B-4-3-2553-10_ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน วิคเตอร์ บูท บทพิสูจน์อำนาจอธิปไตยศาลไทย-ไทยรัฐ

รหัส B-4-3-2553-10

ชื่อเรื่อง_ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน วิคเตอร์ บูท บทพิสูจน์อำนาจอธิปไตยศาลไทย

เจ้าของ-ไทยรัฐ

ปีพิมพ์ พศ. 2553

ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน วิคเตอร์ บูท บทพิสูจน์อำนาจอธิปไตยศาลไทย
กองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เสนอข่าวการจับกุมชายสัญชาติรัสเซียชื่อ วิกเตอร์ อนาโตลเจวิช บูท” ตั้งแต่ฉบับวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2553 - 4 ธันวาคม 2553 ที่ตำรวจกองปราบระบุว่าเขาคืออดีตเคจีบี นักค้าอาวุธสงครามที่เคยอาละวาดไปทั่วโลก แต่มาจนมุมที่เมืองไทยเพราะสายข่าวของหน่วยดีอีเอ สหรัฐฯ วางแผนจับกุมได้ตามหมายจับของสหรัฐฯ    ก่อนที่นายวิคเตอร์ บูท จะขนอาวุธไปขายที่ฝั่งอเมริกาใต้ และต้องถูกดำเนินคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามกฎหมายพ.ร.บ.ผู้ร้ายข้ามแดนที่แก้ไขใหม่ปีพ.ศ.2551 ไทย ที่อนุวัตมาจากสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนไทย-สหรัฐ อันเป็นหลักสากล และระหว่างดำเนินคดีที่ศาลอาญาก็มีเรื่องน่าตื่นเต้นอีก ที่ตำรวจจับเครื่องบินขนส่งขนาดใหญ่ของจอร์เจียพร้อมกัปตันชาวคาซัคสถาน  ที่ขนขีปนาวุธจากเกาหลีเหนือถูกอายัดไว้ที่ดอนเมือง จนหลายฝ่ายนำเรื่องราวมาโยงกัน แล้วสรุปเบื้องต้นเป็นว่า เวลานี้เมืองไทยกลายเป็นแหล่งกบดานของนักค้าอาวุธ การขนส่งอาวุธ ไปเสียแล้ว

ถ้าเป็นภาพยนตร์ ฮอลลีวู้ด  นายวิคเตอร์ บูท ก็คือ ยูริ อัลลอฟ ตัวเอกในหนังเรื่อง ลอร์ด ออฟ วอร์ ที่แสดงโดย      นิโคลาส เคจ ดังนั้นข่าวจับนายวิคเตอร์ บูท จึงทำให้หลายคนติดตามข่าวนี้อย่างใกล้ชิด

ประเด็นข่าวส่งตัววิคเตอร์ บูท เป็นผู้ร้ายข้ามแดน สร้างกระแสความรู้สึกต่อสังคมไทยอยู่ 5 ประการ ที่เป็นปมปัญหาที่ต้องฝากไว้ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย ดังนี้

ข้อแรก ข่าวนี้สร้างกระแสตื่นตัวว่า เดิมเมืองไทยที่เป็นดินแดนอันสงบ เจริญด้วยวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยว ธรรมชาติที่สวยงาม แต่ในมุมมืด เมืองไทยกลายเป็นศูนย์กลางของนักค้าอาวุธ นักค้ายาเสพติด ผู้ก่อการร้าย เพิ่มจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะความที่กรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมทางอากาศ และเมืองไทยมีสนามบินขนาดใหญ่หลายแห่งที่สหรัฐฯเคยสร้างไว้ตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม ดังนั้นการที่วิคเตอร์ บูท เข้าออกประเทศไทยหลายครั้ง และไม่รู้ว่าขนอาวุธเข้าออกไปนานเท่าใด ก็ยังไม่มีใครทราบ เพราะตัวนายบูทถูกส่งไปขึ้นศาลสหรัฐฯแล้ว แต่ข้อเท็จจริงนี้ หากดูจากข่าวการจับเครื่องบินอิลยูชิน สี่เครื่องยนต์ที่ดอนเมือง และมีนักบินเป็นอดีตทหารรัสเซียเก่า มีขีปนาวุธเต็มลำ ประกอบกับสายข่าวระบุว่าเขาเพิ่งขนปืนอาก้าสองแสนกระบอกส่งให้กลุ่มกบฏในละตินอเมริกา และเพิ่งเหมาปืนล็อตใหญ่จากบอสเนียไปขายอิรัก ยังไม่นับอาวุธหนักเบา ที่ขายให้ตาลีบัน ในอัฟกานิสถาน  ก็พอจะยืนยันได้ว่า เรื่องเมืองไทยเป็นทางผ่านของนักค้าอาวุธเป็นเรื่องจริง ข่าวนี้ทำให้กองปราบปราม ดีเอสไอ สันติบาล หน่วยข่าวกรองทหาร ตื่นตัวในการสืบสวนหาข่าวมากขึ้น

ข้อสอง ข่าวนี้ทำให้คนไทยรู้ขั้นตอนของหลักการต่างตอบแทน ระดับชาติ กล่าวคือ ประเทศไทยกับสหรัฐฯ มีความร่วมมือกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จนหมดยุคสงครามเย็น มาจนปัจจุบัน  ซึ่งประเทศสหภาพโซเวียตล่มสลาย คนอย่างนายวิกเตอร์ บูท ก็ออกมาทำมาหากินกับขยะวัสดุสงครามเหลือใช้จนร่ำรวย เรื่องนี้อยู่ในสายตาของสหรัฐฯมาตลอด จนทางการสหรัฐฯสืบสวนออกหมายจับโดยศาลสหรัฐฯ ต่อมาอัยการสหรัฐฯได้ใช้ช่องทางประสานงานมายังกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เพื่อติดต่อมายังสำนักงานอัยการสูงสุดของไทย กระทรวงการต่างประเทศของไทย รวมทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนจับนายวิคเตอร์ บูทได้ที่สีลม

ขั้นตอนตามกฎหมายพ.ร.บ.ผู้ร้ายข้ามแดนคือ สำนักงานอัยการสูงสุดจะทำคำร้องยื่นต่อศาล ในประเด็นที่ว่าไทยกับ สหรัฐฯ มีกฎหมายผู้ร้ายข้ามแดนตรงกัน นายวิคเตอร์ บูทไม่ใช่นักโทษทางการเมือง ข้อหาที่สหรัฐฯกล่าวหาตรงกับกฎหมายไทย และไม่มีโทษประหารชีวิต จึงขอให้ศาลอาญาส่งเขาไปดำเนินคดีที่สหรัฐฯ กฎหมายไทยที่นำมาใช้ในคดีนี้คือพ.ร.บ.ผู้ร้ายข้ามแดน ที่แก้ไขใหม่แต่ใจความส่วนใหญ่ยังคล้ายของเดิมคือ คดีต้องไปสิ้นสุดที่ศาลอุทธรณ์ ดังนั้น เมื่อศาลอาญาพิพากษายกคำร้อง ฝ่ายอัยการจึงอุทธรณ์ จนท้ายสุดศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ส่งนายบูทไปสหรัฐฯ แต่ให้กักตัวไว้ชั่วคราวก่อนถูกส่งตัวออกไป

ซึ่งในเรื่องนี้นายศิริศักดิ์ ติยะพรรณ อธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ บอกว่า สหรัฐฯเคยส่งนักโทษคนไทยมารับโทษในประเทศไทย ทางสหรัฐฯก็เคยขอรับตัวคนอเมริกันไปรับโทษที่สหรัฐฯหลายครั้ง ดังนั้นคดีนี้จึงเป็นการต่างตอบแทนตามปกติ แต่หลังจาก ศาลมีคำสั่งเป็นที่สุดแล้ว นายศิริศักดิ์ก็ให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐว่า ความจริงทางอัยการสหรัฐฯ ส่งคนมาประกบการทำงาน ของเจ้าหน้าที่ ไทยตลอด แต่ไม่ขอเอ่ยชื่อ ซึ่งถ้าตามข่าวดีก็จะรู้ว่าบุคคลเหล่านี้ อาจเป็นไปได้ทั้งแค่เจ้าหน้าที่ประสานงาน หรือเป็นซีไอเอ หรือพวก ล็อบบี้ยีสต์

ข้อสาม ข่าวคดีนายวิคเตอร์ บูท ทำให้เกิดกระแสความรู้สึกที่ดี ที่สหรัฐฯยอมรับ เขตอำนาจอธิปไตยของไทย หรือเคารพศาลยุติธรรมของไทย โดยยอมขอรับตัวนายบูท ตามช่องทางของกฎหมายพ.ร.บ.ผู้ร้ายข้ามแดน และวิธีทางการทูต ซึ่งต่างกับวิธีการอันป่าเถื่อนที่สหรัฐฯเคยก่อกรรมไว้กับประเทศไทยมาก่อน แต่คนไทยไม่ค่อยให้ความสนใจก็คือ ข่าวการจับตัวนายฮัมบาลี ผู้ก่อการร้ายอิสลามมิยาที่วางระเบิดโรงแรมมาริออตที่อินโดนีเซีย และถูกจับที่จังหวัดอยุธยา เรื่องนั้นไม่มีการดำเนินคดีในประเทศไทย ทั้งที่ตำรวจไทยเป็นคนจับ แต่คนมารับตัวคือเจ้าหน้าที่ซีไอเอ  และนำนายฮัมบาลีไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบินอู่ตะเภา ใช้เวลาเพียง สองวันก็จบ เพราะไม่ต้องขึ้นศาล ต่างกับนายวิคเตอร์ บูทที่ต้องใช้เวลาขึ้นศาลสองศาลเป็นเวลา 2 ปี เหตุผลที่นายฮัมบาลีไม่ต้องขึ้นศาล เพราะ ไทยเป็นพันธมิตรนอกนาโต้ ที่รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลงนามไว้กับนายจอร์จ บุช ประธานาธิบดีสหรัฐที่ว่า ไทยกับสหรัฐฯจะมีความร่วมมือกันในการปราบปรามผู้ก่อการร้าย โดยไทยจะได้รับประโยชน์ในด้านความร่วมมือทางทหารเป็นการตอบแทน

ข้อสี่ ข่าวนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า อำนาจศาลยุติธรรมอยู่เหนืออำนาจฝ่ายบริหาร เพราะไม่ว่ารัฐบาลจะรีบร้อนส่งตัวนายวิคเตอร์ บูทออกจากประเทศไทย แต่ในทางกฎหมาย รัฐบาลไม่อาจกระทำตามใจได้ กล่าวคือจะเห็นได้ว่า ช่วงที่ศาลอาญาพิพากษายกคำร้องไม่ส่งเขาไปสหรัฐฯ เพราะว่าเข้าข้อต้องห้ามมิให้ส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน แต่ทางฝ่ายสหรัฐฯก็กดดันรัฐบาลไทย อยู่ตลอดเวลา จนก่อนการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เพียง 1 วัน หลายฝ่ายไม่อาจคาดเดาได้ว่าศาลอุทธรณ์จะยกคำร้องอีกหรือไม่ หากยกคำร้องนายบูทก็จะหลุดพ้นจากการควบคุม ดังนั้นทางสหรัฐฯจึงขอให้ฝ่ายไทย โดยสำนักงานอัยการสูงสุดทำคำร้องอีกฉบับในข้อหาฉ้อโกงและฟอกเงิน  และยื่นต่อศาลอาญาก่อนศาลอาญาจะอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่กี่ชั่วโมง  แต่พอศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ อัยการเห็นว่าคำร้องฉบับที่สองไม่เป็นประโยชน์ จึงขอถอนคำร้อง เพื่อไม่ให้คดีคาในศาล แล้วจะได้รีบส่งนายบูทไปสหรัฐ แต่ทว่าศาลอาญาได้พิจารณาคำร้องประกอบคำให้การคัดค้านของฝ่ายนายบูทแล้ว เห็นว่า  การถอนฟ้อง นั้น ต้องปฏิบัติตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 35 คือ ถ้าจำเลยยื่นคำให้การแล้ว ให้ศาลถามจำเลยก่อนว่าจะคัดค้านหรือไม่ กรณีจำเลยคัดค้านให้ศาลยกคำร้อง ขอถอนฟ้อง เรื่องนี้เป็นข้อพิสูจน์ว่าไม่ว่ารัฐบาลจะมีเจตนาให้นายบูทออกไปจากเมืองไทยเร็วเท่าใด แต่ศาลมีดุลยพินิจว่าจะวินิจฉัยเป็นอย่างใดก็ต้องปฏิบัติไปตามนั้น จึงที่สุด ศาลอาญาก็พิพากษาว่า ยกฟ้องสำหรับคำร้องที่สอง ด้วยเหตุผลว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอให้ส่งตัวนายบูทเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ดังนั้นผลในที่สุดก็คือต้องบังคับคดีไปตามคำพิพากษาของสำนวนที่ 1 คือส่งตัวนายบูทไปสหรัฐฯได้อยู่ดี

ข้อห้า ข่าวนี้เป็นคดีพิลึก ที่ฝ่ายโจทก์อาจดีใจที่ถูกยกฟ้องในคดีที่สอง  (เพราะจะได้ตัวจำเลยส่งไปสหรัฐฯเร็วๆ) ขณะที่ฝ่ายจำเลยกลับกลุ้มใจที่ศาลยกฟ้อง แทนที่จะดีใจเหมือนคดีอื่นๆ (เพราะตัวจำเลยยังไม่ต้องถูกเอาตัวไปสหรัฐฯ) เรื่องนี้อาจจะหนักไปสักหน่อย แต่ผู้เขียนขอพยายามเรียบเรียงให้เข้าใจง่ายๆว่า ตราบใดที่คดีแรกศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ส่งนายบูทไปสหรัฐฯสมประโยชน์ของอัยการแล้ว ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเสนอคำร้องฉบับที่สองที่ยื่นไว้กันเหนียวให้คดีคาอยู่ในศาลอีก แต่ตรงกันข้ามคดี นี้จำเลยแถลงเป็นคำให้การทำนองว่า ขอให้มีการพิจารณาคดีที่สอง ก็เพื่อเป็นนัยว่า ขอดึงตัวนายบูทกลับมาในศาลไทยอีกชั่วเวลาหนึ่ง จึงต้องการให้มีการดำเนินคดีกับสำนวนที่สองต่อไป จำเลยอาจจะได้ซื้อเวลาอยู่ในเมืองไทยอีกปีสองปี ดังนั้นทนายความจำเลยจึงงัดสารพัดเหตุผล เพราะไหนๆศาลอาญาก็สั่งยกคำร้องขอถอนฟ้องไปแล้ว แต่ในที่สุดศาลอาญาก็หาทางออกด้วยการพิพากษายกคำฟ้องหรือคำร้องฉบับที่สอง

ผู้สื่อข่าวที่ทำหน้าที่เสนอข่าวจากศาลยุติธรรม ได้ทำหน้าที่โดยอาศัยความรู้ในเชิงกฎหมาย ทำให้ผู้อ่านได้รู้ในเบื้องต้นว่า คดีผู้ร้ายข้ามแดน เป็นหน้าที่ของใครที่ต้องยื่นคำร้อง และคำร้องต่อมาได้กลายเป็นคำฟ้อง เมื่อฝ่ายผู้ถูกส่งตัวยื่นคำให้การและกลายเป็นประเด็นพิพาท การเสนอขั้นตอนกระบวนการสืบพยานหลักฐาน ตลอดจนการพิจารณาคำสั่งคำร้องที่ฝ่ายทนายความ จำเลยพยายามยื่นอยู่ตลอดเวลาเพื่อรักษาผลประโยชน์ลูกความ หรืออาจเป็นเพียงการประวิงคดี นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวยังได้สัมภาษณ์ ผู้เกี่ยวข้องจนได้ความรู้ในระดับหนึ่งว่า ทางสหรัฐฯ ก็ส่งเจ้าหน้าที่มา ประกบการทำงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยตลอดเวลา จนนำไปสู่ประเด็นต้องคิดต่อไปว่าสหรัฐฯมีการ แทรกแซง การทำงานของไทยหรือไม่

 

ผลที่เกิดขึ้นจากการเสนอข่าว

แม้จะมีข่าวการเคลื่อนไหวกดดันจากฝ่ายประเทศรัสเซีย และข่าวการเร่งเร้าจากฝ่ายสหรัฐฯให้รัฐบาลไทย เร่งส่งตัวนายวิคเตอร์ บูท ไปสหรัฐฯโดยเร็วที่สุด ประกอบกับข่าวภรรยาของผู้ร้ายข้ามแดน ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย แต่ข่าวคดีวิคเตอร์ บูท ได้เป็นบทพิสูจน์กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย ที่เป็นเสาหลักในการอำนวยความร่วมมือกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศ โดยเคารพกฎหมายผู้ร้ายข้ามแดนอย่งเหนียวแน่น และปราศจาก การแทรกแซงจากทังภายในแะภายนอก ต่อไปนี้คงเป็นที่เข็ดขยาดของนักค้าอาวุธและผู้ก่อการร้าย ที่มาพึ่งเมืองไทยเป็นที่กบดาน เพื่อจะไปก่อความชั่วที่ประเทศอื่น หวังว่าจะหลบเงื้อมมือกฎหมายไปได้นั้น มันหมดยุคไปเสียแล้ว