B-4-1-2551-18_เปิดโปง บุกรุกป่าจ.สุพรรณบุรี ผวจ.เต้นยึดป่าคืน จับผู้บุกรุก-ไทยรัฐ

รหัส B-4-1-2551-18

ชื่อข่าว_เปิดโปง บุกรุกป่าจ.สุพรรณบุรี ผวจ.เต้นยึดป่าคืน จับผู้บุกรุก

เจ้าของ-ไทยรัฐ

ประจำปี พศ. 2551

 

ชื่อข่าว  เปิดโปง บุกรุกป่า จ.สุพรรณบุรี  ผวจ.เต้น ยึดป่าคืน-จับผู้บุกรุก
ประเภท ข่าวยอดเยี่ยม
กองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข้อเท็จจริงของข่าว 

  การบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติมีเกิดขึ้นแทบทุกพื้นที่ทุกจังหวัด มากบ้างน้อยบ้าง เป็นปัญหาที่เกิดมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และปล่อยคาราคาซังไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง ทำให้มีพื้นที่ป่าถูกบุกรุกครอบครองเพิ่มมากขึ้น ยิ่งช่วงหลังผู้บุกรุกมีทั้งกลุ่มนายทุน ผู้มีอิทธิพล ที่ลักลอบเข้าไปตัดไม้และยึดครองที่ดิน รวมถึงการบุกรุกป่าเพื่อเปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวบ้าน

  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนแห่งหนึ่ง คือ จ.สุพรรณบุรี เดิมมีการกำหนดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 7 แห่ง เนื้อที่ประมาณ 1,320 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 825,102.52 ไร่  คิดเป็น 24.65%  ของพื้นที่ทั้งจังหวัด แต่จากการสำรวจเมื่อปี 2547 พบพื้นที่ป่าลดลงเหลือเพียงประมาณ 604.79 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 11.19% เท่านั้น ซึ่งการลดลงของพื้นที่ป่าดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อองค์ประกอบของระบบนิเวศป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์พืชและสัตว์ป่า    

  ปัญหาเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวไทยรัฐ จ.สุพรรณบุรี ได้รับการร้องเรียนและแจ้งเบาะแสมาอย่างต่อเนื่อง  จึงเดินหน้าสืบหาข้อเท็จจริง และเก็บข้อมูลนานหลายเดือน ทั้งการเดินทางเข้าตรวจสอบพื้นที่บริเวณผืนป่าที่มีการบุกรุก   พบสภาพความจริงว่า ป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะที่ อ.ด่านช้าง ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ของจ.กาญจนบุรี และผืนป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ป่ามรดกโลก ถูกบุกรุกจนถึงขั้นวิกฤติ

  เมื่อเห็นว่าปัญหารุนแรงขึ้น ผู้สื่อข่าวจึงได้เข้าหารือกับนายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ ผวจ.สุพรรณบุรี  ซึ่งช่วงนั้นยังเป็นรองผวจ.สุพรรณบุรี และได้รับทราบข้อมูลเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ได้เสนอแผนบริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติของจ.สุพรรณบุรี ผ่านกระทรวงมหาดไทย ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผู้รักษาการตามพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบในหลักการไปแล้วครั้งหนึ่ง 

  อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการสรุปความเห็นว่า แผนดังกล่าวของจ.สุพรรณบุรี ไม่มีข้อเสีย  มีแต่ข้อดีต่อทุกภาคส่วน ทั้งนโยบายของรัฐบาล ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมและเศรษฐกิจในพื้นที่ ผบกระทบต่อการเงินและงบประมาณ ผลกระทบทางสังคมและการเมืองต่อกลุ่มบุคคลต่างๆ หรือผู้ที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม แต่กลับไม่ได้รับการสนองตอบใดๆ และเงียบหายไป

 

วิธีการนำเสนอ  

  เมื่อผู้สื่อข่าวเห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรักษาป่าไม้ยังไม่ใส่ใจเข้ามาแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่า จ.สุพรรณบุรี หากปล่อยไว้ต่อไป ปัญหาจะลุกลามออกไปจนยากจะแก้ไข ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวไทยรัฐ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งรวบรวมข้อมูลเอาไว้ครบทุกด้านแล้ว จึงนัดหมายกับนายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ ผวจ.สุพรรณบุรี ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ของ ตชด. บินสำรวจผืนป่าทั่วจังหวัด โดยเฉพาะ อ.ด่านช้าง ซึ่งเกือบทั้งอำเภอเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ

  คณะที่ไปวันนั้น ได้เห็นกับตาว่า พื้นที่ต้นน้ำลำธารในเขตอุทยานแห่งชาติ ติดกับผืนป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง ซึ่งทางราชการมอบพื้นที่ส่วนหนึ่งให้ชาวกะเหรี่ยงอยู่อาศัย ถูกบุกรุกแผ้วถางเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และเมื่อนำภาพถ่ายทางอากาศที่ถ่ายไว้ก่อนหน้านี้ ระยะตั้งแต่ปี 2540 ถึง 2547 มาเปรียบเทียบดู ปรากฏชัดเจนว่าป่าไม้ได้ถูกบุกรุกทำลายมาอย่างต่อเนื่อง

  วันที่ 9 มกราคม 2551 หนังสือพิม์ไทยรัฐ ได้เสนอข่าวเปิดโปงข่าวนี้เป็นฉบับแรก และฉบับเดียว ด้วยพาดหัวข่าวหน้า 1 ว่า ผวจ.เดือดจัด จวกยับป่าไม้ แจ้งแล้วไม่จัดการ ปล่อยมอดไม้บุกรุก ถางป่าต้นน้ำเรียบ

  เนื้อหาเป็นการแถลงของนายสมศักย์ ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2548 พื้นที่ป่าสวงนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ   ใน ต.วังยาว อ.ด่านช้าง ถูกชาวบ้านที่มีนายทุนหนุนหลังบุกรุกเข้าไปแผ้วทาง พื้นที่ตามหุบเขาที่มีความสวยงามก็เตรียมสร้างเป็นบ้านพัก รีสอร์ต ทางจังหวัดได้แจ้งไปยังกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ ให้เข้าไปแก้ปัญหาพร้อมเสนอแนวทางแก้ปัญหาไปด้วย ทั้งยังแจ้งด้วยว่าหากทั้งสองกรมดังกล่าวไม่มีกำลังเจ้าหน้าที่เพียงพอ หรือติดขัดด้านงบประมาณก็ให้มอบอำนาจมาให้จังหวัด 

        แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากทั้ง 2 หน่วยงาน เข้าใจว่าอยู่ในสภาพที่เกี่ยงกัน  จนล่าสุดตรวจพบว่าป่าไม้ที่เป็นต้นน้ำลำธานเหล่านี้ ถูกแผ้วทางขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ  นอกจากนี้บริเวณพื้นที่รอบๆ เขื่อนกระเสียว ก็มีนายทุนบุกรุกเข้าจับจอง ถึงขึ้นมีการติดประกาศจัดสรรที่ดินขายให้กับผู้สนใจโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย ทั้งที่การกระทำดังกล่าวผิดกฎหมายชัดเจน  ผวจ.สุพรรณบุรี ย้ำให้เห็นถึงการบุกรุกพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่จะต้องรีบแก้ปัญหายึดพผืนป่ากลับคืนมา

  การเกาะติดของผู้สื่อข่าว นำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง และการเอาจริงเอาจังแบบกัดไม่ปล่อยของนายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ ผวจ.สุพรรณบุรี ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้งกรมอุทยานแห่งชาติฯ  กรมป่าไม้ ตำรวจ และฝ่ายปกครอง เดินหน้ากวาดล้างจับกุมผู้บุกรุกและยึดคืนพื้นที่ป่านำกลับมาฟื้นฟู นายทุนหลายรายถูกจับดำเนินคดี ขณะที่อีกหลายรายทิ้งพื้นที่หลบหนี 

  ส่วนชาวกะเหรี่ยงก็ปรับตัวหันมายอมรับในทุกหลักการที่ ผวจ.สุพรรณบุรี เสนอไป ยืนยันจะไม่ขยายเขตพื้นที่ทำกินเหมือนในอดีต ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ที่พื้นที่ป่าถูกบุกรุกทำลายขยายวงกว้างออกไปไม่มีที่สิ้นสุด  

  ข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ถูกนำเสนออกไป ทำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพากันจนมุมกับสภาพการบุกรุกป่าที่แท้จริง โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติพุเตย อ.ด่านช้าง ถึงกับทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชายอมรับสภาพความเป็นจริงว่า มีการบุกรุกทำลายป่าจริง โดยนายทุนและชาวกะเหรี่ยงที่มีนายทุนหนุนหลังเข้าไปบุกรุกป่าเพิ่มขึ้นจากพื้นที่ที่มีการผ่อนปรน 

  โดยสรุปในรายงานพื้นฐานของปัญหาว่า  จากภาวะการขยายตัวของลัทธิบริโภคนิยม และการขยายตัวของระบบทุนนิยม อันสืบเนื่องมาจากแนวนโยบายของรัฐบาลตามโครงการกองทุนหมู่บ้าน เป็นเหตุให้ชาวกะเหรี่ยงตะเพินคี่ มีการกู้ยืมเงินจากกองทุนหมู่บ้าน เพื่อเป็นทุนในการเพาะปลูกพืชไร่(ข้าวโพด)และทุกครัวเรือนถูกครอบงำโดยนายทุนที่ผูกขาดในการรับซื้อผลผลิตที่ขายได้ในราคาต่ำ ประกอบกับภาวะฝนแล้งอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้พืชผลการเกษตรไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ประสบปัญหาการขาดทุน เป็นเหตุให้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นในเขตพื้นที่ผ่อนปรนที่กำหนดไว้ ทั้งสิ้น 1,424 ไร่ และมีแนวโน้มการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

 

ผลกระทบของข่าว 

  ผลพวงที่ตามมาหลังจากนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง ในวันที่ 18 เมษายน 2551 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง  รมว.มหาดไทย ได้มอบนโยบายในการประชุมกระทรวงมหาดไทย ครั้งที่ 4/2551 ให้อธิบดีกรมการปกครองจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการแผนการบริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และโครงการจัดทำแนวเขตการปกครอง หมู่บ้าน ชุมชน ตำบล ด้วยแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ โดยใช้แนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าของ จ.สุพรรณบุรี เป็นต้นแบบ ในการดำเนินการจัดการกับปัญหาการบุกรุกตัดไม้ ทำลายป่า และการจัดสัมมนาให้ทุกจังหวัดหารือ ผวจ.สุพรรณบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

  ณ ปัจจุบัน การแก้ปัญหาการบุกรุกทำลายป่าของ จ.สุพรรณบุรี ที่เป็นปัญหามายาวนาน  ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว สามารถยึดผืนป่ากลับคืนมาได้จำนวนมาก โดยแบ่งโซนจัดการ ได้แก่

  ป่าโซนเอ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ให้มีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ไม่ให้มีการบุกรุกอีกต่อไป เพื่อรักษาป่าต้นน้ำลำธารไว้ 

  ป่าโซนบี ที่ถูกบุกรุกแต่ยังมีความอุดมสมบูรณ์ ให้ยึดกลับมาพร้อมกับจับกุมผู้บุกรุก โดยนำพื้นที่ป่าโซนบีทั้งหมดกลับมาฟื้นฟูให้กลายเป็นป่าโซนเอที่สมบูรณ์

  ส่วนพื้นที่โซนที่กลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ที่ตั้งของหน่วยราชการ เทศบาล อบต.หรือเป็นย่านธุรกิจที่ไม่สามารถคืนสภาพได้แล้ว  อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อยกเลิกการเป็นป่าสงวนแห่งชาติ  เพื่อให้ตรงกับสภาพความเป็นจริง

  นับเป็นจังหวัดแรกที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาการบุกรกป่า โดยการยึดผืนป่ากลับคืนมาได้ และจัดการแก้ไขปัญหาการจัดพื้นที่อยู่อาศัยเพื่อดูแลผืนป่าได้อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นแบบอย่างในการแก้ไขปัญหาจัดการการบุกรุกป่าไม้และทำลายป่าของประเทศ.