รายงานสรุป-เวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อการปฏิรูปองค์กรวิชาชีพหนังสือพิมพ์

รายงานสรุป

เวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อการปฏิรูปองค์กรวิชาชีพหนังสือพิมพ์

1.บทนำ

ระยะหลายปีที่ผ่านมา เกิดปรากฎการณ์ที่ทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก เป็นความเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมๆ กับโฉมหน้าใหม่ของการเมืองไทยหลังปฏิรูปการเมืองไทย

ตัวเลข 19 ล้านเสียงของประชาชนที่ทุ่มเทให้กับพรรคไทยรักไทย ในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อ ปี 2544 สร้างประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคใหม่ให้คนไทยทั้งประเทศได้รู้จักหน้าค่าตาของรัฐบาลเสียงข้างมากตามวิถีทางเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย

รัฐบาลทักษิณหรือพรรคไทยรักไทย เป็นพรรคการเมืองแรกที่ทำคลอดออกมาได้ตรงตาม สเปกที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับปัจจุบัน) ฉบับปฏิรูปการเมืองไทยกำหนดไว้ และเป็นรัฐบาลชุดแรกที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างเต็มฉบับ แต่แล้วคำว่า “ปฏิรูปการเมืองไทย” ตามความหมายของรัฐบาลทักษิณ กลับกลายเป็นเรื่องของการกวาดต้อนเครื่องมือ และกลไกต่างๆ ภายใต้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญให้มาอยู่ภายใต้ระบอบทักษิณ

ระบบราชการทั้งระบบ กองทัพ ตำรวจ กระทรวง ทบวง และกรมกองต่างๆ  ถูกอำนาจนิยมจากระบอบทักษิณกัดกร่อนให้สยบยอมอยู่ภายใต้อำนาจการรวมศูนย์และเด็ดขาดของผู้นำรัฐบาล ขณะที่กลไกเพื่อการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทั้งระบบ ตั้งแต่ระบบรัฐสภาลงมาจนถึงองค์กรอิสระต่างๆ ถูกระบอบทักษิณควบคุม ครอบงำ  และกระทำให้ง่อยเปลี้ย เป็นอัมพาต ทำงานไม่ได้

สังคมไทยไม่ว่ายุคใดสมัยใดชินหูชินตากับการถูกล่วงละเมิดสิทธิและเสรีภาพจากผู้ถือครองอำนาจรัฐ มากน้อยแตกต่างกันไปตามประเด็นและเหตุการณ์ ซึ่งในอดีตการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร การแทรกแซงหรือการควบคุมสื่อมีความชัดเจนและเปิดเผยกว่ามาก รู้ว่าใครสั่ง หรือคำสั่งนั้นมาจากหน่วยงานใด ยิ่งในยุครัฐบาลเผด็จการเรืองอำนาจ ประชาชนและสื่อมวลชนมักเกิดความรู้สึกร่วมทุกข์ร่วมสุขกันอย่างชัดเจนเพราะต่างก็กำลังเผชิญหน้ากับภัยคุกคามทางเสรีภาพ

มาในยุคของรัฐบาลทักษิณ แม้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจะให้การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนซึ่งระบุเอาไว้ในหลายมาตรา แต่เสรีภาพกลับเป็นเรื่องที่ต้องตะเกียกตะกายและไขว่คว้า แรกเริ่มของการสถาปนาระบอบทักษิณประชาชนและสื่อมวลชน แทบไม่รู้เนื้อรู้ตัวว่า เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารกำลังถูกลิดรอน เริ่มจากการสร้างภาพลวงตาจัดวาระข่าว ปั่นหัวให้นักข่าวนำเสนอข่าวสารไปตามทิศทาง และความต้องการของผู้มีอำนาจรัฐ ซึ่งในรอบหลายปีมานี้ ทิศทางของข้อมูลข่าวสารพรั่งพรูผ่านนโยบายประชานิยมออกมาถี่ยิบเป็นระยะๆ ยังไม่นับรวมข่าวสร้างเพื่อกลบข่าวลบของรัฐบาล แต่ด้วยข้อจำกัดของเวลาในการทำงาน รวมทั้งสภาพการแข่งขันกันเองให้หมู่วิชาชีพ จึงทำให้สื่อมวลชนไม่มีเวลาพอที่จะมาพิเคราะห์ หรือตรวจสอบนโยบายนั้นๆ ได้อย่างทันท่วงที

หลังจากตัดตอนเสรีภาพของสื่อวิทยุและโทรทัศน์เพื่อกระจายข่าวสารทางเดียวให้กับรัฐบาลเป็นผลสำเร็จมาแล้ว ระบอบทักษิณไม่ละความพยายามที่จะแทรกแซงสื่อหนังสือพิมพ์ ซึ่งซับซ้อนและรุนแรงยิ่งกว่ายุคก่อนๆ โดยกระทำกันเป็นกระบวนการและเป็นระบบ จนในระยะหลายปีที่ผ่านมา การรายงานสถานการณ์สื่อมวลชนของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แต่ละปีเราพบว่า รูปแบบของการแทรกแซงมีการพัฒนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มตั้งแต่ ปี 2545 สมาคมนักข่าวฯ ยกให้เป็นปีของการแทรกแซงสื่อ ปีต่อมาเป็นปีของการกวาดต้อนสื่อ อีกปีถัดมา เป็นปีแห่งการแบ่งแยกและทำลายสื่อมวลชนไทย

กระทั่งล่าสุด คือ ความพยายามผ่านระบบอำนาจทุนพันธมิตรเข้าซื้อกิจการสื่อผ่านกลไกตลาดของระบบทุนนิยมเสรี

อีกทั้งสภาพการณ์ทางภูมิศาสตร์และยุทธศาสตร์ด้านการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อันเนื่องมาจากการพัฒนาประเทศและการเชื่อมโยงกับสังคมโลก ซึ่งปัจจุบันเต็มไปด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนตัวนักข่าวเองก็ยังตามแทบไม่ทัน หมดสมัยแล้วกับยุคของเสียงพิมพ์ดีดลั่นระรัวกังวานก้องดังไปทั่วในโรงพิมพ์ หรือห้องนักข่าวประจำสายงานต่างๆ เพราะในยุคนี้กระบวนการผลิตหนังสือพิมพ์ ตั้งแต่การส่งข่าวของนักข่าวในพื้นที่ประสานเชื่อมกับกองบรรณาธิการข่าวต่างก็โยนทิ้งเครื่องพิมพ์ดีดและหันมาใช้ระบบคอมพิวเตอร์ และเครื่องมือสื่อสารอื่นๆ ที่ทันสมัยเสียหมดแล้ว

ประกอบกับวิธีคิดของนักข่าวยุคใหม่ มองคุณค่าและอาชีพของตัวเองเป็นแค่ลูกจ้างขององค์กรในระบบบริษัท ต่างจากตำนานการต่อสู้ของนักหนังสือพิมพ์ในยุคเก่าก่อน บุคคลเหล่านั้นต่างยึดมั่นในอุดมการณ์ มีจิตวิญญาณรักและศรัทธาในวิชาชีพ อีกทั้งหวงแหนเสรีภาพยิ่งกว่าชีวิต เป็นอาชีพที่สามารถทำให้พวกเขาเชิดหน้าหยิ่งในเกียรติยศ และศักดิ์ศรีของตนอย่างไม่ต้องอายใคร แม้อำนาจและเงินตราก็มิอาจซื้อได้ ผู้คนในสังคมจึงให้ความเคารพยำเกรงและยกย่องสถานะเป็นฐานันดรที่สี่

กล่าวโดยภาพรวม ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่บริหารโดยระบอบทักษิณ ภาวะปิดหู ปิดตา ปิดปากประชาชน ย้อนยุคกลับมาบั่นทอนทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนอย่างน่าเกรงกลัว โดยเฉพาะในยุครัฐบาลทักษิณเราจะพบว่า ภายใต้นโยบายประชานิยมของของรัฐบาล หลายๆ นโยบายมีผลกระทบต่อส่วนรวมและประเทศชาติอย่างรุนแรง ประกอบกับสภาวการณ์ต่างๆ ทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติจากคลื่นสึนามิ เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาพการณ์การเปลี่ยนแปลงของยุทธศาสตร์ด้านการสื่อสารของสังคมไทย และสังคมโลก  รวมทั้งสำนึกในวิชาชีพของนักหนังสือพิมพ์

ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ จุดประกายทางความคิดให้คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2548 ร่วมกันมองไปที่อนาคตของประเทศ และสถานะของตน รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นพินิจพิเคราะห์ถึงสถานการณ์และความเป็นไปของบ้านเมือง

ห้วงเวลานั้น กรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ ทุกคนรู้เพียงว่า สมาคมนักข่าวฯ มิอาจนิ่งเฉย มองข้าม หรือทอดเวลาออกไปได้อีก มีการพูดถึงสถานภาพและบทบาทที่ควรจะดำเนินไปของสมาคมนักข่าวฯ บางคนลองจินตภาพบทบาทใหม่ของสมาคมนักข่าวฯ เสมือน “หัวรถจักร” ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมผองเพื่อนในองค์กรวิชาชีพหนังสือพิมพ์ โดยอาศัยต้นทุนทางสังคมที่มีอยู่ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ขับเคลื่อนขบวนหัวรถจักรนำผองเพื่อนจากองค์กรวิชาชีพทั้งหลาย ไปสู่ภารกิจบนเส้นทางของการปฏิรูป มาดหมายและมุ่งหวังให้ผู้คนที่ดำรงอยู่ในวิชาชีพก้าวพ้นจากเงื่อนไขและข้อจำกัดต่างๆ ที่มีอยู่ แม้กรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ บางคนยังรู้สึกพร่าๆ มัวๆ กับจินตภาพใหม่ แต่ก็ไม่ได้สร้างอุปสรรคให้งานปฏิรูปต้องชะงักงันเสียกลางทาง

2.ทบทวน “ภารกิจ”

หลังจากลงมือวางแนวนโยบาย กำหนดกรอบทิศทาง และแผนงานการบริหารงานของสมาคมนักข่าวฯ ซึ่งงานส่วนหนึ่งเป็นการสานต่อมาจากงานเดิมของคณะกรรมการบริหารฯ ชุดก่อน  คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ ประจำปี 2548 ยังกำหนดให้การปฏิรูปองค์กรวิชาชีพหนังสือพิมพ์เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายและแผนงานของสมาคมนักข่าวฯ โดยการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดำเนินงานด้านการปฏิรูปองค์กรวิชาชีพหนังสือพิมพ์ เพื่อให้แนวคิดในการปฏิรูปฯ บังเกิดผลอย่างเป็นระบบ มีรูปธรรมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

คณะอนุกรรมการฯ ลงมือทำงานทันที ดำเนินการศึกษาตั้งแต่โครงสร้างขององค์กร ภารกิจขององค์กร และบุคลากรที่มีอยู่ในองค์กร ภายใต้ข้อบังคับของสมาคมนักข่าวฯ พ.ศ.2543

เดิมการก่อตั้งสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (จากการรวมองค์กรระหว่างสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย กับสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 2  มีนาคม พ.ศ.2543) เมื่อ 50 ปีก่อน ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับภารกิจของวิชาชีพท่ามกลางความผันแปรของบ้านเมืองในยุคที่รัฐบาลเผด็จการครองอำนาจ ประชาชนไม่มีสิทธิ์ ไม่มีเสียง หรือแม้แต่จะจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล นักหนังสือพิมพ์เองก็ถูกข่มขู่ คุกคามอย่างหนัก จึงเกิดการรวมตัวกันของนักหนังสือพิมพ์ ร่วมกันก่อตั้งองค์กรวิชาชีพขึ้นมาทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเพื่อนร่วมวิชาชีพในการต่อสู้เรียกร้องทวงคืนเสรีภาพ และเพื่อทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชน

มาในยุคหลังๆ ภารกิจขององค์กรวิชาชีพหนังสือพิมพ์พัฒนาไปตามสภาพการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ครอบคลุมภารกิจหลักๆ คือ การดูแลสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลให้กับสมาชิก รวมทั้งส่งเสริมด้านการศึกษาให้กับบุตรธิดาของสมาชิก  ตลอดจนงานด้านสิทธิและเสรีภาพ และพัฒนาคุณภาพนักข่าวผ่านกิจกรรมจัดอบรมในระดับต่างๆ

จากการศึกษาโดยเบื้องต้น คณะอนุกรรมการฯ พบว่า ข้อจำกัดเดิม ตั้งแต่โครงสร้างขององค์กร ภารกิจขององค์กร และบุคลากรที่มีอยู่ในองค์กร อาจไม่สอดคล้องต่อสภาพการณ์ของสังคมในปัจจุบัน

2.1 โครงสร้าง

ปัจจุบันโครงสร้างขององค์กร มีคณะกรรมการบริหารที่มาจากการเลือกทั้งหมด 15 คน อยู่ในวาระการดำรงตำแหน่งเพียงสั้นๆ คราวละ 1 ปี กรรมการแต่ละคนมาในฐานะของตัวแทนจากหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ที่มีสมาชิกของสมาคมฯ สังกัดอยู่ ดังนั้นลักษณะการทำงานของคณะกรรมการบริหารฯ จึงอยู่ในรูปของงานอาสาเป็นหลัก

ภายใต้โครงสร้างของสมาคมนักข่าวฯ ยังมีคณะกรรมการควบคุมจรรยาบรรณซึ่งมาจากการเลือกตั้งอีก 5 คน ภายในสมาคมฯ มีสำนักงานเลขาธิการซึ่งมีเจ้าหน้าที่ประจำทำงานแบบเต็มเวลาอยู่จำนวน 6 คน แยกเป็นผู้จัดการสมาคมฯ 1 คน เจ้าหน้าที่ 3 คน และแม่บ้านอีก 2 คน

2.2 ภารกิจ

ภารกิจของสมาคมนักข่าวฯ ปัจจุบันประกอบด้วยงานหลักๆ คือ กิจกรรมด้านส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ด้านวิชาการ ด้านการฝึกอบรมนักข่าว ด้านสวัสดิการสมาชิก ด้านต่างประเทศ  ด้านการจัดประกวดข่าว ด้านการส่งเสริมจริยธรรม และกิจกรรมพิเศษรวมทั้งการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์สำหรับสมาชิกและแก่ผู้สนใจ ผ่านหนังสือวันนักข่าวปีละ 1 ฉบับ จุลสารราชดำเนิน ซึ่งเป็นวารสารราย 3 เดือน รวมทั้งสื่ออิเลกทรอนิกส์

2.3 บุคลากร

ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า ภายใต้โครงสร้างของสมาคมนักข่าวฯ ในปัจจุบัน มีสำนักงานเลขาธิการ โดยมีบุคลากรประจำอยู่ 6 คน คือ ผู้จัดการสมาคมฯ 1 คน เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน 1 คน  เจ้าหน้าที่อีก 2  คน รองรับงานทั่วๆ ไป เช่น งานอบรมนักข่าว งานประชุมชุดต่างๆ รวมทั้งงานอภิปราย และงานเสวนา ที่เหลืออีก 2 คน ทำหน้าที่แม่บ้าน

เมื่อนำโครงสร้าง ภารกิจ และจำนวนบุคลากรที่มีอยู่มาพิจารณากันตั้งแต่โครงสร้างวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ วาระเพียง 1 ปี บวกกับลักษณะของการทำงานแบบอาสา ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มเวลา เป็นอุปสรรคต่อการสานต่องานสำคัญๆ ให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม  อีกทั้งยังสร้างภาระงานให้กับบุคลากรประจำที่มีอยู่จำนวนน้อยต้องแบกรับภาระงานหนัก ทั้งงานหลักและงานจรกรณีที่เกิดเหตุการณ์สำคัญๆ แทนคณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ ประกอบกับลักษณะของงานและภารกิจใหม่ที่มีเข้ามา ยังมีผลทำให้เจ้าหน้าที่ปรับตัวกันไม่ทัน

ปัจจุบันความเป็นองค์กรวิชาชีพของสมาคมนักข่าวฯ เสมือนร่มคันใหญ่ และภายใต้ร่มคันใหญ่ มีการทำงานที่เชื่อมต่องานและภารกิจร่วมกับพันธมิตรองค์กรวิชาชีพอื่นๆ ทั้งองค์กรในประเทศ และระหว่างประเทศ ในประเทศ ประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สถาบันพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ และมูลนิธิอินเทอร์เน็ตเพื่อโรงเรียนและชุมชน

ส่วนองค์กรระหว่างประเทศ สมาคมนักข่าวฯ ทำงานระดับสากลร่วมกับเครือข่ายสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเชียอาคเนย์ ( Southeast Asian Press Alliance- SEAPA)

ดังนั้นเพื่อให้ภารกิจของสมาคมนักข่าวฯ รองรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างขององค์กร ภารกิจขององค์กร และบุคลากรที่มีอยู่ในองค์กร โดยอาศัยพลังภายใน คือ องค์กรวิชาชีพทั้งหลาย และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ประสานเชื่อมกับพลังทางสังคมให้มากขึ้น และในที่สุดคือ การเดินทางเพื่อไปสู่กระบวนการปฏิรูปองค์กรวิชาชีพหนังสือพิมพ์

3.ปฏิรูปองค์กรวิชาชีพ

“ปรับบทบาทและภารกิจใหม่”

ระหว่างที่คณะอนุกรรมการฯ กำลังขมักเขม้นอยู่กับการทำความเข้าใจกับกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ ด้วยกันเอง และเพื่อนๆ สมาชิก ถึงแนวคิดและแนวทางในการปฏิรูปภารกิจใหม่ขององค์กรวิชาชีพ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน และเพื่อให้มโนภาพของหัวรถจักรมีความชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อการแสวงหาพลังเครือข่ายในการปฏิรูปฯ จากองค์กร และบุคลากรภายนอก อนุกรรมการฯ ในฐานะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ รวมทั้งกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ จึงรวมกันเป็นคณะเล็กๆ ขอเข้าพบ น.พ.ประเวศ วะสี ผู้หลักผู้ใหญ่ในฐานะเสาหลักทางปัญญาของบ้านเมือง

น.พ.ประเวศกรุณาให้คำแนะนำและชี้แนะแนวทางเกี่ยวกับทิศทางและภารกิจของงานปฏิรูปฯ อันเป็นประโยชน์ต่อสมาคมนักข่าวฯ อย่างมาก

“ต้องทำให้คนไทยรู้ความจริง เพราะถ้าคนไทยรู้ความจริงโดยทั่ว เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศ จึงควรทำให้สมาคมนักข่าวฯ เป็นสถาบันข่าวที่เป็นกลาง เพราะสังคมต้องการข่าวที่เป็นข่าว”

สำหรับจุดมุ่งหมายของการเดินทางเพื่อไปสู่การสร้างเครื่องมือไม้เครื่องมือ และกลไกใหม่ๆ ก่อนลงมือปฏิรูปฯ ระหว่างทาง คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ ไม่ลังเลที่จะทดลองความจริง ด้วยการปรับเปลี่ยนบทบาทและภารกิจของสมาคมนักข่าวฯ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นไปของบ้านเมือง สมาคมนักข่าวฯจึง ทดลองตั้งโจทย์เกี่ยวกับเหตุการณ์และปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

คณะอนุกรรมการด้านสิทธิและเสรีภาพ และคณะอนุกรรมการด้านวิชาการ ซึ่งรวมคณะทำงานฯ เป็นหน่อเนื้อเดียวกัน ได้หยิบยกปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาแลกเปลี่ยนความเห็น สถานการณ์เช่นนี้ สมาคมนักข่าวฯ ควรกำหนดท่าทีและบทบาทของตัวเองอย่างไร เพราะก่อนหน้านี้สื่อมวลชน โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์กลายเป็นจำเลย และเป้าโจมตีจากสังคมว่า มีส่วนร่วมขยายความรุนแรงและความขัดแย้งในสังคม

“ทดลองเคลื่อนหัวรถจักร”

การตอบโจทย์ของคณะทำงานฯ ต่อปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกคนต่างเห็นตรงกันว่า เป็นภาระทางสังคมของสมาคมนักข่าวฯ ต้องเข้าไปแบกรับหน้าที่เพื่อบริหารข่าวสารให้มีความรอบด้าน และเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับสังคมไทย

แม้ความคิดของคณะทำงานฯ ที่ว่า “เราจะทำอะไร” ยังไม่เข้ารูปเข้ารอยดี กับภาระที่เราตั้งใจจะแบกรับ แต่ความคิดและแนวทางโดยเบื้องต้นของคณะทำงานฯ ได้เริ่มขึ้นแล้ว จากการอนุมัติของสมาคมนักข่าวฯ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2548 คือ  “โครงการสื่อสันติภาพ” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนมาใช้ชื่อ “โต๊ะข่าวภาคใต้” หรือ “ศูนย์ข่าวอิศรา” รวมทั้ง “โครงการทัวร์วัฒนธรรมภาคใต้” และ “โครงการคู่มือการทำข่าวเพื่อความมั่นคง”

ศูนย์ข่าวอิศรา เกิดจากการเชื่อมโยงทางความคิด และการทำงานร่วมกับเครือข่ายภายนอก ตั้งแต่ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.) โดยทุนสนับสนุนทั้งจากมสช. กอส. และสมาคมนักข่าวฯ ส่วนมอ. ให้การสนับสนุนสถานที่สำหรับปฏิบัติงาน และที่พักให้กับนักข่าวของศูนย์ข่าวอิศรา

กว่าที่ศูนย์ข่าวอิศราจะก่อรูปและวางรากฐานได้อย่างที่ปรากฎต่อสาธารณะ คณะทำงานฯ ต่างก็ยึดมั่นแนวทางการทำงานแบบมีส่วนร่วม และการสร้างเครือข่ายพันธมิตรจากวิชาชีพอื่นๆ ด้วยการปรับบทบาทของสมาคมนักข่าวฯ เป็นนักประสานงานเพื่อเชื่อมกับองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เริ่มจากการตั้งวงพูดคุยกับบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ส่วนกลางฉบับต่างๆ น้ำเสียงส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน แต่ก็มีข้อห่วงใยเรื่องความปลอดภัย และข้อท้วงติงที่การทำงานของศูนย์ข่าวอิศราอาจไปทับซ้อนกับภาระหน้าที่งานของนักข่าวที่ทำกันทุกวันอยู่แล้ว

คณะทำงานฯ และคณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ ยังแบ่งสายกันเข้าพบผู้บริหารและนักหนังสือพิมพ์อาวุโสของหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ และต่างก็หอบหิ้วนำข้อแนะนำที่ได้จากผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการหนังสือพิมพ์มาวางเป็นแนวทางเพื่อการทำงานของศูนย์ข่าวอิศราในอนาคตอันใกล้

ในระดับพื้นที่ คณะทำงานฯ ก็พร้อมใจกันนำทีมสลับกันลงพื้นที่เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักข่าวระดับอาวุโสของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น และหนังสือพิมพ์ส่วนกลางที่มีนักข่าวเป็นสตริงเกอร์ประจำอยู่ในพื้นที่ จนเกิดเวทีเสวนาระหว่างสมาคมนักข่าวฯ สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้ และเครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคใต้ นักข่าวท้องถิ่นที่เข้าร่วมเสวนากว่า 50 คน ทุกคนเห็นด้วยกับโครงการโต๊ะข่าวภาคใต้ จึงนับเป็นความร่วมมือครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา ระหว่างองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนจากส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น

คณะทำงานฯ ยังทำหน้าที่ประสานเชิญคณะบรรณาธิการ หัวหน้าข่าว และผู้แทนจากสถานีโทรทัศน์เกือบทุกสำนักจากส่วนกลาง ลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสัมผัสความเป็นจริง โดยการพบปะพูดคุยกับชาวบ้านและผู้นำทางศาสนาอิสลาม รวมทั้งพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักข่าวอาวุโสประจำพื้นที่

วันที่ 22 สิงหาคม 2548 คณะทำงานฯ ประชุมร่วมกับนักข่าวจากหนังสือพิมพ์ส่วนกลางและหนังสือพิมพ์ส่วนท้องถิ่น ซึ่งต่างค่าย แต่ไม่ต่างสี อาสาเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกองบรรณาธิการโต๊ะข่าวภาคใต้ วันเดียวกัน ชื่อของ ศูนย์ข่าวอิศรา ก็ปรากฎอย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นการรำลึกแง่งาม และคุณความดี ของ อิศรา อมันตกุล นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรก

อีกสามวันถัดมา ทีมงานของศูนย์ข่าวอิศรา ทยอยลงพื้นที่เป็นชุดแรก ประมาณ 20 คน โดยมีบรรณาธิการข่าวจากส่วนกลางหมุนเวียนกันลงพื้นที่บริหารงานข่าวคนละ 1 เดือน เพื่อร่วมทำงานกับแกนหลักสำคัญในฐานะนักข่าวอาวุโสที่ประจำอยู่ในพื้นที่

กล่าวได้ว่า วิธีการทำงานของกองบรรณาธิการศูนย์ข่าวอิศรา คณะทำงานฯ ของสมาคมนักข่าวฯ ประยุกต์รูปแบบมาจากกิจกรรมอบรมนักข่าวซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกๆ ปี คณะทำงานฯ จึงปรับปรุงพัฒนารูปแบบของการอบรมนักข่าว นำมาใช้กับการทำงานของศูนย์ข่าวอิศรา ในรูปของการบูรณาการ Learning by doing และเพื่อเป็นการวางรากฐานในการพัฒนาและยกระดับของศูนย์ข่าวอิศราในอนาคต (อ่านรายละเอียดในเอกสารประกอบ 3)

วันที่ 29 สิงหาคม 2548 คือวันแรกที่ศูนย์ข่าวอิศรา ผลิตชิ้นงานฝากไว้บนโลกอินเทอร์เนต ผ่านทางเวบไซด์ของสมาคมนักข่าวฯซึ่งรู้จักกันดีในนาม tjanews.org เพื่อให้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนสามารถนำไปเผยแพร่ใช้ได้ในสื่อของตน

 

4.จัดเวทีระดมรับฟังความคิดเห็น

“สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม”

ระหว่างที่คณะทำงานฯ กำลังขับเคลื่อนงานของศูนย์ข่าวอิศรา อันเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายและแผนงานที่ขับเคลื่อนไปพร้อมๆ งานปฏิรูปองค์กรวิชาชีพ คณะทำงานฯ ไม่ละเลยที่จะวางพื้นฐานสำหรับภารกิจปฏิรูปองค์กรทั้งระบบเพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต โดยการยกร่างโครงสร้างการบริหารงานของสมาคมนักข่าวฯ ขึ้นใหม่

ภายใต้โครงสร้างใหม่นี้ คณะทำงานฯ เน้นงานปฏิรูปหลักๆ  คือ ปฏิรูปภารกิจ ปฏิรูปโครงสร้าง และปฏิรูปบุคลากร ภายใต้แนวทางกว้างๆ คือ

  • จัดตั้งสถาบันข่าว
  • จัดตั้งสถาบันวิจัยระบบสื่อ
  • สถาบันพัฒนาบุคลากร
  • งานด้านสิทธิเสรีภาพ

(รายละเอียดในเอกสารประกอบ 1)

หลังจากดำเนินการยกร่างโครงสร้างการบริหารงานของสมาคมนักข่าวฯ ใหม่ คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ  มีมติแต่งตั้งผู้ประสานโครงการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น เพื่อจัดเวทีให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดระยะเวลา 4 เดือน ระหว่างเดือนกันยายน-ธันวาคม 2548 โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนงบประมาณสำหรับจัดเวที ภายใต้โครงการพัฒนา “ชุดโครงการการพัฒนาระบบสื่อเพื่อสุขภาวะ”

4 เดือนสุดท้ายก่อนสิ้นสุดปี 2548 เป็นช่วงเวลาที่ผู้ประสานโครงการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ต้องเร่งผลิตงานชิ้นสำคัญให้กับสมาคมนักข่าวฯ  ท่ามกลางข้อจำกัดต่างๆ มากมาย  ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับการสร้างสมดุลในการเชิญวิทยากรจากภาคส่วนต่างๆ ของสังคมให้มาร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียงและมีความครอบคลุมหลากหลายทุกกลุ่มองค์กรวิชาชีพ ตามเวทีที่ผู้ประสานโครงการฯ กำหนดเอาไว้ อย่างเช่น ในเวทีเชิญนักวิชาการและนักวิจัย วิทยากรบางคนเป็นถึงระดับผู้บริหารองค์กรทางด้านองค์ความรู้ เมื่อท่านรับทราบถึงจุดมุ่งหมายของการจัดเวที ท่านก็อุตส่าห์สละละทิ้งงานอื่นที่ตรงกัน เพื่อมาร่วมงานของสมาคมนักข่าวฯ วิทยากรบางคนช่วงวันและเวลาคาบเกี่ยวกับงานอื่น ก็ยังให้ความอนุเคราะห์มาอยู่ร่วมแสดงความคิดเห็นก่อนจะไปต่ออีกงาน

เป็นเรื่องยากอีกเหมือนกัน สำหรับการเชิญบรรดาพี่ๆ นักข่าวทั้งหมด ทั้งในฐานะบุคลากรที่ยังประกอบอาชีพทำงานอยู่ในองค์กรวิชาชีพ ทั้งในระดับผู้บริหาร และระดับผู้ปฏิบัติงาน อีกทั้งเคยอยู่ในฐานะอดีตกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ รวมทั้งพี่ๆ อดีตนักข่าว แต่ผันตัวเองออกไปประกอบอาชีพอื่น และเคยร่วมทุกข์ร่วมสุขพัฒนาสมาคมนักข่าวฯ มาด้วยกัน เพื่อให้ทั้งหมดได้มีโอกาสมานั่งร่วมโต๊ะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเสนอแนะมุมมองอนาคตของสมาคมนักข่าวฯ แต่ทุกคนก็ตอบรับทันทีเมื่อรับทราบว่า น้องๆ รุ่นหลังกำลังจะคิดการใหญ่

“แหล่งข่าว” เป็นอีกกลุ่มบุคคล ที่ผู้ประสานโครงการฯ ให้ความสำคัญเป็นอย่างสูง เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ ในชีวิตประจำถือว่ามีโอกาสพูดคุยและให้ข้อมูลข่าวสารกับนักข่าว จึงมีโอกาสสัมผัสทั้งแง่มุม ความคิด และชีวิตการทำงานของนักข่าวได้มากกว่าคนอื่นๆ โดยทั่วไป แต่กว่าจะเชิญบุคคลเหล่านี้มาร่วมในเวทีได้ครบและครอบคลุมทุกฝ่าย ผู้ประสานโครงการฯ ต้องเลื่อนวันและเวลาออกไปหลายครั้ง ทั้งตัวแทนพรรคการเมืองฝ่ายค้าน วุฒิสมาชิก องค์กรตรวจสอบความโปร่งใส องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ และเป็นที่น่าเสียดายสำหรับตัวแทนจากพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่ติดภารกิจไม่สามารถมาร่วมงานได้ รวมทั้งตัวแทนจากองค์กรภาคธุรกิจซึ่งติดภารกิจกันยาวเหยียดช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี

แต่ละเวที วิทยากรแต่ละท่านจะได้รับโจทก์ที่ผู้ประสานโครงการฯ จัดส่งไปให้เพื่อทำการบ้าน ก่อนมาร่วมแสดงความคิดเห็น นั่นคือ ร่างโครงสร้างการบริหารสมาคมนักข่าวฯ ใหม่ รวมทั้งข้อบังคับ วัตถุประสงค์ และเป้าหมายในการทำงานขององค์กรวิชาชีพ

สำหรับเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็น ผู้ประสานโครงการฯ กำหนดไว้ 3 เวทีหลักๆ คือ เวทีนักวิชาการและนักวิจัย เวทีอดีตกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ และสมาชิกสมาคมนักข่าวฯ และเวทีสำหรับแหล่งข่าว ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้

1.วันอังคารที่ 4 ตุลาคม 2548 จัดเวทีเสวนาเพื่อระดมความคิดเห็นโครงการปฏิรูปวิชาชีพสื่อมวลชน สำหรับนักวิชาการและนักวิจัย

2.วันอังคารที่ 27 ตุลาคม 2548 จัดเวทีเสวนาเพื่อระดมความคิดเห็นโครงการปฏิรูปวิชาชีพสื่อมวลชน สำหรับอดีตกรรมการและสมาชิกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

3.วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน 2548 จัดเวทีเสวนาเพื่อระดมความคิดเห็นโครงการปฏิรูปวิชาชีพสื่อมวลชน สำหรับแหล่งข่าว

(รายละเอียดในเอกสารประกอบ 2)

ก่อนหน้านี้ ทั้งคณะทำงานฯ และกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ ยังใช้โอกาสที่มีผ่านเวทีต่างๆ ทำการเผยแพร่แนวความคิดในการปฏิรูปองค์กรวิชาชีพเข้าไปด้วย เช่น การประชุมบรรณาธิการข่าว หัวหน้าข่าว หรือผู้แทนของหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ และการประชุมวิชาการ-วิชาชีพ ประจำปีของสมาคมนักข่าวฯ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างวิชาชีพและวิชาการที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2540  รวมทั้งเวทีอื่นๆ ตามแต่โอกาสจะเอื้ออำนวยให้แนวคิดในการปฏิรูปองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนแพร่หลายเป็นที่รับรู้ในสังคมสื่อมวลชน และองค์กรภายนอก เพื่อให้เกิดแนวร่วมและผลักดันไปสู่เป้าหมาย

 

สรุปข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปองค์กรหนังสือพิมพ์

ภาพรวมรายงานสรุปความคิดเห็น รวมทั้งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิรูปองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนฉบับนี้ นอกจากจะประมวลมาจาก 3 เวทีหลัก และเวทีย่อยๆ ตามที่ได้กล่าวเอาไว้แล้ว ยังเป็นการรวมข้อเสนอแนะจากผู้หลักผู้ใหญ่ที่สมาคมนักข่าวฯ ทั้งจากวงการภายนอก และในวงวิชาชีพเดินสายขอเข้าพบ ตลอดจนจากเจ้าของ คณะผู้บริหาร และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ของหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ในโอกาสที่บุคคลเหล่านี้ได้เข้าร่วมประชุมระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์สื่อมวลชนในปัจจุบัน ซึ่งจัดโดยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  ภายหลังเกิดเหตุการณ์การแทรกแซงสื่อและซื้อสื่อครั้งสำคัญ กรณีเหตุการณ์เข้าซื้อหุ้นหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับ คือ บางกอกโพสต์ และมติชน ของกลุ่มทุนใหญ่ด้านธุรกิจบันเทิง

แน่นอนว่า ภารกิจเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปสมาคมนักข่าวฯ ไม่สูญเปล่า ทุกๆ ท่านที่เข้าร่วมในแต่ละเวทีต่างก็เห็นความสำคัญของภารกิจปฏิรูปองค์กรวิชาชีพ และต่างก็เห็นตรงกันว่าถึงเวลาที่สมาคมนักข่าวฯ ในฐานะตัวแทนขององค์กรวิชาชีพ ต้องก้าวออกมานำผองเพื่อนจากทุกองค์กรเพื่อปลดแอกจากเครื่องพันธนาการใดๆ อันจะไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพ และคุณค่าของวิชาชีพสื่อมวลชน

โดยภาพรวม วิทยากรผู้เข้าร่วมในเวทีต่างๆ ให้ความสนใจกับประเด็นปัญหาเกี่ยวกับภัยคุกคามทางเสรีภาพของสื่อมวลชนเป็นกรณีพิเศษ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวและสัมผัสได้ทุกวัน ดังนั้นทำอย่างไรจึงจะหาวิธีการให้สื่อมีความเป็นอิสระปราศจากอำนาจรัฐและอำนาจทุนมาบ่อนทำลาย             วิทยากรบางคนเสนอว่า ควรมีทั้งกลไกภายในและกลไกภายนอกช่วยกันปกป้องสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน

สำหรับกลไกภายนอก ตัวแทนจากพรรคการเมืองทั้งจากพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยเสนอให้สื่อเสนอกฎหมายของสื่อเองเข้าไปตามกลไกของระบบรัฐสภา ขณะที่ตัวแทนจากพรรคการเมืองทั้งสองพรรคต่างก็ทำหน้าที่ของตัวเองในการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษากฎหมายที่สมควรจะปรับปรุงแก้ไขอีกทางหนึ่งตั้งแต่เกิดเหตุการณ์สำคัญๆ เพื่อหาหนทางปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน

ขณะเดียวกัน สมาคมนักข่าวฯ ก็ต้องวางบทบาทใหม่ เพื่อออกไปเชื่อมประสานกับกลุ่มพลังภาคสังคมต่างๆให้มากขึ้น โดยใช้กิจกรรมต่างๆ เป็นตัวเชื่อมผ่าน ซึ่งสมาคมนักข่าวฯ ทดลองทำไปแล้วในปี 2548 คือ การจัดตั้งศูนย์ข่าวอิศรา รวมทั้งเวทีราชดำเนินเสวนา ฯลฯ

ศูนย์ข่าวอิศรา สามารถสร้างช่องทางให้สมาคมนักข่าวฯ มีโอกาสเชื่อมต่อและสื่อสารกับชุมชนห่างไกลได้มากขึ้นอีกด้วย ทำให้ข้อมูลข่าวสารมีความหลากหลาย รอบด้านและถูกต้องมากขึ้น รวมทั้งการเชื่อมต่อกับองค์กรระหว่างประเทศที่ทำอยู่แล้ว อย่างเช่น SEAPA ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน สมาคมนักข่าวฯ ก็มักได้รับความร่วมมือจาก SEAPA ช่วยกันออกแถลงการณ์ และเผยแพร่ข้อมูลออกไปสู่ชาวโลก

ส่วนกลไกภายในขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเอง มีข้อเสนอที่น่าสนใจจากหลายๆ เวที คือ การก่อตั้งสหภาพที่ต้องมีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง โดยเฉพาะข้อเสนอของ อาจารย์เดชอุดม ไกรฤกษ์ นายกสภาทนายความ และในฐานะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ตอนที่เกิดกรณีซื้อหุ้นมติชน-บางกอกโพสต์ ท่านมองบทบาทของสมาคมนักข่าวฯ ไว้สำคัญมาก เป็นไปได้หรือไม่ที่สมาคมนักข่าวฯ จะทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพโดยเชื่อมกับองค์กรสมาชิกต่างๆ ผลักดันสหภาพกลาง

หรืออย่างข้อเสนอของนพ.ประเวศ มองว่าสมาคมนักข่าวฯ ควรเชิญบุคคลสำคัญๆ เป็นที่เคารพนับถือในสังคมนั่งเป็นคณะที่ปรึกษาให้กับสถาบันข่าวฯ เพื่อสร้างศักยภาพและเป็นแนวร่วมให้กับสมาคมนักข่าวฯ

สำหรับข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปองค์กรวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ผู้ประสานโครงการฯ ได้จัดแบ่งกลุ่มข้อเสนอแนะสรุปออกเป็นหัวข้อต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. โครงสร้างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

2. งานส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและจริยธรรมวิชาชีพ

3. สำนักข่าว

4.สถาบันวิจัยข่าว

5.สถาบันพัฒนาบุคลากร

1.โครงสร้างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ข้อสรุปเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างและการบริหารงานของสมาคมนักข่าวฯ ส่วนใหญ่รวบรวมมาจากเวทีรับฟังความคิดเห็นของอดีตกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ และสมาชิกสมาคมนักข่าวฯ รวมทั้งจากการประชุมของบรรณาธิการข่าว หัวหน้าข่าว และตัวแทนขององค์กรวิชาชีพหนังสือพิมพ์ เนื่องจากบุคคลเหล่านี้มีโอกาสได้คลุกคลี สัมผัส และพัฒนาสมาคมนักข่าวฯ มาด้วยกัน ซึ่งมีทั้งข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะตั้งแต่ โครงสร้างของสมาคมนักข่าวฯ วาระการดำรงตำแหน่งและการคัดเลือกคณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ  ยุทธศาสตร์การทำงาน  เป้าหมาย รวมทั้งบทบาทและภารกิจของสมาคมนักข่าวฯ พอประมวลสรุปได้ดังนี้

ประเด็น

ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปฯ

1.โครงสร้างสมาคมนักข่าวฯ

-ต้องมีความชัดเจน มองปัญหาและวางโครงสร้างแยกให้ชัด เช่นเสรีภาพของสื่อจากเจ้าของสื่อ หรือคุณภาพข่าวที่มุ่งไปที่ข่าวสืบสวนสอบสวน ฯลฯ

-ปรับให้เอื้อและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์

-วางยุทธศาสตร์และกำหนดระยะเวลาการทำงานด้วย

-การปรับโครงสร้างฯ ต้องดูโครงสร้างขององค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสมาคมนักข่าวฯ ด้วย  และพิจารณาลงไปในเป้าหมายของแต่ละองค์กร เพื่อจะได้กำหนดบทบาทได้ชัดเจน

-โครงสร้าง ต้องวางภารกิจให้เสริมกับองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดโครงสร้างให้มีลักษณะที่สัมพันธ์กัน เช่น ทางตั้งวางความสัมพันธ์กับนักวิชาการอย่างไร ทางราบสร้างความสัมพันธ์กับสมาคมฯ อื่นๆ อย่างไร และภาคประชาชนอย่างไร

-โครงสร้างต้องปรับปรุงประสิทธิภาพเรื่องความรวดเร็ว มีรูปธรรมในการเคลื่อนไหวกับองค์กรพันธมิตร

-โครงสร้างต้องมีความมั่นคง โดยมีบุคลากรทำงาน (มีเงินเดือน) เป็นหลักแทนกรรมการที่ปัจจุบันทำงานแบบอาสา เพื่อให้งานต่อเนื่อง

2.คณะกรรมการบริหาร

-การเลือกตั้งต้องมีความหลากหลาย (ที่ผ่านมาเลือกกันมาก่อน)

-แก้ไขข้อบังคับให้มีวาระ 3-5 ปี เพื่อความต่อเนื่องในการทำงาน

-การคัดเลือกคณะกรรมการบริหารฯ ต้องมีขบวนการที่โปร่งใส ผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ต้องทำให้ทุกฝ่ายเข้าถึงได้หมด

3.ยุทธศาสตร์

-สร้างเวทีเชื่อมกับภาคประชาชนอย่างสม่ำเสมอ

4.เป้าหมาย

-สร้างความเป็นเอกภาพให้เกิดขึ้นในวิชาชีพสื่อมวลชน (เดิมเขียนไว้แล้วในเป้าหมาย แต่ยังไม่บรรลุผลสำเร็จ) เพื่อให้การเคลื่อนไหวในเรื่องต่างๆ มีพลัง โดยเฉพาะผู้ประกอบการหนังสือพิมพ์

5.บทบาท-ภารกิจ

-มีแผนแม่บท โดยสมาชิกต้องมีส่วนร่วมกำหนดแผน

-สร้างกรอบให้ชัดเจน เช่น กิจกรรมที่ทำมีปัญหาหรือไม่ ทุนมีปัญหาหรือไม่ หรือมีปัญหาในเรื่องทิศทางและบทบาทระหว่างสมาคมนักข่าวฯ กับสภาการนสพ. เช่น สภาการนสพ.เน้นเฉพาะจริยธรรม/พัฒนาความเป็นวิชาชีพ พัฒนาจริยธรรม ส่วนสมาคมนักข่าวฯ ทำเฉพาะสิทธิเสรีภาพ สวัสดิภาพ สวัสดิการ แต่โจทก์หลักอาจเป็นเรื่องทุน เรื่องพันธมิตร

-งานทับซ้อนกันในหน้าที่ ระหว่างสภาการนสพ.กับสมาคมนักข่าวฯ ตัวอย่างแม้จะแยกไปตั้งสภาการนสพ. แต่ในสมาคมนักข่าวฯ ก็ยังมีคณะกรรมการจรรยาบรรณ ดังนั้นต้องบริหารจัดการให้ดี

-กำหนดบทบาทให้ชัดเจนเคียงคู่ไปกับสมาคมฯ อื่นๆ รวมทั้งมองภาพโดยรวมอนาคตของสื่อ เพราะคุณภาพต้องไปด้วยกันทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อทีวี/วิทยุ

-ทำอย่างไรให้สมาคมฯ ทั้งหลายมีความร่วมมือกัน ทำให้เกิดสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ

-ทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการหรือผู้บริหารสื่อยอมรับในความเป็นสมาคมนักข่าวฯ ที่ผ่านมายอมรับแค่มีบทบาทเมื่อมีการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน หรือสื่อถูกกลั่นแกล้ง

-ต้องผลักดันขยายสมาชิกให้มากขึ้น ไปสู่ภูมิภาคด้วย และมีความหลากหลาย

-ต้องดึงสื่ออื่นๆ ซึ่งปัจจุบันเกิดขึ้นมากมายมาร่วมเป็นสมาชิก ไม่เฉพาะหนังสือพิมพ์ วิทยุ-ทีวี แต่ยังมีสื่ออินเทอร์เน็ต ฯลฯ

-ปกป้องและส่งเสริมด้านสวัสดิการให้กับองค์กรสื่อที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ

-ดูแลสวัสดิการให้กับสมาชิกมากขึ้น เพราะยังปรากฎว่ามีสมาชิกบางส่วนไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างดีพอจากเจ้าของโรงพิมพ์ เงินเดือนได้รับไม่เท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ

-ปรับบทบาทเชิงรุก เช่น หลังกอส.หมดวาระแก้ปัญหา 3 จว.ชายแดนภาคใต้ สมาคมนักข่าวฯ จะวางบทบาทตรงนี้อย่างไรโดยดึงพันธมิตร ทั้งนักวิชาการและคนในสังคมมาช่วย เพราะเชื่อว่าปัญหาภาคใต้จะยังรุนแรงต่อไปอีกนาน

-ต้องวางบทบาทในการทำหน้าที่คอยเตือนภัยให้กับสังคม

-ต้องวางบทบาทในการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพให้มากขึ้น

-ทำอย่างไรจะเผยแพร่ให้นักข่าวรุ่นใหม่รู้จักสมาคมนักข่าวฯ มากขึ้น ทั้งกับคนที่กำลังศึกษา และนอกวงการ เพราะปัจจุบันสมาคมนักข่าวฯ เป็นที่รู้จักเฉพาะวงการ

-ต้องทำให้คนทั่วไปรับรู้อย่างกว้างขวางว่า สมาคมนักข่าวฯ กำลังมีเป้าหมายในการปฏิรูปฯ

-ต้องทำให้สังคมไม่เพิกเฉยต่อความไม่เป็นธรรมทางสังคมที่เกิดขึ้นให้มากขึ้น

-ต้องทำให้คนที่อยู่ในสถาบันสื่อเกิดความรู้สึกรุนแรงที่จะปฏิรูปฯ เพื่อให้การขับเคลื่อนเกิดพลัง

-ต้องเล่นเป็นนักล๊อบบี้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดการปฏิรูปฯ เช่น ล๊อบบี้ส.ส./ส.ว.ในการผลักดันกระบวนการกฎหมายที่จะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง

 

2. งานส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและจริยธรรมของวิชาชีพ

“เสรีสื่อ เสรีประชาชน”

หน้าที่ของสื่อมวลชน คงไม่เฉพาะงานประจำวันที่ทำกันอยู่เบื้องหน้า คือ การรายงานข้อมูลข่าวสาร ปรากฎการณ์ และข้อเท็จจริงๆ ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมให้หมดไปวันๆ แต่หน้าที่ของสื่อมวลชนมีความหมายลึกไปกว่านั้น คือการต่อสู้กับความไม่ถูกต้องทุกรูปแบบ ต่อภาระสำคัญดังกล่าว จึงมีความพยายามจากกลุ่มบุคคล และทุกกลุ่มอำนาจพยายามใช้อำนาจกระทำการคุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทุกครั้งที่มีโอกาส

ตามที่เกริ่นเอาไว้ในบทนำแล้วว่า หลายปีที่ผ่านมา สถานการณ์ด้านสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนถูกผู้ถือครองอำนาจรัฐกระทำย่ำยีอยู่ตลอดเวลา ปรากฎการณ์ดังกล่าวยังกระตุ้นเตือนสร้างสำนึกในหมู่วิชาชีพให้สมาคมนักข่าวฯ ต้องลุกขึ้นมาปฏิรูปองค์กรวิชาชีพกันอย่างจริงจัง หลังจากที่ทุ่มเททำงานหนักให้กับงานด้านนี้มาโดยตลอด โดยเฉพาะอายุรัฐบาลทักษิณ แต่ก็ทำได้แค่เพียงการออกแถลงการณ์ต่อต้าน หรือการจัดเวทีอภิปรายและเสวนา ซึ่งไม่ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะนับวันสถานการณ์กลับเลวร้ายลงยิ่งกว่าเดิม

รัฐบาลทักษิณไม่เคยส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และไม่เคยแยแสต่อความศักดิ์สิทธิ์ของเจตนารมณ์ที่เขียนเอาไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ประชาชนในฐานะผู้บริโภคข่าวสาร และสื่อมวลชนจึงตกอยู่ในภาวะถูกปั่นหัว รับรู้ข้อมูลแบบครึ่งๆ กลางๆ แทนที่สื่อมวลชนจะช่วยกันเป็นกระจกสะท้อนสังคม แต่บางครั้งกระจกกลับให้ภาพของสังคมที่บิดเบี้ยวและหม่นมัว

บ่อยครั้งที่ผู้นำรัฐบาลลงมาเล่นงานสื่อแบบซึ่งๆ หน้า ด้วยการบริภาษการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ ถ้อยคำที่ใช้ทั้งดูหมิ่นดูแคลน ชี้นำปลุกปั่นให้สาธารณชนเห็นว่า สื่อมีอคติ ไม่ปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมือง คิดเอาแต่ประโยชน์เพื่อองค์กร ไม่มีความรู้ บางครั้งถ้อยคำที่บริภาษ ผู้นำรัฐบาลมักใช้ความเป็นเลือดรักชาติแต่เพียงผู้เดียว กล่าวหาหนังสือพิมพ์ว่าไม่รักชาติ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษท่านใช้คำว่า “ไม่มีหัวใจของความเป็นไทย” ทั้งที่โดยเบื้องลึกเพราะต้องการควิบคุมข่าวด้านลบที่จะไปปรากฎสู่สายตาแก่ชาวโลก

“ชนกลุ่มน้อย” หรือคนที่ประกอบอาชีพสื่อ ในความหมายของ ขรรค์ชัย บุนปาน นักหนังสือพิมพ์อาวุโสในวงการ จึงมักถูกรัฐบาลทักษิณแบ่งแยกและทำลายอยู่เนืองๆ

การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน นอกจากจะส่งผลกระทบต่อเจ้าขององค์กรสื่อโดยตรง ยังสะเทือนไปถึงคนทำสื่อ เกิดปรากฎการณ์ที่คนทำสื่อเรียกกันว่า “การเซ็นเซอร์ตัวเอง” ภายในกองบรรณาธิการข่าว คนทำสื่อต้องวิเคราะห์ได้เองว่า ข่าวชิ้นใดจะไปส่งผลกระทบต่อองค์กรเพื่อหลีกเลี่ยงแรงปะทะจากผู้มีอำนาจในรัฐบาล ถ้าไม่เชื่อฟังผลที่ตามมาจึงมีคำสั่งโยกย้ายบรรณาธิการข่าว  หนักที่สุด คือ ปลดบรรณาธิการข่าว และหัวหน้าข่าว

สำหรับสื่อวิทยุและโทรทัศน์ซึ่งถือว่าทรงอิทธิพลประชาชนให้ความนิยมมากที่สุด แต่เนื่องจากอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยอำนาจรัฐจึงยิ่งง่ายต่อการบัแงคับและสั่งการ แต่ก็มีในกรณีที่เอกชนผู้เช่าช่วงเวลาจัดรายการทำนองวิจารณ์รัฐบาล ผลที่ตามมาก็คือ ถูกบีบบังคับให้ถอนตัวยกเลิกสัญญาเช่ารายการ

สิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนยังกลายเป็นของเล่นสำหรับผู้นำรัฐบาลไปได้ หลังจากรัฐบาลยอมรับข้อเสนอจากองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เปิดพื้นที่ให้นักข่าวมีเวลาซักถามนายกรัฐมนตรีอย่างใกล้ชิด  ในเวที “นายกฯ ทักษิณพบสื่อมวลชน” สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ที่ทำเนียบรัฐบาล แต่สื่อมวลชนกลับตกอยู่ในสภาพกำหนดกรอบให้ถามและตอบ นายกรัฐมนตรียกป้ายเกมโชว์รูปวงกลมกากบาทสีน้ำเงินสำหรับคำถามที่ไม่สร้างสรรค์และไม่ถูกใจ และวงกลมกากบาทสีแดงแทนคำถามถูกใจ ต่อมาเกิดเสียงวิจารณ์ในวงกว้างว่า วิธีการยกป้ายดังกล่าวไม่เหมาะสม นายกรัฐมนตรีก็ปัดให้เป็นเรื่องของเจตนาที่ต้องการจะสร้างอารมณ์ขันเพื่อลดความตรึงเครียด

ปัจจุบันเวทีนี้ยุติไปแล้ว เมื่อผู้นำรัฐบาลมองว่าเสรีภาพเพื่อการตั้งคำถามต่อผู้นำประเทศของสื่อมวลชนเป็นเรื่องที่ไร้ประโยชน์

อำนาจรัฐ-อำนาจทุน “คู่แฝดอันตราย”

ยุครัฐบาลทักษิณ อำนาจรัฐและอำนาจทุนกลมกลืนแทบหลอมเป็นคนเดียวกันอย่างเห็นได้ชัดเจน การคัดเลือกบุคคลที่จะเข้ามานั่งในองค์กรอิสระ หรือกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ตามมาตรา 40 กระบวนการคัดเลือกกรรมการกสช. 7 คนของวุฒิสภา สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ ได้กลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่งที่ฝ่ายธุรกิจสื่อและธุรกิจบันเทิงร่วมมือกับฝ่ายราชการ และฝ่ายการเมืองวางตัวให้เข้าไปนั่งเป็นตัวแทน หน้าตาของกสช.ชุดแรกเสมือนตัวแทนสัญญลักษณ์แห่งความถดถอยของการปฏิรูปสื่อวิทยุและโทรทัศน์

อำนาจรัฐและอำนาจทุนยังแฝงเข้ามาในรูปของการบีบโดยใช้กฎหมายเฉพาะจัดการกับเสรีภาพของสื่อมวลชน เพื่อให้สื่อเกิดความเกรงกลัวและขาดอิสรภาพในการทำงาน หลายปีมานี้จึงถือเป็นยุคเฟื่องฟูของกฎหมาย 2 ฉบับ คือ กฎหมายอาญาความผิดว่าด้วยหมิ่นประมาท และการฟ้องละเมิดเรียกค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยการเรียกค่าเสียหายเป็นมูลค่าที่สูงมาก เช่น คดีบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของครอบครัวชินวัตร ฟ้อง น.ส.สุภิญญา กลางรณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) และหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์  ฐานความผิดละเมิดเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงิน 400 ล้านบาท เนื่องจากน.ส.สุภิญญาให้ข่าวกับหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ว่า รัฐบาลทักษิณใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทฯ

คดีที่หนังสือพิมพ์ในเครือมติชน ถูกบริษัทปิคนิก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินมหาศาล ถึง 1.5 หมื่นล้านบาท คดีที่หน่วยงานของรัฐฟ้องร้องหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ข้อหารายงานข่าวเท็จกรณีนำเสนอข่าวพบรอยรันเวย์ร้าวในสนามบินสุวรรณภูมิ เรียกค่าเสียหายมูลค่า 1,000 ล้านบาท รวมทั้งคดีที่นายกรัฐมนตรีทักษิณลงมาเล่นเอง ด้วยการฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ซึ่งมีนายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นเจ้าของ เรียกค่าเสียหายร่วม 1,000 ล้านบาทเช่นเดียวกัน และกรณีปัญหาวิทยุชุมชนและเคเบิ้ลทีวีถูกอำนาจรัฐแทรกแซง

สำหรับข้อเสนอเพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน หลักๆ มีอยู่ 4 ข้อด้วยกันคือ จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือสื่อมวลชน การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย การก่อตั้งสหภาพ และการระดมทุน

“กองทุนช่วยเหลือสื่อมวลชน”

ตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ ที่เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น ทั้งจากภาคการเมือง นักวิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชน สนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือสื่อมวลชน โดยเฉพาะในเวทีของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งเชิญเจ้าของ และบรรณาธิการจากหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ มาร่วมแสดงความคิดเห็น ในเวทีดังกล่าว เสียงส่วนใหญ่สนับสนุนเรื่องการจัดตั้งกองทุนฯ โดยที่นายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ กรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เสนอให้เห็นภาพอย่างชัดเจนเกี่ยวกับหน้าตาของกองทุน โดยให้ชื่อว่า “กองทุนและคณะทำงานสู้คดีหมิ่นประมาทของสื่อ” กองทุนนี้ถือเป็นภาระที่วิชาชีพสื่อต้องร่วมกันลงขันกันตั้งกองทุน หน้าที่ของกองทุนคือการกลั่นกรองเรื่องที่เห็นว่าสื่อได้ทำหน้าที่ตามข้อกำหนดในจริยธรรม แต่ถูกฝ่ายการเมืองฟ้องโดยไม่สุจริต กองทุนนี้จะเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือ

สำหรับผู้ที่จะเข้ามานั่งทำงานในคณะกรรมการกองทุนจะต้องมีความเป็นอิสระ มีทนายเข้าไปดำเนินช่วยเหลือในกรณีที่จะต้องมีการต่อสู้กลับ และเมื่อคดีที่ถูกฟ้องร้องขึ้นสู่ศาล สื่อจะต้องมีพันธสัญญาร่วมกันว่าจะนำเสนอข่าวดังกล่าวเพื่อให้เกิดผลสะเทือน และเพื่อสร้างต้นทุนให้ฝ่ายตรงข้ามต้องคิดหนัก และเพื่อใช้เป็นแนวทางการต่อสู้ในคดีต่อไปควรทำการศึกษาและวิจัยคดีที่สื่อถูกฟ้องร้อง ทั้งคดีที่แพ้และชนะ (บทบาทนี้หลายคนเสนอว่า น่าจะให้สภาการหนังสือพิมพ์ดำเนินการ และตั้งทนายเก่งๆ หรือใครมาช่วยวิเคราะห์การต่อสู้ว่าคดีต้องเดินไปอย่างไร)

“ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย”

มีข้อเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่ไม่ชอบธรรมกับสื่อทั้งหมด เช่น กฎหมายหมิ่นประมาท หรือสื่อมวลชนสามารถเข้าชื่อ 50,000 ชื่อ เพื่อเสนอให้มีการออกกฎหมายใหม่หรือแก้ไขบางประเด็นที่ริดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อในระบบรัฐสภา

เกี่ยวกับการถือครองสื่อ ถือเป็นประเด็นที่หลายๆ เวทีแสดงความห่วงใยด้วย ซึ่งเรื่องนี้มีข้อเสนอให้มีการวางกติกาที่ชัดเจนว่า สามารถที่จะเข้ามาลงทุนหรือเข้าร่วมเป็นพันธมิตรได้มากน้อยแค่ไหน เรื่องของการถือครองข้ามสื่อก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญที่มีการเสนอให้มีการวางกติกาที่เหมาะสม และเป็นไปได้หรือไม่ที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ควรทำหน้าที่แทนสื่อในการประสานพูดคุยกับศาล เพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรฐาน และบรรทัดฐานในการดำเนินคดีกับหนังสือพิมพ์ ซึ่งปัจจุบันพบว่า มีหลายมาตรฐาน เริ่มตั้งแต่การขอประกันตัว การพิจารณาคดี และการตัดสินคดี

ยังมีข้อเรียกร้องให้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ 2484 เนื่องจากมีหลายมาตราที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยที่การยกเลิกกฎหมายดังกล่าวเคยเห็นร่วมกันมาแล้วในสมัยรัฐบาลชวน รวมทั้งเรียกชื่อพระราชบัญญัติใหม่ว่า พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 4 มาตรา และผ่านการพิจารณาโดยคณะรัฐมนตรีรัฐบาลชวน พร้อมเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่มาเปลี่ยนรัฐบาลเสียก่อน และขอให้ระมัดระวังต่อไปเนื่องจากมีข่าวว่าจะมีการร่างกฎหมายยกเลิก และมีกฎหมายใหม่มาทดแทน อีกทั้งจะจัดการอย่างไรกับความรับผิดชอบของสื่อในเรื่องของการละเมิดสิทธิตามมาตรา 34  เช่น ภาพข่าว

“ก่อตั้งสหภาพนักข่าว”

หลายๆ เสียงในเวทีต่างๆ เช่นข้อเสนอของอาจารย์เดชอุดม เสนอให้สมาคมนักข่าวฯ ร่วมผลักดันก่อตั้งสหภาพกลาง หรืออาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร จากศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านสนับสนุนและยกตัวอย่างกรณีในต่างประเทศ (ยุโรป) สหภาพในโรงงานอุตสาหกรรมมีบทบาทอย่างสูงในการต่อรองกับรัฐบาล และกับนายจ้างในกรณีที่มีบริษัทญี่ปุ่นจะเข้าไปเทกโอเวอร์บริษัท หรือจะไปทำให้พนักงานตกงาน

“ทุน”

“ทุน” เป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งของการปฏิรูปองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อให้งานดำเนินไปสู่เป้าหมายได้ มีข้อเสนอแนะจากหลายๆ เวทีว่า ควรจัดตั้งกองทุนเพื่อการระดมเงินทุน แต่ก็คิดไม่ออกว่าแล้วใครจะเป็นเจ้าภาพ เพราะมีบางคนเสนอแนะให้รัฐบาลออกกฎหมายให้ประชาชนบริจาคเงินให้กับองค์กรสื่อ เช่นเดียวกับออกกฎหมายให้ประชาชนบริจาคเงินให้กับพรรคการเมือง โดยได้รับการยกเว้นภาษี แต่ก็เกรงกันว่า วิธีการนี้อาจจะถูกแทรกแซงจากผู้มีอำนาจรัฐได้

แต่ก็มีข้อเสนอจากนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปสื่อ ของคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ของวุฒิสภา บอกให้สื่อเตรียมตัวและตั้งรับกับพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ซึ่งมีเรื่องของการตั้งกองทุนอุดหนุนสื่ออยู่ด้วย รวมทั้งมีข้อเสนอที่ให้ดึงเงินภาษีมาอุดหนุนสื่อที่ขายโฆษณาไม่ได้

คำว่าทุนในที่นี้ยังหมายความรวมถึง การจัดหาแหล่งเงินทุนที่เป็นอิสระ เพื่อมาสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมนักข่าวฯ ในทุกๆ ด้าน ทั้งในเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของสมาคมนักข่าวฯ การปรับบทบาทขององค์กรสื่อต่างๆ ภายใต้ร่มของสมาคมนักข่าวฯ เช่น สถาบันพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยในการจัดอบรมนักข่าวทั้งในส่วนท้องถิ่น และส่วนกลาง การอบรมนักข่าวพิราบน้อยของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฯลฯ รวมทั้งเพื่อการปรับปรุงเพิ่มรางวัลกระตุ้นกำลังใจในการทำงานของนักข่าว ซึ่งในปี 2548 สมาคมนักข่าวฯ มีมติเพิ่มรางวัลสำหรับข่าวประเภทบริการสาธารณะจำนวน 1 รางวัล และในปีต่อไปมีแผนการเพิ่มรางวัลข่าวให้กับข่าวนโยบายสาธารณะอีกด้วย

อย่างไรก็ดี หลายๆ เวที มีความเห็นคล้ายๆ กันว่า ทุนควรมาจากหลายๆ แหล่ง และควรเป็นทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาว

“เสรีภาพกับความรับผิดชอบ”

เสรีภาพเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนพึงรู้จักหวงแหนยิ่งชีวิต ดังนั้นการร้องหาเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนจึงเป็นสิทธิ์ที่ทุกคนพึงทำภายใต้เสรีภาพที่มีขอบเขตของความรับผิดชอบทั้งต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และต่อสังคมโลกกำกับอยู่ด้วย  ถือเป็นกฎที่ประชาชน และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนพึงยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

ที่ผ่านมา การควบคุมจริยธรรมของสื่อมวลชน อยู่ภายใต้การกำกับ ดูแลของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ในเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นโดยเฉพาะเวทีของแหล่งข่าว จึงมีข้อเสนอเพื่อขอให้องค์กรวิชาชีพเข้าไปสอดส่องดูแลให้มากขึ้น เช่น มีนักข่าวและอดีตนักข่าวไปรับงานประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานและองค์กรของรัฐโดยทำข่าวแล้วแจกจ่ายไปตามสื่อต่างๆ เพื่อเผยแพร่ กรณีดังกล่าวแหล่งข่าวสะท้อนว่า น่าจะผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง แม้จะชี้แจงว่า เป็นข่าวที่ไม่ได้ไปซื้อพื้นที่ แต่พบว่ามีการจ่ายเงิน

แหล่งข่าวบางคนเสนอด้วยว่า นักข่าวที่ทำงานอยู่ในสายงานต้องระมัดระวังข่าวของหน่วยงานที่มีการว่าจ้างบุคคลต่างๆ มาทำงานประชาสัมพันธ์ ว่า ข่าวที่ส่งมามีความโปร่งใสเพียงใด เนื้อหาที่เขียนกระทำด้วยอามิสสินจ้างจากหน่วยงานนั้นๆ หรือไม่ ขณะที่แหล่งข่าวจากภาคธุรกิจบางท่านเสนอว่า ปัจจุบันคนทำสื่อบางคนมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่มีการแจงตัวเองเมื่อเขียนถึงหุ้นที่ตนเองมีส่วนได้ส่วนเสีย แหล่งข่าวสะท้อนว่าประเด็นนี้มีผลกระทบต่อการนำเสนอข่าว รวมถึงธุรกิจอื่นที่สื่อเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

 

3.สำนักข่าว

กล่าวเอาไว้แล้วว่า สมาคมนักข่าวฯ จำเป็นต้องปฏิรูปภารกิจขององค์กรวิชาชีพเพื่อให้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพบ้านเมือง และหนึ่งในภารกิจนั้นคือ การใช้สถานะขององค์กรในฐานะตัวแทนศูนย์กลางขององค์กรวิชาชีพ ซึ่งทำงานรับใช้สมาชิกมาร่วม 50 ปี ขออาสาทำหน้าที่เป็นหัวรถจักรขับเคลื่อนขบวนนำผองเพื่อนสมาชิกก้าวให้พ้นจากภาวะ และข้อจำกัดเดิมๆ ที่มีอยู่รอบตัว รวมทั้งมูลเหตุสำคัญอีกด้านหนึ่ง คือ ปัจจุบันหนังสือพิมพ์บางฉบับ โดยเฉพาะฉบับเล็กๆ ในบางสถานการณ์ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากอำนาจรัฐและอำนาจทุนอย่างโดดเดี่ยวเพียงลำพัง ภาวะดังกล่าวหากปล่อยให้แต่ละฉบับต่างฝ่ายต่างก็รับแรงกดดันกันไปก็มีแต่จะบอบช้ำและไร้พลังในการต่อสู้ ภาวะดังกล่าวทุกฝ่ายควรมารวมพลังสร้างงานชิ้นใหม่ คล้ายๆ กองบรรณาธิการนอกสำนักพิมพ์ และได้ทดลองปฏิบัติจริงกันไปแล้ว คือ ศูนย์ข่าวอิศรา

ไม่ว่าหัวรถจักรจะมีสถานะอย่างไร จะเป็นศูนย์ข่าวอิศรา หรือเขยิบฐานะเป็นสำนักข่าว ในอนาคต แต่ถือได้ว่า สมาคมนักข่าวฯ สามารถผลักดันแนวคิดจนเกิดเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ทั้งนี้ในการทำงานของศูนย์ข่าวอิศรา เราสามารถดึงสมาชิกที่ทำงานอยู่ในองค์กรวิชาชีพเกือบทุกสำนักพิมพ์ตั้งเป็นคณะทำงานนักข่าวชุดแรก ประมาณ 8-12 คน คณะทำงานหรือกองบรรณาธิการเราได้ นายอภิวัจ สุปรีชาวุฒิพงศ์ จากหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ และนายปกรณ์ พึ่งเนตร จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ร่วมเป็นบรรณาธิการร่วม โดยมีนายมูฮำหมัดอายุบ ปาทาน นักข่าวประจำยะลาเครือบางกอกโพสต์และมติชน เป็นแกนหลักของพื้นที่ ทุกคนต้องทำงานและใช้ชีวิตร่วมกันตลอดระยะเวลา  1 เดือน ก่อนจะมีทีมงานชุดใหม่มารับช่วงงานต่ออีก 1 เดือน

กล่าวได้ว่า ข้อเสนอถึงความเป็นไปได้ของการจัดตั้งสำนักข่าว วิทยากรที่เข้าร่วมแต่ละเวที ต่างก็มีโอกาสได้เห็นผลงานของนักข่าวจากศูนย์ข่าวอิศรา ที่ลงตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ไปบ้างแล้ว

สำหรับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดตั้งสำนักข่าว จากการประมวลความคิดเห็น โดยมีศูนย์ข่าวอิศราเป็นแบบจำลอง ซึ่งมีทั้งเสียงสนับสนุนและท้วงติง

สนับสนุน

ท้วงติง

-เป็นช่องทางของการเสนอข่าวสองทางมากขึ้น

-เป็นประโยชน์ภายใต้สภาพการณ์ในการบีบให้เข้าถึงข้อมูล

-สนับสนุนและควรทำแบบเฉพาะกิจมากกว่า

-ควรทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการพัฒนาบุคลากรต่อไป

-เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สามารถตอบโจทก์ของคนทำงานสื่อได้หลายด้าน คือ ที่สื่อทำอยู่ไม่สามารถให้เนื้อหาเชิงลึกกับคนอ่านได้

-รูปแบบของศูนย์ข่าวฯ ควรขยายนำไปใช้กับประเด็นที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ

-ปัจจุบันธุรกิจสื่อมีการตัดค่าใช้จ่าย การมีศูนย์ข่าวฯ ช่วยเป็นช่องว่างที่เสริมเข้าไป

-ช่วยแก้ไขภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของสื่อ

-จะช่วยให้บทบาทของสมาคมนักข่าวฯ เป็นที่รับรู้มากขึ้น

-มีประโยชน์ และเป็นทางเลือกให้กับหนังสือพิมพ์บางฉบับที่มีข้อจำกัดเรื่องบุคลากร

-ช่วยเสริมข้ออ่อนให้กับองค์กรสื่ออื่นๆ เช่น ควรตกลงร่วมกันในเรื่องที่มีความสำคัญเพียงพอ เช่น ปัญหา 3 จว.ชายแดนภาคใต้ ทำให้สื่อมีทรัพยากรไม่เพียงพอ/ไม่มีกำลังคนมีโอกาสนำเสนอข่าวครบถ้วนมากขึ้น

-เป็นการรวมพลังของหลายๆ องค์กรมาทำงานข่าว เกิดความหลากหลายของข่าว

-ต้องจ้างบุคลากรประจำ ไม่ทำข่าวแบบวันต่อวัน แต่ทำข่าวเป็นชิ้นๆ เหมือนประเทศฟิลิปปินส์

-เป็นพลังความคิดของการรวมหมู่ โดยใช้สถานการณ์ปัญหาภาคใต้เป็นสนามรบ (ยามปกติไม่จำเป็นต้องรวมหมู่ก็ได้) เป็นการรวมศูนย์เพื่อเอาชนะศัตรู โดยเฉพาะใช้กับสถานการณ์ที่วิกฤติ ซึ่งขณะนี้กำลังวิกฤติมากขึ้นเรื่อยๆ

-สนับสนุนการทำงานของศูนย์ข่าวน แต่ถ้าจะพัฒนาเป็นสถาบันควรเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง

-ควรพัฒนาศูนย์ข่าวฯ ไปสู่สื่อท้องถิ่น เพราะประเทศไทยจำเป็นต้องมีสื่อท้องถิ่นที่แข็งแรง ตัวอย่างคือ วิทยุชุมชน ซึ่งมีการบริหารจัดการที่ง่ายกว่า อาจเลือกพื้นที่ชุมชนที่มีความเข้มแข็งพร้อมที่จะรับสื่อ สามารถบริโภคสื่อที่มีคุณภาพ เพราะถ้ามีตัวอย่างที่ทำงานได้ จะกลายเป็นกระแสขึ้นมา ซึ่งง่ายกว่าจะไปเปลี่ยนแปลงสื่อกระแสหลัก

-ควรทำให้เป็นแหล่งเรียนรู้ แลกเปลี่ยนจัดอบรมเป็นคอร์สระยะยาว เหมือนที่บีบีซี และสำนักข่าวรอยเตอร์ทำ โดยแนะแนวทางในการทำงานด้วยว่า อะไรเป็นสิ่งที่ถูกต้อง จะครอบคลุมข่าวการเมือง อาชญากรรม ฯลฯ

-สามารถเป็นสถานที่อบรม และผลิตผลงานออกมาได้ ด้วยองค์ประกอบ 4 ข้อ คือ พัฒนาการวิเคราะห์ข่าว,การสร้างนักข่าวบางครั้งต้องอาศัยสถานการณ์ ,ต้องอาศัยการรวมพลัง 4.ต้องให้ศูนย์ข่าวคงอยู่ และไปเชื่อมกับสื่อท้องถิ่น อันจะมีผลต่อการพัฒนาบุคลากรในพื้นที่

-แหล่งหลอมหลวมนักข่าวแห่งใหม่ ท่ามกลางสถานการณ์สู้รบ

-สร้างชุมชนข่าวทางเลือกมากขึ้น พูดได้ทุกเรื่องไม่มีการเซ็นเซอร์ตัวเอง

-ถือเป็นข่าวทางเลือก และควรเริ่มสื่อสารจากเวบไซด์ไปก่อน

-ไม่ใช่บทบาทของสมาคมนักข่าวฯ ในการตั้งศูนย์ข่าว

-เหมาะสมหรือไม่ที่สมาคมนักข่าวฯ จะไปตั้งสำนักข่าว

-ทำได้ยาก เพราะสภาพของหนังสือพิมพ์มีการแข่งขัน

-มีช่องทางอื่นๆ อีกมากมายให้ผู้บริโภครับข้อมูลข่าวสาร

-เป็นบทบาทที่น่าสับสนว่า เป็นสนามฝึกอบรมหรือว่ากำลังจะทำข่าวแข่งกับองค์กรสื่อ

4.สถาบันวิจัยข่าว

ข้อเสนอของคณะอนุกรรมการเพื่อการปฏิรูปฯ เกี่ยวกับการจัดตั้งสถาบันวิจัยข่าว เพื่อต้องการให้สอดรับกับงานพัฒนาบุคลากรที่อยู่ในวิชาชีพสื่อสารมวลชนหรือนักข่าว ซึ่งถือเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งของการผลิตสร้างองค์ความรู้ การสร้างเครื่องมือชิ้นดังกล่าวก็เพื่อให้นักข่าวรู้จักพัฒนาและสะสมองค์ความรู้ในตัวเสมือนสร้างคลังความรู้ให้อยู่ในตัวของนักข่าวเอง และสามารถที่จะพัฒนาตัวเองก้าวขึ้นไปสู่ความเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ หรือนักข่าวมืออาชีพในอนาคต

สำหรับข้อเสนอแนะเพื่อการจัดตั้งสถาบันวิจัยข่าว ส่วนใหญ่ได้มาจากเวทีเชิญนักวิชาการและนักวิจัย โดยมีข้อเสนอแนะที่หลากหลายดังนี้

-การคิดตั้งสถาบันวิจัยข่าวไม่ควรคิดแบบก้าวกระโดด ควรพัฒนาเริ่มจากทำเป็นแผนงานก่อน ถ้าไปไม่รอดก็ หยุดไป แต่ถ้าไปได้ก็พัฒนาไปสู่ความเป็นสถาบันวิจัยข่าว

-สำนักวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พร้อมให้การสนับสนุนสมาคมนักข่าวฯ ตั้งแต่แบ่งปันวิธีการทำงาน เป็นตัวเชื่อมกับสถาบันการศึกษาเพื่อให้ช่วยทำวิจัยในบางเรื่องที่ต้องการองค์ความรู้จากต่างประเทศ หรือสถานการณ์ประเทศไทย รวมทั้งเชื่อมโยงกับกลุ่มประชาคมให้ด้วย ตลอดจนดึงสายองค์กรสุขภาพมาช่วยสมาคมนักข่าวฯ ด้วย

-สถาบันวิจัยข่าว จะต้องเคลื่อนเชิงระบบ การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบแล้วจึงโยงไปสู่นโยบาย และ     ระบบกับนโยบายจะโยงเข้าหากัน แล้วกระบวนการพัฒนาบุคลากรจะเข้ามาเอง

-ค้นหากรณีศึกษาและทำวิจัยดีๆ เกี่ยวกับการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าของสื่อ บรรณาธิการ และนักข่าว ในการนำเสนอข่าวที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แล้วนำมาเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้เกิดกระบวนการด้านการประเมินคุณภาพ (สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) พร้อมสนับสนุนช่วยเหลือด้านกระบวนการ)

-ต้องวิจัยและพัฒนาข่าวแต่ละข่าวว่า แต่ละเรื่องมีความคืบหน้าอย่างไร เพื่อช่วยให้ข่าวมีความต่อเนื่อง

-ต้องสั่งสมความรู้และวิจัยข่าวอย่างต่อเนื่อง

-ต้องสร้างองค์ความรู้ในข่าว

-ในการติดตามประเด็นเพื่อทำวิจัย ถ้าประเด็นไหนถ้าสื่อทำไม่ได้ก็ควรให้คนอื่นมารับช่วงในการทำวิจัยต่อ เช่น สถาบันการศึกษา เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว และสามารถนำมาใช้งานได้

-วิจัยทำข่าวที่ไม่ได้อยู่ในกระแสทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคม

-สถาบันวิจัยสื่อควรอยู่ในสถาบันพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัย กึ่งวิจัย โดยที่นักวิชาการนั้นต้องมีความรู้ด้านหนังสือพิมพ์เป็นองค์ประกอบด้วย

-เน้นหาฐานองค์ความรู้ โดยเชื่อมสัมพันธ์กับสถาบันการศึกษา ต้องไม่ทำเองทั้งหมด ซึ่งน่าจะดีกว่า

-งานวิจัยไม่ควรยึดสถาบันการศึกษา แต่ควรยึดนักวิชาการเป็นรายบุคคลที่อยู่ในด้านสื่อสาร และภาคประชาชน ร่วมกับสื่อทางเลือกในพื้นที่

-ศึกษาวิจัยไปให้ถึงนโยบายสาธารณะ และเชื่อมโยงการทำงานในพื้นที่ได้ เพื่อให้รู้เท่าทันกับระบบทุน

-ศึกษาวิจัยสภาพชีวิตของวิชาชีพสื่อมวลชน ตั้งแต่การจ้างงาน ศักยภาพในการทำงาน การศึกษา และคดีความที่แต่ละองค์กรประสบ เพื่อนำมาตีแผ่ให้สังคมรับรู้ และเพื่อให้องค์กรวิชาชีพ ผู้ประกอบวิชาชีพเกิดความรู้สึกว่า องค์กรมีการพัฒนาบุคลากรน้อยไป

 

5.สถาบันพัฒนาบุคลากร

ในการยกร่างโครงสร้างใหม่ของสมาคมนักข่าวฯ คณะอนุกรรมการฯ มองการขับเคลื่อนงานที่สำคัญอีกด้านหนึ่ง คืองานทางด้านวิชาการ เพื่อสร้างคุณภาพให้กับนักข่าว จึงมองถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากร แม้ภายใต้โครงสร้างของสมาคมนักข่าวฯ ในปัจจุบันเรามีสถาบันพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยอยู่แล้ว แต่เนื่องจากสถาบันพัฒนาสื่อฯ ยังขาดผู้นำองค์กรที่สามารถนั่งบริหารงานได้เต็มเวลา จึงขาดพลังในการขับเคลื่อนให้งานดำเนินไปตามที่ได้วางเป้าหมายเอาไว้ หรือมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะทบทวนและผลักดันให้งานวิชาการไปอยู่ภายใต้การทำงานของสถาบันพัฒนาสื่อ ฯ

อย่างไรก็ดี ภารกิจของสถาบันพัฒนาสื่อฯ ในปัจจุบันกำหนดขอบเขตของงานเอาไว้ดังนี้คือ

1.จัดโครงการฝึกอบรมด้านวิชาชีพสื่อมวลชน ตามที่สภาการหนังสื่อพิมพ์ฯ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ และสมาคมชมรมในเครือข่ายฯ มอบหมายเช่น การอบรมนักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น การอบรมนักข่าวเฉพาะด้าน ฯลฯ เป็นต้น

2.บริหารจัดการโครงการฝึกอบรมเพื่อหารายได้เข้าสถาบัน ฯ เช่น การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์เป็นต้น

3.บริหารจัดการโครงวิจัยด้านสื่อมวลชน โดยร่วมมือกับ สถาบันการศึกษาทางด้านนิเทศศาสตร์ และวารสารศาสตร์ เช่น การวิจัยสถานภาพของหนังสื่อพิมพ์ท้องถิ่นเป็นต้น

4.จัดพิมพ์คู่มือและเอกสารประกอบการอบรม/จัดพิมพ์สรุปผลการสัมมนา และงานวิจัยที่น่าสนใจออกเผยแพร่สู่สาธารณชนรวมทั้งการจัดพิมพ์วารสารสื่อมวลชนปริทรรศน์

จากการสรุปรวบรวมความคิดเห็น รวมทั้งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากร  ประเด็นใหญ่ที่น่าสนใจและยังเป็นข้อเสนอแนะที่ได้มาจากทุกเวที คือ ทำอย่างไรจึงจะพัฒนาคุณภาพของนักข่าวไปสู่ความเชี่ยวชาญในแต่ละเรื่อง และมีความเป็นนักข่าวมืออาชีพมากขึ้น

-การพัฒนาสื่อควรทำในลักษณะเรียนไปทำไป ปัจจุบันทำอยู่แล้ว แต่เพื่อไม่ให้ความคิดนี้จางไปจะต้องมีการ         ฟื้นขึ้นมาใหม่ ในสภาพใหม่

-พัฒนาให้นักข่าวทำข่าวอย่างรอบด้าน และมีความต่อเนื่อง และมีการพัฒนาในการทำหน้าที่ถ่วงดุลทางสังคม

-สร้างห้องสมุดข่าว เพื่อสนับสนุนฐานข้อมูลให้กับนักข่าว

-ต้องมีความลึกในข้อมูล โดยเฉพาะนักข่าวรุ่นใหม่ต้องพัฒนาให้มีจุดยืนเป็นของตัวเอง สร้างตัวเองให้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ

-พัฒนาให้นักข่าวรู้จักมองระบบโดยรวม และสามารถเชื่อมโยงได้ (มีข้อสังเกตนักข่าวตั้งคำถามเอ็นจีโอคิดมากไปเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวเรื่องจีเอ็มโอ สะท้อนให้เห็นว่านักข่าวเชื่อมโยงไม่ได้เรื่องระบบทุนนิยมที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น)

-นักข่าวต้องสร้างความรู้ สั่งสมความรู้ แล้วทำความรู้ให้กระจ่าง กระจ่างแล้วบอกต่อ/ส่งต่อให้ผู้อื่น และต้องศึกษาความรู้อย่างต่อเนื่อง

-สามารถทำข่าวเชิงลึกได้ทุกเรื่อง ไม่เฉพาะข่าวการเมือง โดยมีข้อมูลเบื้องลึกมาสนับสนุน และทำข่าวการตรวจสอบมากขึ้น

-ต้องปฏิรูปความคิด ศึกษาหาความรู้ทุกวัน ต้องไม่กินบุญเก่า และปฏิรูปจิตใจ สื่อต้องใจกว้างรับฟังคำวิจารณ์ และมีคุณธรรม

-ควรปรับปรุงสถาบันพัฒนาสถาบันสื่อฯ โดยการจ้างทีมงานมืออาชีพ (คนในวิชาชีพและส่วนหนึ่งจากคนนอก) ที่มีประสบการณ์เข้ามาทำกิจกรรมให้เกิดความต่อเนื่อง และไปดึงคนนอกเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

-สถาบันในที่นี้ไม่จำเป็นต้องสร้างตึก แต่จะต้องมีคนมานั่งบริหารระยะยาวร่วมกับหนังสือพิมพ์และมหาวิทยาลัย และสถาบันวิชาการต่างๆ และการดำเนินการต้องบริหารแบบกึ่งธุรกิจ ไม่ใช่ขอเงินจากหน่วยงานต่างๆ เพียงอย่างเดียว

-ดึงเจ้าของ ผู้บริหารหนังสือพิมพ์มาระดมความคิดเห็น และวางแนวทางการอบรม รวมทั้งความคาดหวังร่วมกัน ทำให้นักข่าวที่เข้าอบรมนำสิ่งที่ได้ไปปฏิบัติได้มากขึ้น

-ต้องประเมินผลการอบรมแต่ละครั้ง เพราะการอบรมแต่ละครั้งต้องใช้ทั้งคนและทรัพยากรจำนวนมาก

-ถ้าจะพัฒนาบุคลากรในภาคสนาม สามารถพิจารณาดูจากสถานการณ์ในแต่ละเรื่อง ก่อนจัดตั้งเป็นทีมข่าว หรือกองบก.เฉพาะกิจเป็นครั้งคราว รวมทั้งจัดวางโครงสร้างให้ชัดเจน

-ต้องทำข้อมูล เชื่อมโยงข้อมูล และต่อข้อมูลที่มีอยู่มากมายมองเห็นให้เป็นภาพใหญ่ โดยข้อมูลที่มีสามารถเชื่อมเป็นระบบได้

-จัดสัมมนาระดมสมองจากคนในพื้นที่ เช่นชุมชนกรณีภาคใต้ เชื่อมกับสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงองค์ความรู้จากส่วนต่างๆ ของสังคมไปเชื่อมกับที่ชุมชนทำไว้แล้ว

-สร้างบุคลากรในอนาคตป้อนหนังสือพิมพ์ฉบับเล็ก ซึ่งประสบปัญหาสมองไหลเพราะถูกหนังสือพิมพ์ฉบับใหญ่ดึงไป

-ต้องพัฒนาตั้งแต่พื้นฐานการทำข่าว เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะปัจจุบันพบว่า มีการแทรกแซงความเห็นของนักข่าวเข้าไปในข่าวด้วย และศึกษาเตรียมการข้อมูลอย่างละเอียดก่อนเขียนข่าว เหมือนต่างประเทศทำให้ข่าวมีความเข้มข้นและมีความเข้าใจในเชิงลึก

 

บทสรุป

เราทุกคนต่างก็ดำรงอยู่ในโลกของการเปลี่ยนแปลง ราวกับความเปลี่ยนแปลงแวดล้อมเราอยู่ทุกเวลา  โดยมีขบวนการทางประวัติศาสตร์คอยทำหน้าที่อรรถาธิบายความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ลองเหลียวหลังกลับไปมองอดีตจะเห็นว่า กว่าที่สังคมไทยจะหลุดพ้นจากระบบอำนาจเผด็จการที่ปกคลุมประเทศมาช้านาน โดยเฉพาะในยุคที่ระบบเผด็จการเรืองอำนาจสูงสุด ประวัติศาสตร์จะอธิบายว่า สื่อมวลชนมีทั้งบทบาทนำ และร่วมเดินเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับประชาชนเพื่อต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ จนสามารถหยั่งรากแก้ววางรากฐานระบอบประชาธิปไตยให้กับประเทศได้เป็นผลสำเร็จ และอีกหลายๆ บทบาทที่สื่อมวลชนเข้าไปมีส่วนร่วมจรรโลง และพัฒนาให้ภาคพลเมืองของประเทศเกิดการเรียนรู้ที่จะปรับตัว เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของประเทศ และสังคมโลก

เมื่อใดที่สังคมใดสังคมหนึ่ง คิดปักหมุดหมายก้าวสู้เส้นทางของภารกิจปฏิรูป มักไม่มีกฎตายตัวว่า ภารกิจปฏิรูปจะต้องเริ่มต้นจากจุดใด หรือต้องทอดเวลาออกไปยาวนานแค่ไหน เพราะมีความจริงจากประวัติศาสตร์อธิบายเอาไว้เช่นกันว่า

ภารกิจปฏิรูปมักเกิดจากความคิดของคนเพียงกลุ่มเล็กๆ  ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงภาวะปัจจุบันที่ดำรงอยู่ไปสู่สิ่งที่ดีกว่า โดยไม่คิดลังเลหรือรั้งรอเวลา ขอเพียงเชื่อในจิตนาการและพลังของการเริ่มต้นลงมือทำ

,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,

เอกสารประกอบ 1-ร่างโครงสร้างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (ใหม่)

เอกสารประกอบ 2-รายชื่อวิทยากรที่เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น

เอกสารประกอบ 3-บทสัมภาษณ์กองบรรณาธิการศูนย์ข่าวอิศรา

 

๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑

 

สมาคมนักข่าวหนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

แนวคิดในการปฏิรูป

-สภาพการณ์ของสังคมเปลี่ยน

-ภูมิศาสตร์การสื่อสารเปลี่ยนแปลง

-ผดุงไว้ซึ่งมาตรฐานทางวิชาชีพและจริยธรรม

 

โครงสร้างปัจจุบัน

-กรรมการบริหาร 15 คน

-กรรมการควบคุมจริยธรรม 5 คน

จากการเลือกตั้ง

(รูป)

1.กรรมการบริหาร เชื่อมต่อผู้จัดการ แบ่งออกเป็น ฝ่ายบริหาร ต่างประเทศ กิจกรรมพิเศษ ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายสิทธิเสรีภาพ ทะเบียน ประชาสัมพันธ์

2.การเชื่อมต่อกับองค์กรวิชาชีพอื่น

ภารกิจ

1.คุ้มครองสมาชิกสมาคมผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ

2.ส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบวิชาชีพนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์ให้มีเสรีภาพในการแสวงหาข้อมูลข่าวสาร การพิมพ์ การโฆษณาและการแสดงออก ส่งเสริมสิทธิการรับรู้ของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

3.ผดุงไว้ซึ่งมาตรฐานอันดีงามของสมาชิกโดยให้ยึดหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพและความรับผิดชอบเป็นหลักปฏิบัติอันสำคัญยิ่ง

4.ส่งเสริมสวัสดิการและความสามัคคีระหว่างสมาชิก ฯลฯ ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างเพื่อนร่วมวิชาชีพทั้งภายในและภายนอกประเทศ

5.ส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างชนในชาติ ความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ เพื่อยังสันติสุข ภารดรภาพ ความเคารพในสิทธิมนุษยชน ตลอดจนความอยู่ดีกินดีให้เกิดขึ้นในโลก

 

แนวทางปฏิรูป

-ใช้ต้นทุน 50 ปีของสมาคม และบทบาทความเป็นศูนย์กลางของสื่อมวลชน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยใช้พลังภายในขับเคลื่อน

ประสานพลังสังคม

-ทำให้เกิดการปฏิรูปใน 3 มิติ คือ ปฏิรูปภารกิจ ปฏิรูปโครงสร้าง และปฏิรูปบุคลากร

 

ทางเลือกโครงสร้าง

-จัดตั้งสถาบันข่าว

-จัดตั้งสถาบันวิจัยระบบสื่อ

-สถาบันพัฒนาบุคลากร

-งานด้านสิทธิเสรีภาพ

-ที่ปรึกษา

 

จินตนาการใหม่

-กรณีสถาบันข่าว-โต๊ะข่าวภาคใต้ การทลายกำแพงข้อจำกัดต่างๆ

-ความร่วมมือกับวิชาการและวิชาชีพสื่อ