“เกาะติดสถานการณ์ชายขอบไทย-เมียนมาร์”

“สถานการณ์ชายแดนฝั่งตรงข้ามแม่สะเรียง-สบเมย ผ่อนคลายลงทำให้ผู้หนีภัยน้อยลงตามไปด้วย แต่ปัญหาอาจซับซ้อนมากขึ้น จากเรื่องของโควิด-19 ”

การรัฐประหารในประเทศเมียนมาร์  ในฐานะประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงกับไทย ย่อมส่งผลกระทบถึงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  เนื่องจากมีพรมแดนติดต่อกันถึง 2,401 กิโลเมตร  แต่หากจะโฟกัสไปที่สถานการณ์สู้รบบริเวณฝั่งตรงข้ามแม่สะเรียง อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน “มนตรี ตระกูลสมบัติ”  บรรณาธิการศูนย์ข่าวภาคเหนือ สำนักข่าวไทย ซึ่งทำข่าวเจาะลึกสถานการณ์ภาคเหนือตอนบน และเกาะติดสถานการณ์ชายขอบไทย-เมียนมาร์ ได้ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านรายการ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว" ว่า


สถานการณ์สู้รบตามแนวชายแดนฝั่งตรงข้าม อ.แม่สะเรียง และ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ผ่อนคลายลงบ้าง ทำให้ผู้หนีภัยน้อยลงตามไปด้วย แต่ปัญหาอาจซับซ้อนมากขึ้น เช่น ไม่รู้จำนวนแน่ชัดของผู้หนีภัย แม้คนกลุ่มนี้จึงยอมข้ามกลับไปหลังจากที่หน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยพยายามชี้แจงว่า สถานการณ์ฝั่งเมียนมาร์เริ่มมีความปลอดภัยแล้ว  แต่ส่วนใหญ่กลับอาศัยอยู่ตามป่า ลำห้วยโดยไม่ได้กลับไปอยู่บ้านเรือนของตัวเอง ปัญหาที่ตามมาคือ คนกลุ่มนี้เริ่มขาดแคลนอาหาร น้ำดื่มและเจ็บป่วย

มนตรี กล่าวว่า ผู้ประสานงานของกลุ่มชาติพันธุ์ลุ่มน้ำสาละวิน ได้ฝากข้อเรียกร้อง ไปยังฝ่ายความมั่นคงของไทยช่วยเป็นธุระในการนำสิ่งของ ซึ่งมีผู้บริจาค 27 คันรถ อยู่ที่ศาลาอเนกประสงค์หมู่บ้านแม่สามแลบ ให้ถึงมือชาวกระเหรี่ยงฝั่งประเทศเมียนมาร์ เพราะไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ เพื่อนำสิ่งของส่งต่อไปยังผู้หนีภัยจากการสู้รบในฝั่งเมียนมาร์ได้  ซึ่งฝ่ายความมั่นคงของไทยพยายามอธิบายว่า ติดปัญหาในเรื่องของโควิด-19  ไม่ใช่การสู้รบธรรมดาเหมือนทุกครั้ง ที่ใครอยากจะนำสิ่งของไปบริจาค ก็สามารถเข้าไปโดยตรงได้ ตรงนี้จึงกลายเป็นความคิดที่แตกต่างกันของทั้งสองฝ่าย 

ขณะมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคลและศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน จ.แม่ฮ่องสอน  เคยยื่นหนังสือถึงสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยเสนอว่าให้ไทยรองรับผู้หนีภัยจากการสู้รบ , อาหาร , เวชภัณฑ์ , ดูแลตามหลักมนุษยธรรม และอยากให้หลายฝ่าย ทั้ง แพทย์ พยาบาล ชาวบ้านไม่ใช่เฉพาะหน่วยงานด้านความมั่นคงอย่างเดียว จัดการร่วมกันเพื่อให้การช่วยเหลือทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

“มองถึงแนวโน้มในอนาคต เมื่อกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนกลุ่มน้อยที่อยู่ตามแนวชายแดน ไม่เห็นด้วยกับทางการเมียนมาร์ถ้าเกิดว่าถึงจุดที่ในอนาคต ซึ่งก็ไม่อยากให้ต้องสู้รบกัน  เพราะไทยอาจจะเป็นพื้นที่รองรับกลุ่มพี่น้องชาวเมียนมาร์ที่หนีภัยจากการสู้รบอีกครั้งแน่นอน และปัญหาก็จะยืดเยื้ออย่างนี้ไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเข้าใจว่ารัฐบาล หรือหน่วยงานความมั่นคง มีแผนรองรับและประเมินสถานการณ์ โดยยึดหลักป้องกัน ไม่ให้กลุ่มชนกลุ่มน้อยเข้ามายึดพื้นที่ชั้นใน และพยายามอธิบายว่าสถานการณ์ของพื้นที่ฝั่งเมียนมาร์ เริ่มผ่อนคลายลงแล้ว หลังจากที่ทางการเมียนมาร์ประกาศหยุดยิง เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา”  

สำหรับเรื่องการสื่อสารหรือความต้องการในการจัดระเบียบ ชาวบ้านในพื้นที่สะท้อนมุมมองว่า หากสถานการณ์เลวร้ายและมีการสู้รบในฝั่งเมียนมาร์ ประเทศไทยก็น่าจะเตรียมพื้นที่เป็น โซนให้เขามาหลบภัยชั่วคราว ซึ่งไม่ทำให้เกิดปัญหาซับซ้อน  เพราะถ้าปิดกั้นตลอดก็จะมีความพยายามที่ลักลอบเข้ามาโดยที่ไม่รู้ว่าเขาอยู่ตรงจุดไหนในบ้านเรา แต่ถ้ากำหนดโซนกำหนดจุด ให้เขาแล้วให้ชาวกะเหรี่ยงเข้าไปช่วย เรื่องการประสานงานหรือทำข้อมูลเรื่องจำนวนคนให้ชัดเจน หรืออาจกำหนดระยะเวลาไปเลยว่า ถ้าไม่มีสถานการณ์รุนแรงก็สามารถข้ามกลับไปได้

มนตรี ทิ้งท้ายถึงความยากง่ายหรืออุปสรรคในการลงพื้นที่ทำข่าวหาข้อมูลว่า เป็นเรื่องของการเดินทาง เพราะการเข้าถึงพื้นที่ยากจริงๆ อีกส่วนหนึ่งคือไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงผู้หนีภัยจากการสู้รบ หรือความไม่สงบในประเทศเมียนมาร์ที่ข้ามมาอยู่ฝั่งไทย เพราะหน่วยงานด้านความมั่นคงจะตั้งจุดตรวจทุกเส้นทาง ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นนักข่าวไทย หรือสำนักข่าวต่างประเทศก็ไม่มีใครเข้าถึง ภาพและคลิปที่ออกมาส่วนใหญ่เป็นภาพจากพี่น้องชาวกะเหรี่ยง ที่มีการประสานงานกันกับกลุ่มชาติพันธุ์ของตัวเอง

“แต่เราก็เข้าใจฝ่ายความมั่นคงเขาระบุว่า มีสถานการณ์โควิดเข้ามา หากปล่อยให้ทุกคนเข้าไปในพื้นที่ที่เป็นโซนนั้น แล้วถ้ากลุ่มคนจากเมียนมาร์มีคนติดเชื้อโควิดอยู่ด้วย ก็จะเอามาติดคนในบ้านเรา ฉะนั้นการป้องกันนอกจากเรื่องของคน ที่จะเข้ามาแล้วก็ยังต้องดูเรื่องโรคโควิดด้วย  เลยกลายเป็นความลำบากของเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนที่เข้าไปทำข่าว ซึ่งเข้าใจว่าแต่ละคนต้องการทำหน้าที่ของตัวเอง แต่ก็ต้องเข้าใจสถานการณ์และความจำเป็นบางอย่างด้วย”            

ติดตาม รายการ"ช่วยกันคิดทิศทางข่าว" ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ร่วมกับ  คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5

#ช่วยกันคิดทิศทางข่าว #ผลกระทบ เมียนเมาร์

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ #Thaijournalistsassociation