รอบปีธุรกิจหนังสือพิมพ์ ปี 2548

รอบปีธุรกิจหนังสือพิมพ์ ปี 2548

อรุณี เอี่ยมสิริโชค

ข่าวกลุ่มทุนยักษใหญ่ทางด้านบันเทิง “ย่องเบา” เข้าเทกโอเวอร์หนังสือพิมพ์ 2 ฉบับ กลายเป็นข่าวใหญ่ขึ้นหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์แทบจะทุกฉบับ ทำให้ภาพรวมของธุรกิจหนังสือพิมพ์ในรอบปี 2548 ดูมีสีสันระคนเศร้าเมื่อระบบทุนนิยม (ผูกขาด) สำแดงตัวตนอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งต่อสาธารณะอีกครั้ง

“แกรมมี่” เทกโอเวอร์ “มติชน-บางกอกโพสต์”

สังคมไทยมีโอกาสรับรู้และซึมซับ “เสรีภาพ” คุณค่าอันพึงหวงแหนอีกครั้ง ผ่านจิตวิญญาณของผองเพื่อนหนังสือพิมพ์ในยุคทุนนิยม และประชาชนคนอ่านที่ได้ผนึกกำลังลุกฮือและต่อต้านการเข้าซื้อหุ้นหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับ ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ทางด้านธุรกิจบันเทิง ซึ่งรายงานต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 12 ก.ย.2548 ว่า ได้เข้าซื้อหุ้นของบริษัท มติชน จำกัด(มหาชน) ได้ 32.23 % พร้อมกับการซื้อหุ้นบริษัทโพสต์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) 23.60 %

ข่าวนี้เริ่มกระเซ็นกระสายผ่านสายตากลุ่มคนอ่านหนังสือพิมพ์แนวบันเทิง และแนวเศรษฐกิจฉบับเล็กๆ มาก่อนหน้านี้บ้างแล้ว โดยเฉพาะนายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกลุ่มแกรมมี่ หรือ”อากู๋” ให้สัมภาษณ์ไว้เป็นแนวกว้างๆ ว่าบริษัทฯ กำลังร่วมมือกับพันธมิตรในกลุ่มทุนสื่อ 2 ราย โดยหวังจะผลักดันให้บริษัทเป็นมัลติมีเดียที่สมบูรณ์ ซ้ำคาดการณ์ตัวเลขรายได้ของปี 2548 ไว้อีกว่า น่าจะอยู่ที่ 5,400 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิน่าจะอยู่ที่ 600 ล้านบาท

ในแง่ธุรกิจกลุ่มแกรมมี่มีความเชื่อโดยคาดว่าการเข้าซื้อหุ้นของหนังสือพิมพ์ทั้ง 2 ฉบับ จะได้รับผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า ซึ่งสวนทางกับข้อครหาหนาหูที่คู่ขนานมากับข่าวการเทกโอเวอร์หนังสือพิมพ์ทั้ง 2 ฉบับว่า เรื่องนี้อาจมีเบื้องหลังจากฝ่ายการเมืองที่ต้องการยืมมือเข้าไปแทรกแซงสื่อ สุดท้ายอากู๋ก็ต้องฝันค้างเมื่อฝ่ายบริหารมติชนไม่ยินยอม การเจรจาจึงยุติลงที่ฝ่ายแกรมมี่ยอมถอย และขายหุ้นคืนให้แก่กลุ่มของนายขรรค์ชัย บุนปาน ผู้ก่อตั้งบริษัท มติชนบางส่วน และแกรมมี่จะถือหุ้นในสัดส่วน 20 % รวมทั้งเบื้องหลังของการเทกโอเวอร์ครั้งนี้อากู๋ยอมรับกับสื่อว่า ก่อนหน้านี้เคยมีการหารือเรื่องการควบรวมกิจการสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งสองราย แต่ยังไม่มีข้อสรุป

สำหรับบริษัทโพสต์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) มีเพียงสารยืนยันจากนายสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานธรรมการ บริษัทฯ ที่ออกมายืนยันถึงจุดยืนของบริษัทฯ แต่เพียงว่า หนังสือพิมพ์ที่อยู่ในเครือของบริษัทฯ ทั้ง 2 ฉบับ จะยังคงยึดมั่นในประเพณีและภารกิจแห่งการรายงานข่าว และวิเคราะห์ข่าวด้วยความเที่ยงตรง ยุติธรรม และเป็นกลาง ซึ่งดำรงมาเป็นเวลาช้านาน  ส่วนหุ้นที่นายสุทธิเกียรติถืออยู่ในบริษัทโพสต์ฯ ซึ่งใครๆ หวั่นเกรงว่าจะเทขายให้กับกลุ่มแกรมมี่ด้วยนั้นนายสุทธิเกียรติบอกเพียงสั้นๆ ว่า “ไม่”

ผู้จัดการจับมือต่างชาติทำนสพ.ภาษาอังกฤษ

ท่ามกลางข่าวการเทกโอเวอร์ของหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับ ในห้วงเวลาใกล้ๆ กัน มีรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์ว่า มีการเปลี่ยนแปลงภายในเงียบๆ ของหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ซึ่งได้นายทุนใหม่เป็นอดีตนักการเมืองเข้ามาร่วมลงทุน และยุบบริษัทเดิมคือ บริษัท หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ จำกัด ปัจจุบันจดทะเบียนบริษัทใหม่แล้วชื่อ บริษัท สารสู่อนาคต  จำกัด

ส่วนหนังสือพิมพ์เก่าแก่อย่างหนังสือพิมพ์สยามรัฐ มีรายงานจากหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ว่า หนังสือพิมพ์สยามรัฐได้นายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลังมาร่วมลงทุน และดำรงตำแหน่งประธานบริษัท รับหน้าที่ดูแลการบริหาร ขณะที่นายชัช เตาปูน ซึ่งเป็นผู้สืบต่อกิจการมาจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จะไปบุกเบิกตลาดหนังสือพิมพ์

ทางด้านกลุ่มทุนผู้จัดการจับมือกับต่างประเทศออกหนังสือพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษ ชื่อ “IHT /THAIDAY” วางแผงแล้ว เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท ไทยเดย์ ด็อท คอม จำกัด มีนายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล เป็นกรรมการผู้จัดการ กับสื่อต่างประเทศที่ชื่ออินเตอร์เนชั่นแนล เฮอรัลด์ ทริบูน (IHT) ซึ่งนายจิตตนาถเผยถึงตัวเลขของการลงทุนว่า ใช้ทุนประมาณ 100 ล้านบาท คาดว่าภายใน 3 ปี น่าจะคืนทุน ส่วนกลุ่มเป้าหมายคือคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และคนไทยในกลุ่มผู้บริหารระดับสูง

2 กลุ่มทุนแข่งขันออกนสพ.บันเทิงชิงตลาดผู้บริโภค

สำหรับกลุ่มสยามสปอร์ต ซึ่งครองตลาดหนังสือพิมพ์แนวกีฬามายาวนาน ขยายการลงทุนทางธุรกิจด้วยการออกหนังสือพิมพ์แนวบันเทิงรายวันชื่อ “ดารารายวัน” โดยนายวิลักษณ์ โหลทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อินสไพร์ เอนเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ในเครือของสยามสปอร์ตซินดิเคท เผยว่า การออกหนังสือพิมพ์สยามดารารายวันเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด เนื่องจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา วงการบันเทิงทั้งในและต่างประเทศเป็นที่สนใจของผู้คนจำนวนมาก รวมทั้งการศึกษาตลาดพบว่า การตอบรับของผู้คนในการบริโภคข่าวสารบันเทิงมีปริมาณมากขึ้นทุกปี ไม่แพ้การบริโภคข่าวการเมืองหรือเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ค่ายอาร์เอส โปรโมชั่น กลุ่มธุรกิจด้านบันเทิงซึ่งเป็นคู่แข่งของกลุ่มแกรมมี่ ก็หันมาลงทุนออกหนังสือพิมพ์แนวบันเทิงชื่อ “ดาราเดลี่” เพื่อรองรับการโปรโมตและสนับสนุนธุรกิจหลักของบริษัทฯให้ครบวงจรมากขึ้น

ปีนี้ธุรกิจหนังสือพิมพ์ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำมันแพง ส่งผลให้ต้นทุนราคากระดาษปรับราคาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตัวเลขการใช้งบประมาณสำหรับโฆษณาลงในสื่อหนังสือพิมพ์โดยรวมลดลง 6.85 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2547 (ตัวเลขจากเอซีนีลเส็น จำกัด) อย่างไรก็ดีโดยภาพรวมของธุรกิจหนังสือพิมพ์ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งรายได้และกำไรยังคงอยู่ในจุดที่น่าพอใจระดับหนึ่งเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ

ตัวเลขกำไรของธุรกิจหนังสือพิมพ์ ประจำปี 2548

หนังสือพิมพ์

2548

(ณ 30/09/2548)

(ล้านบาท)

2547

(ล้านบาท)

2546

(ล้านบาท)

บริษัท มติชน จำกัด

70.55

103.03

163.33

บริษัท โพสต์พับลิชชิ่ง จำกัด

96.47

194.19

103.59

บริษัท เนชั่นมัลติมีเดียกรุ๊ป

-260.96

113.56

150.94

บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด

12.95

81.66

50.23

ที่มา:ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ตัวเลขงบโฆษณาสินค้าลงในสื่อต่างๆ ระหว่างเดือนม.ค.-ก.ย.2548

สื่อ

ม.ค.-ก.ย.47

(ล้านบาท)

สัดส่วน

(%)

ม.ค.-ก.ย.48

(ล้านบาท)

สัดส่วน

(%)

เปลี่ยนแปลง

(ล้านบาท

เปลี่ยนแปลง

(%)

โทรทัศน์

35,150

56.78

37,160

56.67

2,010

5.72

หนังสือพิมพ์

13,002

21.00

13,258

20.22

256

1.97

วิทยุ

5,103

8.24

5,091

7.76

-12

-0.24

นิตยสาร

4,361

7.05

4,863

7.42

502

11.51

สื่อกลางแจ้ง

2,834

4.58

3,395

5.18

561

19.80

โรงภาพยนตร์

939

1.52

1,184

1.81

245

26.09

สื่อเคลื่อนที่

425

0.69

537

0.82

112

26.35

สื่อในร้านค้า

86

0.14

89

0.14

3

3.49

รวม

61,901

100

65,576

100

3,675

5.94

ที่มา:นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ซ กรุงเทพธุรกิจ,25 ตุลาคม 2548

 

จับตายุคไฮเทคคนรับสื่อลด

ในรอบปี 2548 ยังมีประเด็นน่าสนใจซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจหนังสือพิมพ์เพื่อให้รู้เท่าทันและรักษาฐานทางการตลาดต่อไปในอนาคต สำหรับผลวิจัยที่ชื่อ “ออพติมั่ม อินไซด์” งานวิจัยสำรวจพฤติกรรมการรับสื่อของคนไทยโดยเฉพาะ จัดทำโดยบริษัทออพติมั่ม มีเดีย ไดเรคชั่น (ประเทศไทย) หรือโอเอ็มดี มีเดียเอเยนซี่ในเครือออมนิคอมกรุ๊ป

ผลวิจัยพบว่า พัฒนาการของเทคโนโลยีมีผลทำให้พฤติกรรมการรับสื่อของคนไทยเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับให้เข้ากับรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ๆ ทำให้สัดส่วนการจดจำโฆษณาในสื่อต่างๆ ของคนไทยลดน้อยลง และส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากธุรกิจสื่อขยายตัวสูงขึ้นมาก ทั้งในสื่อแต่ละประเภทและสื่อใหม่ๆ เช่น ส่วนของเม็ดเงินโฆษณาในธุรกิจหนังสือพิมพ์ขยายตัวกว่า 66 % ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ชิ้นงานโฆษณาบางส่วนจึงถูกแบ่งความน่าสนใจลง ส่งผลทำให้ในอนาคตแนวโน้มการเลือกใช้จ่ายเม็ดเงินผ่านสื่อจะต้องมีการวางแผนแบ่งแยกและจัดสรร (Fragment) ให้มีประสิทธิภาพ เข้าถึงและครอบคลุมมากถึง

นอกจากงานวิจัยชิ้นดังกล่าว บริษัทฯ ยังได้จัดทำงานวิจัยอีกชิ้นชื่อ “ออพติมั่มเพรสชั่น” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของออพติมั่ม อินได์ ซึ่งศึกษาลงลึกในรายละเอียดการรับรู้ข่าวสารในสื่อ ที่เจาะจงเฉพาะกลุ่มผู้อ่านหนังสือพิมพ์ หลังจากบริษัทฯ เคยทำมาแล้วครั้งหนึ่งในปี 2543 โดยใช้หนังสือพิมพ์รายวันชั้นแนวหน้า 5 ฉบับ พบว่า การจดจำโฆษณาในสื่อหนังสือพิมพ์มีจำนวนลดลง เหลือเพียง 53 %จากเดิมในปี 2543 อยู่ที่ 69 %

เมื่อแยกกลุ่มหนังสือพิมพ์รายวันที่มีคนจำจดมากที่สุดพบว่า ไทยรัฐ เป็นฉบับที่มีคนจดจำโฆษณาได้สูงสุด 32 % ตามด้วย เดลินิวส์ 54% คมชัดลึก 46 % ข่าวสด 46 % และมติชน 44 % ส่วนหนังสือพิมพ์ธุรกิจ อันดับแรก คือ โพสต์ทูเดย์ 39 % กรุงเทพธุรกิจ 38 % และฐานเศรษฐกิจ 32 % สำหรับหนังสือพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษ อันดับแรก คือเดอะเนชั่น 41 % และ บางกอกโพสต์ 38 %

อีกด้านหนึ่ง งานวิจัยชิ้นนี้ยังชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มการอ่านหนังสือพิมพ์ของคนไทยในอนาคตอันใกล้ เพื่อให้เจ้าของธุรกิจหนังสือพิมพ์พึงตระหนักได้อีกด้วย