นักวิชาการชี้! หยุดการคุกคามทางเพศ ต้องเริ่มจากการ “ไม่จำยอม” ทนายแนะข้อกฎหมายที่ต้องรู้ ย้ำทุกเพศได้รับการคุ้มครอง ขณะที่องค์กรระดับนานาชาติเลย การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เคารพสิทธิส่วนบุคคล และไม่นิ่งเฉยต่อการคุกคาม เป็นแนวทางนำไปสู่การป้องกันปัญหาได้

ักวิชาการชี้! หยุดการคุกคามทางเพศ ต้องเริ่มจากการ “ไม่จำยอม” ทนายแนะข้อกฎหมายที่ต้องรู้ ย้ำทุกเพศได้รับการคุ้มครอง ขณะที่องค์กรระดับนานาชาติเลย การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เคารพสิทธิส่วนบุคคล และไม่นิ่งเฉยต่อการคุกคาม เป็นแนวทางนำไปสู่การป้องกันปัญหาได้

...............................................................................................................................

ปัญหาการล่วงละเมิดและการคุกคามทางเพศ  ปัจจุบันมีความหลากหลายและซับซ้อนของพฤติกรรม และยังเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย ไม่เลือกสถานที่ แม้แต่ในที่ทำงาน โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่นอกจากต้องทำหน้าที่ในการรายงานข่าว นำเสนอข้อเท็จจริงของข่าวการล่วงละเมิดทางเพศแล้ว  แต่บางครั้งสื่อเอง ก็ตกเป็นฝ่ายที่อยู่ในฐานะของผู้ถูกกระทำ

ในการอบรมเชิงปฏิบัติการ “รู้เท่าทันเพื่อป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ” ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ร่วมกับ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และได้รับการสนับสนุนจาก สมาพันธ์สื่อมวลชนนานาชาติ International Federation of Journalists (IFJ) และ สหภาพสื่อมวลชนนอร์เวย์ Norsk Jornalistlag โดยมีวิทยากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ มาบรรยายให้ความรู้ รวมถึงแนวทางในการป้องกันและแก้ไข

โดย นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อดีตอุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความ กล่าวว่า จากเดิมที่ในอดีตกฎหมายให้ความคุ้มครองเฉพาะเพศหญิงเท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้กฎหมายก็ให้ความคุ้มครองทุกเพศ รวมถึงเพศทางเลือก และมีทั้งกฎหมายแรงงาน และคดีอาญาทั่วไป โดยในส่วนที่เป็นนายจ้าง ลูกจ้าง ปัจจุบันมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานในการล่วงละเมิด คือ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับ พ.ศ 2551

“ คำว่านายจ้าง กฎหมายให้คำจำกัดความทั้งนายจ้าง หัวหน้างาน หรือ ผู้บังคับบัญชา และรวมถึงกรณีของ ฟรีแลนซ์  ปัจจุบัน มาตรา 16 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานตัวใหม่  ได้มีการแก้ไขเพิ่มเหตุเข้าไป ระบุไว้ว่าห้ามมิให้นายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงาน กระทำการล่วงเกิน คุกคาม หรือก่อความเดือดร้อนรำคาญทางเพศต่อลูกจ้าง  หากฝ่าฝืน ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท  โดยมีนิยามจำแนกคำว่าล่วงเกิน คุกคาม รำคาญ คือ ล่วงเกินหมายถึงแสดงอาการเกินสมควรกับผู้อื่น ด้วยการลวนลาม ,คำว่าคุกคาม หมายถึงแสดงอำนาจหรือกิริยาด้วยวาจาให้หวาดกลัว และ รำคาญ หมายถึงระคายเคือง  เบื่อ ทำให้เดือดร้อนเบื่อหน่าย”

นอกจากนี้การกระทำดังกล่าว อาจเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 379 ที่บัญญัติว่าผู้ใดกระทำด้วยการกระทำใดๆ กับผู้อื่นอันเป็นการรังแกข่มเหงคุกคาม หรือทำให้ได้รับความอับอาย เดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท  และหากเป็นการกระทำในที่สาธารณะ หรือต่อสาธารณะกำนัล หรือเป็นการกระทำอันมีลักษณะส่อในทางที่จะล่วงละเมิดทางเพศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1  เดือน หรือปรับไม่เกิน  1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ซึ่งในวรรค 3 ของมาตราดังกล่าว ถ้าผู้กระทำอยู่ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา นายจ้าง หรือผู้มีอำนาจเหนือประการอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท

ขณะที่หากการคุกคามหรือล่วงละเมิดนั้น ไม่ใช่ลักษณะของนายจ้างกับลูกจ้าง มาตรา 379 ก็ยังสามารถใช้ได้ แต่ใช้ในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับความเป็นนายจ้าง และยังมีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 278 บัญญัติให้ความคุ้มครองกับผู้ตกเป็นเหยื่อที่ถูกกระทำการอนาจารไว้ โดยให้คำนิยามว่าการใช้กำลังประทุษร้าย หมายถึงตั้งแต่การใช้กำลังโดยกายภาพ การสะกดจิต การกระทำให้มึนเมา มึนงง ไม่ว่าจะได้รับบาดเจ็บหรือไม่ได้รับบาดเจ็บก็ตาม

“สิ่งสำคัญคือหากกฎหมายอาญาเขียนไว้ว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ ผู้ถูกกระทำจะต้องใช้สิทธิ์ในการร้องทุกข์และดำเนินคดีภายใน 3 เดือน นับจากวันที่เกิดเหตุ ไม่อย่างนั้นจะเสียสิทธิทางกฎหมาย“

ขณะที่ในส่วนของสื่อมวลชนเอง อาจมีกรณีที่ถูกคุกคามทางเพศเกิดขึ้นได้ ทั้งจากการทำงานในองค์กร และเมื่อออกไปทำข่าวนอกสถานที่  และไม่ได้มีแค่ผู้หญิงที่ถูกกระทำเท่านั้น

“เคยมีกรณีอดีตนักการเมืองระดับประเทศ ที่หันไปลงเล่นการเมืองระดับท้องถิ่น และมีข่าวว่ามีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับเด็ก และนัดแถลงข่าวกับสื่อ แต่เมื่อถึงเวลากลับไปกักขังผู้สื่อข่าวชาย จับถอดเสื้อผ้าเพื่อให้เกิดความอับอาย  จนมีการแจ้งความดำเนินคดีฟ้องร้อง กรณีนี้ถือเป็นการคุกคามชัดเจน แม้จะไม่ใช่ทางเพศโดยตรง แต่เป็นการกระทำอนาจารให้เกิดความอับอายขายหน้า ผู้เสียหายสามารถที่จะแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำได้  เพราะกฎหมายให้ความคุ้มครอง ไม่ว่าผู้ถูกกระทำจะเป็นเพศใด สิ่งสำคัญคือจะต้องรู้กฎหมาย เพื่อรู้สิทธิของตัวเอง”

“อย่างไรก็ตามแม้กฎหมายจะให้การคุ้มครองผู้ถูกกระทำ แต่สื่อมวลชน ก็ต้องระมัดระวัง ไม่ไปกระทำผิดเสียเอง  เช่น การนำเสนอข่าวคดีที่มีผลกระทบกับเด็กหรือผู้เยาว์ กฎหมายให้ความสำคัญมาก มี พ.ร.บ คุ้มครองเด็ก , พ.ร.บ. วิธีการพิจารณาและจัดตั้ง ศาลเด็กและเยาวชน รวมทั้งยังมีหลักวิชาชีพของสื่อ กฎจริยธรรมตามธรรมนูญ ของสภาการหนังสือพิมพ์ และมีแนวปฏิบัติ ในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับ สุภาพสตรีและเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ  แม้ว่าอาจจะเป็นการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นำเสนอไปด้วยความปรารถนาดี  หรืออ้างว่าได้รับการยินยอมจากผู้ปกครอง จากตัวผู้เยาว์หรือเด็กแล้ว แต่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าห้ามนำเสนอข่าวให้รู้ชื่อตัวตนของเด็ก รวมถึงผู้ปกครอง สถานศึกษา ที่อยู่อาศัย ซึ่งจะมีโทษทางอาญาและยอมความไม่ได้ เพราะเกี่ยวกับความสงบสุข  เหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่สื่อต้องตระหนักและพึงระลึกไว้เสมอในการทำงาน”


ขณะที่ ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า ปัจจุบันยังคงมีข้อถกเถียง เรื่องนิยามของการกระทำทางเพศ ที่มีลักษณะของการกระทำต่างๆกัน เช่น ข่มขืน กระทำชำเรา อนาจาร และลวนลามทางเพศ หรือคุกคามทางเพศ  บางครั้งก็ยากจะตัดสินใจว่าเป็นความรุนแรงทางเพศหรือไม่ และที่สำคัญมักจะมีคำถามตามมาเสมอว่าเกิดจากการยินยอมหรือเปล่า  ดังนั้นถ้าจะให้นิยามอย่างตรงตัวของความรุนแรงทางเพศ คือเรื่องของ Consent  หรือ  ความยินยอมพร้อมใจ พฤติกรรมความสัมพันธ์ทางเพศอะไรก็แล้วแต่  แม้ว่าจะไม่ได้มีการต่อสู้ขัดขืน แต่หากไม่ได้มาจากความยินยอมพร้อมใจของผู้ถูกกระทำ ก็ถือเป็นความรุนแรงทางเพศทั้งสิ้น

“ เช่น การไปกินเหล้าด้วยกัน  ผู้ถูกกระทำอยู่ในภาวะเมา แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีสิทธิ์ไปล่วงละเมิดเขาได้  สิ่งน่าตกใจในประเทศไทย คือ การข่มขืนกระทำชำเรา กฎหมายให้เป็นเรื่องยอมความได้  ตรงนี้ทำให้เกิดปัญหาต่างๆมากมายตามมา บางครั้งก็ถูกสังคม มองว่าเป็นการแบล็คเมล์จากผู้เสียหาย กฎหมายเรื่องการยอมความนี่แหละที่ทำให้คนถูกข่มขืน ยิ่งถูกกดดัน  โดยเฉพาะการไกล่เกลี่ย  บางครั้งพบว่า มีการเอาคู่กรณีไปเผชิญหน้ากัน นี่เป็นการไกล่เกลี่ยที่ผิดหลักการ”

ดร.วราภรณ์  กล่าวว่า ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่พบ คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าความรุนแรงทางเพศ ต้องมีการถูกเนื้อต้องตัวเท่านั้น แต่สำหรับหน่วยงานที่ทำงานอยู่ อยากให้ใช้คำว่า “คุกคามทางเพศ” เพราะหมายถึง “การทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัยทางเพศ” ส่วนการลวนลาม ถูกเนื้อต้องตัว หรือลักษณะของการกระทำอื่นๆ  เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง ที่อยู่ในพฤติกรรมการคุกคาม

เรื่องการคุกคามทางเพศ เครือข่ายเคยทำการสำรวจไว้เมื่อปี 2560 ผู้หญิงที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะ 45 % บอกว่าเคยเจอเหตุการณ์คุกคาม เช่น เป็นคำพูด การจ้องมองบางส่วนของร่างกาย ซึ่งเราประเมินว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าความเป็นจริงด้วยซ้ำ เพราะเขาอาจจะไม่กล้าพูดให้ข้อมูล และคนที่ถูกคุกคาม ยังพบว่ามีทั้งคนข้ามเพศ และผู้ชายอยู่ในกลุ่มนั้นด้วย”

โดยยกตัวอย่างงานวิจัย ที่ทำให้กับ ขสมก. เมื่อปี 2554 เรื่องการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน มีการให้ทำแบบสอบถาม คิดว่าพฤติกรรมแบบไหนที่เป็นการคุกคามทางเพศและเกิดขึ้นจริงในงาน พบว่าหลายคนยังไม่เข้าใจคำว่าคุกคามทางเพศ และไม่เคยคิดว่าเป็นพฤติกรรมของการคุกคาม แต่มองว่าเป็นการหยอกล้อเพื่อความสนุก ซึ่งได้มีการจัดทำเป็นแนวปฏิบัติในการป้องปรามและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพสในการทำงานของ ขสมก.

“สิ่งสำคัญคือผู้ถูกกระทำต้องแสดงออกให้เห็นว่าไม่พอใจเมื่อถูกคุกคาม เช่น เดินหนี หน้าบึ้ง และต้องพูดความรู้สึกให้ผู้กระทำทราบ เพื่อให้หยุดพฤติกรรมที่ทำอยู่ โดยใช้คำพูดให้ชัดเจน เช่น อย่าจับมือ อย่ามาโอบไหล่แบบนี้ และในกรณีที่ผู้กระทำเป็นผู้บังคับบัญชา หรือเพื่อนร่วมงาน ควรบันทึกเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องเป็นลายลักษณ์อักษรทันที จดวัน เวลา  สถานที่เกิดเหตุ คำบรรยายที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นสั้นๆ รวมทั้งชื่อของพยานหรือบุคคลที่ 3 และแจ้งให้ผุ้บังคับบัญชาที่อยู่เหนือขึ้นไปรับทราบ หรือบุคคลอื่นที่ไว้วางใจ เพื่อช่วยสังเกตพฤติกรรมของผู้คุกคามต่อไป”


การคุกคามทางเพศในองค์กร เป็นปัญหาที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญ ในการเร่งช่วยกันแก้ไขและป้องปราม  แม้แต่ในองค์กรระดับนานาชาติ  อย่าง UN ก็ยังยกเป็นวาระสำคัญ โดยนาง มณฑิรา นาควิเชียร เจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการด้านสื่อสารองค์กร UN Women สะท้อนบทเรียนจากต่างประเทศว่า การคุกคามทางเพศ ปัจจัยสำคัญคือเรื่องของการยินยอม ซึ่งเป็นสิ่งที่จะสามารถใช้เอาผิดทางกฎหมายได้

โดยหากสมยอมมาตั้งแต่แรก เราจะไม่เรียกพฤติกรรมนั้นว่าการล่วงเกิน และคุกคามทางเพศ แต่เป็นเพียงการแสดงพฤติกรรมทางเพศต่อกัน ในหรือนอกสถานที่ทำงานเท่านั้น  และแม้ว่าพฤติกรรมดังกล่าวจะเป็นการสมยอม แต่หากกระทำในสถานที่ทำงานอย่างเปิดเผย เป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำ เป็นหน้าที่ขององค์กรที่จะต้องป้องกัน และแก้ไข  เพราะเป็นเรื่องของจริยธรรมขององค์กร  อย่างไรก็ตาม การสมยอม 1 ครั้ง  ก็ไม่ได้แปลว่า ต้องสมยอมตลอดไป

สาเหตุที่มักไม่มีการรายงานเหตุการณ์ล่วงเกินและคุกคามทางเพศในสถานที่ทำงาน มาจากหลายเหตุผล เช่น ผู้เสียหายกับผู้กระทำ เป็นคนรู้จักกัน ความเกรงกลัวต่อผลกระทบที่จะตามมา ความอับอายและมายาคติเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ ว่าจะสร้างความอับอายในที่ทำงาน และผู้กระทำผิดจะพ้นโทษในที่สุด ซึ่งการเลือกไม่รายงาน สะท้อนถึงกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ตอบสนอง ทั้งๆที่มีการศึกษาว่าผู้หญิงคนใดที่ออกมาพูดว่าตัวเองถูกกระทำ ต้องเชื่อว่าร้อยละ 50 เป็นเรื่องจริงไว้ก่อน เพราะไม่มีคนไหนที่จะออกมาพูดเรื่องแบบนี้ หากไม่ถูกกระทำ”

ข้อมูลการสำรวจการล่วงเกินและคุกคามทางเพศในสถานที่ทำงาน ทั้งในส่วนของ UN และองค์กรอื่นๆ พบว่า เกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ให้ข้อมูล เคยถูกถือโอกาสในเชิงโรแมนติคโดยเพื่อนร่วมงานเพศชาย อย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต , 33% ถูกละเมิดหลายครั้ง , 27% โดนหอมแก้ม จูบปาก โดยไม่ยินยอม , 20% ถูกขู่ตะคอก แสดงอำนาจ , 4% ถูกบังคับให้ร่วมเพศ และ  33% ถูกกระทำโดยผู้บังคับบัญชา

การคุกคามทางเพศในองค์กร ไม่ได้มีแค่ระหว่างนายจ้างลูกจ้างเท่านั้น ในต่างประเทศมีกรณีองค์กรช่วยเหลือแห่งหนึ่ง ที่มีตัวบุคคลในองค์กร ไปคุกคามทางเพศเด็ก บังคับให้มีความสัมพันธ์ เพื่อแลกกับการให้ทุน รับทุน และการจะเข้าไปความช่วยเหลือ ซึ่งภายหลังผู้กระทำผิด ถูกตรวจสอบ และผู้ให้ทุนกับองค์นี้ ขอริบคืนการให้ทุนทันที แสดงให้เห็นว่ากระบวนการกล่าวโทษที่ศักดิ์สิทธิ์ จะนำไปสู่การลงโทษที่ชัดเจน ขึ้นอยู่กับกฎหมายของประเทศนั้นๆด้วย

“ขณะที่กฎหมายของไทย การล่วงละเมิดสามารถยอมความได้ แต่ใน UN เป็นเรื่องยอมความไม่ได้ และการมีจริยธรรม ธรรมนูญ ของผู้ที่เข้ามาทำงานของ UN เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะต้องปฏิบัติงานกับคนในประเทศที่ไปปฎิบัติภารกิจ ด้วยความเคารพ และเกียรติของความเป็นมนุษย์  โดยกฎเหล็ก 6 ข้อที่ ต้องยึดถือปฏิบัติตลอดเวลา  คือ ห้ามประพฤติใดๆด้วยเหตุทางเพศ , ห้ามมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก , ไม่สามารถแลกด้วยเงิน หรือความช่วยเหลือใดๆ  , ห้ามมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ทำงานด้วย , หากพบเห็นความผิดปกติแล้วไม่รายงานถือว่ามีความผิด และต้องป้องกันเหตุทันทีที่พบ นอกจากนี้ หากมีการกระทำล่วงละเมิดเกิดขึ้น ก็จะมีจดหมายเวียนในองค์กร ตั้งแต่ต้นสังกัด ไปจนถึงเอเจนซี่อื่น ใน UN ว่ากรณีนี้เป็นบุคคลที่ถูกไล่ออก  และไม่สามารถรับเข้าไปทำงานในองค์กรอื่นๆได้”

แต่แม้จะมีกฎระเบียบมากมาย ก็ในส่วนของ UN ยังพบว่ามีเหตุการณ์คุกคามทางเพศ เกิดขึ้น และเพิ่มสูงขึ้นทุกปีด้วย  ตัวเลขของเหตุที่เพิ่มขึ้น  ไม่ได้แปลว่าอาชญากรรมความรุนแรงทางเพศแรงขึ้น แต่แสดงว่าปัจจุบันนี้กระบวนการรายงานศักดิ์สิทธิ์ มีการติดตามผล การเก็บข้อมูลและการดูแลผู้ถูกกระทำ การลงโทษเอาผิดผู้กระทำ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ผู้ถูกกระทำ กล้าเปิดข้อมูล

“ สิ่งสำคัญในการที่จะร่วมกันขับเคลื่อนการป้องกันปัญหาการคุกคามทางเพศเมื่อสื่อมวลชนที่ผ่านการอบรมครั้งนี้ กลับไปยังสำนักข่าวต้นสังกัด ต้องหาแนวร่วม สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เคารพซึ่งสิทธิส่วนบุคคล และไม่นิ่งเฉยต่อเหตุการณ์การล่วงละเมิดทางเพศ การคุกคาม การให้อำนาจกดขี่ข่มเหงทางเพศ หรือการสร้างความรำคาญของผู้บังคับบัญชาต่อผู้ใต้บังคับบัญชา หรือระหว่างผู้ร่วมงาน ไม่ว่าจะชายกระทำกับหญิง ชายกับชาย หญิงกับชาย หรือหญิงกับหญิง ขนานไปกับการผลักดันการสร้างธรรมนูญปฏิบัติในองค์กร เฉกเช่นการร่วมสร้างสัตยาบรรณในวิชาชีพสื่อมวลชน โดยมีรายละเอียดการรับข้อร้องเรียน การสืบสวนสอบสวนที่เป็นความลับ การลงโทษทางวินัย การเยียวยาผู้เสียหาย และการผลักดันสมาชิกในองค์กรสื่อให้เป็นองค์กรเรียนรู้เรื่องสิทธิ เพราะไม่เพียงแต่จะสามารถนำไปสู่การป้องกันปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศได้  แต่ยังจะนำมาสู่การมีจรรยาบรรณในการนำเสนอข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น และภาพข่าวผู้หญิง และเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ  ” ผู้ชำนาญการด้านสื่อสารองค์กร UN Women กล่าวทิ้งท้าย