ผ่าปัญหา “ราคาข้าว” ทุกข์ชาวนาที่วนซ้ำ

“บางคนเปรียบราคาข้าวถูกกว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทุกปีเราก็จะมีการพูดถึงวงจรของชาวนาเกี่ยวกับปัญหาราคาข้าว ปัจจัยหนึ่งที่เป็นปัญหาวนซ้ำ ทำให้ชาวนาทุกยุคสมัยจนอยู่ คือ เป็นผู้ผลิตข้าวและลงทุนปลูกข้าว แต่ไม่สามารถกำหนดราคาขายด้วยตัวเอง”

“ชาวนา” เปรียบเสมือน“กระดูกสันหลังของชาติ” ในขณะที่ “ข้าว” เป็น 1 ในผลผลิตการเกษตรหลักของ “ไทย” แต่ก็ยังพบว่าปัญหาของ “ชาวนาไทย”' กี่ยุคสมัยทำไมถึงยังยากจน กชพรรณ สุขสุจิตร์ Senior Content Creator สถานีโทรทัศน์ PPTVHD ช่อง 36 พูดคุยในรายการ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า

ได้ลงพื้นที่เมื่อปลายปีที่แล้วเห็นภาพรวม ราคาข้าวยังขยับขึ้นไม่เกิน 10 บาท และมีปัจจัยน้ำท่วม พายุเข้าหลายลูกในช่วงต้นฤดูกาล ทำให้ราคาข้าวถูกกดลงไปอีก 5- 6 บาท บางคนเปรียบว่าถูกกว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งในทุกปีเราก็จะมีการพูดถึงวงจรของชาวนาเกี่ยวกับปัญหาราคาข้าว ปัจจัยหนึ่งที่เป็นปัญหาวนซ้ำ ทำให้ชาวนาทุกยุคสมัยจนอยู่ คือ ชาวนาเป็นผู้ผลิตข้าวและลงทุนปลูกข้าว แต่ไม่สามารถกำหนดราคาขายด้วยตัวเอง ทุกอย่างต้องอ้างอิงราคาตลาด และอ้างอิงราคารัฐหากเข้าร่วมโครงการของรัฐบาล ขณะที่การลงทุนมีต้นทุนที่สูง ประมาณ 30,000 - 40,000 บาท แต่ราคาข้าวที่ขายได้ความต่างน้อยมากแทบไม่เหลือกำไรเลย

อีกทั้งต้นทุนแต่ละพื้นที่อาจแตกต่างกัน อาทิ ค่าปุ๋ย ค่าปรับหน้าดิน ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าเช่ารถเกี่ยวและรถไถข้าว บางบ้านไม่มีกำลังซื้อต้องไปเข้าสินเชื่อหรือกู้เงินมาซื้อซึ่งอาจไม่คุ้มกัน เพราะปีหนึ่งใช้รถเกี่ยวตามรอบของการเกี่ยวข้าว จึงใช้วิธีรับจ้างตัดหรือเช่ารถเกี่ยวข้าวจากเพื่อนบ้านแทน ชาวนาบางคนไม่มีนาข้าวของตัวเองต้องเช่าที่นา ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นต้นทุนที่สูงมาก

ขณะข้าวที่ขายถูกตีราคาต่ำบางปีขาดทุน ทางออกเดียวคือกู้หนี้ยืมสิน หรือขอสินเชื่อเพื่อมาลงทุนในรอบต่อไปกลายเป็นวงจรหนี้อีก รวมทั้งการนำเทคโนโลยีหรือโซเชียลมาใช้ ปรับปรุงคุณภาพในการเพิ่มมูลค่าข้าว หรือทำผลิตภัณฑ์อื่นๆทุกอย่างต้องมีต้นทุน แต่ต้องเสริมสร้างองค์ความรู้ ให้ชาวนาในเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วย เช่นทำอย่างไรให้เขาลดต้นทุนการปลูกข้าวให้น้อยที่สุด , การให้ความรู้เรื่องของปุ๋ย ปรับหน้าดิน น่าจะเป็นทางออกที่ทำได้ง่ายที่สุดในขณะนี้

ความเป็นไปได้ที่จะให้ชาวนา ปลูกพืชชนิดอื่นมีปัจจัยหลายอย่าง เพราะการปลูกพืชชนิดอื่นต้องดูคุณภาพของดิน เหมาะสมกับพื้นที่เหล่านั้นหรือไม่ และต้นทุนต่างๆอาจจะสูสีกัน รวมทั้งการให้ลูกหลานซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่รับช่วงต่อทำนาจากพ่อแม่ เขาเห็นสภาพชีวิตของพ่อแม่ปู่ย่าตายายที่ทำนาแล้วไม่ลืมตาอ้าปาก ดังนั้นน้อยมากที่คนรุ่นใหม่จะรับช่วงต่อทำนา หรือถ้ารับช่วงต่อแล้วนำความรู้ไปปรับปรุงได้ผล ได้รับการแก้ไขปัญหา แต่ท้ายที่สุดข้าวก็ถูกกำหนดโดยคนอื่นอยู่ดี ดังนั้นจึงไม่ใช่ทางออกที่ดี ณ วันนี้

ส่วนนโยบายรัฐบาลทั้งประกันราคาข้าว หรือโครงการในอดีตอย่างรับจำนำข้าว และมาตรการต่างๆที่ออกมานั้น ตรงจุดที่สามารถให้ชาวนามีรายได้นำมาลงทุนในรอบต่อไป เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จทันทีแล้วนำไปขาย หรือนำเข้าโครงการเลยก็จะได้เงินมา จ่ายตรงให้ชาวนามีเงินก้อนไปหมุนต่อ ณ วันนี้โครงการเหล่านี้สามารถช่วยชาวนาได้

“การรอนโยบายจากรัฐบาลไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด เพราะนโยบายของรัฐบาล ถ้ามองจริงๆเราไม่ได้เน้นไปที่การสร้างองค์ความรู้ หรือการสร้างเทคโนโลยีในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ส่วนใหญ่โครงการที่เราเห็นเป็นโครงการ ที่ใช้เงินช่วยเหลือมากกว่า ถามว่าชาวนาพอใจหรือไม่ เขาพอใจอยู่แล้วเพราะพอไปเกี่ยวข้าวปุ๊บแล้วขาย ก็ได้เงินจากโครงการรัฐบาลเลย ชาวนาสามารถนำเงินไปหมุนในรอบต่อๆไปได้ ทั้งนี้ความยั่งยืนไม่ได้อยู่ที่จ่ายเงินแล้วจบ แต่อยู่ที่คุณภาพข้าวมากกว่าการช่วยเหลือเงินอย่างเดียว”

ส่วนปัญหาความชื้นของข้าวยังไม่ได้ถูกจัดการอย่างจริงจัง จึงมักเห็นชาวนานำมาตากบนถนน กีดขวางการจราจรเกิดอันตราย ได้พูดคุยกับชาวนาหรือนักวิชาการว่า ทางออกคือควรมีลานตากข้าวกลางในชุมชน แล้วให้ชาวนาหมุนเวียนกันมาตากข้าว ซึ่งบางจังหวัดชาวนาเรียกร้อง ขอให้มีลานตากข้าวกลางของชุมชนหรือลานวัด เพราะต้องใช้พื้นที่ค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยกับบทความของนายวีรพงษ์ รามางกูร ที่ระบุว่า เราควรที่จะเลิกสนใจเรื่อง การเป็นแชมป์ส่งออกข้าว ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้การปลูกข้าวในประเทศสามารถหมุนเวียนแบบสมดุลย์ และเหลือส่งออกในปริมาณที่เราพออยู่ได้ โดยไม่ต้องตั้งเป้าจำนวนส่งออก เพื่อที่ชาวนาไม่ไปผูกติดกับการส่งออกข้าวอย่างเดียว นอกเหนือไปกว่านั้นคือต้องพัฒนาคุณภาพควบคู่ไปด้วย

ซึ่งการควบคุมต้นทุนและการเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวต่างๆ ที่เป็นเรื่องของต้นน้ำตั้งแต่การปลูก การรับซื้อชาวนาควรมีตลาดกลางข้าวหรือในการกำหนดราคาข้าวให้กับชาวนาโดยไม่ขาดทุน เรื่องนี้ควรพูดคุยแก้ปัญหากันได้แล้ว ไม่เช่นนั้นชาวนาจะออกมาเรียกร้อง ราคาข้าวตกต่ำ ซึ่งเป็นวงจรที่เกิดขึ้นทุกปี จนรู้สึกว่ากระดูกสันหลังของชาติอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ

ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดย ความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5