B-4-2-2552-11_แกะรอยนอมินีที่นา ‘ทุนต่างชาติ-ทุนไทย’ ไล่ฮุบฐานรากเกษตรกรรม-โพสต์ทูเดย์

รหัส  B-4-2-2552-11

ชื่อข่าว_แกะรอยนอมินีที่นา  ‘ทุนต่างชาติ-ทุนไทย’ ไล่ฮุบฐานรากเกษตรกรรม

เจ้าของ-โพสต์ทูเดย์

ปีพิมพ์  พศ. 2552

ข่าวแกะรอยนอมินีที่นา

‘ทุนต่างชาติ-ทุนไทย’ ไล่ฮุบฐานรากเกษตรกรรม

กองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

 

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ( Climate Change ) ส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อการผลิตธัญญาหาร  พื้นที่เพาะปลูกในหลายภูมิภาคของโลกประสบปัญหาผลผลิตตกต่ำ บ้างก็ประสบภัยธรรมชาติ ผลผลิตธัญญาหารทั่วโลกลดต่ำลงอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันปัญหาพลังงาน ซึ่งราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก หลายประเทศเริ่มให้ความสนใจพืชพลังงานทดแทน อาทิ อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน

ทั้งสองปัจจัยดังกล่าวทำให้ความต้องการที่ดินเพื่อเพาะปลูกพืชธัญญาหารและพืชพลังงานทดแทนเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง   ผู้รับซื้อสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก  ที่เริ่มมองหาพื้นที่เพาะปลูกในประเทศต่างๆ เพื่อเช่าที่ดินลงทุนในธุรกิจการเกษตร สัญญาณที่กลุ่มทุนตะวันออกกลางให้ความสนใจการลงทุนด้านการเกษตร ปรากฏร่องรอยขึ้นเมื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นำนักธุรกิจอาหรับกลุ่มหนึ่งดูพื้นที่การเกษตรในจ.สุพรรณบุรี และประกาศว่าจะชักชวนนักธุรกิจอาหรับลงทุนด้านการเกษตรในประเทศไทย

ร่องรอยความสนใจลงทุนในด้านการเกษตรของกลุ่มอาหรับ ปรากฏขึ้นอีกครั้งในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และกลุ่มประเทศความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับหรือเจซีซีในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2552  กลุ่มจีซีซีได้ยอมรับถึงการออกไปหาแหล่งผลิตอาหารนอกประเทศเพื่อแสวงหาความมั่นคงทางอาหารแทนการเป็นผู้ซื้อดังที่ผ่านมา โดยมีการเช่าที่ดินในต่างประเทศเช่นฟิลิปปินส์ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางกฎหมายของแต่ละประเทศ

ในขณะที่ร่องรอยภายในประเทศ ก็พบว่ามีการกว้านซื้อที่นาจำนวนมาก ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งถือได้ว่าเป็นพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ

แม้พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ.2552  จะห้ามคนต่างต่างด้าวประกอบอาชีพทำนาและปศุสัตว์ ซึ่งเป็นอาชีพสงวนสำหรับคนไทย แต่การจดทะเบียนตั้งบริษัทโดยคนต่างด้าวถือหุ้นไม่เกิน 49.99 % ก็เป็นช่องโหว่ให้คนต่างด้าวใช้เป็นโอกาสที่จะดำเนินธุรกิจทุกประเภทได้บนผืนแผ่นดินไทย  ในลักษณะตัวแทนหรือนอมินี ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อาจส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงทางอาหาร และฐานรากของเศรษฐกิจไทย

ผลกระทบที่น่ากังวลดังกล่าวทำให้หลายหน่วยงาน เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง แม้ผลการตรวจสอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะไม่พบนอมินีที่นาต่างชาติ แต่ก็มีประเด็นใหม่ที่น่าสนใจนั่นคือ กลุ่มทุนไทยรายใหญ่ เข้ามาถือครองที่นาผืนใหญ่ในพื้นที่ที่ราบลุ่มภาคกลาง และบอกเลิกสัญญากับชาวนารายย่อยที่เช่าพื้นที่เดิม เพื่อเตรียมที่จะประกอบธุรกิจทำนา ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าวิถีชีวิตของชาวนารายย่อยทั่วประเทศซึ่งกว่า 60 % ไม่มีที่ดินทำกินของตนเอง ต้องเช่าที่ดินทำนา อาจเปลี่ยนจากสถานะเกษตรกรไปเป็นคนงานรับจ้างในที่นาผืนใหญ่ของกลุ่มทุน

 

การดำเนินการ

 

หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ได้เกาะติดความเคลื่อนไหวและร่องรอยของกลุ่มทุนใหญ่ที่พยายามรวบรวมซื้อที่ดินจำนวนมากในพื้นที่เกษตรกรรมมาอย่างต่อเนื่อง จากข่าวคราวความเคลื่อนไหวในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งมีลักษณะกระจัดกระจายและไม่ต่อเนื่อง กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ได้ตั้งทีมข่าวซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากโต๊ะข่าวเศรษฐกิจ การเมือง ภูมิภาค และโต๊ะข่าวการเงิน เพื่อวิเคราะห์ ตรวจสอบในทุกด้าน ทั้งการจดทะเบียนธุรกิจของคนต่างด้าวในประเทศ  การถือครองที่ดินจำนวนมาก เส้นทางการเปลี่ยนมือของที่ดิน รวมทั้งความเคลื่อนไหวทางการเงินของทุนต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทย ตลอดจนการกระตุ้นให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม ตรวจสอบในประเด็นนี้

ผลการตรวจสอบร่วมกันระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ  กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมามีชาวต่างชาติเข้ามารวบรวมที่ดินตั้งแต่ 10 ไร่ขึ้นไป ด้วยการถือครองด้วยวิธีการที่ต่างกันไป โดยมีนายหน้าคนไทยเป็นผู้กว้านซื้อที่ดิน

นายยุทธนา วิริยะกิตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ยอมรับว่า พบคนไทยมีพฤติกรรมเป็นนอมินี กว้านซื้อที่ดินแบบไม่อั้น และซื้อไปแล้วกว่า 1 พันไร่

แม้การกว้านซื้อที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ แต่ขณะเดียวกันหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ก็มิได้มองข้ามการถือครองกรรมสิทธิสิ่งปลูกสร้าง อาทิ บ้าน คอนโดมิเนียม ของกลุ่มทุนต่างชาติที่เริ่มปรากฏมาก่อนหน้านี้ ด้วยตระหนักว่า ทั้งการพยายามถือครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและสิ่งปลูกสร้าง ใช้วิธีการหาตัวแทนถือครองเช่นเดียวกัน การป้องกันและแก้ไขปัญหาจึงต้องเริ่มจากจุดเดียวกันนั่นคือ การตรวจสอบการถือครองโดยใช้ตัวแทนที่มีความซับซ้อน ดังนั้น นอกเหนือจากการเสนอข่าว แกะรอยนอมินีที่นาแล้ว หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ยังได้เสนอข่าวนอมินีอสังหาริมทรัพย์ ของชาวต่างชาติ ในพื้นที่ท่องเที่ยวต่างๆ ควบคู่กันไปด้วย

ขณะเดียวกัน แม้จะไม่พบการถือครองที่ดินของกลุ่มทุนต่างชาติ แต่ก็มีปรากฎการณ์ที่ทุนต่างชาติจากประเทศมาเลเซียให้ความสนใจธุรกิจข้าว โดยบริษัทจีจีเอฟ(ประเทศไทย) จำกัด ชนะการประมูลจัดหาไซโลข้าวขององค์การคลังสินค้าและเสนอตัวเป็นตัวแทนขายข้าวไทยในตลาดโลก  ซึ่งต่อมาผลการตรวจสอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษระบุว่าส่อไปในทางทุจริต ซึ่งหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ได้ติดตามและเสนอข่าวนี้อย่างต่อเนื่อง กระทั่งกระทรวงพาณิชย์ยกเลิกการเป็นตัวแทนค้าข้าวของจีจีเอฟ และตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงการประมูลไซโลข้าว

สิ่งที่เกิดขึ้นจากการเสนอข่าว

นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าตรวจสอบนิติบุคคลที่มี่คนต่างด้าวถือหุ้นไม่เกิน 49.99 % ว่ารายใดมีพฤติกรรมเข้าข่ายประกอบธุรกิจที่เป็นอาชีพสงวนสำหรับคนไทย โดยเฉพาะการทำนาและการทำปศุสัตว์

กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ตั้งทีมสอบสวนการถือครองที่ดินของต่างชาติผ่านนอมินี  แต่ผลการสอบสวนกลับพบแนวโน้มของกลุ่มทุนคนไทย ที่เข้ามาถือครองที่นาและเล็งการลงทุนธุรกิจการทำนาปลูกข้าวทั้งระบบ

นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการใน 3 เรื่องคือ

  1. ให้กรมที่ดินพิจารณาแก้ประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อแก้ปัญหานอมินีที่ดิน
  2. ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองพิจารณาว่า หากจะมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เกษตรกรรมที่เป็นสีเขียวในผังเมือง (พื้นที่เพื่อเกษตรกรรม) ให้เป็นพื้นที่สีอื่นจะทำได้หรือไม่ และจะต้องมีกฎเกณฑ์อย่างไร
  3. ให้กรมการปกครองและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตรวจสอบที่ดินของคนไทยที่อาจถูกชาวต่างชาติเข้ามาแสวงหาผลกำไร

นายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ตั้งคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากสรรพากรสำนักงานที่ดิน สำนักงานทะเบียนการค้า ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ตรวจสอบการถือหุ้นของคนต่างชาติในบริษัทซึ่งตั้งอยู่ในจ.ภูเก็ตว่ามีการแปลงหุ้นซื้อขายกันภายหลังจดทะเบียนตั้งบริษัทแล้วหรือไม่

 

กระทรวงพาณิชย์ ยกเลิกการเป็นตัวแทนค้าข้าวของบริษัทจีจีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด และตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงการประมูลไซโลข้าว โดยประเด็นการสอบสวนนอกจากการประมูลที่ส่อไปในการเอื้อประโยชน์แก่เอกชนแล้ว ยังอาจเข่าข่ายเป็นบริษัทนอมินีต่างชาติ กระทำผิดตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ พ.ศ.2535

การรายงานข่าวปัญหาที่นาและธุรกิจข้าวอย่างต่อเนื่องของหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  เป็นการกระตุ้นให้สังคมได้ทราบถึงปรากฎการณ์และความเคลื่อนไหวต่างๆ  ที่อาจส่งผลกระทบต่ออาชีพทำนาและธุรกิจข้าว ซึ่งเสมือนเส้นเลือดใหญ่และรากฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย การที่กลุ่มทุนรายใหญ่ของไทย ให้ความสนใจที่จะเข้ามาดำเนินธุรกิจข้าวอย่างครบวงจร ตั้งแต่การทำนา รับซื้อ และส่งออก จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวนารายย่อยกว่า 60 % ของประเทศซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินทำนา ซึ่งอาจเปลี่ยนสถานะจากเกษตรกรมาเป็นคนงานรับจ้างทำนา ในขณะที่ภาครัฐยังไม่มีนโยบายชัดเจนต่อทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อเกษตรกรรม ฐานรากที่สำคัญยิ่งของเศรษฐกิจไทย