ทิศทางปี65 สื่อเก่าเหนื่อยออนไลน์/ทีวีดิจิทัลคึก ระวังถูกกระชับพื้นที่

ก้าวเข้าปีเสือ แม้คนไทยจะยังคงต้องเผชิญกับสถานการณ์ร้อนที่ยังหนักหน่วงจากโควิด-19 และข้าวของที่ปรับราคาแพงขึ้นตั้งแต่ต้นปี สวนทางกับเงินเดือนที่เท่าเดิม แต่วงการสื่อนับตั้งแต่เข้าสู่ต้นปีใหม่ เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงกันอย่างคึกคัก สื่อหลายช่องหลายสำนัก มีการปรับผังผุดรายการใหม่ ขณะที่คนหน้าจอเอง ก็มีการโยกย้ายกันชนิดฝุ่นตลบมาตั้งแต่ต้นปี เรียกได้ว่าเป็นการเปิดศึกช่วงชิงเรตติ้งกันย่อมๆ

จุลสารราชดำเนิน เราชวนพูดคุยเทรนด์ของอุตสาหกรรมสื่อปีนี้ กับนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน มาวิเคราะห์ถึงทิศทางความเปลี่ยนแปลงและสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวงการของอุตสาหกรรมสื่อมวลชน

สิ่งพิมพ์หนัก
เล่าข่าวTiktokมาแรง

ขอบคุณภาพจาก : https://readthecloud.co/mana-treerayapiwat/

เริ่มต้นที่ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่าเทรนด์สื่อปีนี้ คงต้องแยกกันเป็นประเภท เพราะยังมีทั้งสื่อกลุ่มที่ยังอยู่ขาลงอยู่แล้ว และสื่อที่กำลังกลับมาเข้าสู่สนามแข่งขันกันอย่างคึกคัก

“ถ้าเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ เราคงต้องยอมรับว่ายังเป็นขาลง ทั้งในเรื่องของผู้บริโภคที่ลดน้อย ลงรวมถึงโฆษณาก็น้อยลงอย่างเห็นได้ชัดตลอดต่อเนื่องหลายปีที่ผ่านมา ตัวของสื่อใหญ่ๆที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ แม้ว่าอาจจะอยู่ได้ แต่ก็ต้องลดในเรื่องของค่าใช้จ่ายหลายอย่าง โดยเฉพาะในเรื่องของตัวพนักงานเอง ที่คงจะต้องทำงานหนักมากขึ้น
ส่วนสื่อทีวีดิจิทัล ปีนี้ยังคงมีการแข่งขันกันสูงมากขึ้น โดยเฉพาะที่มีการคาดการณ์กันว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น หลายๆสำนักข่าวในทีวีดิจิทัล ก็เริ่มปรับตัว โฆษณาบางตัวก็มาลงที่ทีวีดิจิทัล มากขึ้น ซึ่งทีวีดิจิทัล ในส่วนของบุคลากร ก็มีทั้งการโอนย้ายกันบางส่วน และมีการดึงพนักงานกันอยู่บ้าง ในส่วนนี้มีเพียงช่องหลักๆแค่ไม่กี่ค่ายที่ยังมีกลุ่มลูกค้า ทั้งในส่วนของผู้บริโภคที่เป็นคนดูและคนที่จะลงสปอนเซอร์ ส่วนสื่อค่ายอื่นๆที่อยู่ท้ายๆตารางของเรทติ้ง ปีนี้ ต้องยอมรับเหมือนกันว่าก็คงต้องเหนื่อยหน่อยที่จะสู้ในสนามของทีวีข่าวดิจิทัล ”

อย่างไรก็ตาม ดร.มานะ มองว่าคนที่ทำงานข่าวทั้งในส่วนของสิ่งพิมพ์และทีวีเอง คงจะไม่สามารถทำแค่แพลตฟอร์มเดียวได้อีกแล้ว เพราะเม็ดเงินโฆษณาจำนวนไม่น้อย เทไปที่แพลตฟอร์ม “ออนไลน์” มากขึ้น แม้แต่ผู้บริโภคเอง ก็หันไปบริโภคสื่อในด้านการสื่อสาร ผ่านทาง แพลตฟอร์ม ดิจิทัล มากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นหลายๆค่ายแม้จะทำสื่อดั้งเดิมของตนเอง แต่ก็ให้ความสำคัญกับการทำออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ

“บางที่อาจจะมองว่าเป็นแพลตฟอร์มหลักที่สร้างรายได้เลยก็ว่าได้ พวกเว็บไซต์อาจจะไม่เท่ากับทีวีดิจิทัล แต่ว่ามีแนวโน้มที่มากขึ้น เพียงแต่ว่าในแพลตฟอร์มของสื่อดิจิทัล นั้น มีกลุ่มผู้บริโภคที่มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากสื่อดั้งเดิม สื่อตั้งเดิมอาจจะเป็นข้อมูลที่นำเสนอข่าวสารทีเดียวและได้รับรู้พร้อมกันทีละเยอะๆ แต่ในส่วนของทีวีดิจิทัล จะมีกลุ่มเฉพาะของแต่ละอันเองค่อนข้างมาก ดังนั้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร จึงต้องตอบสนองกับกลุ่มเฉพาะนั้นๆให้มากขึ้น

ขณะที่เรื่องของตลาดแรงงานในวงการสื่อนั้น ในส่วนของแพลตฟอร์มข่าวดิจิทัล เองยังถือว่าขาดแคลน โดยเฉพาะคนที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการทำข่าว ที่ผนวกกับเรื่องของการตลาดด้วย ยังเป็นที่ต้องการของตลาดงานตรงนี้อีกมาก”

ส่วนเทรนด์สื่อปีนี้ จะมีอะไรมา และอะไรกำลังจะไป นักวิชาการชื่อดังวิเคราะห์ให้ฟังว่า เทรนด์การใช้ tiktok เล่าข่าวสั้นๆ ภายใน 1-2 นาที ด้วยลีลาและท่าทางที่โดดเด่น จะเป็นรูปแบบหนึ่งที่สำนักข่าวหรือผู้ประกาศข่าว หรือคนข่าว นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารมากขึ้น โดยเฉพาะการสื่อสารกับเด็กรุ่นใหม่ GEN Z หรือ Y ที่เลือกเสพสื่อใน tiktok กันค่อนข้างมาก จากในอดีตที่จะใช้แค่ใน facebook หรือ twitter แต่อาจจะโดนปิดกั้น จึงทำให้สำนักข่าวต่างๆ ต้องปรับตัวหันมาให้ความสำคัญกับแพลตฟอร์มอื่นๆในการสื่อสารออกไปมากขึ้น

“ขณะที่ แพลตฟอร์ม ของวิทยุปีนี้ ยังถือว่ามีความคึกคักอยู่บ้าง เพราะปีนี้มีการประมูลคลื่นวิทยุอยู่ แต่ก็มองว่าคงไม่ร้อนแรงเหมือนการประมูลคลื่น TV Digital แม้จะยังมีกลุ่มคนที่ยังบริโภคสื่อวิทยุอยู่บ้าง แต่คลื่นเสียงจำนวนหนึ่งก็มีการปรับตัวมาทุ่มและให้ความสำคัญกันอยู่ที่พอดแคสต์กันพอสมควร เพราะคนรุ่นใหม่ก็บริโภคพอดแคสต์เยอะขึ้น”

ทิ้งท้ายที่มองว่าแม้อุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนจะผ่านมรสุมมาหลายครั้ง แต่สิ่งที่จะทำให้ปรับตัวและผ่านไปได้ คือเรื่องของการพัฒนาทักษะเรื่องของดิจิทัล และการสร้างงานข่าวที่มีคุณภาพ

“สิ่งสำคัญคือเรื่องของทักษะ ในเรื่องของดิจิทัล และเรื่องของการบังคับใช้ในเชิงของคุณภาพข่าว หลายๆสำนักข่าวให้ความสำคัญในเรื่องของการทำข่าวเชิงลึกมากขึ้น ถึงแม้ว่ายังไม่ได้เป็นกระแสหรือได้เรตติ้ง หรือยอดวิวเยอะเหมือนข่าวชาวบ้าน แต่ก็เห็นมีแนวโน้มว่าบางสำนักข่าวเริ่มให้พื้นที่ข่าวเชิงลึกหรือเชิงวิเคราะห์มากขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดี อยากให้มีการพัฒนาตรงนี้ให้มากยิ่งขึ้น เพราะเป็นการสร้างตลาดใหม่ให้กับผู้คนที่อยากจะบริโภคข่าวคุณภาพ ส่วนตัวผมแล้วคิดว่าถ้ามีการแข่งขันในเชิงคุณภาพแบบนี้ ก็จะมีกลุ่มบุคคลที่เบื่อข่าวกระแสหรือข่าวที่หลายคนมองว่ามันเกลื่อนอยู่ในออนไลน์ หันมาบริโภคข่าวที่มีคุณภาพเหล่านี้มากขึ้นตามด้วย…ซึ่งนั่นถือเป็นเรื่องที่ดี” รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าว

-

ดิสรัปชั่นซ้อน/ผู้เล่นใหม่มากขึ้น
พรบ.จริยธรรม คุมสื่อ

ขอบคุณภาพจาก : https://dilab.tech/our-team/

ขณะที่ รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมสื่อและเชื่อมโยงสังคม คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีก 1 นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ ให้ทัศนะถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมสื่อในปีนี้ว่า ทิศทางโดยรวมยังคงไปที่ออนไลน์ แต่ถ้าจะให้มองเห็นภาพกว้างขึ้น คงแบ่งเป็นด้าน เทคโนโลยี , ตัวบริบทกฎหมาย และด้านของ เศรษฐกิจการเมือง

ซึ่งในส่วนของด้านเทคโนโลยี ต้องยอมรับว่าผ่านมา 4-5 ปีแล้วที่เริ่มเป็นเรื่องของออนไลน์ และมีลักษณะของ streaming มากขึ้น แม้แต่คน generation เก่า ก็ย้ายไปอยู่ออนไลน์มากขึ้น ขณะที่การ streaming ที่เข้ามา เพราะมีเรื่องของเทคโนโลยี 5G เข้ามา ฉะนั้นการฟังอะไรที่เป็น streaming ก็จะเยอะมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งกรณีของ streaming ที่เป็น entertainment ก็มีการแข่งขันกันมากขึ้น เช่น เน็ตฟลิกซ์ ที่เพิ่งระบุว่าจำนวนยอดคนติดตามเริ่มนิ่งแล้ว และมีคู่แข่งมากขึ้น เพราะฉะนั้นจึงสะท้อนว่าในอุตสาหกรรม streaming เองก็มีการแข่งขันกันมากขึ้นเช่นกัน

“ส่วนในด้านของกฎหมาย ที่มีกฎหมายใหม่ๆเข้ามา โดยมุมมองส่วนตัวมองว่ากฎหมายที่สำคัญในเรื่องของข้อมูลส่วนบุคคล เช่นเวลาทำข่าว ก็อาจจำเป็นจะต้องมีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น หรือข้อมูลที่ได้มาจากดาต้าข้อมูลส่วนบุคคล คนสื่อก็ต้องปรับตัวตามกฎหมายใหม่ และอีกกฎหมายหนึ่งที่มีมานานแล้ว คือเรื่องของลิขสิทธิ์ แต่จะมีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ การทำอะไรที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ก็จะถูกดำเนินคดีความเยอะขึ้น เพราะคนเริ่มตระหนักเรื่องลิขสิทธิ์ และตัวแพลตฟอร์มเองก็จะตระหนักเรื่องลิขสิทธิ์มากขึ้น ดังนั้นอะไรที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แพลตฟอร์ม ก็จะมีการป้องกันไว้แล้ว
นอกจากนี้ยังมี พ.ร.บ. มาตรฐานจริยธรรมสื่อ ที่หลายคนเรียกว่ากฎหมายตีตราสื่อ ซึ่งอาจจะมีการกระชับพื้นที่สื่อมากขึ้น ทำให้เสรีภาพในการทำข่าวหรือทำ content ต่างๆ ลดลง”

ส่วนด้านการเมืองเศรษฐกิจ ปีนี้จะเห็น player ใหม่ๆมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันตัว player เก่าๆก็อาจจะอยู่ยากขึ้น เพราะมีคู่แข่งมากขึ้น ประเภทที่เป็น traditional media อาจจะอยู่ได้ไม่นาน อย่างปีที่ผ่านมาไลน์ทีวี ก็หายไป จะมี player ตัวใหม่ที่มาจากต่างชาติมากขึ้น และด้วยเหตุผลที่ในประเทศเอง ก็ถูกกระชับพื้นที่เหมือนกัน ซึ่งอาจมีการใช้กฎหมายกระชับพื้นที่สื่อมากขึ้น ในการให้สื่ออยู่ในระบบระเบียบ

เมื่อถามว่าแล้วเทรนด์สื่อปีนี้ อะไรจะมา อะไรจะไป และอะไรที่น่าจับตามองเป็นพิเศษในวงการสื่อปีนี้ รศ.พิจิตรา มองว่าสื่อที่น่าจะไป คือประเภทอนาล็อก ซึ่งจริงๆแล้วก็ไปมานานแล้ว

“ยกตัวอย่างเช่น นิตยสารและสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งใกล้จะหายไปแล้ว นอกจากนี้ก็จะมีกลุ่มสื่อทีวี สำนักข่าวในทีวี ก็มีแนวโน้มเช่นกัน เพราะประชากรคนที่ดูทีวี น้อยลงไปเรื่อยๆ รวมถึงวิทยุด้วยที่ถือว่าอยู่ในโซนที่อาจจะมีความเสี่ยงอยู่บ้าง เนื่องจากถ้าดูที่สถิติแล้ว คนที่ฟังวิทยุไม่ได้มีจำนวนเยอะมาก พูดง่ายๆคืออะไรที่เคยเป็นสื่อประเภทดั้งเดิม ก็มีแนวโน้มที่จะไป แม้แต่ละคร ก็มีแนวโน้มที่จะสู้พวกซีรีย์ไม่ได้ ”

ส่วนเทรนด์สื่อที่จะมาใหม่ ก็จะเป็นพวก streaming และพวกที่สามารถดูย้อนหลังได้ หรือใช้สื่อออนไลน์ในการให้ข้อมูลข่าวสาร ก็คงจะเข้ามาแทนที่

“ถามว่าเทรนด์สื่อที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ คิดว่าน่าจะเป็นในส่วนของเสรีภาพของสื่อในปีนี้ เพราะถ้ามี พ.ร.บ.ออกมา ก็ไม่รู้ว่าจะกระชับพื้นที่สื่อขนาดไหน และที่น่าจับตามองอีก 1 อย่าง คือพวก open data พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งมีข่าวว่าจะมีการปรับด้วย แต่เป็นการปรับในลักษณะริดรอนการเรียกร้องขอ open data จากภาครัฐ จึงคิดว่าน่าจับตามอง

รวมไปถึงองค์กรใหม่ที่จะเกิดในสื่อไทย ที่ผ่าน พ.ร.บ.เรื่องของจริยธรรมสื่อ รวมถึงบอร์ท กสทช. ใหม่ ที่กำลังจะมา ซึ่งน่าติดตามว่าบทบาทในการดูแลกำกับเนื้อหาในสื่อไทยจะเป็นอย่างไร”
แล้วคนสื่อเองปีนี้จะเจอดิสรัปชั่นอะไรอีก​ และควรปรับตัวกันอย่างไร

“แน่นอนคนสื่อจะโดนกระชับพื้นที่มากขึ้น และถ้ามี พ.ร.บ.ออกมา คนสื่อจะต้องมาดูตัวเอง ดีไซน์ตัวเอง หรือให้ความหมายตัวเองว่า เราเป็นคนสื่อหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่คนทำ content ก็ต้องมาดูว่าการใช้ พ.ร.บ.ต่างๆ ที่ออกมา มันจะยิ่งทำให้สื่อทางเลือกที่มีคุณภาพหายไปจากวงการหรือเปล่า หรือสื่อที่ทำหน้าที่เช็ค balance จะหายไปจากวงการหรือเปล่า ซึ่งจะยิ่งทำให้คนสื่อยิ่งมีความกดดัน ทั้งจากในเรื่องของเทคโนโลยี กฎหมาย และยังมีองค์กรกำกับดูแลมากดดันอีก

แต่ทั้งนี้ส่วนตัวยังเชื่อว่าในโลกออนไลน์ ก็ยังมีทางออกของมัน แม้ว่าจะออกกฎหมายรุนแรงมากน้อยแค่ไหน แต่ความเป็นโลกออนไลน์ที่โครงสร้างเปิดเสรี ก็ยังมีทางที่ทำให้ประชาชนได้เห็นทางออกมากขึ้น ถามว่าเป็นดิสรัปชันหรือไม่ มองว่าวงการสื่อเจอดิสรัปชันมาแล้วในเชิงเทคโนโลยี ก็ต้องรอดูต่อไปว่าในเชิงของกฎหมายจะมีอำนาจในการควบคุมสื่อมากน้อยขนาดไหน เพราะที่จริงแล้วตัวกฎหมายถูกออกแบบมาโดยตั้งต้นมองว่าอยากจะคุ้มครองผู้เสียหาย ผู้บริโภค หรือคนดู เพราะบางครั้งสื่อเองก็ไม่ค่อยมีจรรยาบรรณ จึงต้องมาดูกันอีกครั้งว่ากฎหมายจะทำให้สื่อขาดเสรีภาพ หรือจริงๆแล้วกฎหมายจะช่วยให้สื่อมีคุณภาพมากขึ้น” รศ.พิจิตรา กล่าวทิ้งท้ายให้คิด