เมื่อวันที่พิราบหัดบิน

เมื่อวันที่พิราบหัดบิน

มีหลายคนบอกว่า “ถ้าไม่ได้ลองทำ จงอย่าเชื่อว่ามันดีจริง” สำหรับชาววารสารศาสตร์ หอการค้าฯ เราไม่ได้แค่เห็นด้วยกับคำนี้ หากแต่เราได้พิสูจน์ และเรียนรู้ว่ามันจริงตามที่หลายคนนั้น เคยบอกไว้

ตามหลักสูตรวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จะมีรายวิชาหนึ่งที่เปิดทำการเรียนการสอน ในระดับชั้นปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2 ชื่อวิชา การบรรณาธิกรณ์และผลิตหนังสือพิมพ์

เป็นวิชาที่ชาววารสารฯ ปี 3 ทุกคนได้รับบอกต่อมาว่า เราจะได้เรียนรู้ว่าชีวิตนักข่าวนักหนังสือพิมพ์มันยากและสนุกเพียงใด

โดยในรายวิชานี้พวกเราจะได้ออกค่าย ทำหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติกัน ที่ต่างจังหวัด สำหรับปีนี้เราจะได้ไปลงพื้นที่กันที่ หาดบางแสน จังหวัดชลบุรี

เวลา 8.30 น.ของวันที่27 พฤศจิกายน 2552 การเดินทางเพื่อลงสนามหัดบิน ของลูกพิราบ พันธุ์หอการค้าฯ ก็เริ่มต้นขึ้น ทุกคนในชุดนักศึกษาเดินทางมาถึงที่นัดอย่างตรงเวลา รถทุกคันพร้อมสารถีก็เดินหน้ามุ่งสู่จุดหมายทันที

เมื่อเดินทางมาถึงสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ซึ่งเป็นงานชิ้นแรกของเรา นั่นคือการทำข่าวแถลง ทางสถาบันฯ ได้จัดวิทยากรให้เรา การทำงานชิ้นแรกดูไร้ทิศทางมาก คุณวิทยากรได้กลายเป็นศูนย์กลางของความสนใจของพวกเราทุกคน

เครื่องบันทึกเสียงทุกเครื่องถูกจ่อไปบริเวณที่ใกล้วิทยากรที่สุด กล้องทุกตัวปรับโฟกัสเพื่อให้ได้มุมที่ดีที่สุดของวิทยากรผู้บรรยาย นาทีนี้ความสำคัญของทั้งสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล อยู่ที่ตัววิทยากรเพียงผู้เดียว

เสร็จภารกิจที่สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล พวกเราก็มุ่งหน้าสู่ที่พักทันทีเพื่อประชุมกอง บก. กับวิทยากรพี่เลี้ยงซึ่งก็เป็นรุ่นพี่ ร่วมสถาบัน ที่ต่างโบยบินอยู่ในวงการสื่อเมืองไทย

วิทยากรพี่เลี้ยงแต่ละคนล้วนมีความต่าง ทั้งบุคลิก และวิธีคิด ซึ่งพวกเราเรียนรู้ได้ว่า การจัดพี่เลี้ยงแต่ละคนเข้าดูแลพวกเราแต่ละกลุ่มนั้น  เป็นกุศโลบายบางประการ ของอาจารย์ผู้สอนอย่างอาจารย์ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ และอาจารย์ดร.กันยิกา ชอว์  เพื่อประโยชน์การเรียนรู้ของพวกเราเป็นแน่

ทุกอย่างเป็นไปตามที่คาดการณ์ แม้พี่เลี้ยงแต่ละคน จะมีความต่างมากเพียงไร  แต่สิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันนั่นคือ ความกดดันที่มีให้แก่พวกเรา

กิจกรรมลงพื้นที่เป็นไปด้วยความเครียด จนหลายคนเริ่มบ่นถึงความยากของอาชีพนักข่าว แต่เสียงหนึ่งที่เรียกได้ว่าตีคู่กันมากับคำบ่นคือ ประโยคที่บอกว่า

“ ถึงเครียดยังไง แต่ก็สนุก”

ความกดดันในการทำงานเริ่มเพิ่มมากขึ้น เมื่อถึงวันสุดท้ายของการทำหนังสือพิมพ์  เพราะไหนจะปัญหาจากประเด็นที่เตรียมไปด้วยความมั่นใจ ถูกทลายลงด้วยเสียงสั้น ๆ ห้วน ๆ ของพี่เลี้ยงที่ว่า “ไม่ดี ไม่เอา”

ยิ่งกว่านั้นเวลาปิดเล่มที่บีบใกล้เข้ามาเต็มที กับเสียงของดร.มานะฯ ที่แทบจะนับถอยหลังกันที่ละเสี้ยววินาที บางกลุ่มของพวกเราเริ่มเจอปัญหา คอมพิวเตอร์สะดุด จนทำงานต่อไม่ได้

แต่เชื่อไหมครับว่า แม้ทุกอย่างจะเป็นส่วนผสมที่ลงตัวของความเครียด อันสมบูรณ์แบบ แต่ก็ยังมีความสุข ความอบอุ่นเล็ก ๆ ของพวกเรา ที่แม้จะเหนื่อยกับการทำงาน แบบอดหลับอดนอนกันมา 

แต่กลับไม่มีกลุ่มใด คนใด ละจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ ไปพักผ่อน ทั้งที่หน้าที่ของการจัดหน้า ได้เป็นของฝ่ายศิลป์แล้ว

จนนาทีสุดท้าย พวกเราต้องยุติการทำหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ เพราะเวลาที่หมดลงตามข้อตกลง  พวกเรามารวมตัวกันที่บริเวณห้องประชุม ที่มีรุ่นพี่ทั้งปี 4 และที่จบไปแล้ว รออยู่

บรรยากาศตอนนี้ อันดับหนึ่งของความรู้สึก คือความเหนื่อยที่สั่งสมมาหลายวัน อันดับสองคือความสงสัย ว่าอะไรจะเกิดขึ้น และแล้ว ทุกความรู้สึกเดิมก็ต้องลบเลือนไปสิ้น ถูกแทนที่ด้วยความประทับใจ

เสียงของ ดร.มานะฯ ที่บอกเล่าที่มาของโครงการ และความสมัครใจมาของรุ่นพี่ ยามนี้น้ำเสียงของท่านเริ่มสั่นคลอน แต่นาทีนั้นน้ำในตาของพวกเราเริ่มปริ่มไหล

รุ่นพี่ปี 4 ออกมาบอกเล่าถึงสิ่งที่เราจะต้องเจอกับหนังสือพิมพ์หอข่าว รุ่นพี่ที่โลดแล่นในวงการนักข่าวส่งสารถึงความยากลำบากและสนุกสนานในวิชาชีพ วิชาชีพที่เราอยากเจอ และอยากเป็น

ค่ำคืนแห่งความสัมพันธ์น้องพี่ เริ่มต้นจากสายด้ายขาว ที่ถูกบรรจงผูกที่ข้อมือน้อง และสัญลักษณ์ของความเป็นน้องพี่ ชาววารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็ได้ถูกกลัดลงที่ตรงกลางอกพวกเรา มันคือเข็มกลัดรูปพิราบโบยบิน บนผืนฟ้า กับคำรับรองความเป็นเรา “ Journalism UTCC”

นาทีนี้ความเหน็ดเหนื่อย ถูกแทนที่อย่างสมบูรณ์ด้วยความประทับใจ  นาทีนี้ความรู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวพิราบผู้รักเสรีภาพแห่งการสื่อสาร ได้เกิดขึ้นกับเราแล้ว


กิจกรรมค่ำคืนนี้เสร็จสิ้นลง  แต่ยังคงมีพวกเราส่วนหนึ่งเปิดสังสรรค์เล็ก ๆ กับอาจารย์ เพื่อพูดคุยเรื่องราวแบบนอกรอบ นอกเวที กับอีกบางส่วนที่ฝืนความเหนื่อยล้าของสังขารไว้ไม่ไหวล้มตัวลงนอนแบบไร้สติ เพราะพรุ่งนี้ เรายังมีภารกิจ เสนอขายหนังสือพิมพ์ของพวกเราอยู่อีก

รุ่งเช้าพวกเราก็บางส่วนเริ่มมาเตรียมตัวเสนอขายหนังสือพิมพ์ และดูจะเป็นบางส่วนน้อยเสียด้วย เพราะบางส่วนใหญ่ยังคงเก็บตัวสงวนกายอยู่ใต้ผ้าห่ม  แต่ถึงใครจะตื่นสายเพียงใด แต่อาจารย์ของพวกเราทุกคนล้วนตื่นเช้ามารออยู่แล้ว

อาจารย์บอกกับเราว่า สำหรับนักข่าวแล้ว แม้จะเหนื่อยจะล้าสักเพียงใด แต่ทุกคนต้องตรงเวลา และต้องมาตามนัด เพราะแม้คลาดเคลื่อนไปเพียงวินาที นั่นหมายถึงความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ของวิชาชีพ

บรรยากาศการเสนอขายหนังสือพิมพ์ดำเนินต่อไปด้วยความตั้งใจของพวกเรา เมื่อถึงเวลาสรุปคะแนน และประกาศอันดับของหนังสือพิมพ์ ทุกคนต่างลุ้นระทึก แต่เอาเข้าจริง พวกเรากลับหันไปสนใจคำติ ย้ำนะครับว่าคำติ จากท่านอาจารย์และพี่เลี้ยงมากกว่า เพราะนั่นคือแนวทางของ หนังสือพิมพ์หอข่าวที่ดีของเรา

ทุกกิจกรรมสิ้นสุดลงตามกำหนดเวลา พวกเราชาววารสารศาสตร์ หอการค้าฯ ทุกคนได้จรดอีกหน้าความประทับใจลงบนหนังสือชีวิตการเป็นนักศึกษา ครั้งนี้เราได้เรียนรู้แล้วว่า “ ตราบใดที่เราไม่ได้ลองทำ เราจะไม่มีทางรู้ว่า วิชาชีพนักข่าวมันน่าสนใจเพียงใด”

กฤช  ขจรนิติกุล
พิราบน้อย รุ่น 12