จดหมายเปิดผนึกถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง แนวทางปฏิบัติสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่ในสถานการณ์การชุมนุม

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เป็นองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่มีภารกิจร่วมกันในการรณรงค์ให้สื่อมวลชนแขนงต่างๆ สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามหลักวิชาชีพในสถานการณ์การชุมนุมได้อย่างปลอดภัย ปราศจากการคุกคามต่อชีวิตและเสรีภาพ ตามหลักการสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนซึ่งได้รับการคุ้มครองภายใต้รัฐธรรมนูญ

เนื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีบทบาทและหน้าที่โดยตรงในการควบคุมดูแลสถานการณ์การชุมนุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยประชาชนสามารถแสดงออกซึ่งเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย สมาคมนักข่าวฯ ทั้งสองสมาคมข้างต้น จึงขอสื่อสารไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการปฏิบัติที่ถูกต้องต่อสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่รายงานข่าวและข้อเท็จจริง ตามหลักจริยธรรมวิชาชีพในสถานการณ์การชุมนุม ดังต่อไปนี้

1. เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ควรปิดกั้น ขัดขวาง แทรกแซง หรือกระทำการใดๆที่ทำให้สื่อมวลชนไม่สามารถรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการควบคุมดูแลสถานการณ์การชุมนุม เนื่องจากสื่อมวลชนพึงมีสิทธิและหน้าที่ในการรายงานสถานการณ์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนอย่างโปร่งใส โดยที่มิได้เข้าไปขัดขวางหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่การชุมนุม

2. เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องไม่ใช้ความรุนแรงกับสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุม และควรใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนตามหลักปฏิบัติสากล กล่าวคือ มีการแจ้งเตือนอย่างชัดเจน มีการปฏิบัติจากเบาไปหาหนักอย่างสมเหตุสมผล และหลีกเลี่ยงการสร้างความเสียหายหรือบาดเจ็บต่อสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุม

3. เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ควรแสดงท่าที วาจา หรือพฤติกรรมใดๆที่มีลักษณะคุกคามหรือเกินกว่าเหตุอันควรต่อสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุม

4. เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเรียกตรวจสอบเครื่องยืนยันสถานะผู้สื่อข่าวของสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุมได้ โดยควรใช้ปลอกแขนที่ออกโดย 6 องค์กรวิชาชีพสื่อและบัตรยืนยันตัวตนที่ต้นสังกัดสื่อมวลชนออกให้เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม การเรียกตรวจสอบดังกล่าว ควรทำเฉพาะในกรณีที่มีเหตุอันควรและจำเป็นเท่านั้น เจ้าหน้าที่ไม่ควรเรียกตรวจเอกสารยืนยันตัวบุคคลในลักษณะที่มีเจตนาคุกคามสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุม

5. ในกรณีที่มีการทำร้าย คุกคาม หรือใช้ความรุนแรงกับสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุม ไม่ว่าจากเจ้าหน้าที่หรือกลุ่มบุคคลใดๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจควรเร่งตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา พร้อมแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงโดยเร็ว และดำเนินการต่อผู้กระทำความผิดตามกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในทุกกรณี

6. ในกรณีที่มีการจับกุมคุมขังสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุม ผู้สื่อข่าวต้องได้รับสิทธิ์ในการติดต่อทนายความ ต้นสังกัด และองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเพื่อขอใช้สิทธิ์ทางกฎหมายโดยไม่ชักช้า

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะปฏิบัติต่อสื่อมวลชนตามข้อเรียกร้องข้างต้น และทั้งสองสมาคมขอสงวนสิทธิ์พิจารณามาตรการต่างๆในกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจละเมิดหรือเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องในจดหมายฉบับนี้ ซึ่งอาจรวมถึงการฟ้องร้องตามช่องทางในกระบวนการยุติธรรมด้วย

ทั้งนี้ สมาคมนักข่าวฯ ทั้งสองสมาคมยินดีให้ความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันภายใต้หลักสิทธิเสรีภาพและจริยธรรมหรือแนวปฏิบัติของสื่อมวลชนในการรายงานข่าวในสถานการณ์การชุมนุมข้างต้น

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

13 ธันวาคม 2564

ดาวโหลดจดหมายแบบ DOC / PDF