คอลัมนิสต์ ยังไม่ตาย แค่เปลี่ยนสนาม-พื้นที่เล่น

Special Report

โดยทีมข่าว จุลสารราชดำเนิน

....................................................

ถ้าไม่คิดถึงเรื่องความยิ่งใหญ่เหมือนสมัยก่อน ก็ยังคิดว่าคอลัมนิสต์ยังมีความจำเป็น และเป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้สื่อสามารถอยู่ได้เพราะคนยังติดตามคอลัมนิสต์ โดยตัวคอลัมนิสต์ก็ต้องเขียนโดยสร้างความน่าเชื่อถือให้มากขึ้น หากจะมันส์ก็ต้องทำให้คนอ่านแล้วมันส์ถูกใจมากขึ้น หากถามผมว่า แล้วคอลัมนิสต์มันจะตายหรือไม่ ก็คิดว่าคงไม่ตาย

แม้ภูมิทัศน์สื่อวันนี้จะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ก็จะพบว่า ทั้งสื่อดั้งเดิมและสื่อโซเชียลมีเดีย ก็จะมีพื้นที่ส่วนหนึ่ง ที่เป็นส่วนของ"ทัศนะ-ความคิดเห็น-การวิพากษ์วิจารณ์-บทวิเคราะห์สถานการณ์"ที่หากเป็นสื่อกระแสหลักอย่างเช่น สื่อสิ่งพิมพ์ ก็จะเรียกว่า "คอลัมนิสต์" โดยพื้นที่ดังกล่าว หรือคอลัมนิสต์ ไม่ได้มีเฉพาะในสื่อสิ่งพิมพ์อย่างหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารเท่านั้น แต่สื่อโซเชียลมีเดียเช่นเว็บไซต์ต่าง ๆ หลายแขนง -เพจต่าง ๆ รวมถึงสื่อโทรทัศน์ ช่องรายการทางยูทูป ก็จะพบว่ามีพื้นที่ในลักษณะการให้แสดงทัศนะ ความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ การวิเคราะห์ต่างๆ ที่ยุคสมัยนี้เรียกกันว่า"คอลัมนิสต์ออนไลน์"ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป อย่าง คอลัมนิสต์บางคน ก็ทำเพจเฉพาะเรื่องเช่นเรื่องฟุตบอล ปัจจุบันก็มีผู้ติดตามเกินล้านคนไปแล้ว ส่วนคอลัมนิสต์แนวการเมืองบางคน จากเดิมที่เขียนลงเฉพาะหนังสือพิมพ์ ที่คนติดตามอาจมีแค่จำนวนหนึ่ง แต่เมื่อมีการเผยแพร่ทางเว็บไซต์-เพจ ก็ทำให้คนรู้จักแพร่หลายมากขึ้น

            ทั้งหมดคือความเปลี่ยนแปลงไปของยุคสมัยกับบทบาทของคอลัมนิสต์ ที่วันนี้คอลัมนิสต์สื่อสิ่งพิมพ์-โซเชียลมีเดีย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เดียวกันหมดแล้ว ไม่ใช่แค่คอลัมนิสต์เฉพาะสื่อใดสื่อหนึ่งแบบในอดีต "ทีมข่าวจุสสารราชดำเนิน"จึงชวนคอลัมนิสต์ อดีตคอลัมนิสต์ ร่วมพูดคุยถึงวิวัฒนาการและบทบาทของคอลัมนิสต์ในอดีตกับปัจจุบัน ภายใต้ความเห็นเชิงข้อสรุปที่ทีมข่าวฯ ได้มาจากการพูดคุยดังกล่าว ก็คือทั้งหมดเชื่อว่า"คอลัมนิสต์ยังไม่ตาย"เพราะคอลัมนิสต์คือเรื่องของความเห็น -ทัศนะ -บทวิเคราะห์ ที่คนยังต้องการรับรู้ บริโภคข่าวสาร อีกทั้ง ปัจจุบันคอลัมนิสต์ก็ปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามยุคสมัย โดยเฉพาะการเปลี่ยน-การเพิ่มพื้นที่ในการเสนองานเขียน บทวิเคราะห์ของตัวเองไปสู่สื่ออื่นๆ มากขึ้น 

            เริ่มที่คอลัมนิสต์รุ่นใหญ่ "สมชาย กรุสวนสมบัติ  คอลัมนิสต์ชื่อดัง ที่ใช้นามปากกา ซูม ในคอลัมน์ 'เหะหะพาที'และ 'ซูม ซอกแซก สุดสัปดาห์' ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ อีกทั้งยังเป็น อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ" โดย "ซูม"เป็นคอลัมนิสต์ซึ่งยังคงเขียนคอลัมน์มาปีนี้เป็นปีที่ 48 แล้ว อีกสองปีก็จะครบ 50 ปีของการยืนหยัดเสนอความคิดเห็นทั้งเรื่องสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และจิปาถะทั่วไป  

ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์นิตยสาร คิวทอง

            "ซูม ไทยรัฐ"เล่าเรื่องราวของคอลัมนิสต์ผ่านบทสนทนาครั้งนี้ว่า ในอดีตยุคที่ยังไม่มีสื่อโซเชียลมีเดียแบบปัจจุบัน สื่อหลักที่จะวิพากษ์วิจารณ์การเมืองได้ ก็คือ"สื่อสิ่งพิมพ์"ไม่ว่าจะเป็นรายวันหรือรายสัปดาห์ และแน่นอนว่าเมือสื่อสิ่งพิมพ์เป็นที่นิยมที่แพร่หลายมากที่สุด คนนิยมมากที่สุด 

            ขณะที่สื่อโทรทัศน์ ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์อะไรได้โดยเฉพาะเรื่องการเมือง  รวมถึง"สื่อวิทยุ"ก็วิพากษ์วิจารณ์การเมืองอะไรไม่ได้ การวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ โดยเฉพาะเรื่อง"การบ้านการเมือง"จึงทำได้เฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ ในแง่นี้ก็ต้องถือว่า สื่อคอลัมนิสต์จึงมีอิทธิพลค่อนข้างสูง เพราะสื่อสิ่งพิมพ์เข้าถึงคนได้จำนวนมาก นักการเมือง-ข้าราชการอ่านเยอะ รวมถึงชาวบ้านก็อ่านเยอะ เป็นสื่อที่ popular เป็นสื่อสารมวลชนจริงๆ ทำให้เมื่อออกความเห็นในเรื่องต่างๆ จึงมีอิทธิพลค่อนข้างมาก 

            การออกความเห็นของสื่อสิ่งพิมพ์ที่คนนิยม ติดตาม ก็คือความเห็นของ"คอลัมนิสต์" จะเห็นได้ว่าในอดีต คอลัมนิสต์ดังๆ จะมีชื่อเสียงมาก คนให้เกียรติค่อนข้างมาก อย่างท่านอาจารย์ "ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช -อดีตนายกรัฐมนตรี" คอลัมน์หน้าห้าในหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวันที่ชื่อ"ซอยสวนพลู"คนอ่านเยอะ หรือคอลัมนิสต์ในอดีตหลายคนของไทยรัฐที่เขียนในหน้าต่างๆ เช่นหน้าสาม-หน้าสี่ ไทยรัฐ ก็จะมีคนติดตามเยอะ อย่างเช่น "กระแช่ ไทยรัฐ" ก็เป็นนักเขียนคอลัมนิสต์หน้าสี่ ที่เป็นต้นตำรับของการเขียนคอลัมน์หน้าสี่ ที่จะเขียนเรื่องพวกข่าวสังคมแต่ก็จะมีเรื่องการให้ความเห็นเรื่องการเมืองไว้ โดยเริ่มคอลัมน์ด้วยการเขียนถึงการบ้านการเมือง หยิบข่าวมาวิจารณ์สั้นๆ ก็จะมีชื่อเสียงมาก คนเหล่านี้เวลาพูดหรือเขียนอะไร คนก็จะฟังและติดตาม หรืออย่างของพี่อุทธรณ์ พลกุล ที่เคยเขียนในหน้าสามไทยรัฐ ที่อาจะออกแนวซ้ายหน่อยๆ  หรือของอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกฯ  ก็ถือว่าเป็นคอลัมน์ที่ค่อนข้างมีอิทธิพลทางการเมืองสูงในยุคอดีต 

            "ผมก็เห็นเหมือนกับที่หลายคนเห็นกันคือในอดีต สื่อสิ่งพิมพ์จะสามารถชี้ทางการพัฒนาหรือการเมืองได้เลยในอดีต นักการเมืองหรือคนในรัฐบาลจะฟัง"

             ขณะเดียวกันก็เสี่ยง เพราะในยุคสมัยที่ค่อนข้างเป็นเผด็จการ หรือมีการใช้อำนาจที่ค่อนข้างเด็ดขาด ที่อำนาจการปิดสื่ออยู่กับฝ่ายผู้มีอำนาจ มันก็ปิดง่าย โดยเสี่ยงต่อการถูกสั่งปิดได้บ่อย จนยุคอดีต หนังสือพิมพ์จะต้องมีหัวสำรองรองรับไว้ เผื่อว่าหนังสือพิมพ์โดนปิด จะได้ใช้หัวสำรองแทนในการทำหนังสือพิมพ์ต่อไป 

            มันจึงมีทั้งบวกและลบ ในทางหนึ่งมันก็มีอิทธิพลในทางความคิด แต่ในอีกทางทำให้เขากลัว แล้วพอเขากลัว ก็จะหาเรื่องมาปิดหนังสือพิมพ์

             อย่างยุคสมัยของจอมพล  สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะปิดสื่อสิ่งพิมพ์บ่อยมาก เพราะเกรงว่าจะเป็นอันตราย เลยพยายามหาทางตัดตอนด้วยการสั่งปิด ก็ต้องยอมรับว่าในสมัยก่อน บทบาทคอลัมนิสต์มีบทบาทจริงๆ 

            อย่างยุคก่อนเกิดเหตุการณ์  14 ตุลาคม 2516 คอลัมนิสต์ ถือว่ามีบทบาทมาก แม้ช่วงนั้นการเขียนอะไรต่างๆ ค่อนข้างอันตรายเพราะยุคนั้นจอมพลถนอม กิตติขจร ก็กุมอำนาจไว้มาก พวกคอลัมนิสต์ก็เลยใช้วิธีการเขียนแบบเลี่ยงๆ แต่อ่านแล้วก็รู้กันว่าหมายถึงอะไร วิจารณ์อะไร ก็ทำให้การจุดกระแสเรื่องประชาธิปไตยก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยบรรดาคอลัมนิสต์ทั้งหลาย และสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหลาย ก็ช่วยจุดไฟเรื่องประชาธิปไตยไว้มาก เห็นได้จากหลายกรณีเช่นกรณีเคสเรื่องกรณีการล่าสัตว์ป่าในทุ่งใหญ่นเรศวร หนังสือพิมพ์ก็นำเสนอข่าวในเรื่องการใช้อิทธิพลในทางไม่ถูกต้อง แล้วบทวิจารณ์ก็จะบอกว่า สาเหตุเพราะคนมีอำนาจมากเลยทำสิ่งเหล่านี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นแรกๆถึงความไม่ชอบธรรมของฝ่ายทหาร จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นขึ้นมาก่อนที่ต่อมาจะเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 

            รวมถึงบทบาทของคอลัมนิสต์และนักวิเคราะห์ที่มีบทบาทในด้านต่างๆ เช่นการวิจารณ์เรื่องนโยบายของฝ่ายบริหาร ที่ทำให้เขารู้สึกว่าต้องระวัง

            "ดังนั้น  ย้อนหลังกลับไป ผมก็คิดว่าคอลัมนิสต์ มีบทบาทมีอิทธิพลจริงและน่าจะมีมาก"ซูม ไทยรัฐ ระบุไว้ 

            "ซูม-ไทยรัฐ"บอกเล่าต่อไปว่า สำหรับคอลัมน์ผมในไทยรัฐ  ถูกออกแบบให้เป็นคอลัมน์เบาๆ สนุกๆ เพราะตอนเริ่มต้นเขียน ผมยังรับราชการอยู่ ก็จะไม่ได้วิจารณ์อะไรมากเพราะจะถูกตีกรอบ แต่ผมก็เน้นการให้ความรู้คน พยายามให้คนมองโลกในแง่ดี สู้ชีวิต ให้ข้อมูลเรื่องการเรียนรู้ แนะแนวเรื่องการศึกษา ผมก็จะเขียนแนวนั้น สมัยก่อนไม่มีใครเขียนเชิงแนะแนวแบบนี้ อย่างเรื่องการเรียนอะไรต่างๆ บางคนไม่รู้ว่าจะไปเรียนอะไรดี แต่ผมพอดีมีโอกาสได้คุยกับโรงเรียน สถานศึกษา มหาวิทยาลัยเยอะ ก็จะมีพวกหนังสือต่างๆ ซึ่งไม่ได้มีการเผยแพร่วงกว้าง ผมก็ไปหยิบมาเขียน ก็มีคนอ่านแล้วเขาชอบ ก็มีหลายคนที่เขาเดินตามรอยนั้น ก็ทำให้เด็ก-นักอ่านสมัยนั้น มองโลกในแง่ดี พยายามจะศึกษาให้มากขึ้น ก็เป็นสไตล์ที่ผมทำสมัยก่อน 

            "ซูม ไทยรัฐ"กล่าวอีกว่า          บทบาทของคอลัมนิสต์ ก็มีอิทธิพลเรื่อยมา จนกระทั่งถึงยุคหลังๆ ในช่วง 7-8  ปีก่อนหน้านี้ ที่มีสื่ออื่นๆ เข้ามา พวกสื่อทันสมัย และเทคโนโลยีของโทรศัพท์มือถือ ซึ่งตอนแรกที่เป็นคอมพิวเตอร์ เป็นอินเตอร์เน็ตในคอมพิวเตอร์ ตอนนั้นผมยังคิดว่าไม่เท่าไหร่ แต่พอเป็นระบบที่นำอินเตอร์เน็ตเข้ามาในมือถือได้ ตรงนี้มันทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดเลย มันเปลี่ยนโลกไปเลย 

            พอเปลี่ยนแบบนี้ สื่อสิ่งพิมพ์ก็ได้รับผลกระทบหนัก สื่อรายสัปดาห์ไปก่อนเลย ไม่ว่าจะเป็นสื่อแนวบันเทิงและแนวการเมือง ส่วนรายวัน ก็ค่อยๆ หายไป จนเหลือน้อยมาก เพราะคนไม่เสพข่าวแบบเดิมแล้ว อุปนิสัยการเสพข่าวของคนก็เปลี่ยนแปลงไป เช่น ชอบเสพข่าวแบบสั้นๆ รู้เรื่องได้เร็ว แทนที่จะไปนั่งอ่านแบบสมัยก่อน ก็น้อยลง 

            "เมื่อเป็นเช่นนี้ อิทธิพลของคอลัมนิสต์ลดน้อยลงไปมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้ บทความอะไรต่างๆ แม้จะเขียน strong แค่ไหน ก็ยังไม่สามารถไปสร้างความตระหนกให้กับผู้บริหารประเทศ ได้มากเท่ากับโพสต์บางโพสต์ในโซเชียลมีเดีย"

            ....โดยเฉพาะหากมีภาพประกอบ สมัยนี้ โพสต์บางโพสต์ได้โพสต์ได้โดนใจคนในสังคม บางทีกระแสมันไปทั้งประเทศ หรือสร้างผลกระทบให้กับสังคมในวงกว้างได้มาก เห็นได้ชัดจากหลายกรณี

            "คอลัมนิสต์-ซูม ไทยรัฐ"ยกเคสขึ้นมาอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยหยิบยกกรณี คดีอดีตผกก.โจ้ ที่นครสวรรค์ ผมก็ลองนึกๆ ดู หากเป็นสมัยก่อน กรณีแบบนี้ หากสื่อสิ่งพิมพ์จะเขียน จะพาดหัวให้คนรู้ว่าพฤติกรรมที่ทำมันทารุณแค่ไหน จะไปบรรยายข่าวภาพ ยังไง มันก็อาจไม่ก่อให้เกิดความรู้สึก แต่พอคดีนั้น คนเห็นคลิปเหตุการณ์ คนมันรู้สึกเหมือนกันหมดว่า ทำแบบนี้ยังไง แล้วทุกคน เทกแอคชั่นหมดเลย นายกฯยังต้องลงมา เพราะทุกคนเห็นภาพกันหมด คนรู้กันทั้งประเทศ หรือเรื่องที่มีประชาชนไปขึ้นโรงพัก จะแจ้งความแล้วตำรวจนอนหลับที่สถานีตำรวจ โพสต์เรื่องนี้ไป แค่นั้นเอง โดนเด้ง-โดนย้ายกันหมดเกือบทั้งโรงพัก หากเป็นสมัยก่อนไม่มีแบบนี้แน่  รวมถึงเรื่องทางการเมือง อย่างสื่อโทรทัศน์ปัจจุบันแม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองกันได้มากขึ้นกว่าอดีต แต่อิทธิพลก็ยังสู้การส่งข่าวสารในโทรศัพท์มือถือไม่ได้ อิทธิพลสูงกว่าเยอะ 

            "เมื่อเป็นแบบนี้ นักเขียนหรือคอลัมนิสต์ ก็ต้องยอมรับ อย่างผมก็ยอมรับกับการที่ปัจจุบันเทคโนโลยีมันเปลี่ยนไป ความรู้สึกของคนมันเปลี่ยนไป  การเสพข่าวสารของคนก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไป ผมสังเกตุว่า การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล สื่อมวลชนอย่างสื่อสิ่งพิมพ์ ถามว่าวิจารณ์รัฐบาลแรงไหม ก็แรง แต่ก็ไม่เห็นทำอะไรได้ รัฐบาลก็เฉยๆ ดูเหมือนอาจจะโกรธบ้าง แต่มันก็ไม่ได้มีอิทธิพลอะไร ทำให้จนถึงขนาดนี้รัฐบาลก็ยังอยู่กันไปได้ ก็ไม่เห็นไปไล่ใครได้ แต่หากเขาไปทำพลาดทางโซเชียลมีเดียอะไรนิดเดียว ดูแล้ว เขาจะสะเทือนมากกว่า เขาจะกลัวทางโซเชียลมีเดียมากกว่า"

            -คิดว่าคอลัมนิสต์ยังมีบทบาท ความสำคัญอยู่หรือไม่

            ผมก็คิดว่า ยังไงก็ควรต้องมี เพราะหากดูอย่างในต่างประเทศ ผมดูที่ของสหรัฐอเมริกา หรืออังกฤษ ที่เป็นต้นแบบ เขาก็ยังมีคอลัมนิสต์ หนังสือพิมพ์ใหญ่ๆ ก็ยังคงอยู่ แม้ยอดขายลดน้อยลง แต่ก็ยังตีพิมพ์อยู่ 

            ผมเคยตรวจสอบดูว่าพวกนี้เขาอยู่ได้ยังไง เช่น The New York Timesหรือ The Washington Post ที่เป็นสื่อหนังสือพิมพ์ที่มีอิทธิพลทางความคิด เขาก็ยังคงตีพิมพ์อยู่ แล้วก็มีเว็บไซต์ แต่การจะไปดูข่าวหรือคอลัมน์บางอย่าง ก็ต้องเป็นสมาชิก ซึ่งพบว่าทั้งสิ่งพิมพ์และเว็บไซต์ของทั้งสองแห่ง ไปด้วยกัน อย่างที่ผมสังเกตุเห็น คอลัมน์บางคอลัมน์ที่ไม่ได้ถูกนำเสนอในเว็บไซต์ คนก็จะไปติดตามอ่านในตัวฉบับสิ่งพิมพ์ ทำให้เห็นได้ว่า คนยังอ่านคอลัมนิสต์อยู่ 

            การที่สื่อสิ่งพิมพ์จะอยู่ได้ ก็คือต้องไม่ขายความเร็ว ต้องมีวิธิการที่จะสู้กับข่าวในมือถือ ด้วยการให้รายละเอียด ให้ข้อมูลหลักฐาน ให้สิ่งที่คนต้องไปค้นคว้าเพิ่มเติม ซึ่งอาจไม่มีอยู่ในออนไลน์ จะต้องพยายามสร้างตรงนั้นให้ได้ คอลัมนิสต์จึงได้เปรียบตรงนั้น เพราะเป็นเรื่องของความคิดหรือการที่เขาอาจมีข้อมูล ข้อเสนอที่อาจแหลมกว่าคนอื่น ที่เป็นความสามารถเฉพาะตัวของคอลัมนิสต์ดังๆ  อย่างคอลัมนิสต์ในสื่อดังๆ ของโลก เขาก็ยังมีสิ่งนี้และทำหน้าที่ดังกล่าวของเขาได้อยู่ โดยเขาก็ยังอยู่ได้ เพราะสื่อสิ่งพิมพ์ต้นสังกัดเขายังขายได้ โดยสามารถไปกับสื่อออนไลน์ของเขาได้ แบบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน "

            ..ผมพบว่าในต่างประเทศ สื่อออนไลน์กับสื่อสิ่งพิมพ์ระดับโลก ที่เป็นแบนด์เดียวกัน ในเว็บไซต์จะนำเสนอคอลัมน์ของคอลัมนิสต์ให้เด่นขึ้นมา แต่ของบ้านเรา ผมมีข้อสังเกตุว่า สื่อออนไลน์กับตัวหนังสือพิมพ์ไม่ได้ไปด้วยกัน 

            อย่างหนังสือพิมพ์ที่ทำเว็บไซต์ทำออนไลน์ด้วย พบว่าความคล้ายคลึงกัน มันจะไม่ค่อยมี เช่น การนำคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์มาซ่อนอยู่ในออนไลน์ มันจะถูกกลบรัศมี ถูกกลืนหายไปเลย เช่น ในหน้าเว็บ ก็จะมีข่าวหมด ส่วนพวกคอลัมน์ก็เอาไปไว้ตอนท้ายของเว็บไซต์ให้คนไปหากดอ่าน บางคนหาตั้งนานก็หาไม่เจอ จนนึกว่าไม่มี ยิ่งหากไปหาในมือจะยิ่งหายากกว่าในจอคอมพิวเตอร์ 

            ขณะที่ของต่างประเทศ จะพยายามโยงให้หนังสือพิมพ์กับออนไลน์มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน โดยให้คนที่เข้ามาอ่านสามารถไปอ่านในคอลัมน์ได้ค่อนข้างมาก ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะสิ่งที่จะต้องขายคือต้องขายพวกนี้ เพราะจะไปขายความเร็วไม่ได้แล้ว การขายข่าวจะไปสู้กับการโพสต์ตามโซเชียลมีเดียได้อย่างไร

            อย่างหากเกิดคดีอาชญกรรมต่างๆ โซเชียลมีเดียนำเสนอไปก่อนแล้ว สื่อสิ่งพิมพ์ก็ต้องให้รายละเอียด ซึ่งความคิดของคอลัมน์นิสต์ที่มีความคิดดีๆ ยังขายได้อยู่ แม้คนรุ่นใหม่อาจจะอ่านหรือไม่อ่านก็แล้วแต่ แต่ก็ยังมีผู้บริโภคสื่อกลุ่มหนึ่งที่เขายังอ่านอยู่ 

            เพราะฉะนั้นถ้าไม่คิดถึงเรื่องความยิ่งใหญ่เหมือนสมัยก่อน ผมก็ยังคิดว่าคอลัมนิสต์ก็ยังมีความจำเป็น และเป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้สื่อสามารถอยู่ได้เพราะคนยังติดตามคอลัมนิสต์โดยคอลัมนิสต์ก็ต้องเขียนโดยสร้างความน่าเชื่อถือให้มากขึ้น หากจะมันส์ก็ต้องทำให้คนอ่านแล้วมันส์ถูกใจมากขึ้น ทำให้คนอ่านแบบยาวๆ ได้ และผมคิดว่าวันข้างหน้า คนรุ่นใหม่เวลานี้เมื่อเวลาผ่านไป เขาจะรับอะไรเร็วๆ อยู่ตลอดเวลาก็คงไม่ใช่ เขาก็คงอยากไปนั่งไตร่ตรองมากขึ้นในสิ่งที่เขารับสารมา แล้วถึงวันนั้นเขาอาจอยากอ่านอะไรที่เป็นคอลัมน์ ที่เป็นความจริง และที่มันยากกว่าโพสต์ทั่วไป 

            "ดังนั้นหากถามผมว่า แล้วคอลัมนิสต์มันจะตายหรือไม่ ก็คิดว่าคงไม่ตาย คิดว่าคอลัมนิสต์ก็คงยังมีอยู่ และยิ่งหนังสือพิมพ์ก็คงต้องรักษาการมีคอลัมนิสต์ไว้ ทั้งคอลัมนิสต์เก่าและคอลัมนิสต์ใหม่ๆ ก็ต้องมีการสร้างขึ้นมาใหม่ด้วย"

             ....และเมื่อนำบทความคอลัมนิสต์ต่างๆ มาลงในเว็บไซด์หรือออนไลน์แล้ว ตัวเว็บไซด์นั้นก็ควรทำให้คอลัมนิสต์ที่เขียนในหนังสือพิมพ์มันต้องดูโดดเด่นด้วย อย่าซุก เพราะหากซุกก็จะทำให้คนไม่มาอ่านคอลัมนิสต์"

คอลัมนิสต์ คนไหนอยู่หรือไป

อยู่ที่กึ๋น-ทักษะ การนำเสนอ 

            ถัดมาที่คอลัมนิสต์อีกคนหนึ่ง คือ "ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ " นักหนังสือพิมพ์และ นักเขียนอาวุโส-คอลัมนิสต์ ที่อยู่ในวงการสื่อ-หนังสือพิมพ์มาหลายสิบปี ผ่านการเป็นบรรณาธิการ-คอลัมนิสต์มาอย่างโชกโชน รวมถึงการจัดรายการวิทยุเป็นผู้ดำเนินรายการแนววิเคราะห์เหตุการณ์บ้านเมือง อีกทั้งยังมีงานเขียน ออกพ็อตเก็ตบุ๊คมาแล้วมากมาย โดยปัจจุบัน ชัชรินทร์ ปักหลักเป็นคอลัมน์นิสต์ เขียนแนวสังคม-การเมือง อยู่ในหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ข่าวสองแห่งที่เป็นแนวการเมือง-เศรษฐกิจ

ขอบคุณภาพ จากเว็บไซต์นิตยสาร mars

            "ชัชรินทร์"พูดถึงบทบาทของคอลัมนิสต์ในอดีตและปัจจุบัน โดยเริ่มด้วยการพูดถึงบทบาทของคอลัมนิสต์ในยุคที่การบริโภคสื่อของประชาชนยังมีช่องทางให้ติดตามได้ไม่มากเหมือนในปัจจุบัน ด้วยการย้ำว่าสื่อจะมีเยอะหรือไม่เยอะเป็นเรื่องของยุคสมัย แต่ต้องยอมรับว่าในอดีต บรรดาคอลัมนิสต์เขามีความลึกกว่าคอลัมนิสต์ในยุคปัจจุบันพอสมควร อาจเพราะด้วยเหตุผลต่างๆ เช่นการได้ไปคลุกคลีกับแหล่งข่าวในวงการต่างๆ เช่นวงการการเมืองในระดับที่เรียกว่า ใกล้ชิดติดพันกันเลย 

            ...อย่างเช่น"กลุ่มวันศุกร์"คือรู้กระทั่งนิสัย ใจคอ พฤติกรรมทุกสิ่งทุกอย่าง ก็เลยทำให้มีข้อมูลที่ค่อนข้างมากพอสมควร เพียงแต่ว่า ด้วยความใกล้ชิดดังกล่าว เลยกลายเป็นว่ากลายเป็นตัวโน้มนำให้สื่อนั้น ๆเอียงไปทาง ผู้ที่ตัวเองใกล้ชิด สิ่งที่เรียกว่าความเป็นกลาง ความเป็นธรรม ความน่าเชื่อถือ มันก็อาจลดลงไปด้วย มันก็เลยกลายเป็น"จุดอ่อน"ของสื่อเหล่านี้

            ....สำหรับ"สื่อยุคนี้"ความลึกมันไม่ค่อยมี เช่นการได้สัมผัสถึงแหล่งทางการเมืองแบบใกล้ชิด แบบรู้นิสัยใจคอ รู้อะไรต่างๆ มันไม่ค่อยชัดเจน เพราะอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นส่วนใหญ่ แต่ในอีกด้านหนึ่ง การที่ไม่ค่อยได้ใกล้ชิด มันก็เลยทำให้สามารถรักษาระดับความเป็นกลาง ความเป็นธรรมของตัวเองได้ เพียงแต่ว่าความเป็นกลาง ความเป็นธรรม ระยะหลังมันโดนแยกค่าย โดนแบ่งออกมาเป็นพวกสีแดง สีเหลือง พวกซ้าย พวกขวา โดนครอบงำด้วยอุดมการณ์แบบที่เรียกว่าค่อนข้างเลอะเทอะเสียเป็นส่วนใหญ่ ก็เลยยิ่งกลายเป็นจุดอ่อนทำให้เมื่อเทียบกับรุ่นเก่าๆ แล้วมันก็ยังสู้รุ่นเก่าๆ เขายังไม่ได้ 

            -บทบาทของคอลัมนิสต์ในอดีตทำให้มีผลตามมาหรือไม่ เวลาเขียนวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความเห็นในเรื่องต่างๆ ทำให้มีผลทางการเมืองหรือการตัดสินใจด้านต่างๆ ของผู้เกี่ยวข้องหรือไม่ ?

            ก็มันลึกไง มันคลุกกันแบบที่เรียกว่า กินข้าวกันสัปดาห์ละครั้ง หรือแม้กระทั่งมีผลประโยชน์ต่อกันแบบนี้ มันรู้มือรู้ตีนกัน ทำให้โอกาสที่มันจะกดดัน ผ่อนคลาย หรือว่าเชียร์มันเป็นไปได้ทั้งนั้น แต่ด้วยความที่มันลึกอย่างที่บอก มันก็เลยเกิดความใกล้ชิด พอเกิดความใกล้ชิด มันก็เลยเกิดการเอียงข้างไป ซึ่งน่าเสียดายสิ่งเหล่านี้ แต่บทบาทมันก็ต้องมีสูงอยู่ละ สูงกว่ายุคนี้ ที่มันยังตื้น และมุ่งจะใช้แนวคิด อุดมการณ์วิพากษ์วิจารณ์มากกว่า ก็เลยไม่ค่อยระเคืองระคายเท่าไหร่ 

            สำหรับคอลัมนิสต์ จะพบว่า ในอดีตคนที่จะเป็นคอลัมนิสต์ได้ กว่าจะเป็นได้ มันค่อนข้างยาก แตกต่างจากยุคปัจจุบัน ที่ยุคนี้มีแค่คอมพิวเตอร์ มีโทรศัพท์มือถือสักเครื่อง ก็เป็นได้แล้ว ใครก็เป็นนักข่าวได้ แต่ยุคก่อน ต้องคลุกคลี ต้องมีข้อมูล หรือว่าบางที อาจไม่ต้องโดดเด่นมากนัก แต่หากมีคอลัมน์ประจำมันก็ก่อให้เกิดแรงดึงดูดเพื่อให้คนเข้ามาหา เพื่อที่จะใช้พื้นที่คอลัมน์นั้น ให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง ก็เลยเกิดการได้ข่าว ได้ข้อมูลไปโดยปริยาย

             ยิ่งถ้าได้เป็นคอลัมนิสต์ในสื่อแบบ"หัวสี"ก็เรียกได้ว่า ใหญ่โตกันเต็มที่เลย มันก็เลยยิ่งทำให้สามารถรู้เรื่องอะไรต่างๆ ได้ลึกๆ เยอะ ก็เลยได้เปรียบกว่ายุคนี้เยอะ 

            สำหรับบทบาทของคอลัมนิสต์ในยุคปัจจุบันที่เป็นยุคโซเชียลมีเดีย"ชัชรินทร์"มองว่า โดยหลักแล้ว อะไรที่เขียนหรือนำเสนอเพื่อเสนอแนะกับคนส่วนใหญ่ ต้องถือว่าเป็นสิ่งที่ดีทั้งสิ้น เพียงแต่ว่ายุคใหม่ๆ มันไม่ลึก ไม่รู้จริงไม่รอบด้าน ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่มาจาก secondary source เช่นมาจากgoogle หรือรู้แล้วนำมาตัดปะ แต่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเพราะเรื่องบางเรื่องมันเป็นเรื่องที่แค่ข้อมูลข่าวสาร แต่ยังมีเรื่องของ จิตใจ -ความรู้สึกเข้าไปเกี่ยวพันด้วย ซึ่งบางทีการไปแยกแยะถูกผิด ยิ่งลำบากเข้าไปใหญ่ แต่ยุคปัจจุบัน มันคล้ายๆ กับว่า สิ่งเหล่านี้มันแทบไม่มีเลย เพราะใช้ข้อมูลจากgoogle หรือการตัดปะ ซึ่งบางทีมันอาจขาดความเข้าใจในเรื่องบางเรื่องเช่น การที่คนๆ หนึ่งตัดสินใจออกมาเล่นงานใครบางคน การที่เราจะไปชั่งน้ำหนักว่าอะไรถูกหรืออะไรผิด มันไม่ใช่แค่ว่า เหตุผลธรรมดาเท่านั้น แต่มันยังมีเรื่องของ"ความรู้สึก" เรื่องของช่วงจังหวะสถานการณ์ 

            อย่างที่คนถกเถียงกันเรื่อง"เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองตอนปี พ.ศ. 2475" เรื่องแบบนี้ จะใช้ข้อมูลอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่มันยังมีเรื่องของวัย ประสบการณ์ เรื่องของอารมณ์ความรู้สึกของผู้ก่อการในระยะนั้น อะไรต่างๆ มาเกี่ยวพันอีกเยอะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันไม่มีอยู่ในกูเกิ้ลหรือข้อมูลสาธารณะเสียเท่าไหร่ ซึ่งคอลัมนิสต์ปัจจุบันไม่ได้ไปสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ ทำให้การตัดสินอะไรต่างๆ หรือการชี้แนะชี้นำต่างๆ มันเลยเป็นแท่งๆ และไม่ค่อยสอดคล้องกับข้อเท็จจริงแบบลึกๆ สักเท่าไหร่ น้ำหนักมันเลยหายไป ก็เป็นแต่ใช้แนวคิด อุดมคติของตัวเองแบบผิวเผิน ชี้โน่นชี้นี้ ไปตามสภาพ บทบาทก็เลยลดลงไป ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งที่ตัวเองพยายามชี้แนะชี้นำมากมายสักเท่าใดนัก 

            -ในยุคปัจจุบันที่ประชาชน คนบริโภคสื่อ ได้รับข่าวสารมาก ประชาชนสามารถหาข้อมูลเองได้ ทำให้คอลัมนิสต์ต้องทำการบ้านหรือหาข้อมูลมากขึ้นหรือไม่ในการเขียน ต้องปรับตัวไปตามสภาพหรือไม่?

             การปรับตัวเป็นเรื่องของบุคคล การเป็นคอลัมนิสต์คนสามารถเป็นได้เสมอ มีเฟซบุ๊กอันหนึ่ง คนก็เป็นได้แล้วไม่ต้องขอใคร ไม่ต้องผ่านกระบวนการใดๆ ที่ก็ขึ้นอยู่กับคนที่มีเฟซบุ๊ก นั้นๆ เขาจะคิดอย่างไรกับสังคม เขาจะรู้สึกว่าข้อมูลของเขายังผิวเผินเกินไปหรือไม่ ในการเขียนอะไรออกมา และจำเป็นต้องเข้าไปทำความเข้าใจในสิ่งที่จะเขียนออกมามากขึ้นหรือไม่ ตรงนี้เป็นเรื่องของเขาว่าจะทำอย่างไร

             ส่วนคอลัมนิสต์ที่มีอายุมากๆ มีชื่ออยู่ตอนนี้ พวกนี้คงไม่ต้องไปพูดถึงเขา เพราะด้วยประสบการณ์ -วัย ที่ผ่านมาเยอะ เขาก็รู้แล้วว่าเขาควรจะทำหรือไม่ควรทำอะไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะกระทบหรือเป็นประโยชน์ในวงกว้าง และอาจส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนอะไรในสังคม  น้ำหนักมันจะมาอยู่ที่คอลัมนิสต์แก่ๆหรือคนที่สั่งสมประสบการณ์และมีการพัฒนาตัวของตัวเอง พวกนี้จะมีบทบาทมากกว่า  

            -คอลัมนิสต์ ยังมีความสำคัญอยู่หรือไม่ คอลัมนิสต์ตายหรือยัง

            คงไม่หายไปจากไหนเพราะมันเป็นเรื่องของความคิด ความคิดมันคงไม่ตาย เพราะมันขึ้นอยู่กับบุคคลนั้น ๆหรือผู้เขียนนั้นๆ หรือผู้ที่อาจตั้งตัวเองเป็นคอลัมนิสต์หรือคนที่ถูกใครหยิบให้มาเป็นคอลัมนิสต์นั้น ๆ เป็นรายบุคคลมากกว่า ว่าในแต่ละจังหวะช่วงเวลาเขาจะเขียนอะไร เขาจะคิดอะไร ถ้าสิ่งที่เขาคิดและเขียน มันมีประโยชน์ มันดี มันมีพลังพอที่จะโน้มน้าวผู้คนได้ โอกาสที่ผู้คนจะเห็นตามไปกับเขา มันก็ยังมีอยู่

            อย่างที่บางคนเช่น "สนธิ ลิ้มทองกุล"พูดว่า มันอยู่ที่ software ไม่ได้อยู่ที่ hardware ต่อให้อุปกรณ์เครื่องมือมันจะเป็นไปยังไงก็ตาม แต่สิ่งสำคัญมันอยู่ที่กึ๋น-ทักษะ คือใครสามารถที่จะนำเสนอสิ่งนั้นๆ ในช่วงจังหวะนั้นๆ ได้เหมาะสมกว่ากัน ผมก็ยังเชื่อว่า ยังไง คนก็ยังอ่านคอลัมนิสต์อยู่ เพราะมันเป็นความคิด ซึ่งมันไม่ตาย เพียงแต่มันก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย 

            สำหรับผม เท่าที่ดูก็เห็นแต่พวกที่มีอายุมีอาวุโสที่พอจะอ่านเขาได้ ส่วนพวกใหม่ๆ ผมว่ามันยังพื้นๆ บางทีก็แทบจะไม่ได้อ่านเลย เพราะแม้จะอัดข้อมูลมาเยอะ แต่ว่าพื้นฐานความรู้สึกมันไม่ได้แข็งแกร่งพอที่จะเอาข้อมูลนั้นๆมาย่อยมาสังเคราะห์ให้กลายเป็นเรื่องต่างๆ ทำให้อ่านแล้วก็ไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับพวกคอลัมนิสต์แก่ๆ ที่แม้อาจจะไม่ค่อยมีอะไรในข้อเขียนมากมาย แต่มันก็ยังมีอารมณ์ความรู้สึกที่ยังพอฟังได้อยู่ว่าใครเห็นอย่างไร คิดอย่างไร ที่เป็นเรื่องของจิตวิญญาณ 

            ทั้งหมดมันอยู่ที่การปรับตัว คือถ้าเรามุ่งหวังอยากจะให้สังคมดีขึ้นจริงๆ เป็นผู้มีเจตนาดีต่อสังคมจริงๆ มีความห่วงใยต่อสังคมจริง ช่วงนี้ต้องยอมรับว่ามันมีพื้นที่เยอะ มากมายมหาศาล ที่เราจะส่งความปรารถนาดีนั้น ออกไปสู่สังคมได้ง่ายและสะดวกกว่ายุคก่อนหลายเท่าแต่ปัญหาอยู่ที่ตัวเราว่าเราเป็นแบบนั้นจริงหรือไม่ เรามีความห่วงใยต่อบ้านเมืองจริงหรือไม่ มีสิ่งที่เรียกว่า คุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม อย่างน้อยก็ไม่น้อยกว่าคนในยุคอดีต โดยหากเราสามารถปรับตัวเองไปในทิศทางนั้นได้ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ชอบแล้ว ถูกต้องแล้ว และก็ควรทำไปเรื่อยๆ

คอลัมนิสต์ยังไม่ตาย 

เขาเพียงแค่เปลี่ยนพื้นที่นำเสนอ 

            ปิดท้ายที่ "สุทธิรักษ์ อุฒมนตรี บรรณาธิการบริหาร-เนชั่นออนไลน์" อดีตบรรณาธิการโต๊ะข่าวสืบสวน เนชั่นทีวี  -อดีตผู้สื่อข่าวสายการเมืองและอดีตคอลัมนิสต์  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ให้ความเห็นในเรื่องบทบาทของคอลัมนิสต์ไว้ว่า ในยุคก่อนหน้านี้ที่สื่อหลักมีไม่กี่ประเภท คนที่ต้องการบริโภคข่าวสารจะมีสื่อให้เลือกติดตามได้ไม่มากนัก ซึ่งสื่อสิ่งพิมพ์อย่างหนังสือพิมพ์ ถือเป็นสื่อที่สามารถชี้นำความคิดของคนในสังคมได้ เป็นสื่อที่ประชาชนเข้าถึงติดตามได้ง่าย -เข้าถึงคนทุกกลุ่มทุกอาชีพ ทำให้หนังสือพิมพ์จึงค่อนข้างมีบทบาทสำคัญ 

            คนที่เป็นนักข่าว-นักหนังสือพิมพ์สมัยก่อน ต้องแสวงหาความรู้และหาข้อมูลต่างๆ มาประกอบการทำงาน เช่นต้องออกไปสัมภาษณ์แหล่งข่าว ไม่เหมือนกับปัจจุบันที่แหล่งข่าวหลายคนใช้วิธีสื่อสารความเห็นตัวเองผ่านเฟซบุ๊กของตัวเอง โดยไม่ต้องรอให้นักข่าวมาสัมภาษณ์ 

            ดังนั้น นักข่าวสมัยก่อนจึงไม่ต้องเร่งรีบในการนำเสนอข่าวมากนัก เพราะมีเวลาในการตรวจสอบข้อมูลให้รอบด้าน มีเวลาในการกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารก่อนนำเสนอ บางครั้งใช้เวลาตลอดหนึ่งวันในการหาข้อมูลต่างๆ มาเขียนข่าวหนึ่งข่าว ทำให้ความถูกต้องของเนื้อหาจึงมีมาก  ไม่เหมือนปัจจุบันที่ยิ่งเร็วได้ยิ่งดี บางครั้งใช้เวลาแค่ 30 นาทีหรือหนึ่งชั่วโมงในการเขียนข่าวหนึ่งข่าวเพื่่อนำเสนอข่าวสารไปยังผู้ติดตามอ่านข่าวสารได้จำนวนมาก โดยที่ก็อาจยังไม่แน่ชัดว่า ข่าวที่นำเสนอดังกล่าวมีข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้องรอบด้านเพียงพอหรือไม่ 

            สำหรับบทบาทของนักข่าวโดยเฉพาะนักข่าวหนังสือพิมพ์ ที่ก็จะมีเส้นทางเดินในวิชาชีพของตัวเองเช่น จากนักข่าว แล้วก็เติบโตเป็นรีไรเตอร์ -ผู้ช่วยหัวหน้าข่าว -หัวหน้าข่าว -บรรณาธิการข่าว แล้วก็คอลัมนิสต์ เพราะในอดีต ยังมีน้อยที่นักข่าวภาคสนามจะได้รับโอกาสในการเขียนหรือเป็นคอลัมนิสต์ ซึ่งต้องรับผิดชอบการเขียนคอลัมน์หนึ่งคอลัมน์ในพื้นที่หน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ ที่ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในหน้าต่างๆ เช่น หน้าสอง -หน้าสาม-หน้าสี่ 

            ...การเป็นคอลัมนิสต์ ตามความเข้าใจผม ก็คือ เมื่อเราเป็นนักข่าว มีแหล่งข่าว มีข้อมูลมากในระดับหนึ่ง จนเมื่อเติบโตในหน้าที่การงานไปเป็นหัวหน้าข่าว -บก.ข่าว ก็จะได้รับมอบหมายให้เขียนคอลัมน์แต่ละวัน ซึ่งคอลัมน์แต่ละวัน ก็จะมาจากทิศทางของข่าวในวันนั้นๆ ตลอดทั้งวัน ที่คนเขียนคอลัมน์ก็จะมีเวลาตลอดทั้งวันในการหาข้อมูล การโทรสัมภาษณ์แหล่งข่าวในประเด็นที่จะเขียน โดยสมัยก่อน บางทีการจะเขียนคอลัมน์ขึ้นมาสักหนึ่งคอลัมน์ คนเขียนอาจต้องไปขลุกอยู่ในห้องสมุดสัก 2-3 ชั่วโมง เพื่อที่จะค้นหาข้อมูลเก่าๆ หรือข่าวเก่าๆที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่จะเขียน ซึ่งไม่เหมือนกับปัจจุบันนี้ ที่แค่search google ก็เจอข่าวหรือข้อมูลที่ต้องการได้แล้ว ซึ่งการหาข้อมูลแบบเดิม ข้อดีก็คือทำให้คนเขียนคอลัมน์มีเวลาคิด มีเวลาไตร่ตรอง มีเวลาในการเรียบเรียงข้อมูลประเด็นก่อนจะเขียนออกมา 

            ด้วยเหตุนี้ คนที่เป็นคอลัมนิสต์ จึงผ่านประสบการณ์การทำข่าว -ผ่านการหาข้อมูล การตรวจค้นข้อมูล จนนำมาสู่การเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์รายวัน  ที่เป็นการบอกกับคนอ่านว่าสถานการณ์ ณ เมื่อวานเป็นอย่างไรและวันนี้จะเกิดอะไรขึ้น

            "คอลัมนิสต์จึงทำหน้าที่วิเคราะห์สถานการณ์ และมองไปข้างหน้าเสมอว่ามันเกิดอะไรขึ้น รวมถึงหน้าที่สำคัญคือการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นต่างๆ  ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นต่างๆ จำเป็นต้องใช้ประสบการณ์ของคนที่เป็นคอลัมน์นิสต์ถึงจะทำได้ โดยการวิพากษ์คือการตำหนิติติง เช่นการวิพากษ์ตำหนิติติงรัฐบาล เพราะสื่อและนักหนังสือพิมพ์ ต้องทำหน้าที่ตั้งคำถาม ตั้งคำถามกับเจ้าหน้าที่รัฐว่าเรื่องนี้ได้ทำหน้าที่ครบถ้วนสมบูรณ์แล้วหรือยัง เรื่องนี้ขาดตกบกพร่องอะไรไป หรือสิ่งที่รัฐบาลทำไปมีผลประโยชน์อะไรเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง การวิพากษ์วิจารณ์ว่า สิ่งที่นักการเมืองทำมีผลประโยชน์แอบแฝงอย่างไรหรือไม่"

            ..เมื่อบทความหรือคอลัมน์ที่เขียนโดยคอลัมนิสต์ ถูกนำเสนอเผยแพร่ ตีพิมพ์ออกไป มันก็เหมือนกับเป็นเสียงที่ก้องกังวาน ที่มันเหมือนกับการเคาะระฆังที่ดังก้องกังวาน ดังไกล เช่นคนในสังคมมีการนำความเห็นดังกล่าวไปพูดคุยกันแบบปากต่อปาก จนทำให้คนที่ถูกคอลัมนิสต์วิพากษ์วิจารณ์ ก็จะต้องกลับมาทบทวนตัวเอง

            "สุทธิรักษ์-บรรณาธิการบริหาร-เนชั่นออนไลน์" ให้ทัศนะต่อไปว่า นอกจากนี้ คอลัมนิสต์ ยังต้องทำหน้าที่เหมือนกับเป็นหูเป็นตาให้กับคนอ่าน บอกให้คนอ่านรู้ว่าตอนนี้กำลังมีเรื่องบางอย่างเกิดขึ้นในสังคม หรือสถานการณ์การเมืองตอนนี้กำลังมีอะไรเกิดขึ้น เช่น กำลังมีการเจรจาต่อรองผลประโยชน์ในโครงการของรัฐของส.ส.-นักการเมืองพรรคร่วมรัฐบาล กำลังมีการต่อรองผลประโยชน์กันอยู่ คอลัมนิสต์ก็จะเขียนบอกกล่าว คอยเป็นหูเป็นตาให้กับประชาชน 

            ...หากมองย้อนกลับก่อนที่จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540ยุคนั้น ถือว่าสื่อหนังสือพิมพ์เฟื่องฟู คอลัมนิสต์จะได้รับการยอมรับ ทำให้สื่อหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับ การจะให้ใครในกองบก. เป็นคอลัมนิสต์หรือติดต่อใครให้มาเป็นเขียนเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์ ทางหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจะต้องมองแล้วมองอีก เช่น คนนั้นมีประสบการณ์ในการทำข่าวเพียงพอหรือไม่ รวมถึง คนที่จะให้เป็นคอลัมนิสต์ ให้มีคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ จะต้องมีลีลาการเขียนมีสไตล์การเขียนของตัวเองด้วย เช่นต้องมีลูกล่อลูกชนในการเขียนวิพากษ์วิจารณ์ มีลีลาการเขียนเช่นการเล่นคำแบบหยิกแกมหยอก 

            สิ่งสำคัญของการเป็นคอลัมนิสต์คือ ต้องมีความรู้ในสิ่งที่จะเขียน ต้องเขียนโดยมีความรับผิดชอบ ไม่เขียนโดยใส่อคติลงไปในงานเขียน สิ่งหนึ่งที่เราจะเห็นสำหรับคอลัมนิสต์โดยเฉพาะยุคก่อนที่มักจะใช้นามแฝงในการเขียน ซึ่งผมเข้าใจเองว่าอาจเพราะคอลัมน์ที่ถูกกำหนดไว้ จะเป็นคอลัมน์ที่เป็นงานเขียนวิพากษ์วิจารณ์ที่แรง กระทบคน จึงอาจไม่ต้องการให้รู้จักตัวตนที่แท้จริงว่าใครเป็นคนเขียน จึงใช้นามปากกา นามแฝง ที่ก็จะทำให้คนที่เขียนก็จะมีความสบายใจในการจะเขียนออกไป เช่นก็สบายใจได้ว่า เขียนไปแล้วจะไม่ถูกกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งการใช้นามปากกา ไม่ได้มีเฉพาะวงการสื่อหนังสือพิมพ์แต่วงการวรรณกรรมก็มีเช่นกัน 

            "สุทธิรักษ์"มีความเห็นต่อเรื่องยุคสมัยของสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป กับผลกระทบและบทบาทของคอลัมน์นิสต์ในยุคปัจจุบันว่า หากเอาเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ ก็อย่างที่รู้กันว่าด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ความนิยมของสื่อสิ่งพิมพ์ในยุคนี้ จึงเข้าไม่ถึงคนอ่านในวงกว้างเหมือนยุคก่อน จึงทำให้คอลัมนิสต์บางคนก็อาจใช้วิธีคือก็เขียนส่งไปลงในคอลัมน์ประจำที่เขียนอยู่ในสื่อสิ่งพิมพ์ แต่ก็ใช้วิธีสร้างช่องทางในการเผยแพร่งานเขียนหรือการแสดงความเห็นในเรื่องต่างๆ เพิ่มเติมขึ้นเช่น การทำBlog ของตัวเองเขียนเรื่องที่สนใจหรือประเด็นที่ตัวเองถนัด ต่อมาเมื่อเป็นยุคเฟซบุ๊กก็เปิดเพจใช้ช่องทางดังกล่าวเผยแพร่ความคิดเห็น-งานเขียนของตัวเอง

            "บทบาทของคอลัมนิสต์ เขาก็ปรับตัวเองโดยจากที่เคยนำข้อเขียนความเห็นไปลงในหนังสือพิมพ์อย่างเดียว ก็นำไปเผยแพร่ เขียนลงในเฟซบุ๊ก แล้วมีคนติดตาม คนนำไปแชร์ อันนี้คือความสำเร็จ โดยก่อนหน้านี้ เราอาจจะวัดกันที่ว่าหนังสือพิมพ์ฉบับไหนขายดี หรือเดินไปร้านอาหาร ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านกาแฟ สภากาแฟตามชุมชนต่างๆ  แล้วมีคนอ่าน มีคนวางในร้านมาก ก็ถือว่าฉบับนั้นแพร่หลายเข้าถึงคนจำนวนมาก

แต่สำหรับทุกวันนี้การแพร่หลายของคอลัมนิสต์ก็คือการกดไลค์ กดแชร์ ไปสู่กลุ่มเครือข่ายต่างๆ เช่นทางไลน์ -เฟซบุ๊ก  -ทวิสเตอร์ ช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็ถือเป็นการวัดอย่างหนึ่งว่าคอลัมน์หรือสิ่งที่ตัวเองเขียนมีคนนิยมมากน้อยแค่ไหน สิ่งนี้คือความเปลี่ยนไป คือคอลัมนิสต์เปลี่ยนไป แต่เป็นการเปลี่ยนของสนามที่จะลงเล่นจากหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ก็ไปสู่หน้าเฟซบุ๊ก โซเชียลมีเดียต่างๆ"

            ...การเปลี่ยนไปดังกล่าว ยังมีผลต่อการเขียนงานของคอลัมนิสต์ด้วย เพราะจากเดิมอาจเขียนวันละหนึ่งชิ้น และมีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่คอลัมน์ที่หนังสือพิมพ์กำหนดไว้ว่าต้องเขียนยาวไม่เกินเท่าไหร่ แต่พื้นที่โซเชียลมีเดีย ที่เปิดกว้าง ก็ทำให้คอลัมนิสต์บางคนเขียนแสดงความเห็นเรื่องต่างๆ ออกมาตลอดเวลา โดยมีคนติดตามจำนวนหนึ่ง บางคนก็เขียนออกมาวันละสองเรื่องในประเด็นที่เขาสนใจ ซึ่งก็มีบางคนที่อาจมีทักษะทางการพูด ก็เพิ่มช่องทางอื่นๆ เข้ามาอีกเช่น การวิเคราะห์ผ่านการจัดรายการทางยูทูป ก็มีผลทำให้คอลัมนิสต์ถูกแพร่หลายไปในโลกโซเชียลมีเดีย จนมีผู้ติดตามจำนวนหนึ่ง 

            "ผมคิดว่าคอลัมนิสต์ยังไม่ตาย เพราะเขาเพียงแค่เปลี่ยนสนาม เปลี่ยนพื้นที่เล่น คือเปลี่ยนจากหน้ากระดาษไปสู่หน้าออนไลน์"

             ...อีกทั้ง คอลัมนิสต์เป็นอะไรที่ติดตัว คือเป็นความเชี่ยวชาญ มีสไตล์ มีการเขียนที่เป็นเอกลักษณ์มีการขมวดประเด็น มีการทิ้งทาย มีเสน่ห์ในการเล่าเรื่อง คนก็ยังติดตามอ่านกันอยู่ ดังนั้นถ้าถามว่าคอลัมนิสต์ตายแล้วหรือยัง ก็ต้องบอกว่ายังไม่ตาย เพียงแต่ว่าเขาไม่ได้อยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์อย่างเดียว  แต่ไปอยู่ในหน้าอื่น แพลตฟอร์มอื่นด้วย เพียงแต่ก็ต้องคิดให้ได้ว่า จะทำอย่างไรถึงจะทำให้งานของตัวเองเข้าถึงคนอ่านหรือกลุ่มเป้าหมายให้ได้ ซึ่งสิ่งนี้คือความท้าทายของคนเป็นคอลัมนิสต์ในยุคปัจจุบัน 

             มันก็คล้ายๆ กับถามว่า หนังสือพิมพ์ตายหรือยัง ก็คิดว่าหนังสือพิมพ์ก็ยังไม่ตาย เพียงแต่หนังสือพิมพ์ก็จะปรับเปลี่ยนรูปแบบไปอยู่ในโลกออนไลน์ควบคู่กันไปด้วยในการนำเสนอเนื้อหาข่าวสารและความคิดเห็นต่างๆ

            "บรรณาธิการบริหาร-เนชั่นออนไลน์"กล่าวย้ำตอนท้ายว่า อีกเหตุผลหนึ่งที่ยังต้องมีคอลัมนิสต์ ก็เพราะก็มีคนที่เขาไม่ได้ติดตามข่าวสารหรือประเด็นบางเรื่องตลอดเวลา แต่คอลัมนิสต์จะเป็นผู้ขมวดปมเรื่องนั้น เหตุการณ์นั้น ในวันต่างๆ ให้คนได้มาอ่านภายในไม่กี่พารากราฟ ไม่กี่หน้า ก็สามารถรู้และเข้าใจเรื่องนั้นได้ ผมจึงคิดว่ามันคือเสน่ห์ที่ต้องยังมีอยู่สำหรับคอลัมนิสต์ 

คอลัมนิสต์ยังไม่ตาย เพราะเขาเพียงแค่เปลี่ยนสนาม เปลี่ยนพื้นที่เล่น คือเปลี่ยนจากหน้ากระดาษไปสู่หน้าออนไลน์ ..อีกทั้ง คอลัมนิสต์เป็นอะไรที่ติดตัว คือเป็นความเชี่ยวชาญ มีสไตล์ มีการเขียนที่เป็นเอกลักษณ์มีการขมวดประเด็น มีการทิ้งทาย มีเสน่ห์ในการเล่าเรื่อง คนก็ยังติดตามอ่านกันอยู่ เพียงแต่ก็ต้องคิดให้ได้ว่า จะทำอย่างไรถึงจะทำให้งานของตัวเองเข้าถึงคนอ่านหรือกลุ่มเป้าหมายให้ได้ ซึ่งสิ่งนี้คือความท้าทายของคนเป็นคอลัมนิสต์ในยุคปัจจุบัน