ระบบและกลไกการรับผิดรับชอบของสื่อในยุคดิจิตัล Media Accountability System in the Digital Age-สุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล

เรื่อง : ระบบและกลไกการรับผิดรับชอบของสื่อในยุคดิจิตัล Media Accountability System in the Digital Age
ผู้ศึกษา :  สุดารัตน์  ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล
กรรมการที่ปรึกษา :    รศ.มาลี บุญศิริพันธ์
ปี : 2552

บทคัดย่อ


ปัจจุบันกระแสโลกาภิวัตน์ได้ไหลบ่าเข้ามาพร้อมๆระบบอุตสาหกรรมทุนนิยมและเทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว  มีการนำสื่อใหม่ๆ เข้ามาใช้ในปริมณฑลสาธารณะมากขึ้น ระบบตลาดเข้ามามีอิทธิพลในกระบวนการผลิตสาร พร้อมทั้งบุคลากรอีกจำนวนมากที่เข้ามาเป็นผู้ผลิตสาร ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาความหมายทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปของสื่อมวลชนในยุคดิจิตัล ระบบและกลไกการรับผิดรับชอบทางสังคมของสื่อมวลชนในยุคดิจิตัล รวมทั้งความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากมุมมองของผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งระบบกลไกการรับผิดรับชอบทางสังคม  (Accountability System)  ในที่นี้หมายถึงแนวทางที่สื่อใช้เป็นกรอบในการปฏิบัติงานเพื่อให้สื่อสามารถให้คำอธิบายและรับผิดรับชอบต่อสิ่งที่กระทำลงไปและส่งผลกระทบต่อสังคมได้

การดำเนินการวิจัยครั้งนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ โดยได้สัมภาษณ์แบบเจาะลึกนักวิชาชีพและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางสังคม จำนวน  59 คน พบว่าผู้ให้ข้อมูลทั้งหมดจะยังคงมองภาพสื่อมวลชนในลักษณะ “ต้นตำรับ” แต่ก็เปิดกว้างรับสื่อใหม่ๆ เข้ามาในปริมณฑลสื่อสารมวลชน อย่างไรก็ตามพบว่ามีช่องว่างระหว่างสื่อที่เป็นข่าวและสื่อที่ผลิตภัณฑ์ไม่ใช่ข่าวแบบทัศนะดั้งเดิมพอสมควร โดยสื่อประเภทข่าวเชื่อว่าทุกสื่อเป็นสื่อมวลชนเหมือนกัน และควรใช้มาตรฐานเดียวกัน ทั้งในประเด็นบทบาทหน้าที่ สิทธิ เสรีภาพและความรับผิดชอบ  และสื่อที่ผลิตภัณฑ์ไม่ใช่ข่าวแบบทัศนะดั้งเดิม ส่วนใหญ่ก็เชื่อว่าตนเป็นสื่อมวลชนซึ่งก็ควรได้รับสิทธิ เสรีภาพตรงนี้ด้วย แต่ในแง่กระบวนการรับผิดรับชอบของสื่อภายใต้กรอบการรับผิดชอบสาธารณะ กรอบทางกฎหมาย กฎระเบียบ กรอบทางวิชาชีพ และ กรอบทางการตลาด  สื่อข่าวแบบดั้งเดิมที่มีประวัติความเป็นมายาวนานจะมีระบบและกลไกที่ชัดเจนมากกว่าสื่อเล็กๆ สื่อใหม่ หรือสื่อที่ไม่ได้นำเสนอข่าวในรูปแบบดั้งเดิม ซึ่งมีความเห็นว่าตนไม่ใช่สื่อมวลชนแท้ๆเป็นแค่สื่อกลาง กระบวนการในการผลิตสารจึงอาจไม่เข้มงวดนัก   สำหรับผู้มีส่วนได้เสียแสดงความคิดเห็นว่าสื่อทั้งระบบเก่าและใหม่เหมือนกันต้องอยู่ภายใต้กรอบเดียวกัน และเห็นว่าสื่อยังคงรับผิดชอบไม่เพียงพอ มีความเป็นมืออาชีพในบางส่วนเช่น เทคนิคและกระบวนการ ส่วนความสร้างสรรค์ของเนื้อหายังต้องปรับปรุง รวมทั้งกระบวนการตรวจสอบกันเองทั้งภายในองค์กรและผ่านสมาคมวิชาชีพยังขาดประสิทธิภาพ

ผู้วิจัยเห็นว่าสังคมสื่อมวลชนได้เปลี่ยนแปลงไป สื่อดิจิตัลและสื่อใหม่รูปแบบอื่นๆ ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในขณะเดียวกันผู้รับสารก็มีวิถีการบริโภคสื่อที่แตกต่างไปจากเดิม  การยอมรับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และหาแนวทางแก้ปัญหาด้วยการทำกระบวนการรับผิดรับชอบให้มีความเป็นมาตรฐานของวิชาชีพอย่างทั่วถึงทุกสื่อทุกประเภทเนื้อหาที่นำเสนอสู่ ปริมณฑลสาธารณะ ทั้งในระดับองค์กรและสมาคม/สภาวิชาชีพเป็นสิ่งที่จำเป็น

(ดาวโหลดไฟล์ต้นฉบับได้ที่นี้)