เมื่อลมพัดหวน กระแสดราม่าอิ่มตัว ปลุกชีพนักข่าวสืบสวนกลับมา

ยุคที่โซเชียลมีเดียอยู่บนสมาร์ทโฟนและคำกล่าวที่ว่า “ทุกคนก็เป็นนักข่าวได้” กลายเป็นหนามแทงใจคนทำข่าวมายาวนานโดยเฉพาะนักข่าวสืบสวนสอบสวน หลังจากสังคมหันมานิยมเสพข่าวดราม่า ข่าวชาวบ้านแย่งสามี-ภรรยา ข่าวลุงพล ฯลฯ อีกทั้งผู้บริหารสถานีก็สนับสนุนเพราะสร้างเรตติ้งเรียกโฆษณาได้

แต่เมื่อการนำเสนอข่าวดราม่าถูกฉายซ้ำๆ และมีข่าวที่เหมือนกันในทุกช่องเริ่มทำให้ประชาชนหันไปสู่สื่อแพลตฟอร์มอื่น สถานีต่างๆเริ่มกลับมาให้ความสำคัญกับข่าวสืบสวนอีกครั้ง

จุลสารราชดำเนิน ชวนคุยกับ 2 นักข่าวสืบสวนมือรางวัลถึงปัญหาข่าวสืบสวนในปัจจุบันว่าทำไมถึงหายไป เมื่อเทียบกับอดีต และจะมีโอกาสจะฟื้นกลับมาได้หรือไม่...

“ช่วงนี้เริ่มมีคนติดต่อมาคุยเรื่องข่าวสืบสวนเยอะขึ้น ช่องบางช่องดังๆโทรศัพท์มาสอบถามว่ามีทีมไหม ให้ช่วยหานักข่าวสืบสวนให้หน่อย นี่เป็นเรื่องดีนะครับ ซึ่งมันซบเซามานานานกว่า 4-5 ปีแล้วตั้งแต่โซเชียลมีเดียดังคนลืมข่าวสืบสวนไปแล้ว หลายๆช่องพยายามทำอยู่แต่อาจถูกกลืนไปกับข่าวชาวบ้าน”

อลงกรณ์ เหมือนดาว

“บ๊อบ” อลงกรณ์ เหมือนดาว   นักข่าวสืบสวนสอบสวนระดับมือรางวัล

0ข่าวสืบสวนยังไม่ตาย แต่คนไม่สนใจ

อลงกรณ์ เหมือนดาว บรรณาธิการข่าว 3มิติ ช่อง 3 และ  อดีตบรรณาธิการข่าวสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ผู้ที่ในวงการข่าวโทรทัศน์ให้การยอมรับว่าเป็นนักข่าวสืบสวนสอบสวนระดับมือรางวัล ด้วยการคว้ารางวัลแสงชัย สุนทรวัฒน์ ประเภทข่าวสืบสวนสอบสวนยอดเยี่ยม มากที่สุดถึง 11 รางวัล และยังหลงใหลอยู่กับการทำข่าวเชิงลึก ย้อนอดีตเพื่อฉายภาพข่าวสืบสวนปัจจุบันและคาดการณ์ถึงอนาคตไว้อย่างน่าสนใจ

อลงกรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาในอดีตเป็นสิ่งใหม่เมื่อย้อนไปสัก 20 ปี ในยุคสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ข่าวสืบสวนเป็นอะไรที่น่าตื่นตะลึงว่าทำได้อย่างไรในการแฝงตัวไปในวงการค้ายาเสพติด ปลอมตัวไปอยู่กับพวกมือปืนได้อย่างไร เมื่อเป็นสิ่งใหม่พวกมิจฉาชีพและคนร้ายก็ยังรู้ไม่เท่าทันในการแฝงตัว แต่สมัยนี้คนร้ายรู้ทันแล้ว สังคมมันเปลี่ยนไป เราก็ต้องปรับตัว

“ข่าวสืบสวนสอบสวนเชิงของภาพเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นคนละแบบกับหลักฐานเอกสารเขียนเล่าเรื่องในเชิงข่าวอ่าน แต่เมื่อเป็นข่าวโทรทัศน์แล้วความยากคือต้องได้ภาพเป็นหลักฐาน ต่อให้มีเอกสารหลักฐานว่าทุจริตเราก็ต้องไปสืบต่อให้ได้ภาพเคลื่อนไหวเพื่อมาเล่าเรื่อง เพราะข่าวทีวีคือการเล่าเรื่อง จะมีการแฝงตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง

“อีกประเด็นหนึ่งคือมีโซเชียลมีเดียเกิดขึ้น ตอนนี้ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ ภาพหลักฐานทุกคนถ่ายได้หมด ถ่ายแล้วโพสต์ได้เลยโดยไม่เช็คอะไรต่อ เพราะไม่ใช่นักข่าว พอโพสต์แล้วดัง คนก็เลยไปเสพอย่างนั้นมากขึ้น เราสังเกตได้เลยว่า 4-5ปีหลัง ข่าวสืบสวนนั้นเหมือนตายไปแล้ว แต่จริงๆแล้วยังไม่ตาย มันไปหลบอยู่ในหลืบต่างหากเพราะขาดความสนใจของคน”  

        อดีต บก.ข่าวช่องไอทีวี กล่าวว่า ข่าวสืบสวนต้องมีความพร้อม แยบยล ทุกอย่างพร้อมแล้วปล่อย แต่โซเชียลมีเดียเน้นหวือหวา

“ไม่ได้หมายความว่าสื่อออนไลน์นะ แต่หมายถึงใครไม่รู้ที่ถ่ายมาแล้วก็โพสต์  เชื่อได้หรือเปล่าไม่รู้ หลายภาพที่ถูกตัดหัวตัดท้ายไม่เห็นเหตุการณ์ก่อนหน้านั้น ให้เห็นเฉพาะตอนนี้ แล้วมาบอกว่านี่คือข่าวสืบสวน คนเชื่อไปเลย บางครั้งข้อมูลไม่ได้เป็นอย่างนั้น นักข่าวอย่างเราจึงยังได้เปรียบที่ว่าเรามีสถาบันรับรองมีความน่าเชื่อถือ และเรารับผิดชอบ เมื่อรับผิดชอบเนื้อหาต้องครบถ้วน ความน่าเชื่อถือแตกต่างจากโซเชียลมีเดียที่ใครก็โพสต์ได้แม้ภาพจะหวือหวา”

0 ต้องลงทุนเยอะทั้งเงิน – ชีวิต- แรงกาย

 เขา กล่าวว่า ข่าวสืบสวนยังมีอยู่แต่ว่าข่าวในสื่อกระแสหลักเราไม่ค่อยเน้นสืบสวนแล้ว เพราะว่าหนึ่งคือ ลงทุนเยอะมาก ข่าวสืบสวนหนึ่งชิ้น

“ถ้าผมไปสัมภาษณ์คน ลงทุนไปแล้ว 2-3 พันบาท แล้วถ้าค้างคืนอาจจะเสียอีก 2 พันบาทค่าโรงแรม ได้สัมภาษณ์แล้วกลับนี่คือข่าวทั่วๆไปนะ หรือว่าข่าวหวือหวา ข่าวบุคคล ผมนั่งรถไปค่าน้ำมัน 600-700 บาท ถึงหมู่บ้าน ผมฝังตัว เสียค่าโรงแรมคืนละ 350 บาทก็มีข่าวทุกวัน คนดูทุกวันเรตติ้งดี โฆษณาเข้า”

 “แต่ข่าวสืบสวนไม่ใช่อย่างนั้น ไปทีเป็นเดือน ได้หรือเปล่าไม่รู้ กลับมาหมดไปแล้ว 7 หมื่นบาท ค่าลงทุน ค่าโรงแรม ค่าที่พัก ค่าเบี้ยเลี้ยง กลับมารายงาน บก.ว่ายังไม่ได้ ขอไปอีก 1 เดือน เบ็ดเสร็จกว่าจะได้ออกอากาศหมดไปเป็นแสน หรือหมดไปเป็นแสนบาทแล้วสรุป failed (พลาด) ไม่ได้ภาพหลักฐาน ยกเลิกทิ้งไป ข่าวสืบสวนจึงเป็นข่าวที่ลงทุน”

“เมื่อก่อนที่เราทำ  สมมติบางข่าวใช้เงิน 2 แสนบาท พอเปิดประเด็นแล้วโฆษณามันก็คุ้ม โฆษณาเมื่อก่อนแพง พอมาเป็นทีวีดิจิทัลโฆษณาเหลือหลักหมื่นแล้ว ขายทั้งรายการยังไม่ได้ค่าข่าวนี้เลย บางรายการโฆษณานาทีละ 2 หมื่นบาท 1 รายการโฆษณาได้ 5 นาที ขายครบ 5 นาทียังไม่พอกับข่าวที่ปล่อยออกวันนี้ 5 นาทีเลย ปล่อยข่าวไป 5 นาทีใช้เงินลงทุนไป 2 แสนบาทแล้ว ขาดทุนตั้งแต่เริ่มต้น แต่เราต้องมองในระยะยาวว่าขาดทุนเพื่อรักษาให้มันคงอยู่ มันก็คุ้มที่ขาดทุนแล้วจุดยืนในรายการเรายังเหมือนเดิม”

“แล้วยิ่งทีวีสาธารณะยุคนี้ โทรทัศน์ดิจิทัลหลายช่อง โฆษณาเริ่มน้อยลง ราคาถูกลง โฆษณาที่ได้มาจะไม่คุ้มทุนกับที่ลงทุนไป สื่อเราก็เลยเอาง่ายคือเอาจากโซเชียลน่ะมาเล่า เอาเรื่องชาวบ้านสัพเพเหระมาเล่าข่าว มันได้เรตติ้ง โฆษณาเข้า ข่าวดัง ลงทุนน้อย เพราะฉะนั้นข่าวสืบสวนจึงเหลือไม่กี่ช่องที่ยังลงทุนอยู่ แล้วก็เป็นการใช้ทุนสูงและเรตติ้งสู้ข่าวชาวบ้านไม่ได้แน่นอน แต่มันยังทรงคุณค่ายังเปลี่ยนประเทศได้ ยังเปลี่ยนนโยบายได้ ยังสำคัญอยู่”

0 ไม่ใช่ใครก็เป็นนักข่าวได้

อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ทำข่าวสืบสวนมาโดยตลอด อลงกรณ์ ยืนยันหนักแน่น “ที่บอกว่าทุกคนเป็นนักข่าวได้นั้นไม่จริงนะครับ นักข่าวที่ดีจะต้องเชื่อถือได้ แล้วมีสถาบันรองรับ ไม่ใช่ใครมาโพสต์ว่าทุกคนก็เป็นนักข่าว”

“นักข่าวสืบสวนที่ยังเหลืออยู่น้อยในประเทศนี้ไม่ดูถูกของในโซเชียลว่าไม่ดี แต่ให้รู้ว่านั่นคือถังข้อมูล ไม่ใช่ถังข่าว ข้อมูลดีก็เอาไปตรวจสอบ ถ้าจริงก็เอาไปขยายผล เราจะไม่ดูถูกว่าข้อมูลในโซเชียลคือขยะ หลายครั้งที่เอาข้อมูลในโซเชียลไปออกแล้วผิดพลาดสื่อไม่ได้ยอมรับความผิดนะก็จะไปด่าไอ้คนที่โพสต์นั่นละว่าโกหก แต่จริงๆคือไปหยิบภาพเขามาโดยไม่ได้ตรวจสอบ”

อลงกรณ์ มองอีกว่า เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ข่าวสืบสวนก็ยังต้องพึ่งพาโซเชียลมีเดียด้วย เนื่องจากปัจจุบันคนเดือดร้อนไม่ไปร้องสื่อมวลชนแล้ว แต่จะร้องผ่านโซเชียลด้วยการโพสต์

“ทำข่าวสืบสวนมันยากกว่าเมื่อก่อนเยอะ ประเด็นก็ไม่มาหาเราแบบเมื่อก่อน ข้อมูลเราเริ่มอัตคัดจากที่ข้อมูลเคยวิ่งมาหาเรา เดี๋ยวนี้เราต้องวิ่งเข้าไปหาข้อมูล ผมกำลังทำข่าวสืบสวนอยู่หลายประเด็น ได้เห็นความยากจากเดิมเมื่อ 20 กว่าปีก่อน เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ เราต้องวิ่งไปหาสายโจร คือคนที่รู้เรื่องความเลวในสังคม อัพเดตข้อมูลว่าเดี๋ยวนี้มีความชั่วร้ายอะไรใหม่ๆเกิดขึ้นในสังคมบ้าง องค์กรนี้มีทุจริตไหม เมื่อก่อนข้อมูลมาหาเราเอง แต่ยิ่งยากยิ่งท้าทาย”

นอกจากนี้ อลงกรณ์ วิเคราะห์สถานการณ์ของการทำข่าวสืบสวนในปัจจุบันว่ากำลังอยู่ในช่วงขาดแคลนบุคลากร ขาดแคลนนักข่าวสืบสวนสอบสวน

“ช่วงนี้เป็นช่วงแปลกๆนะ แปลกคือว่าเริ่มมีคนติดต่อมาคุยเรื่องข่าวสืบสวนเยอะขึ้น ช่องบางช่องดังๆโทรศัพท์มาสอบถามว่าลูกศิษย์พี่มีเหลือบ้างไหมส่งมาสัก 3 คน ทางช่องจะเน้นข่าวสืบสวน บางช่องโทรมาว่ามีทีมไหม ให้ช่วยหานักข่าวสืบสวนให้หน่อย นี่เป็นเรื่องดีนะครับ ซึ่งมันซบเซามานานานกว่า 4-5 ปีแล้วตั้งแต่โซเชียลมีเดียดังคนลืมข่าวสืบสวนไปแล้ว หลายๆช่องพยายามทำอยู่แต่อาจถูกกลืนไปกับข่าวชาวบ้าน ทราบว่าช่องมีนโยบายถ้าไม่ทำข่าวสืบสวนก็ไม่มีความแตกต่าง ยังมีเล่าข่าวแต่หัวใจของช่องอยากมีข่าวสืบสวน ข่าวที่ไปเจาะที่ช่องอื่นไม่มี ข่าวสืบสวนเป็นตัวชี้วัดความแตกต่างอย่างแน่นอน ข่าวสืบสวนคือข่าวที่ต้องมีวิธีคิดของเราเองด้วย ไม่ต้องไปตามเจ้าหน้าที่หมด แต่ไม่ทิ้งเจ้าหน้าที่ ไปตามด้วย นำเสนอเรื่องราวของเขาด้วย นำเสนอเรื่องราวของเราด้วย ประชาชนจะได้วิธีคิดจากนักข่าวสืบสวน ในกรณีข่าวอาชญากรรมนะ”

“เรารู้สึกมีความสุขว่าข่าวนี้มันจะกลับมา ข่าวสืบสวนที่ลงทุนมาทั้งชีวิต ลงทุนทั้งแรงกายแรงใจ มันสมอง ตรวจสอบข้อมูลหาหลักฐาน ลงทุนทั้งเงิน ผลที่ได้อาจจะไม่ได้โฆษณาที่คุ้ม แต่ทำไปเรื่อยๆโฆษณา 5 นาทีที่เต็มตลอดอาจจะมาจากข่าวสืบสวนก็ได้ ต่อให้ไม่เต็มแต่ในระยะยาวรายการนั้นจะอยู่ได้ คนจะเห็นเราเป็นที่พึ่ง”

0 อย่าวอกแวกต่ออามิสสินจ้าง

ทั้งนี้ ในอนาคต อลงกรณ์ วิเคราะห์ว่า ข่าวสืบสวนยุคใหม่จะไม่มีการแบ่งรูปแบบแล้วว่าถ้าออนไลน์ สิ่งพิมพ์จะตรวจสอบเอกสารทุจริต ถ้าเป็นทีวีคือการปลอมตัวไปอยู่ในขบวนการ แต่จะเป็นการบูรณาการสื่อ นอกจากจะแฝงตัวแล้วต้องมีการตรวจสอบเอกสารได้ด้วย เป็นการผสมผสานกัน มันเลยจะเป็นข่าวสืบสวนที่ต้องสมบูรณ์ที่สุดถึงจะสู้กับโซเชียลมีเดียได้

โดยอลงกรณ์ แนะนำนักข่าวที่สนใจจะเข้าสู่ข่าวสืบสวนว่า ก่อนอื่นคือต้องไม่ต้องใจร้อน สั่งสมประสบการณ์ก่อนสัก 10 ปี เชี่ยวทุกด้าน รู้เรื่องการเมือง อาชญากรรม รู้เรื่องสายสนกลในความไม่ชอบมาพากลในสังคมสัก 10 ปี ค่อยมาเป็นนักข่าวสืบสวนแล้วจะเชี่ยวชาญแล้วเอาตัวรอดได้

“แต่วันนี้มันขาดแคลนจริงๆ เป็นนักข่าวไปสัก 1-2 ปี ค่อยๆศึกษาแล้วมาเป็นนักข่าวสืบสวน พี่เคยบอกว่านักข่าวสืบสวนมันไม่หวือหวารายได้มันจะไม่รวยเหมือนนักข่าวทั่วไป แต่วันนี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้วยิ่งตลาดขาดแคลนไม่เป็นอย่างนั้นแล้วนะ สั่งสมประสบการณ์สัก 2 ปีแล้วกระโดดมาข่าวสืบสวนค่าตัวมันขึ้น เพราะตลาดมันขาด ต้องจ้างเพราะนักข่าวพวกนี้มันมีสมองกลที่มองอีกมิติหนึ่ง มีเครื่องจักรกลสมองอีกแบบหนึ่งและมันต้องเสี่ยงชีวิต ค่าตัวคนเหล่านั้นเลยแพง เพราะตลาดต้องการ นักข่าวสืบสวนทุกวันนี้จะเป็นของหายาก ยิ่งหายากยิ่งอยากเชิญชวนให้กระโดดมาทำ”

“สิ่งที่จะฝากไว้เลยข่าวสืบสวนจะมาพร้อมกับสิ่งยั่วยวนล่อใจ นักข่าวสืบสวนจึงต้องมีค่าตัวที่พอสมควรเพื่อเลี้ยงตัวเองได้และจงอย่าไปตื่นเต้นกับสิ่งล่อใจ หลายคนเคยตื่นเต้นแล้วเลี้ยวไป เลี้ยวแล้วก็ดับ ถ้าเรายืนระยะได้มันจะมีค่าตัวเอง อาชีพนี้ความสามารถนี้มันจะเลี้ยงตัวเอง กล้องหรือวิชาชีพของเราต้องมีไว้เพื่อการเปลี่ยนสังคมและประชาชน เราจะไม่ใช้วิชาชีพไปในเรื่องส่วนตัวของใคร ฝากไว้ว่าหนึ่งข่าวสืบสวนสอบสวนเลี้ยงตัวเองได้ เพราะมันยากและเสี่ยง สองยืนหยัดความ บริสุทธ์ผุดผ่องเอาไว้ไม่วอกแวกกับเงินอามิสสินจ้าง สุดท้ายคืออย่าเอาอาชีพเราไปรับจ้างเงินก้อน ต่อให้ไม่ผิดจรรยาบรรณในการรับสินบนเพื่อการไม่ออกข่าว ถ้ายืนระยะแบบนี้ได้นักข่าวสืบสวนรุ่นใหม่ก็จะเลี้ยงตัวเองได้อย่างสบายไปตลอดอาชีพ ไม่ตกงาน” อลงกรณ์ กล่าว


"สิ่งที่จะได้คือเมื่อคุณทำชิ้นหนึ่งแล้วประสบความสำเร็จนั่นคือชื่อเสียงของสถานี ของนักข่าวคุณ มันจะเป็นที่รับรู้ว่าสำนักข่าวนี้เป็นคนที่เปิดโปงเรื่องนี้ เป็นคนที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาสังคมแล้วแก้ไขกฎหมาย”

นิพนธ์  ตั้งแสงประทีป

นิพนธ์ ตั้งแสงประทีป จาก BIG STORY

0บนเส้นทางนี้ “ความสนใจเชิงลึก” ต้องมาก่อน

ในขณะที่ นิพนธ์ ตั้งแสงประทีป ผู้ดำเนินรายการ Big Story  ทางไทยพีบีเอส ผู้คร่ำหวอดในข่าวสืบสวนสอบสวนอีกคนหนึ่ง ยอมรับว่าความเปลี่ยนแปลงของข่าวสืบสวนสอบสวนถูกกระแสโซเชียลมีเดียพัดจนเกือบสูญพันธุ์

“มีอยู่ช่วงหนึ่งที่มัน Down ลงจริงๆคือช่วงที่โซเชียลมีเดียมากันเยอะๆ ดร็อปไปจนเรารู้สึกว่าข่าวที่เราทำอยู่มันหมดความสำคัญแล้วหรือเปล่า หรือว่าคนไม่ค่อยอยากจะมาดูเรื่องแบบนี้หรือเปล่าซึ่งเป็นเรื่องหนัก เรารู้สึกว่าคนดูเริ่มไม่อยากดูข่าวแบบนี้หรือเปล่า หรือว่าข่าวที่เราทำมามันเป็นเรื่องหนักของสังคมจนคนไม่อยากดูแล้ว ดูข่าวดราม่าสนุกว่าหรือเปล่า ผมยืนอยู่ด้วย 2 เรื่อง เรื่องแรกผมคิดว่าข่าวสืบสวนเป็นเรื่องที่จะตีแผ่หรือว่าได้ทำประโยชน์กับสังคมในท้ายที่สุดโดยการเจาะหรือ นำข้อมูลมานำเสนออย่างรอบด้าน ตรงนี้ทำให้ผมยังคงทำข่าวสืบสวนสอบสวนอยู่”

“ต้องยอมรับว่าช่วงหนึ่งที่ผมออกจากช่อง 9มาเพราะพื้นที่มันหายไป โอเค มันไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้ผมออก แต่ช่วงนั้นมันทำให้เรารู้สึกว่าคนเริ่มไม่ให้ความสนใจ เพราะโซเชียลมีเดียเข้ามา เริ่มรู้สึกท้อ ตกลงสังคมไม่สนใจข่าวที่เป็นสาระจริงๆแล้วหรือ เมื่อมันมาเยอะๆเข้า ประกอบกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมาเยอะๆ มันก็ทำให้เรารู้สึกอยากจะออกจากอาชีพนี้เหมือนกัน เพราะจะให้เราไปทำข่าวโซเชียลมีเดีย ข่าวดราม่า เราก็คงไม่ทำเพราะมันไม่ได้สร้างคุณค่าให้กับสังคมจริงๆ ก็เคยคิดจะหยุดทำ จนกระทั่งไทยพีบีเอสเปิดให้ Pitching รูปแบบรายการ เราก็เลยได้โอกาสกลับมาทำ”

นิพนธ์ กล่าวถึงข่าวสืบสวนว่า ในช่วงหนึ่งมันมีพัฒนาการของการทำข่าวสืบสวนในรูปแบบอื่นๆมากขึ้นในการหาหลักฐาน คอนเซ็ปต์ในการทำข่าวสืบสวนสอบสวนเหมือนกันหมดคือการพยายามหาพยานหลักฐานในการเปิดโปงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

“ถ้าจำไม่ผิดในการทำข่าวสืบสวนครั้งแรกผมใช้พยานเอกสารเป็นหลัก ตอนนั้นทำเรื่องบุกรุกพื้นที่ป่าฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งมันเป็นการบังคับให้หาหลักฐานว่าเป็นการเอกสารทับพื้นที่ป่าโดยมิชอบหลายแปลงเหมือนกัน ที่เป็น สค.บิน ผมคิดว่าการทำข่าวสืบสวนสอบสวนมีพัฒนาการมาเป็นระยะ หลักฐานมีความหลากหลายมากขึ้น บางครั้งไม่ใช่การไปถ่าย บางครั้งไม่ใช่การดูเอกสารอย่างเดียว ยกตัวอย่างเรื่องที่เคยทำ Big Story เภสัชกรที่รู้จักกันก็มาบอกผมว่าเวย์โปรตีนที่นักเล่นกล้ามชอบกินมันมีเรื่องสารสเตียรอยด์ที่แอบใส่อยู่ในนั้น คนที่ออกกำลังกายรู้บ้างหรือเปล่า การมี hint พวกนี้จากแหล่งข่าวก็สามารถนำมาสู่การพัฒนาเป็นข่าวสืบสวนสอบสวน ถามว่าทำเพื่ออะไร ทำเพื่อเตือนภัยสังคม คนที่ออกกำลังกายจะกินของพวกนี้คุณก็ต้องระวัง หรือตรวจสอบให้ดี”

“เคสที่ผมทำใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะทำได้เสร็จ มันก็เลยเป็นเรื่องที่นักข่าวยุคนี้คงไม่อยากจะทำ เพราะหนึ่ง เสียเวลา สองคือขึ้นอยู่กับต้นสังกัดด้วยว่าเห็นความสำคัญของการทำข่าวอย่างนี้ไหม สามเทียบกับข่าวดราม่าเรียกเรตติ้งไม่ได้ แต่สิ่งที่จะได้คือเมื่อคุณทำชิ้นหนึ่งแล้วประสบความสำเร็จนั่นคือชื่อเสียงของสถานี ของนักข่าวคุณ มันจะเป็นที่รับรู้ว่าสำนักข่าวนี้เป็นคนที่เปิดโปงเรื่องนี้ เป็นคนที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาสังคมแล้วแก้ไขกฎหมาย”

“สถานีที่อยู่ภายใต้ธุรกิจอยู่ได้ด้วยรายได้ ไม่เหมือนไทยพีบีเอส ไม่เหมือนช่อง11 ถามว่าเข้าใจเขาไหม ผมเข้าใจ คุณจะเป็นเจ้าของสถานีสักช่องหนึ่งคุณก็ต้องยืนอยู่ภายใต้ธุรกิจ เพราะคุณต้องเลี้ยงนักข่าว ต้องเลี้ยงลูกน้อง แต่ถามว่าถ้าคุณจะลงทุนแบบนี้แล้วทำให้ชื่อเสียงเกิดขึ้นมา ผมเชื่อว่ามันเป็นธรรมชาติที่ต้องกลับมายังธุรกิจที่เขาอยู่ได้ ถ้าเขายังเชื่อว่าขาหนึ่งยังต้องทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะต่อสังคม เขาก็ต้องยังคงเอาไว้ หรือที่กลับมาหาข่าวสืบสวนสอบสวนเพราะทุกช่องมีดราม่าเหมือนกันหมด อะไรจะทำให้ช่องเขามีจุดขายมากกว่าช่องอื่นมันก็เป็นวัฏจักรกลับมาเป็นข่าวสืบสวนสอบสวน”

สุดท้าย นิพนธ์ แนะนำถึงนักข่าวที่สนใจจะทำงานข่าวสืบสวนสอบสวนว่า ใจต้องมาก่อน ถ้าเขาสนใจเรื่องราวที่คิดว่ามันจะทำประโยชน์ให้สังคมได้ ตั้งใจที่ลงไปเก็บข้อมูลด้วยตัวเองแล้ว สืบค้นด้วยเอง สนใจข่าวประเภทนี้ สนใจประเด็นประเภทนี้ เหมาะกับคนที่จะทำข่าวสืบสวนสอบสวน

“แต่ถ้าคุณแค่สนใจการรายงานข่าวประจำวัน สนใจอยากจะเป็นผู้ประกาศข่าว อยากเป็นดารา เป็นเซเลบข่าวหน้าโซเชียล ก็ไม่ควรมา นักข่าวสืบสวนสอบสวนเมื่อก่อนไม่เปิดหน้าเพราะต้องรักษาแหล่งข่าวด้วย การเปิดหน้าทำให้เรารู้สึกว่าทำข่าวสืบสวนลำบาก คนที่อยากเป็นก็ต้องชอบที่จะเรียนรู้ ทำข่าวเชิงลึกเก็บข้อมูลเองอยากตีแผ่สังคมในเรื่องต่างๆด้วยตัวเอง ซึ่งผมยืนยันว่าเป็นนักข่าวสืบสวนสอบสวนไม่ใช่เรื่องยากเพียงแต่ต้องอาศัยประสบการณ์” นิพนธ์ กล่าว