ผ่าปัญหาที่ตามมา หลัง “ล็อกดาวน์แคมป์คนงาน”

​“แรงงานบางส่วนใช้วิธีเลี่ยงเจ้าหน้าที่ ไม่เคลื่อนย้ายเป็นกลุ่มใหญ่ แต่เคลื่อนย้ายแบบเดี่ยวๆหรือ 2 คนบ้าง โดยเฉพาะพื้นที่พระราม 2 อยู่ติดกับจังหวัดสมุทรสาครที่มีการแพร่ระบาด ซึ่งถือว่าน่าห่วง”

​คำสั่งล่าสุดของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่ประกาศล็อคดาวน์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ปิดแคมป์ก่อสร้างในกรุงเทพมหานคร งดการก่อสร้าง และเคลื่อนย้ายคนงานเพื่อคุมเข้มการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 อิทธิพัทธ์ ปิ่นระโรจน์ หัวหน้าข่าว​ โต๊ะรายงานสถานการณ์สด เนชั่นทีวี บอกผ่านรายการ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ถึงการลงเกาะติดสถานการณ์ว่า ได้สำรวจแคมป์ที่มีปัญหาถึงผลกระทบต่างๆคืนวันเสาร์ บริเวณพื้นที่แคมป์คนงานหลักสี่ ถนนแจ้งวัฒนะ มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู เปิดพร้อมๆกับแคมป์คนงานก่อสร้างอาคารรัฐสภา และเป็นคนงานชุดเดียวกัน มีทั้งแรงงานไทยและต่างด้าว สลับเปลี่ยนผ่านกันจากนนทบุรี หรือมาทำงานที่ซอยทองหล่อ ถนนสุขุมวิทด้วย จึงเชื่อมโยงกันและเกิดการระบาดใหญ่ขึ้นตามมา

​ได้รับข้อมูลจากคนงานว่า คืนแรกพอมีคำสั่งประกาศเขาก็เก็บข้าวของแยกย้ายกันออกไป เพราะมีกระแสข่าวมาตั้งแต่วันศุกร์ คนมีที่ไปก็คือแรงงานไทยกระจายกันไปตามจังหวัดต่างๆ ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคอีสานและภาคกลางค่อนข้างมาก ส่วนแรงงานต่างด้าวถ้ามีที่ไปก็จะออกไป แต่หากไม่มีก็อยู่ต่อ ซึ่งคุยกับคนงานเมียนมาร์และชาวมอญ บอกว่าถ้ากลับไปที่บ้านเขาก็ระบาดเหมือนกันจึงต้องอยู่ที่นี่ต่อ

​เมื่ออยู่ต่อจำนวนแรงงานค่อนข้างมาก ทำให้มาตรการของรัฐหรือ ศบค.ไม่สามารถกระจายความช่วยเหลือได้ทั่วถึง แต่ก่อนจะได้รับความช่วยเหลือ กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงอยู่ในแคมป์คนงาน ซึ่งมีคนที่ติดเชื้อโควิดจำนวนมาก เช่น แคมป์หลักสี่ บริเวณแจ้งวัฒนะ รอการรักษารอเตียง หากคนงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม ก็จะมีสิทธิ์ได้รับการรักษา คนงานเล่าว่าวันแรกๆออกมาซื้ออาหาร ซื้อยาและออกมานั่งหน้าแคมป์ เพราะในแคมป์อยู่กันค่อนข้างแออัด ส่วนใหญ่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ผมก็ไปตะโกนคุยกับเขาเพราะอยากได้ข้อมูลที่แท้จริง ได้รับคำตอบว่าติดโควิด ยังไม่มีคนนำอาหารและยามาให้ เขาก็ใช้ผ้าชุบน้ำมาโปะบนหน้าผาก บางคนป่วยก็นอนบนเปลอยู่คนเดียว ซึ่งบริเวณนั้นอยู่ใกล้ชุมชน  จึงเป็นภาพที่สะท้อนออกมาว่าเขาได้รับความเดือดร้อน เรื่องอาหารการกินต้องออกไปหากันเองโดยสลับผลัดเปลี่ยนกัน

​แต่หลังจากที่นำเสนอข่าวหรือมีคนแชร์ภาพต่างๆทางโซเชียลออกไป ก็มีจิตอาสาและประชาชนที่ไม่ใช่คนของภาครัฐ ให้ความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เห็นถึงความเดือดร้อนและไม่อยากให้คนงานออกมาสู่ชุมชนเกรงจะยิ่งแพร่เชื้อ เพราะสถานที่ที่คนงานซื้ออาหารนั้นเป็นตลาดนัด ร้านโชห่วย ที่อยู่ในละแวกชุมชนแถวนั้น ซึ่งเป็นความเสี่ยงตามมาที่อาจจะนำเชื้อไปสู่คนอื่นได้ จึงเป็นความร่วมมือของคนที่อยากจะนำอาหารและยาโดยเฉพาะฟ้าละลายโจร ไปช่วยเหลือวางไว้หน้าแคมป์โดยเฉพาะจุดที่มีผู้ป่วย

​ก่อนหน้านี้บางแคมป์จะอนุญาตให้คนที่ไม่ได้ติดเชื้อ ออกข้างนอกเพื่อซื้ออาหาร แต่ก็มีคำถามตามมาว่า ถึงไม่ติดเชื้อแต่เขาก็ยังอยู่ในแคมป์คนงาน บริเวณไม่ได้กว้างและยังต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ เพราะสภาพความเป็นอยู่ของเขาน่ากังวล อาจเกิดความเครียดทำให้แรงงานต่างด้าว ประท้วงหรือหลบหนีออกมาหรือไม่ ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนอุดอู้อยู่อยู่ในบริเวณที่พัก เช่น แคมป์คนงานก่อสร้างรัฐสภา แหวกสังกะสีออกมานั่งตกปลา กินเหล้า แต่ด้วยความโชคดีคือชุมชนบริเวณนั้นเขากลัว จึงช่วยเป็นหูเป็นตาให้ส่วนหนึ่ง แล้วก็แจ้งเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่ง แม้ว่าจะมีคำสั่งให้กักตัวแต่หลังจากนั้น มีความคุมเข้มที่มากกว่าเดิมโดยเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจจะสลับเวรและสลับกำลังกันมาก็คอยควบคุม และตั้งเต๊นท์อำนวยการ

​อิทธิพัทธ์ บอกว่า แรงงานบางส่วนใช้วิธีเลี่ยงเจ้าหน้าที่ ไม่เคลื่อนย้ายเป็นกลุ่มใหญ่ แต่เคลื่อนย้ายแบบเดี่ยวๆ หรือ 2 คนบ้าง โดยเฉพาะพื้นที่พระราม 2 อยู่ติดกับจังหวัดสมุทรสาครที่มีการแพร่ระบาด ซึ่งถือว่าน่าห่วง เพราะทำให้การแพร่กระจายของเชื้อออกไปสู่ต่างจังหวัดได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าแคมป์คนงานก่อสร้างเป็นหลักๆที่เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ส่วนหนึ่งเกิดจากคนต่างด้าวที่ลักลอบตามแนวชายแดน เมื่อเจ้าหน้าที่สอบสวนเขาบอกเลยว่าจะมาในกรุงเทพฯ สมุทรสาคร ปทุมธานี นนทบุรี อยากถามว่า เขาเข้ามาสู่ระบบการทำงานตรงแคมป์ได้อย่างไร ทั้งที่ก่อนหน้านี้คลัสเตอร์ก่อสร้างไม่ได้เกิดขึ้นมากมาย แต่หลังๆเกิดจากชายแดนและเกิดจากคนต่างด้าวเป็นส่วนใหญ่ อาจแพร่เชื้อให้กับแรงงานก่อสร้างที่ไม่ได้ติดเชื้ออยู่ จึงกลายเป็นสิ่งที่ลุกลามขึ้นและเป็นภาพรวมที่ขยายกว้างขึ้น ทำให้เกิดปัญหาจนถึงทุกวันนี้หรือไม่

​ติดตามรายการ​ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5

#ช่วยกันคิดทิศทางข่าว

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ #Thaijournalistsassociation