กรณีศึกษา พฤติกรรมการเรียกรับสินบนของนักข่าว และขบวนการเรียกรับสินบน -นางสาวอัชณา จิณณวาโส

เรื่อง : กรณีศึกษา พฤติกรรมการเรียกรับสินบนของนักข่าว และขบวนการเรียกรับสินบน
ผู้ศึกษา :    นางสาวอัชณา  จิณณวาโส
กรรมการที่ปรึกษา :    นางสาวดวงกมล โชตะนา
ปี :2552

บทคัดย่อ


"พฤติกรรมการเรียกรับสินบนของนักข่าวและขบวนการเรียกรับสินบน"
จากการที่อยู่ในแวดวงหนังสือพิมพ์มาร่วม 20 ปี ก็ได้รับรู้พฤติกรรมของนักข่าวในบางกลุ่ม ที่ใช้อาชีพของตัวเองทำมาหากิน รับจ๊อบ ซึ่งจริงๆ ไม่น่าจะเรียกว่า "จ๊อบ" น่าจะเรียกว่า "อาชีพหลัก" เพราะรายได้ที่ได้รับมากกว่าเงินเดือนหลายเท่าตัว และพฤติกรรมนี้เริ่มมีมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประการสำคัญยังลุกลามไปยังเด็กนักข่าวรุ่นใหม่ที่เริ่มมองเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว

ปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดแรงบันดาลใจต้องการศึกษาพฤติกรรมของนักข่าวกลุ่มนี้ จึงเป็นที่มาของเอกสารส่วนบุคคล เรื่อง "พฤติกรรมการเรียกรับสินบนของนักข่าวและขบวนการเรียกรับสินบน"
แต่ก่อนอื่นต้องขอบอกว่า นักข่าวที่ทำงานด้วยจิตสำนึกในหน้าที่และจรรยาบรรณยังมีอยู่มากมายและเป็นส่วนใหญ่ แต่อย่างที่บอกในแวดวงของนักข่าวสีขาวผู้รักในอาชีพ ก็มี "นักข่าวเทียม" ที่แฝงตัวเข้ามายึดอาชีพนี้ทำมาหากินรวมอยู่ด้วยไม่ใช่น้อย และเริ่มมีจำนวนแพร่หลายมากขึ้น ส่วน "นักข่าวผี" ไม่ต้องพูดถึง พวกนี้ไม่ได้สังกัดสื่อไหน อุปโลกน์ตัวเองขึ้นมา เพื่อออกงานได้กินฟรี ได้ของขวัญกลับบ้าน

จากการศึกษาพฤติกรรมของนักข่าวที่เรียกรับสินบน พบว่า มีรูปแบบการกระทำซึ่งให้ได้มาเพื่อผลประโยชน์ของตนเองหลากหลายรูปแบบ เริ่มตั้งแต่รับเงินเองโดยตรงกับผู้จ้าง กับรับงานผ่านนายหน้า ที่กรณีนี้ผู้ว่าจ้างจะไม่รู้ว่าผู้ที่รับงานไปนั้นเป็นใคร เพราะจะจ่ายเงินผ่านนายหน้า โดยนายหน้าก็มีค่าหัวคิว ซึ่งกรณีนี้ผู้จ้างสามารถระบุได้เลยว่า ต้องการจะลงฉบับไหน พื้นที่ตรงไหน ส่วนราคาก็จะแตกต่างกันแล้วแต่ความสำคัญของพื้นที่และฉบับ หลังจากข่าวได้รับการตีพิมพ์เสร็จสิ้นก็จะมีการส่งมอบงานและจ่ายเงินโดยผ่านนายหน้า หลังจากนั้นนายหน้าก็จะไปให้กับผู้เขียน  ส่วนนักข่าวที่รับงานเองจะต้องมีความสนิทสนมกับบุคคลผู้ว่าจ้าง และมีความเชื่อใจว่าผู้ว่าจ้างจะไม่น่าซื่อไปบอกกล่าวต่อสาธารณะ เพราะจะต้องมีการใช้งานกันเรื่อยๆต่อไป

สำหรับอัตราค่าจ้างขึ้นอยู่กับงานที่ต้องไปทำ หากไปอย่างเดียว ปรากฏตัว เซ็นชื่อ 500-1,000 บาท แต่ถ้าลงข่าวก็อีกราคาหนึ่ง 3,000 บาท ถึงเป็นหลักหลายหมื่นบาทก็มี ขึ้นอยู่กับคุณภาพของการลง เช่น สกู๊ปก็แพงหน่อย ส่วนการจ่ายเงินก็จะจ่ายเป็นเงินสด ไม่มีใบเสร็จ ไม่มีการเซ็นรับใดๆ เพื่อกันการมีหลักฐาน นักข่าวเทียมที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ก็กระจายไปยังทุกสายข่าว ทั้ง บันเทิง รถยนต์ กีฬา อาชญากรรม อสังหาริมทรัพย์ เศรษฐกิจ ฯลฯ

ส่วนทางออกของการแก้ปัญหา ก็อย่างที่บอก หัวหน้าข่าว บก.ข่าว ต้องควบคุมดูแลลูกน้องในสังกัดของตนเอง และต้องปลูกจิตสำนึกให้นักข่าวในองค์กรให้รู้จักหยิ่งในศักดิ์ศรีการเป็นนักข่าวที่ดี เพราะการที่เข้ามาทำงานข่าวก็เพราะใจรักในอาชีพ และบริษัทก็จ่ายเงินเดือนเป็นค่าตอบแทน ฉะนั้นการไปทำข่าวก็ถือว่านั่นคืองานที่ได้แล้ว แต่ไม่ใช่ ถ้าไม่มีงบ ก็ไม่ไป หรือไม่ลงข่าว อย่างนี้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีและถือเป็นพวกเหลือบมาเกาะกินอาชีพนี้

สภาการหนังสือพิมพ์เองก็ต้องตรวจสอบดูแลนักข่าว หากรู้ว่ามีพฤติกรรมเช่นนี้เยอะ ก็ต้องหาทางจัดการ ลด ละ เลิก เสีย  พีอาร์/เจ้าของธุรกิจ ก็ต้องมีประเด็นข่าวที่น่าสนใจที่จะโน้มน้าวให้นักข่าวไปทำข่าวได้ ไม่ใช่เอะอะอะไรก็อยากเป็นข่าว แต่ประเด็นไม่ถึง ไม่ได้เรื่อง อย่างนี้ก็ไม่มีใครลงให้ ซึ่งก็ต้องไปใช้วิธีการจ้างเขียน  ฉะนั้นนอกจากนักข่าวจะต้องมีสำนึกในหน้าที่จรรยาบรรณแล้ว พีอาร์/เจ้าของธุรกิจก็ต้องมีสำนึกด้วยเช่นกัน

 

(ดาวโหลดไฟล์ต้นฉบับได้ที่นี้)