B-4-3-2553-2_ยาเสพติดระบาดหนักโยงป่วนใต้ กลุ่มอิทธิพล-เจ้าหน้าที่รัฐเอี่ยว-กรุงเทพธุรกิจ

รหัส  B-4-3-2553-2

ชื่อเรื่อง_ยาเสพติดระบาดหนักโยงป่วนใต้ กลุ่มอิทธิพล-เจ้าหน้าที่รัฐเอี่ยว

เจ้าของ รุงเทพธุรกิจ

ผลงานส่งประดวก  2551

 

าเสพติดระบาดหนักโยงป่วนใต้ กลุ่มอิทธิพล-เจ้าหน้าที่รัฐเอี่ยว
กองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

หลายฝ่ายอาจมองปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยพุ่งเป้าไปที่สถานการณ์ความไม่สงบรูปแบบต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นรายวัน และวาทกรรมของรัฐที่ระบุว่าเป็นการกระทำของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงจากขบวนการที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนเท่านั้น

ทว่าจากสถิติคดีอาญาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นต้นมา ซึ่งเก็บรวบรวมและวิเคราะห์โดยหน่วยงานความมั่นคง กลับพบว่ามีคดีอาญาเกิดขึ้นมากถึง 77,865 คดี แต่เป็นคดีความมั่นคงที่เกี่ยวเนื่องกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนจริงๆเพียง 7,680 คดี หรือร้อยละ 9.86 เท่านั้น

ส่วนอีก 70,185 คดีเป็นคดีอาญาทั่วไป ซึ่งก็นับว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก เพราะเป็นคดีที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือจะนะ เทพา สะบ้าย้อยและนาทวี เท่านั้น แต่กลับมีคดีอาญาเกิดขึ้นเฉลี่ยถึงปีละ 1 หมื่นคดี และนี่คือจุดเริ่มต้นของการค้นหาความจริง

ผู้สื่อข่าวกรุงเทพธุรกิจ ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้ข้อมูลว่าในขณะที่มีสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นเป็นรายวัน ทำให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับปัญหาแบ่งแยกดินแดนนั้นอีกด้านหนึ่งกลับปรากฏความเฟื่องฟูคึกคักของธุรกิจผิดกฎหมายทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นขบวนการค้ายาเสพติด น้ำมันเถื่อน สินค้าเถื่อน สถานบริการที่ขายบริการทางเพศ บ่อนการพนัน และโต๊ะพนันฟุตบอล สร้างกำไรมหาศาลให้กับผู้ที่อยู่ในขบวนการซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพล โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่มบางหน่วยร่วมรับผลประโยชน์อยู่ด้วย

เหตุรุนแรงส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นแฝงอยู่ในสถานการณ์ความไม่สงบที่ฉาบอยู่เป็นฉากหน้าก็คือการขัดแย้งแย่งชิงผลประโยชน์หรือหักหลังกันเองของกลุ่มอิทธิพลค้าของผิดกฎหมายเหล่านี้ ซึ่งมีตัวละครจำนวนไม่น้อยที่เป็นกลุ่มเดียวกับนักการเมืองท้องถิ่น ผู้นำฝ่ายปกครองท้องที่ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงระดับต่างๆ ทั้งยังมีบางส่วนเชื่อมโยงเกื้อหนุนกับขบวนการและกลุ่มติดอาวุธที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนด้วย

วันที่ 11 ธันวาคม 2553 กรุงเทพธุรกิจ จึงเปิดประเด็นด้วยข่าว ยาเสพติดระบาดหนักโยงป่วนใต้ กลุ่มอิทธิพล-เจ้าหน้าที่รัฐเอี่ยว โดยนำเสนอข้อมูลเชิงประจักษ์จากในพื้นที่ผสานกับเอกสารลับของหน่วยงานด้านความมั่นคงที่รายงานสรุปปัญหาต่อรัฐบาลว่าปัญหายาเสพติดในพื้นี่จังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ และมีส่วนผสมโรงเชื่อมโยงกับปัญหาความไม่สงบอย่างแยกไม่ออก โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่ม บางหน่วยคอยอำนวยความสะดวกหรือร่วมอยู่ในขบวนการด้วยเพื่อแลกกับผลประโยชน์ก้อนโต

ถัดจากนั้น กรุงเทพธุรกิจจึงได้ทยอยเปิดข้อมูลธุรกิจผิดกฎหมายประเภทต่างๆ ที่ค้ากันอย่างโจ๋งครึ่มในพื้นที่ สะท้อนปัญหาสังคมสุดฟอนแฟะของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งผัล บาร์ คาราโอเกะ แฝงขายบริการทางเพศที่เปิดกันเกลื่อนเมือง แม้กระทั่งบริเวณใกล้สถานศึกษาหรือศาสนสถาน เล่ห์กระเท่การขนถ่ายน้ำมันหนีภาษีจากประเทศมาเลเซียผ่านด่านศุลกากรต่างๆ เข้ามายังราชอาณาจักรไทย การใช้เส้นทางรถไฟในการลำเลียงสินค้าหนีภาษีกันอย่างเปิดเผย ไม่เกรงสายตาผู้คน และบ่อนการพนันโดยเฉพาะ “โต๊ะบอล” ที่แพร่หลายอย่างมากมีเด็กและเยาวชนร่วมอยู่ในวงจรทั้งพุทธและมุสลิม

ทั้งหมดเกิดขึ้นได้เพราะมีเจ้าหน้าที่รัฐส่วนหนึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องรับผลประโยชน์ สอดคล้องกับข้อมูลและความรู้สึกของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนผู้นำทางความคิดที่ กรุงเทพธุรกิจได้ไปรวบรวมความเห็นมา ซึ่งทั้งหมดเห็นตรงกันว่า ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีปัญหาแก๊งอิทธิพลและธุรกิจผิดกฎหมายซุกอยู่ใต้พรม ทั้งยังเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งในการหล่อเลี้ยงความรุนแรง ทำให้การทุ่มงบประมาณกว่า 1.44 แสนล้านบาทตลอด 7 ปีที่ผ่านมา เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ไม่สามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ และหากไม่แก้ปัญหานี้ ก็จะไม่มีทางแก้ปัญหาความไม่สงบได้

จากการเปิดประเด็นและเสนอข่าวต่อเนื่องของ กรุงเทพธุรกิจ ได้สร้างกระแสให้หลายฝ่ายเหลี่ยวมองสภาพการณ์ที่แท้จริงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทั่งรัฐบาลออกมาเคลื่อไหวในเรื่องนี้โดยประกาศให้พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่พิเศษ ที่ต้องเร่งปราบปรามและสกัดกั้นขบวนการค้ายาเสพติดอย่างเร่งด่วน

ขณะที่แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่งคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค4) ก็ได้ออกมาตรการปราบปรามผู้ค้ายาเสพติด กลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น และขบวนการค้าของผิดกฎหมายโดยใช้กฎหมายพิเศษทั้งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 เป็นเครื่องมือในการดำเนินการ

ขณะเดียวกันก็จัดทำโครงการร่วมกับจุฬาราชมนตรี ดึงมัสยิดกว่า 2 พันมัสยิดทั่วพื้นที่ เข้าร่วมเสมือนหนึ่งเป็น รั้วป้องกัน ปัญหายาเสพติดในชุมชน