B-4-3-2553-3_จีที 200 ไม้ล่างป่าช้า.. พันล้าน-คมชัดลึก

รหัส B-4-3-2553-3

ชื่อเรื่อง_จีที 200 ไม้ล่างป่าช้า.. พันล้าน

เจ้าของ -คมชัดลึก

ปีพิมพ์ พศ. 2553

 

จีที 200 ไม้ล่างป่าช้า.. พันล้าน

กองบรรณาธิการ คมชัดลึก

เครื่องตรวจวัตถุระเบิดรุ่น “จีที 200” ถือเป็นเครื่องตรวจวัตถุระเบิดหลักของกองทัพมาตั้งแต่ปี 2548 โดยเฉพาะภารกิจการค้นหาวัตถุระเบิดรายวันใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ภาพลักษณ์ของจีที 200 จึงไม่ต่างจาก “ไม้ศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งเป็นทั้งตาทิพย์ และเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด และทหารในภาคใต้ที่ต่างเชื่อมั่นศรัทธาโดยไม่มีข้อกังขาใดๆ

ทีมข่าว “คมชัดลึก” เริ่มจับพิรุธความผิดปกติของไม้วิเศษจีที 200 เรื่อยมานับตั้งแต่เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่ข้างโรงแรมเมอร์ลินใน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2552 และตลาดสด จ.ยะลา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2552

ความผิดพลาดที่ตรงกันของ "เหตุระเบิดกลางเมือง" ทั้ง 2 ครั้งดังกล่าว คือ ก่อนเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ถือจีที 200 เดินตรวจตราอยู่หลายรอบ แต่ก็ไม่พบวัตถุระเบิดที่คนร้ายซุกซ่อนไว้ในรถยนต์ และรถจักรยานยนต์จนทำให้ระเบิดที่คนร้ายซุกซ่อนเอาไว้สร้างความเสียหายทั้งชีวิต และทรัพย์สินอย่างร้ายแรง !!

เราเริ่มรายงานความผิดปกติของจีที 200 เป็นครั้งแรกตั้งแต่รายงานพิเศษหน้า 2 ฉบับวันที่ 26 ตุลาคม 2552 โดยตำรวจ-ทหารชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดชี้ว่า จุดอ่อนของจีที 200 คือ เครื่องมีความสัมพันธ์กับผู้ใช้มาก ซึ่งหากร่างกายของผู้ใช้งานอ่อนเพลียจะทำให้ “ไฟฟ้าสถิตย์” ในร่างกายทำงานไม่เต็มที่ ส่งผลให้การทำงานของเครื่องผิดพลาดไปด้วย

นอกจากนี้ หากเป็นจุดที่เคยมี "สารระเบิด" ตกค้าง หรือเคยมีการระเบิดมาก่อน เครื่องก็มักจะชี้ไปยังจุดนั้น ทั้งที่จุดดังกล่าวจะมีระเบิดอยู่หรือไม่ก็ตาม ซึ่งแม้ประเด็นดังกล่าวจะแสดงให้เห็นถึงความไม่เสถียรของเครื่องก็ตาม แต่ผลงานการค้นหาระเบิดที่ผ่านมาก็ทำให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ยังมั่นอกมั่นใจในจีที 200 อย่างเต็มเปี่ยม

ฉะนั้น ความผิดพลาดเพียงครั้งสองครั้ง เมื่อเทียบกับกิติศัพท์การค้นหาระเบิดที่แม้จะฝังดิน หรือซุกไว้ใต้ผืนน้ำหลายสิบเมตรก็ยังค้นหาเจอ ทำให้จีที 200 ยังคงได้รับความเชื่อมั่นศรัทธาอย่างแรงกล้าของนายทหารผู้เสี่ยงตายในพื้นที่ต่อไป

ทว่า การจุดกระแสจับผิดจีที 200 ทำให้ชุมชนวิทยาศาตร์ในห้อง “หว้ากอ” เว็บไซต์พันทิป เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ พร้อมกับเรียกร้องให้มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริง เพราะต่างก็มีความเชื่อตรงกันว่า จีที 200 ไม่น่าจะมีเวทมนต์ถึงเพียงนั้น

คมชัดลึก เริ่มเปิดประเด็นใหม่อีกครั้งในรายงานพิเศษหน้า 2 ฉบับวันที่ 25 ธันวาคม 2552 ชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติ และ “ไม่เป็นวิทยาศาตร์” ของจีที 200 ก่อนการแฉระดับโลกของสำนักข่าว “บีบีซี” ที่เปิดโปงเครื่องมือที่ว่านี้นานกว่า 1 เดือน

โดยผู้ที่วิพากษ์ได้อย่างแหลมคม ตรงไปตรงมา คือ นายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เรียกร้องให้มีการพิสูจน์ประสิทธิภาพ และผ่าวงจรของจีที 200 ให้รู้ดำรู้แดงกันไปเลย

เขาเชื่อมั่นว่า จีที 200 มีประสิทธิภาพไม่ต่างอะไรกับ “ไม้ล้างป่าช้า” ที่นักวิทยาศาตร์ในโลกตะวันตกหัวเราะเยาะมานาน เพราะใช้งานไม่ได้จริง และไม่มีหลักการทางวิทยาศาตร์รองรับ

อ.เจษฎา เปิดเผยข้อมูลกับ “คมชัดลึก” เป็นฉบับแรกว่า เฉพาะในกองทัพ และหน่วยราชการไทยมีจีที 200 และเจ้าเครื่องมือที่มีหน้าตาไม่ต่างจากจีที 200 กว่า 1,000 เครื่อง โดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปคือ “อัลฟ่า 6” และ“ADE 101”

ทว่า เครื่องมือเหล่านี้มีประสิทธิภาพแค่ “ไม้ล้างป่าช้า” ขณะที่กองทัพซื้อมาในราคาสูงลิบลิ่วถึงเครื่องละ 9 แสนบาท-1.4 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับว่านี่คือไม้ล้างป่าช้าที่มีราคาแพงที่สุดในโลก !

แต่เสียงของคมชัดลึก และชุมชนในห้องหว้ากอในครั้งนั้นถูกสวนกลับจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.(ในขณะนั้น) และพญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาตร์ ซึ่งท้าให้ลงไปพิสูจน์ที่ 3 จังหวัดภาคใต้

แสงสว่างตรงปลายอุโมงค์เริ่มสว่างวาบขึ้น เมื่อสื่อระดับโลกอย่าง “บีบีซี” แฉว่า เครื่องตรวจระเบิด “เอดีอี-651” ซึ่งมีหน้าตาราวกับแฝดคนละฝาของจีที 200 ถูกกองทัพอังกฤษ และสหรัฐ สั่งแบน

ต้นตอมาจากความสูญเสียของทหารทั้ง 2 ประเทศในอิรัก และอัฟกานิสถาน ซึ่งใช้เอดีอี 651 ตรวจวัตถุระเบิด แต่กลับมีระเบิดเล็ดรอดเข้าไปสร้างความพินาศอย่างต่อเนื่อง

นักวิทยาศาตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ยังผ่าเอดีอี 651 ก็พบว่าข้างในกลวงโบ๋ ไม่มีวงจรอะไรเลย ซ้ำยังแสดงความห่วงใยประเทศที่ใช้เครื่องมือลักษณะนี้ โดยเฉพาะในกองทัพไทย

คมชัดลึกนำเสนอข่าวนี้พร้อมกับรายงาน ข่าว และสกู๊ปจับผิดจีที 200 เป็นข่าวใหญ่ทั้งข่าวหน้า 1 หน้าต่อข่าว และรายงานพิเศษหน้า 3 ในฉบับวันที่ 26 มกราคม 2553 โดยอ้างอิงผลการพิสูจน์ของนักวิทยาศาตร์จากอังกฤษ ท่ามกลางอารมณ์อันฉุนเฉียวของ ผบ.ทบ.เมื่อถูกตั้งข้อกังขาในประสิทธิภาพของจีที 200

กระนั้น เมื่อมีเสียงเรียกร้องให้พิสูจน์ ประสิทธิภาพของจีที 200 ดังกระหึ่มขึ้น แรงต่อต้านของกองทัพ และหน่วยงานที่ใช้จีที 200 (รวมทั้งอัลฟา-6) เช่น ที่กระทรวงมหาดไทย ก็ออกแรงต่อต้านแข็งขืนอย่างหนัก

โดยเฉพาะกองทัพบกที่ให้ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดโชว์ประสิทธิภาพของจีที 200 ว่าเจ๋งจริง ก่อนจะสั่งให้ทหารระดับปฏิบัติงานทั้ง 4 กองทัพภาคมาการันตีประสิทธิภาพการค้นหาระเบิด และยาเสพติดของจีที 200

ขณะที่คมชัดลึกก็ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการพิสูจน์ประสิทธิภาพของหน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด กองทัพบก (ฉก.อโณทัย) ถึงสนามฝึกกรมสรรพาวุธ จ.ราชบุรี ซึ่งได้มีการจัดทดสอบประสิทธิภาพของจีที 200 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2553 โดยปรากฏผลทดสอบ พร้อมกับความเชื่อมั่นของทหารชุดเก็บกู้ระเบิดในคมชัดลึกฉบับวันที่ 27 มกราคม 2553

ในขณะที่กองทัพไม่ยอมจำนน กระแสสังคมก็พุ่งไปยัง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จนต้องสั่งการให้กระทรวงวิทยาศาตร์เป็นเจ้าภาพพิสูจน์ประสิทธิภาพจีที 200

ผลพิสูจน์ตามกระบวนการวิทยาศาตร์โดยเนคเทคก็ได้ข้อสรุปว่า จีที 200 ค้นหาวัตถุระเบิดได้เพียง 4 ครั้งจากทั้งหมด 20 ครั้ง ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการ “เดาสุ่ม” โดยไม่ใช้เครื่องมือใดๆ

คมชัดลึก นำเสนอผลการพิสูจน์ของเนคเทคเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 ในหน้า 1 และหน้าในของหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2553 พร้อมรายงานขุดคุ้ยเบื้องลึก-เบื้องหลังการจัดซื้อเครื่องมือในตระกูลจีที 200 ของแต่ละหน่วยงานทั่วประเทศ

ผลพิสูจน์ที่ออกมา ไม่เพียงช็อคคนทั้งกองทัพและ กระทรวงมหาดไทย หากแต่ยังช็อคคนไทยทั้งประเทศ และตั้งคำถามพร้อมกันทันทีว่า ใครคือคนที่สั่งซื้อเครื่อง จีที 200 ที่มีมูลค่ากว่า 1 พันล้านบาท แต่คุณค่าไม่ต่างจากไม้ล้างป่าช้า

คำถามนี้ไม่ได้ยิงตรงเฉพาะกองทัพเท่านั้น แต่หน่วยงานอื่น เช่น สถาบันนิติวิทยาศาตร์ ดีเอสไอ ปปส. ตำรวจภูธร ตำรวจนครบาล และตชด. ต่างก็มีและใช้เครื่องมือชนิดนี้ทั้งสิ้น

ยิ่งไปกว่านั้นเริ่มมีคำถามจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อมีญาติของผู้เสียหายอ้างว่า เจ้าหน้าที่อ้างผลตรวจสอบของ จีที 200 ว่ามีสารระเบิดและนำไปสู่การจับกุม ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการสร้างเงื่อนไขความไม่สงบอย่างยิ่ง

ในที่สุด พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ซึ่งเคยแสดงความเชื่อมั่นในจีที 200 มาตลอด แม้จะมีผลพิสูจน์จากเนคเทคว่า จีที 200 มีประสิทธิภาพไม่ต่างจากการเดาสุ่มก็ออกมายอมรับกลายๆ ด้วยการเตือนกำลังพลในภาคใต้ให้ "ระวังตัว" หากจะใช้งานจีที 200 ต่อ โดยคมชัดลึกนำเสนอประเด็นนี้ในหน้า 3 ของฉบับวันที่ 3 มีนาคม 2553

ผลจากการตรวจสอบแบบเกาะติดของ "คมชัดลึก" ทำให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ที่เดิมมีจุดยืนต่อต้านการเปิดโปงประสิทธิภาพของจีที 200 อย่างแข็งกร้าว แต่ภายหลังถึงกับยอมรับในความไร้ประสิทธิภาพของจีที 200 และออกปากเตือนกำลังพลที่ใช้จีที 200 ด้วยตัวเองทำให้จีที 200 ถูก "ปลดประจำการ" ในกองทัพไปในที่สุด

เหลือเพียงคำถามว่า ใครคือต้นเรื่องที่สั่งซื้อ ใครคือ ผู้ที่พิสูจน์ประสิทธิภาพ จนทำให้ภาษีของประชาชนถูกจับจ่ายเป็น "ค่าโง่พันล้าน" !?

ส่วนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ “เครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์” และ “สุนัขทหาร” ถูกนำมาใช้ป้องกันชีวิตของเจ้าหน้าที่แทนจีที 200 และแม้ว่าวันนี้ กลไกการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในบ้านเมืองเรายังไม่เข้มแข็งพอที่จะจัดการกับปัญหาระดับนี้ได้อย่างจริงจัง

แต่การหยุดความเสียหายที่เกิดขึ้นในกองทัพ ทั้งงบประมาณและกำลังพล หยุดความเสียหายที่กำลังแผ่ขยายไปถึงกระบวนการยุติธรรมอันเป็นจุดเปราะบางในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ก็นับว่าคุ้มค่ากับการมุ่งมั่นที่จะตีแผ่ความจริงแล้ว