B-4-1-2551-14,9_เปิดโปงช่องทางทุจริตใหม่ อบจ.ทั่วประเทศ-มติชน

รหัส B-4-1-2551-14,9

ชื่อข่าว_เปิดโปงช่องทางทุจริตใหม่ อบจ.ทั่วประเทศฮั้วพ่อค้าซื้อหนังสือห่วยแจกโรงเรียน

เจ้าของ-มติชน

ประจำปี พศ. 2551

 

 เปิดโปง อบจ.ทั่วประเทศฮั้วเอกชนทุจริตซื้อตำราห่วยแจกโรงเรียน
กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน

       โครงการจัดซื้อหนังสือและสื่อการเรียนการสอนแจกโรงเรียนและห้องสมุดในจังหวัดโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 71 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งใช้งบประมาณแผ่นดินตั้งแต่ปี 2548-2551 รวมกว่า 2,100 ล้านบาท กำลังถูกตรวจสอบจากทั้งกระทรวงมหาดไทย สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)อย่างเข้มข้น อันเป็นผลมาจากการนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ "มติชน" ที่เปิดโปงขบวนการแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างผู้บริหาร อบจ. และกลุ่มธุรกิจสิ่งพิมพ์อย่างต่อเนื่องนั่นเอง

000ที่มาและวิธีการได้มาซึ่งข่าว

       "มติชน"ได้เบาะแสจากแหล่งข่าวในแวดวงการศึกษาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ว่า มีขบวนการใหญ่รวมหัวกันแสวงหาผลประโยชน์ ในช่วงถ่ายโอนการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ท้องถิ่น ผ่านโครงการจัดซื้อหนังสือและสื่อการเรียนการสอน ซึ่งเป็นโครงการที่ให้ผลตอบแทนสูง รวดเร็ว ถูกเพ่งเล็งน้อยกว่าโครงการก่อสร้าง จึงให้ผู้สื่อข่าวส่วนกลาง และผู้สื่อข่าวทั่วประเทศช่วยกันตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น จนพบว่ามีมูลทุจริต โดยมีกลุ่มบุคคล 3 ฝ่าย คือกลุ่มธุรกิจสิ่งพิมพ์รายใหญ่ ,ผู้บริหาร อบจ. และผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)บางกลุ่ม ร่วมกันทำเป็นขบวนการ

        เมื่อได้ภาพกว้างแล้ว ทีมข่าว "มติชน"จึงเริ่มกระบวนการเจาะข่าวเชิงลึกที่ อบจ.นครสวรรค์เป็นแห่งแรก เนื่องจากที่นี่ตั้งงบฯจัดซื้อสูงมาก เฉพาะในปี 2551 สูงถึง 31,999,884 บาท ขั้นแรกค้นข้อมูลจากเว็บไซต์การประมูลงานราชการด้วยระบบอีเล็กทรอนิกส์ของรัฐบาล หรือ "อี-ออคชั่น" ( http://www.gprocurement.go.th/) ตรวจสอบรายการประมูลงาน และรายชื่อผู้ร่วมประมูล จากนั้นตรวจสอบเว็บไซต์ข้อมูลทะเบียนการค้าของบริษัทจดทะเบียน (http://www.bol.co.th/) แล้วนำมาหาความเชื่อมโยงกันระหว่างบริษัท และด้วยความชะล่าใจของกลุ่มทุนซึ่งไม่คิดว่าจะมีใครสงสัย ทำให้เราพบว่ามีไม่น้อยกว่า 4 บริษัทที่เข้าร่วมประมูลจัดซื้อหนังสือกับ อบจ.นครสวรรค์ เป็นบริษัทในเครือบริษัท พัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) จำกัด ใช้หมายเลขโทรศัพท์ และที่ตั้งเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อให้ดูเหมือนมีการแข่งขัน แต่ความจริงถูกล็อคสเป็คบริษัทในเครือไว้แล้ว นอกจากนี้ยังพบหลักฐานว่า บริษัท 2 รายที่คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างคัดเลือกให้มาเสนอราคานั้น ได้แจ้งเลิกกิจการไปแล้ว พฤติการณ์จึงเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือ "พ.ร.บ.ฮั้ว"อย่างชัดเจน

       จาก จ.นครสวรรค์ "มติชน"ได้ใช้กระบวนการตรวจสอบเดียวกันขยายผลไปยัง อบจ.อีกหลายแห่ง ซึ่งไม่เพียงพบพฤติการณ์ฮั้วราคาคล้ายคลึงกับที่ จ.นครสวรรค์เท่านั้น แต่ยังพบพฤติการณ์ขัดระเบียบกฎหมายอื่นๆอีก อาทิ 1.ผู้บริหาร อบจ.ตีพิมพ์รูปภาพ และกิจกรรมของคณะผู้บริหาร พร้อมข้อความส่อไปทางหาเสียง ขัดคำสั่งห้ามของ สตง. และกระทรวงมหาดไทย เข้าข่ายใช้งบฯแผ่นดินไปในทางที่ไม่สุจริต แสวงหาประโยชน์แอบแฝง 2.ผู้บริหาร อบจ.จงใจหลีกเลี่ยงการประมูลด้วยการจัดซื้อโดยวิธีกรณีพิเศษจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา ทั้งๆที่เป็นเพียง "นายหน้า" ไม่ใช่ผู้ผลิตสินค้าเอง จึงไม่ถูกต้องตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุและครุภัณฑ์

        เป็นที่รู้กันทั่วไปในธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ในกรณีจัดซื้อจำนวนมาก บริษัทผู้ขายจะให้ส่วนลดแก่ผู้ซื้อ 30-40% หากมีการแข่งขันกันอย่างโปร่งใสเป็นธรรม ผู้ซื้อจะมีอำนาจต่อรองราคาสูง แต่ปรากฏว่า อบจ.หลายแห่งจงใจซื้อต่ำกว่าราคาหน้าปกเพียงเล็กน้อย หลายแห่งซื้อต่ำกว่าราคาหน้าปกเพียงบาทเดียว หากคำนวณส่วนต่างจากมูลค่าการจัดซื้อ  2,100 ล้านบาท จะพบว่าขบวนการทุจริตได้รับผลประโยชน์

       หลังเปิดโปงทุจริตจัดซื้อหนังสือและสื่อการเรียนการสอนไประยะหนึ่ง กระทรวงมหาดไทยได้ตั้งคณะกรรมการส่วนกลางลงไปปูพรมสอบสวน ขณะเดียวกันยังออกประกาศให้ผู้บริหาร อบจ.ทุกแห่งชะลอการจัดซื้อเอาไว้ก่อน พร้อมให้ระงับการจ่ายเงินในโครงการปี 2551 จนกว่าคณะกรรมการจะสอบสวนแล้วเสร็จ ส่วน สตง.ได้มีหนังสือถึงกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ขอให้โรงเรียนส่งหนังสือด้อยคุณภาพคืน อบจ.

000ผลกระทบและคุณค่าข่าว

    1.กระทรวงมหาดไทยสรุปผลสอบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้น พบ อบจ.อย่างน้อย 21 แห่งจัดซื้อไม่ถูกต้องตามระเบียบราชการและกฎหมาย เข้าข่ายใช้จ่ายเงินโดยไม่สุจริต มีผลประโยชน์แอบแฝง จึงส่งผลสอบสวนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆไปตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้เกี่ยวข้องตามขั้นตอนทางราชการ

    2.กระทรวงมหาดไทยได้สั่งชะลอโครงการจัดซื้อสื่อการเรียนการสอนในปี 2551 ออกไป โดยมีวงเงินซึ่งยังไม่ได้เบิกจ่ายประมาณ 878 ล้านบาท หลายจังหวัดตัดสินใจระงับโครงการ ส่งผลให้งบฯก้อนนี้ไม่ถูกนำไปใช้โดยฉ้อฉล

    3.สตง. และ ป.ป.ช.สอบสวนหาตัวผู้รับผิดทั้งทางแพ่งและอาญา รวมถึงดำเนินกระบวนการเรียกค่าเสียหายคืนจากผู้บริหาร อบจ.  ,กรรมการจัดซื้อจัดจ้าง และบริษัทเอกชน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิด โดยในส่วนของ ป.ป.ช. เบื้องต้นพบว่ามีนักการเมืองระดับชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง  เชื่อว่า ผลการสอบสวนจะสามารถลงโทษผู้กระทำผิดได้

     4.การซื้อตำราที่ไม่มีคุณภาพ หรือไม่ตรงตามความต้องการของโรงเรียน นอกจากจะสูญงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์แล้ว ยังส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชน เพราะไม่สามารถใช้ประโยชน์เพื่อนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้นได้ แต่จากการเปิดโปงข่าวทุจริตครั้งนี้ ทำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว เช่น กระทรวงมหาดไทยออกข้อกำหนดว่าด้วยการจัดซื้อจัดหาสื่อการเรียนรู้และอุปกรณ์การเรียนการสอนให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน ศธ.  ต่อไปการจัดซื้อต้องทำในรูปคณะกรรมการ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมกลั่นกรองก่อนอนุมัติ ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้บริหาร งุบงิบทำกันเองเช่นที่ผ่านมา 

     5.ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2552 กระทรวงมหาดไทยได้ทำหนังสือกำชับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ให้จัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2552 ,งบฯรายจ่ายเพิ่มเติม รวมทั้งงบฯรายจ่ายประจำปี 2553 ในส่วนของการจัดซื้อหนังสือและสื่อการเรียนการสอนของ อบจ.ให้ถูกต้องเหมาะสม และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในท้องถิ่นจริงๆ ห้ามระบุข้อความหรือรูปภาพ หรือชื่อสัญลักษณ์อื่นใดของผู้ช่วยเหลือในของที่แจก

      "มติชน"มั่นใจว่า ข่าวการเปิดโปงทุจริตจัดซื้อหนังสือทั่วประเทศชิ้นนี้  ในที่สุดแล้วจะช่วยกระตุ้นทุกฝ่ายให้ร่วมมือกันหยุดยั้งการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากโครงการพัฒนาทางการศึกษาของเด็ก อีกทั้งนำไปสู่การลงโทษผู้ร่วมขบวนการทุจริตอย่างเด็ดขาดและจริงจังเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป

                                                           กองบรรณาธิการ มติชน