีนเสียเองว่า คำสัญญาของจีนแต่ละเรื่อง เชื่อได้แค่ไหน?

แครรี่ หลำ ผู้นำฮ่องกง จับมือกับประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง ภาพโดยซินหัว

ผู้ประท้วงฮ่องกงโบกธงชาติสหรัฐอเมริกา เรียกร้องให้สหรัฐฯช่วยเหลือม็อบฮ่องกง ภายโดย AP

ตำรวจฮ่องกงชักปืนขู่ผู้ชุมนุม ภาพโดย AP

ตำรวจกับผู้ประท้วงในฮ่องกงปะทะกันรุนแรง ภายโดยซินหัว