เสียงสะท้อน “คนเปราะบาง” ตกงาน-ขาดรายได้-เข้าไม่ถึงเยียวยา

“คนเปราะบางสะท้อนออกมาเองเป็นเครื่องยืนยันที่ดีว่าเศรษฐกิจแย่ลง ทำให้คนออกมาใช้ชีวิตอยู่ในฐานะคนไร้บ้าน คนเร่ร่อน คนจรเพิ่มมากขึ้น”

การแพร่ระบาดของโควิด ตั้งแต่ระลอกแรกจนถึงระลอก 3 กระทบกลุ่มคนเปราะบางทั้งในเมืองและต่างจังหวัด เป็นลูกโซ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายคนต้องตกงาน และอีกหลายคนแม้จะไม่ตกงาน แต่รายได้ของพวกเขาก็ลดลงจนแทบไม่พอกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตหลายครอบครัว ทั้งค่าใช้จ่ายและรายได้

ดร.นิพนธ์ ตั้งแสงประทีป โปรดิวเซอร์ รายการ Bigstory คนเล่าเรื่องใหญ่ สถานีโทรทัศน์ ThaiPBS และอดีตบรรณาธิการข่าวที่มีประสบการณ์ทำงานเกือบ 30 ปี ซึ่งสนใจประเด็นสังคม-สิ่งแวดล้อม เล่าผ่านรายการ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ถึงการลงพื้นที่ทำสารคดีเชิงข่าวว่า ได้ไปดูคนเปราะบางทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดส่วนใหญ่ จะเห็นสภาพของคนที่ประสบปัญหา จากโควิดตั้งแต่ระลอกแรกจนถึงระลอก 3 ที่ผ่านมาค่อนข้างหลากหลายด้านและประเด็น และประสบปัญหาต่างๆมากมายคนเหล่านี้ไม่ใช่ไม่มีงานทำ

การสำรวจของมูลนิธิที่ทำงานทางด้านนี้ทั้งมูลนิธิอิสระชน มูลนิธิกระจกเงา ฯลฯ พบว่าคนเหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่มีงานทำรับจ้างรายวัน แต่ปัญหาในช่วงโควิดที่กลุ่มคนเหล่านี้ประสบ คือ ตกงาน นอกจากจะไม่มีรายได้ ไม่มีอาหารการกินแล้ว งานที่เคยทำรับจ้างรายวันก็ต้องถูกเลิกจ้าง

ผลกระทบที่เห็นชัดเจนโดยรวมของคนเปราะบางเหล่านี้ อยู่ในพื้นที่ประสบปัญหา คือ ขาดรายได้ ขาดแคลนอาหาร ขาดแคลนเครื่องมืออุปกรณ์ในการป้องกันตัวในช่วงโควิด สุดท้ายสิ่งที่สำคัญมาก คือมาตรการเยียวยาจากรัฐ เราเห็นมาตรการต่างๆออกมาเยอะ ทางมูลนิธิอิสระชนให้ข้อมูลผมว่ามากกว่า 80% ของกลุ่มคนเปราะบางหรือคนไร้บ้านทั้งหมด เข้าไม่ถึงการเยียวยาของรัฐ

ซึ่งเป็นการสำรวจของมูลนิธิในรอบแรกเมื่อปลายปี 2563 เนื่องจากไม่มีสมาร์ทโฟน บางส่วนไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีสถานะทางทะเบียน แรงงานเพื่อนบ้านหาเช้ากินค่ำ ผมลงพื้นที่สุ่มการคุยคนเปราะบาง 4 ใน 10 คนประสบปัญหานี้ทุกกลุ่มได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดทั้งหมด เท่าที่ได้คุยกับมูลนิธิอิสระชนซึ่งเก็บข้อมูลรายละเอียดกลุ่มคนเปราะบาง พบว่าตัวเลขของผลการสำรวจเมื่อปลายปี 2563 มีคนไร้รัฐกระจายอยู่ในกรุงเทพค่อนข้างเยอะมาก ถึง 4,432 คน
ดร.นิพนธ์ บอกว่า ได้พูดคุยกับอาจารย์บุญเลิศ วิเศษปรีชา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอแนะถึงการแก้ไขปัญหาระยะสั้นว่า อยากให้ช่วยเหลือคนที่เพิ่งจะมาอยู่ในสภาพคนไร้บ้าน ทำอย่างไรไม่ให้เขาเข้าสู่สภานะการเป็นคนไร้บ้านถาวร คือ เพิ่งตกงานหรือพึ่งมาใช้ชีวิตอยู่แบบไร้บ้าน อยากให้แยกกลุ่มนี้ออกไป ซึ่งมูลนิธิที่ผมเอ่ยถึงทำงานและมีข้อมูลหมดแล้ว เพียงแต่เข้าไปเอาข้อมูลจากเขาและเข้าไปช่วยเหลือ ให้คนที่เพิ่งเป็นกลุ่มคนไร้บ้าน ให้กลับไปมีสถานะไม่เป็นคนไร้บ้านถาวรเท่านั้น

ในมุมมองของผม หน่วยงานที่สามารถเข้าไปดูแลโดยตรง คือกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยเชื่อมต่อกับกลุ่มคนเหล่านี้ ผ่านมูลนิธิที่ผมกล่าวมาข้างต้น จะมีข้อมูล รายละเอียดและแบ่งแยกประเภทคนเปราะบาง รวมทั้งรู้จุดที่ตั้งของแต่ละคนอย่างดีว่าใครอยู่ตรงไหนอย่างไร มีประเด็นไหนบ้าง เพราะเขาได้เข้าไปสำรวจอย่างละเอียด

“จากการพูดคุยในระหว่างการลงพื้นที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คนเปราะบางที่พักอาศัยอยู่ตรงนั้นสะท้อนให้ผมฟังเป็นเครื่องยืนยันว่า คนที่ตกงานมาใช้ชีวิตเช่นเดียวกับเขาเยอะขึ้น ทำให้มีคนอยู่ในสถานะคนไร้บ้านหรือคนเร่ร่อน มาจับจองพื้นที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คนเปราะบางที่อยู่บริเวณนั้นสะท้อนออกมาเอง ก็เป็นเครื่องยืนยันที่ดีว่า สถานการณ์เศรษฐกิจแย่ลงทำให้คนออกมาใช้ชีวิตอยู่ในฐานะคนไร้บ้าน คนเร่ร่อน คนจรเพิ่มมากขึ้นครับ”

ติดตามรายการ "ช่วยกันคิดทิศทางข่าว" ได้ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5

#ช่วยกันคิดทิศทางข่าว

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ #Thaijournalistsassociation