“จับเรดาห์พรรคการเมือง เปิดเกมรุกหาเสียง”

“มีการเลือกตั้งขึ้นอย่างแน่นอน นอกจากเกิดอุบัติเหตุอย่างอื่นแต่ขณะนี้ยังไม่มีอุบัติเหตุนอกกติการัฐธรรมนูญ  และทุกฝ่ายก็อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบ”  

แม้ว่ากลิ่น “ยุบสภา” ยังไม่โชยมา และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะกุมบังเหียนรัฐบาลก็การันตีว่า จะยังไม่มีการยุบสภาในช่วงนี้ “ปราเมศ เหล็กเพ็ชร์  ผู้สื่อข่าวอาวุโสสายการเมือง นสพ.ไทยรัฐ” ทำงานภาคสนามกว่า 20 ปี  ถอดรหัสการลงพื้นที่ของบรรดาพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า 

ขณะนี้เป็นช่วงปิดสมัยประชุมสภา ขณะที่ชาวบ้านกำลังเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด ซึ่งที่หนักหนาสาหัสแล้ว ยังซ้ำเติมด้วยสถานการณ์น้ำท่วมหนักมาก  และนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าเป็นไปตามกติกาใหม่  

 3 เรื่องใหญ่นี้ทำให้เห็นบรรยากาศการลงพื้นที่ของคณะรัฐมนตรี (ครม.)   และส.ส.ทั้งฝ่ายค้านกับรัฐบาล ทุกพรรคการเมืองเตรียมตัวชูสนามเลือกตั้งและประกาศตัวผู้สมัคร โดยมีนโยบายแก้ปัญหาความยากลำบากของประชาชน  เชื่อว่าการเลือกตั้งระบบใหม่บัตร 2 ใบคงเกิดขึ้นแน่นอน ทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กที่เสียเปรียบพรรคใหญ่ต้องเร่งทำแต้ม เพื่อชาวบ้านจะเห็นและจดจำชื่อ  

เมื่อส.ส. , รัฐมนตรีหรือผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะพรรคการเมืองใดลงไป ก็จะมีฐานเสียง, หัวคะแนน, ผู้นำชุมชนหรือมีหน่วยงานของรัฐต้อนรับ และชี้เป้าความเดือดร้อนมีจริงหรือไม่  โดยมีส.ส.เป็นตัวเชื่อมแจ้งความเดือดร้อนในพื้นที่  หากนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมาเอง ก็จะทำให้กระแสเป็นที่จดจำของชาวบ้านมากขึ้น เพราะเมื่อผู้มีอำนาจมาเงินความช่วยเหลือก็จะรวดเร็ว และอาจทำให้ส.ส.ในพื้นที่นั้นได้คะแนนตามไปด้วย

 หากชั่งน้ำหนักการทำงาน ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร แม้ฝ่ายบริหารมีอำนาจเต็มที่ในการแก้ไขปัญหา แต่บางครั้งอาจติดขัดทำให้ล่าช้า เพราะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรี ขณะที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านจะคอยตรวจสอบ ว่าสิ่งที่รัฐบาลสั่งการไปถึงพื้นที่แก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ เมื่อมีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก็นำไปทวงถามผ่านกระทู้สดอีกแรงกระแทกหนึ่ง ที่จะทำให้ปัญหาถูกแก้ไขได้เร็วขึ้น 

“ถือว่าเป็นความสวยงามของประชาธิปไตย ชาวบ้านอาจจะมองว่าพรรคการเมืองนี้มีอำนาจ แต่ความจริงแล้วพรรคฝ่ายค้าน จะเป็นตัวกระทุ้งอีกทางหนึ่ง  ทำให้รัฐบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยิ่งรัฐบาลบริหารมีประสิทธิภาพมากเท่าไหร่ ฝ่ายค้านก็ยิ่งหาปมตรวจสอบ  ตรงนี้จะทำให้รัฐบาลมีประสิทธิภาพ ในการบริหารประเทศมากขึ้นเท่านั้น เหมือนหยินกับหยางทำงานคู่กัน ถ้าฝ่ายค้านอ่อนแอรัฐบาลก็จะอ่อนแอ หรืออาจเหิมเกริม มากเกินไปด้วย  ดังนั้นการทำงานคู่กันอย่างนี้ดีเป็นการถ่วงดุลในพื้นที่ เพื่อจะได้ทำอะไรถูกต้องสมเหตุผล ไม่มากจนเกินไปและไม่เกิดการทุจริตใช้งบประมาณ  ทำให้ใช้งบฯอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาได้ถูกต้องตามเวลาที่เหมาะสม”  

ปัจจัยชี้ขาดในแต่ละเขตเลือกตั้ง ยังไม่รวมถึงเรื่องนโยบายและกระแสอื่นๆ ทุกพรรคจะประเมินด้วยการทำโพลสำรวจ จัดตารางปราศรัย ออกแพลตฟอร์มตามสื่อต่างๆ ให้ตรงจุดเป้าหมายที่สุด ซึ่งขณะนี้เกือบทุกพรรคการเมือง ก็จะทยอยเปิดตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ก่อน จากนั้นจึงจะค่อยเปิดตัวนโยบายของพรรค โดยเฉพาะในช่วง  6 เดือนสุดท้ายก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง

องค์ประกอบซึ่งส.ส.หรือผู้สมัคร ที่ทำงานในพื้นที่จะได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้ง  มีเกณฑ์วัดหลายเรื่อง อาทิ การลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องทำให้ชาวบ้านรู้จัก , ผ่านงานบุญหรืองานต่าง ๆ , การช่วยเหลือเกื้อกูลที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะในช่วงเดือนสุดท้าย ถ้าเลี้ยงกระแสดี ๆคะแนนอาจพีคขึ้นได้ แต่ถ้าไม่พีคอาจมีปัจจัยอื่นมาช่วย เช่น ปัจจัยใต้ดิน หรือถ้าแกนนำพรรค , อดีตนายกรัฐมนตรีมาเหยียบพื้นที่ ก่อนคืนสุดท้ายที่ในเขตนี้พื้นที่ จังหวัดชนะแน่นอน อยู่ที่คณะกรรมการการจัดการเลือกตั้งของพรรคการเมืองนั้น ๆ กับส.ส.ประเมินตรงกัน  แม้การแบ่งเขตเลือกตั้งยังไม่แน่นอน ว่าจะเป็นไปตามระบบใหม่หรือไม่ จะมีผลต่อการจัดตัวผู้สมัคร ต้องแปรเปลี่ยนไปตามสภาพเขต ล้วนเป็นเทคนิคในการเพิ่มและลด ซึ่งมีผลต่อการเลือกตั้งทุกเขต 

ปราเมศ บอกว่า เมื่อดูภาพรวมแล้วมีการเลือกตั้งอย่างแน่นอน นอกจากเกิดอุบัติเหตุอย่างอื่นแต่ขณะนี้ยังไม่มีอุบัติเหตุนอกกติการัฐธรรมนูญ และทุกฝ่ายก็อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบ ดังนั้นเป็นอำนาจเต็มของนายกฯตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ ว่าจะอยู่ครบเทอมหรือจะยุบสภาไปตามจังหวะที่เหมาะสม 

ติดตามรายการ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น. เป็นความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5