สมเจตน์ วัฒนาธร

สมเจตน์ วัฒนาธร ต้นแบบคนข่าวนักสู้  (เกิดเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2573)

ปกรณ์ รัตนทรัพย์ศิริ

เมื่อหนังสือพิมพ์ ข่าวภาพ เริ่มบุกเบิกเส้นทางการนำเสนอข่าวสารสู่ประชาชนตั้งแต่วันจันทร์ที่ 9 มกราคม 2493 ตีพิมพ์ 16 หน้า จำหน่ายในราคา 1 บาท จากนั้นได้สร้างนักข่าว นักสื่อสารมวลชน ในแวดวงเส้นทางการต่อสู้บนสมรภูมิน้ำหมึก มีปลายปากกาเป็นอาวุธประจำกายที่ผู้สื่อข่าวได้ใช้ฟาดฟันให้ได้ข่าวสารมานำเสนอ

หลังจาก ข่าวภาพ ก้าวย่างไปได้ไม่นาน จากหนังสือพิมพ์เล็กๆที่ ในยุคนั้นมีการแบ่งงานให้ เลิศ อัศเวศน์ รับหน้าที่บรรณาธิการ เป็นคนเขียน กำพล วัชรพล เป็นคนพิมพ์และค นขาย ส่วน วสันต์ ชูสกุล เป็น ผู้จัดการเรื่องการเงิน เพราะมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ว่าจะขายหนังสือพิมพ์ให้แก่ กลุ่มวัยรุ่นคนหนุ่มสาว และบรรดาชาวบ้านทั่วไป ไม่ขายข่าวหนักอย่างพวก หนังสือการเมืองซึ่งตอนนั้น นิตยสารรายสัปดาห์มีอยู่ 7-8

กระทั่งหนังสือพิมพ์ข่าวภาพพลิกตัวเองขึ้นเป็นหนังสือพิมพ์รายวันได้  อุทธรณ์ พลกุล  หนึ่งในตำนานของหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยมาเสริมทัพ และ  อุทธรณ์ พลกุล  นี่เองเป็นผู้เห็นแววนักบัญชีหนุ่มคนหนึ่งว่าบุคลิกท่วงท่าความคิด น่าจะสามารถสมบทบาทนักข่าวให้กับหนังสือพิมพ์ข่าวภาพได้ จึงได้เอ่ยปากชักชวนชายผู้นั้นให้มาร่วมงาน ชนิดที่ว่าเปลี่ยนอาชีพแบบพลิกฝ่ามือ จากนักบัญชีนั่งโต๊ะในออฟฟิศ มาเป็นนักข่าวภาคสนามนั่งตามหัวบันไดกระทรวงต่างๆ แทรกตัวตามห้องประชุมรัฐสภา ชะเง้อคอใต้ ต้นมะขามริมรั้วทำเนียบรัฐบาล เพื่อเสาะแสวงหาข้อมูลมาเรียบเรียงเป็นข่าวเพื่อส่งตีพิมพ์ ให้โลดแล่นบนหน้ากระดาษให้ได้

เมื่อชายผู้นั้นตกปากรับคำชื่อของ  สมเจตน์ วัฒนาธร  จึงถูกลบออกจากวงการนักบัญชี แต่มาปรากฏนามบนแวดวงสื่อสารมวลชนขึ้นมาตั้งแต่ช่วงพ.ศ.2500 เป็นต้นมา ในบทบาทของนักข่าวการเมือง วิ่งรอกทำข่าวทั้งทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา กระทรวงมหาดไทย และเกาะติดชอนไชการทำงานต่างๆของแต่ละพรรคการเมือง และอย่างที่ทราบกันดีว่าในยุคต้นกึ่งพุทธกาล ระบอบเผด็จการทหารเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก ก่อนที่ประชาธิปไตยจะเบ่งบานตามมา การเป็นนักข่าวในยุคถูกจำกัดจึงเป็นเรื่องที่ขัดต่อกรอบการทำงานในวิชาชีพนี้ และด้วยความเป็นนักคิดหัวก้าวหน้า เติบโตมากับกิจกรรมตั้งแต่เรียนคณะบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกา รเป็นกรรมการสโมสรนักศึกษาของรั้วแม่โดม  สมเจตน์  จึงเปี่ยมไปด้วยความคิดที่ยึดหลักของความถูกต้อง และเป็นเหตุผล ส่วนหนึ่งคงมาจากหลักบัญชีที่ทุกอย่างต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้

เมื่อเป็นเช่นนั้น  สมเจตน์  และพวกสามารถทานกระแสการใช้อำนาจเผด็จการเข้าครอบงำความคิด รวมทั้งปฏิเสธที่จะรับการตีราคาค่าตัว ในคราวที่รัฐบาลยุคนั้นพยายามแทรกแซงจัดสโมสรนักข่าวขึ้นเพื่อดูแลนักข่าวในสังกัด ด้วยเหตุนี้  สมเจตน์  มักจะไม่ได้รับการชี้ตัวให้ตั้งคำถามเพื่อถาม  จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์  ได้สะดวก เมื่อคราวที่มีการนำรูปแบบการแถลงข่าวของรัฐบาลที่นำมาจากต่างประเทศหลังจอมพลสฤษดิ์เดินสายทัวร์รอบโลกเพื่อดูงานการพัฒนาประเทศ แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาเพราะด้วยความต้องหาคำตอบหรือจะเป็นนิสัยชอบปิดบัญชี  สมเจตน์  จึงมักแทรกถามได้เป็นประจำ

นอกจากการยึดในหลักความเป็นเหตุเป็นผล และความถูกต้องแล้ว  สมเจตน์  ยังต้องรู้จักประมาณตนในเรื่องค่าใช้จ่ายในการทำงาน เพราะเดิมเมื่อครั้งยังผูกไทค์นั่งโต๊ะเป็นสมุห์บัญชีกินเงินเดือนถึง 1,200 บาทต่อเดือน แต่เมื่อคราวเงินเดือนๆแรกที่หนังสือพิมพ์ข่าวภาพออก ได้เพียง 600 บาทต่อเดือน ทำให้วิชาการบัญชีถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ เพราะนอกจาก  เบี้ยยาไส้  วันละ 6 บาทจากโรงพิมพ์ที่เป็นทั้งค่าข้าวต้มหาบหน้ากรมป ระชาสัมพันธ์ ค่ากาแฟ และค่าเหล้าโรงในตอนค่ำแล้ว การแข็งข้อต่อแรงยั่วยวนจากการต้อนนักข่าวเข้าก๊วนเลี้ยงดูปูเสื่อ แม้จะสร้างความไม่พอใจให้กับผู้มีอำนาจ แต่  สมเจตน์  และพวกภาคภูมิใจที่ได้ยืนในสนามข่าวอย่างมีเกียรติและมีศักดิ์ศรี สุดท้ายพวกนักข่าวแก่นเน่าในยุคนั้นต้องล่มสลาย ทยอยอำลาจากวงการ ส่วนมืออาชีพยังเชิดหน้าตั้งคำถามได้อย่างภาคภูมิใจต่อไป

อย่างไรก็ตาม บนเส้นบางๆของความเป็นพวกกับการเสนอข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำข่าวการเมืองที่นักข่าวจะมีความสนิทสนมคุ้นเคยกับนักการเมืองไม่พรรคใดก็พรรคหนึ่ง หรือพวกใครพวกหนึ่งนั้น  สมเจตน์  ยอมรับว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่นักข่าวจะมีความสนิทสนมกับนักการเมือง ทั้งส.ส.หรือรัฐมนตรี และเมื่อความเป็นพวกก็ต้องมีการเอื้ออาทรพวกตัวเองอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่กรณีเช่นนี้  สมเจตน์  บอกว่า   คุณจะปฏิเสธได้ไหมว่าคุณไม่มีพวก คุณเป็นนักข่าวแล้วคุณไม่มีพวก ผมถามหน่อยคุณจะหาข่าวลึกๆข่าววงในจากไหน คุณก็ต้องอาศัยพวกกันเป็นคนบอกข่าว ดังนั้นอย่ามาพูดว่านักข่าวเป็นคนไม่มีพวก ไม่อิงข้างนักการเมือง ผมว่ามันไม่มีหรอก

แต่พฤติกรรมการอิงพวกดั่งที่  สมเจตน์  กล่าวถึง เป็นเรื่องที่มีมานาน ซึ่ง  สมเจตน์  เองยอมรับว่านักข่าวรุ่นเก่า การทำข่าวกับส.ส.จะสนิทสนมกันมาก บางครั้งถึงกับให้นักข่าวเขียนกระทู้เพื่อลงข่าว แล้วมีส.ส.มากระซิบว่าขอให้ใส่ชื่อตัวเองลงไปด้วย จะได้เป็นข่าว ชาวบ้านจะได้รู้ว่ามีผลงาน หรือแม้กระทั่งการเสนอแนะความคิดเห็นในการอภิปรายในสภาบ้าง การบริหารงานราชการบ้าง ซึ่งก็เป็นโอกาสที่ได้ช่วยเหลือกันไป แต่ทั้งหมดต้องอยู่บนความเหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ส่วนความภูมิใจในการต่อสู้กับการใช้อำนาจรัฐสั่งปิดหนังสือพิมพ์  สมเจตน์  ไม่เคยลืมเหตุการณ์ในวันที่กองเอกสารหนังสือพิมพ์ กรมตำรวจ มีคำสั่งให้หนังสือพิมพ์เสียงอ่างทอง ซึ่ง  สมเจตน์  เป็นผู้มีบทบาทไปนำเอาหัวหนังสือพิมพ์ฉบับนี้จากจ.อ่างทองเข้ามาใช้ในกรุงเทพฯ ซึ่งต่อมา  เสียงอ่างทอง  ได้เป็นตัวสานต่อหลังจากข่าวภาพโดนตอกฝาโลง จนมีสโลแกนว่า "อยากเห็นภาพ อยากทราบข่าว ต้องอ่าน "เสียงอ่างทอง" หนังสือพิมพ์เช้าประจำครอบครัว  และ  เสียงอ่างทอง  นี่เองที่เป็นต้นกำเนิดของหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่  ไทยรัฐ  มาจนทุกวันนี้

โดย  สมเจตน์  เป็นคนเข้าไปเจรจากับรมว.มหาดไทยในยุคนั้นว่า กองเอกสารหนังสือพิมพ์ กรมตำรวจ จะมาสั่งย้ายให้เสียงอ่างทองไปพิมพ์ที่จ.อ่างทองตามหัวหนังสือที่จดทะเบียนไว้ที่นั่นได้อย่างไร เพราะมีการไปซื้อมาดำเนินกิจการในกรุงเทพฯแล้ว อีกทั้งมีพนักงานจำนวนมากจะต้องตกงาน หากย้ายเสียงอ่างทองไปพิมพ์ที่จ.อ่างทอง ซึ่งทีเด็ดของ  สมเจตน์  อยู่ที่การยกตัวอย่างข่าวพระลังกา ออกบิณฑบาตแล้วลอบฆ่านายกฯศรีลังกา เนื่ องจากทำให้คนตกงานเป็นจำนวนมาก และฆาตรกรจึงลอบบวชเป็นพระเพื่อรอวันล้างแค้น เมื่อเป็นดังนั้นทางตำรวจจึงต้องสั่งการทางวิทยุสื่อสารไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทองให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวและให้กลับมาพิมพ์ที่กรุงเทพฯดังเดิม

นอกจากนี้  สมเจตน์  เคยให้หลักคิดของการเป็นคนข่าวเอาไว้ว่า  การเป็นนักข่าวต้องติดตามข่าวสารทุกวันไม่ว่าจะดู ฟัง หรืออ่าน เพื่อจะได้มีข้อมูล คุยกับคนอื่นได้ทุกเรื่อง ที่สำคัญจะได้คิดตามเมื่อได้ คิด คิดแล้วเขียน สมองก็ไม่ฝ่อ เพราะถ้าไม่ใช้สมองคิด สุดท้ายก็จะกลายเป็นแค่ไอ้แก่ แล้วก็กลายเป็นหมาล่าเนื้อที่หมดสภาพ เขาก็จะเตะทิ้งไปในที่สุด

////////////////////////////////

(ล้อมกรอบ)

ข่าวในความทรงจำของ  น้าเจตน์

สมเจตน์ วัฒนาธร  หรือ  ลุงเจตน์-น้าเจตน์  ของนักข่าวรุ่นลูกหลาน ผ่านสนามข่าวมายาวนานกว่า 50 ปี ปัจจุบันอายุกว่า 80 ปี แต่ยังมีความทรงจำขำๆกับข่าวตลกๆ และความทะเล่อทะล่าของนักข่าวเอง ย้อนเวลาไปราวปี 2500 กว่าๆ มีข่าวชิ้นหนึ่งที่สร้างเสียงหัวร่ออย่างสนั่นหวั่นไหวให้กับกลุ่มนักข่าวในยุคคนั้นหลังจากความจริงของเรื่องถูกเฉลยออกมา เรื่องมีอยู่ว่า  ...สมัยนั้นน้าเจตน์จำได้ดี นึกถึงทีไรแล้วก็อดขำไม่ได้ เมื่อได้เป็นนักข่าวไม่นานนัก ในสมัยก่อนสะพานพุทธยังเปิด-ปิดขึ้นลง เพื่อให้เรือสินค้า และเรือรบวิ่งเข้าออกอ่าวไทย และช่วงหนึ่งมีเรือรบของกองทัพเรือมาจอดอยู่ในลำน้ำเจ้าพระยาหลายลำ ซึ่งเราเห็นเป็นประจำ แต่มาวันหนึ่งเราต้องตาลีตาเหลือกเมื่อนักข่าวคนหนึ่งวิ่งมาบอกว่าเรือรบหาย พวกเราก็ตกใจ รีบเขียนข่าวกันใหญ่ส่งเข้าตีพิมพ์ พอหลังหนังสือพิมพ์เสนอข่าวออกไป 2-3 วันต่อมา ทางกองทัพเรือส่งนายทหารมาบอกว่า พี่ครับๆเรือรบไม่ได้หายไปไหน แค่ถอยเข้าอู่ไปซ่อมครับ เท่านั้นเองพวกเราถึงกับหัวเราะงอหงาย และต้อ งรีบเขียนข่าวใหม่ทั้งหมดเพื่อแก้ข่าวที่เกิดจากความลนลานตกใจไปเอง

และอีกเรื่องหนึ่ง  สมเจตน์  บอกว่า  อีกข่าวที่จำได้ เราลงข่าวงูเหลือกินพระ ที่มาที่ไปไม่มีอะไรมากเพราะมีคนบอกว่าเห็นมีเศษผ้าเหลืองติดอยู่ในปากงูเหลือม พอลงไปแล้วก็มาพิจารณาหาข้อมูลสุดท้ายก็ไม่มีอะไร เพราะฟังเขาเล่ามา จึงเป็นบทเรียนในการทำข่าวเช่นกัน  ขณะเดียวกัน  สมเจตน์  ย้ำว่า ยุคนั้นไม่เคยเสนอข่าวด้วยการให้  รายงานข่าวแจ้งว่า  หรือ  แหล่งข่าวเปิดเผยว่า  หากมีการใช้จะถูกมองว่า  เต้าข่าว  แต่ยุคนี้ผมไม่รู้ว่ามาตรฐานเป็นอย่างไรไปแล้ว.