เบื้องหลัง ล่ามอาชีพความยากและแรงกดดันในห้องสี่เหลี่ยม

หากนับแต่สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าในยุคของสังคมข่าวสาร ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใดบนโลกใบนี้   ทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ ต่างมีความเชื่อมโยงมีผลติดต่อถึงกันได้หมด และไม่ใช่อะไรเป็นเรื่องที่ไกลตัวเราอีกต่อไป  แม้จะอยู่คนละประเทศก็ตาม  

แต่โลกของการสื่อสารที่ไร้พรมแดน ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า  มนุษย์มีความแตกต่างด้านภาษา บางครั้งจึงจำเป็นที่จะต้องมีคนที่เข้ามาทำหน้าที่เสมือนเป็นดั่งสะพานเชื่อม ให้ผู้ส่งสารและผู้รับสาร สื่อสารระหว่างกันได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน ซึ่งอาชีพหนึ่งที่ถือว่ามีความสำคัญในการถ่ายทอดการสื่อสาร ก็คืออาชีพ “ล่าม”  

 

เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (TJA) จัดการสัมมนาสำหรับผู้สื่อข่าวไทย  ในหัวข้อ “อเมริกายุคไบเดน : สิ่งที่สื่อไทยควรรู้ รุ่นที่ 1"  เพื่อให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนในประเทศไทย เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับไทย  เพื่อสานต่อผลประโยชน์ร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศ  รวมทั้งสร้างความเข้าใจเชิงลึกว่าด้วยความร่วมมือระดับทวิภาคีทุกภาคส่วนระหว่าง 2 ประเทศ ที่สื่อไทยควรรู้   อาทิ ด้านสาธารณสุข ความมั่นคงระหว่างประเทศ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ  ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่สถานทูตสหรัฐฯ ได้จัดโครงการนี้ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ในการสัมมนาครั้งนั้น นอกเหนือไปจากความประทับใจในเนื้อหาข้อมูลที่ได้รับจากวิทยากรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับสูงของสหรัฐในแต่ละด้าน อีก 1 สิ่งที่ผู้เข้าร่วมสัมมนาต่างก็รู้สึกประทับใจเช่นเดียวกัน คือบทบาทการทำหน้าที่ของ  “ล่าม”  ผู้ทำหน้าที่แปลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  ที่แปลได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์  ทั้งภาษาพูดและภาษากาย 

“รู้สึกประทับใจการทำงานของล่ามในงานนี้  เพราะสามารถแปลแบบ Real Time  ยิ่งทำให้บรรยากาศการดำเนินงานไหลลื่นไม่ติดขัด  งานนี้เป็นงานสัมมนาที่พูดตลอดเวลา เนื้อหาสาระที่วิทยากรมาพูดมีความหลากหลายมากและเป็นข้อมูลเชิงลึก ล่ามต้องมีความเชี่ยวชาญ และทำงานหนักมาก แม้แต่ช่วงที่เป็นการพูดคุยกันเล่นๆไม่ได้เป็นทางการมาก แต่ล่ามก็เก็บรายละเอียดและแปลให้อย่างครบถ้วน ทำให้ผู้ที่มาร่วมงานได้รับประโยชน์ ”  ชาญชัย ประทีปวัฒนวงศ์ หัวหน้าผู้สื่อข่าวต่างประเทศเนชั่น กล่าว 

“ ส่วนตัวแล้วผมว่าเขาทำหน้าที่ได้ดีมากๆ และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างดี เขาไม่ได้แปลจากการฟังแค่อย่างเดียว แต่พยายามที่จะดูเนื้อหาสาระที่วิทยากรนำเสนอ เช่น มีการฉายภาพบนสไลด์ ก็พยายามจะอธิบายบนสไลด์ ให้กับผู้ฟังได้เข้าใจด้วย ถือว่ามีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมกับงานมากๆ แม้แต่เรื่องที่จำเป็นต้องเจาะจงเชิงลึกอย่างวัคซีน ล่ามต้องเข้าใจคำศัพท์เฉพาะทาง เข้าใจบริบทแวดล้อมของเรื่องนั้นๆด้วย รวมถึงเรื่องของวัฒนธรรมที่อาจจะหล่อหลอมให้คนมีภาษากายแบบเดียวกัน แต่คนละความหมาย รู้สึกชื่นชม” จตุรงค์ แสงโชติกุล ผู้ประกาศข่าว ไทยพีบีเอส แสดงความเห็นถึงการทำงานของล่าม

วันนี้จึงอยากพาไปทำความรู้จักกับอาชีพ “ล่าม”  อาชีพที่หากใครได้ทำความรู้จักอย่างลึกซึ้งแล้ว จะมองว่าอาจจะไม่แตกต่างกับอาชีพสื่อสารมวลชน เพราะเป็นงานที่ต้องถ่ายทอดข้อเท็จจริงให้ผู้รับสารได้รับรู้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน  

“น้ำผึ้ง”  ภัทริกา จุลโมกข์  1 ในผู้ทำหน้าที่ “ล่าม” จากเวทีสัมมนาครั้งนั้น  ด้วยประสบการณ์ทำงานในอาชีพ ล่าม มามากกว่า 14  ปี  โดยเฉพาะงานล่ามความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  เธอพูดได้ถึง 4 ภาษา ไทย อังกฤษ  ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น  โดยจบการศึกษาชั้นปริญญาตรี ด้านสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์​ ปริญญาโท สาธารณสุขด้านควบคุมโรคและระบบสุขภาพ จากสถาบันเวชศาสตร์เขตร้อนแอนท์เวิร์พ (Institute of Tropical Medicine Antwerp) และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสาขาล่ามโดยเฉพาะ  ปัจจุบันนอกจากเป็นล่ามอาชีพแล้ว ยังเป็นนักวิจัย research fellow สาขา Social Science in Humanitarian Action ของ London School of Hygiene and Tropical Medicine

“ถ้าถามถึงจุดเริ่มต้นความสนใจงานแปลและล่าม มีมาตั้งแต่เด็ก เพราะคุณแม่ ( หม่อมอัญชลี ยุคล ณ อยุธยา ) เป็นนักแปล เคยแปลภาพยนตร์  ท่านเคยได้รางวัลนักแปลดีเด่นด้วย  ตอนเด็กๆจะนอนตักและต้องฟังมาตั้งแต่เด็กเลยเวลาที่คุณแม่ทำงาน แต่ถ้าถามว่าเริ่มทำงานล่ามได้อย่างไร ก่อนหน้านี้ทำงานสาย NGO ด้านการคุ้มครองเด็ก อยู่ที่มูลนิธิมาก่อน จากนั้นเป็นผู้จัดการโครงการคุ้มครองเด็กและด้านสุขภาพ  งานแรกที่ได้มีโอกาสทำหน้าที่ล่าม เพราะมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมา ด้วยความที่พูดภาษาอังกฤษได้และเข้าใจเนื้อหา จึงได้รับมอบหมายเป็นล่ามให้กับคนต่างชาติที่มาเยี่ยมโครงการในเมืองไทย นั่นคือจุดเริ่มต้นค่ะ”

เธออธิบายว่าคนทั่วไปมักจะเข้าใจผิดว่าล่ามภาษา กับนักแปลภาษา คือทักษะเดียวกัน แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ โดยนักแปลภาษา คือการแปลเอกสาร ซึ่งการทำงานจะแตกต่างกับงานล่ามที่แบ่งออกไปอีก  2 ประเภท คือ 1. ล่ามพูดพร้อม  คือแปลโดยที่ไม่ต้องให้ผู้พูดหยุดพูดเลย และ 2. ล่ามแปลตาม คือจะแปลเมื่อผู้พูดหยุดพูด และเมื่อล่ามหยุดแปล ผู้พูดก็พูดต่อ ซึ่งในหลายประเทศ อาชีพล่ามจะมีเกณฑ์ต้องสอบผ่านวุฒิบัตรล่าม มีใบประกอบอาชีพ เช่น ล่ามแปลศาลอาญา ก็ต้องไปอบรมกระบวนการยุติธรรมและระบบศาลอาญาด้วย  

เทคนิคในการทำหน้าที่ล่ามของเธอ อย่างแรกคือควรพูดได้มากกว่า 2 ภาษา เพราะจะทำให้เข้าใจสำเนียงแปลกๆได้มากขึ้น  ทำให้มีทักษะในการทำความเข้าใจได้มากตามไปด้วย เนื่องจากแต่ละคำ แต่ละภาษา คือเรื่องของสำเนียง “เพราะอย่าลืมว่าเวลาที่ผู้พูดทั่วไปอยู่บนเวที ผู้พูดจะตื่นเต้น  ต่อให้วิทยากรมาจากประเทศเดียวกันคืออเมริกา แต่ก็จะพูดกันคนละสำเนียง  คนละสปีด และความสามารถในการอธิบายหรือการสื่อสารก็จะต่างกันมาก ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ล่ามไม่สามารถไปคอนโทรลอะไรได้  สิ่งที่ล่ามจะคอนโทรลได้ คือ สติ ของตัวเอง  ต้องตั้งสติตัวเองก่อน  และต้องเตรียมตัวมาเสมอก่อนที่จะไปทำงาน”

ก่อนไปทำงาน  จะต้องไล่อ่านหัวข้อที่จะมีการพูดในงาน  หากได้ชื่อผู้พูดแต่ละท่าน ก็ต้องศึกษาวิธีภาษาทางการทูต ถ้าเป็นหัวข้อที่มีหมอ มีอาจารย์ ก็ต้องไปหาคลิปที่เขาพูดมาฟังก่อน  เพื่อจะได้ทำความคุ้นเคยกับวิธีการใช้ภาษาของผู้พูด รวมถึงการศึกษาข้อมูล ไปหาข่าวเก่าเพื่อมาดูที่มาที่ไป

“ ตอนงานสัมมนา “อเมริกายุคไบเดนฯ”  ใช้เวลาประมาณ 4-5 วันในการทำการบ้าน เพราะมีหลากหลายหัวข้อมาก เช่น เรื่องการนำทับหลังจากสองแหล่งประวัติศาสตร์บุรีรัมย์และสระแก้ว ที่พบไปจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา กลับมาคืนยังประเทศไทย ก็ต้องไปเปิดหาข้อมูลตอนแถลงข่าว กระบวนการทั้งหมดว่าเกิดอะไรขึ้น  เมืองไทยอยู่ภายใต้อนุสัญญาอะไร และโบราณวัตถุอื่นๆ ที่เคยอยู่ในเมืองไทย แต่ตอนนี้อยู่ในการครอบครองของประเทศอื่นมีอะไรบ้าง มีการ ดำเนินคดีอย่างไร หรือมีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นคืออะไร ทั้งหมดนี้ต้องเป็นประเด็นที่จะต้องเข้าใจก่อนวันงานจริงจะมาถึง  เพราะผู้พูดอาจจะพูดเรื่องอะไรก็ได้ที่อยู่ภายใต้กรอบของประเด็นนั้น ดังนั้นการทำการบ้านเตรียมพร้อมไว้จึงสำคัญมาก”

 

“น้ำผึ้ง” อธิบายเพิ่มเติมว่าการเป็นล่าม ไม่ใช่แค่แปลภาษา แต่เป็นการแปลเนื้อหาและสิ่งที่ผู้พูดต้องการสื่อสาร  หากล่ามไม่เข้าใจที่มาที่ไป บริบทแวดล้อม หรือแม้แต่ถ้าไม่เข้าใจว่ารัฐบาลชุดเก่าของเขาเป็นอย่างไร เมื่อเขาพูดโจ๊กหรืออะไรมา  คนที่เป็นล่ามเองก็จะงง และไม่สามารถแปลได้อย่างถูกต้อง 

“ถามว่าในงานสัมมนา“อเมริกายุคไบเดนฯ”   หัวข้อที่แปลยากที่สุด คือ เรื่องของผลวิจัยวัคซีน ที่ยังไม่มีการเปิดเผยในที่สาธารณะทั่วไป เพราะนั่นหมายความว่าจะไม่ได้รับเอกสารล่วงหน้า และไม่สามารถหาอ่านก่อนได้ว่าเขาจะพูดอะไร  การเก็บรายละเอียดและแปลสิ่งที่ผู้พูดนำขึ้นมาแสดงบนสไลด์ จึงจำเป็นและสำคัญ เพื่อทำให้ผู้ฟัง เข้าใจสิ่งที่ผู้พูดกำลังสื่อสารได้อย่างครบถ้วน สมบูรณ์   เช่นเดียวกับการสังเกต อวัจนภาษา หรือภาษากายของตัวผู้พูดที่แสดงออกมา ซึ่งจะช่วยทำให้การแปลสมบูรณ์และถูกต้องมากขึ้น

เคยมีงานวิจัยออกมาว่าในการสื่อสารของคนเรา ใช้อวัจนภาษา หรือภาษากาย กินพื้นที่กว่า 80 % ในการสื่อสาร  ส่วนภาษาพูด ใช้แค่ 20 %  ซึ่งในภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน จะเป็นการสื่อสารผ่านสีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง ถ้าพูดออกมาก็ฟังออกเลยว่ากำลังจะพูดตลกแล้ว หรือกำลังจะซีเรียสแล้ว เพราะน้ำเสียงหน้าตาทั้งหมดมันจะประกอบไปด้วยกัน ดังนั้นเวลาที่เราจะค้นหาความหมายหลังคำพูดนั้นๆ  เราต้องมีการมองผู้พูดด้วย เพื่อดูอวัจภาษาของเขา” 

อีกหนึ่งสิ่งที่หลายคนมักจะเห็นเวลาไปงานที่มีล่าม คือ “ตู้ล่าม” ซึ่งเป็นห้องสี่เหลี่ยม ที่จะให้ล่ามเข้าไปนั่งทำงานอยู่ภายใน  ซึ่งคุณน้ำผึ้งบอกว่า ตู้นี้ถือมีความสำคัญมากในการสร้างสมาธิ เพราะระหว่างการทำงานล่าม  สมองต้องคิด ตาต้องมอง หูต้องฟัง  แต่ก็มีเรื่องที่ขำขัน เพราะบางทีก็เคยมีผู้ฟังเดินเข้ามาเปิดตู้ ถามหาทางไปห้องน้ำ หรือบางคนก็ไม่เชื่อว่ากำลังแปล แต่คิดว่าพากย์อยู่และอ่านสคริปต์ในตู้  

เธอย้ำว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เจออุปสรรคในการทำงาน เช่น สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ดี เสียงจากไมโครโฟนขาดๆหายๆ ได้ยินประโยคนั้นยังไม่ชัดเจน ล่ามที่ดีจะไม่แปลออกไป เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการสื่อสารผิดความหมายได้  นอกจากนี้ระยะเวลาในการทำงาน ก็มีผลต่อการแปล เพราะล่ามจะไม่แปลงานต่อเนื่องคนเดียวเกิน 30 นาที ทำให้เรามักจะเห็นภาพของล่ามทำงานเป็นคู่ เพื่อที่จะเป็น Backup ให้กัน

“ศักยภาพของสมองมนุษย์ ไม่สามารถที่จะรองรับการทำล่ามแปลพร้อม ได้เกิน 30 นาที ต่อให้จะเป็นอัจฉริยะแค่ไหน มีสมองใหญ่กว่าไอสไตน์กี่ล้านเท่า เพราะหลังจากนั้นคุณภาพก็จะดร็อปลง และก็จะแปลผิด จะมีองค์กรหนึ่ง คือ  AIIC – สมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศเป็นองค์กรล่าม เกิดมาตั้งแต่สมัยล่ามแปลพร้อม ปี ค.ศ. 1948 สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งพยายามตั้งกฎออกระเบียบในการทำหน้าที่ล่าม หนึ่งในกฎที่เขาบังคับใช้ และขอให้ล่ามอาชีพใช้  คือถ้าต้องแปลนานกว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง ต้องมีคู่ และต้องสลับกันให้ได้ประมาณ 30 นาที และการจะเป็นคู่บัดดี้ที่ทำงานล่ามด้วยกัน  ก็จะต้องมีระดับความเป็นมืออาชีพที่ไว้ใจได้ เพื่อที่เวลาที่เราติดขัดอะไร เขาก็จะช่วยเรา  เหมือนเป็น Backup กันและกัน เพราะความยากของงานล่าม หลายคนไม่เห็น ไม่เข้าใจ จนกว่าจะมาเป็นล่ามเอง คือมันแปลผิดไม่ได้ เพราะเวลาแปลผิดปุ๊ป มันคือสิ่งที่สื่อสารมาพัง แปลผิดมาคำหนึ่ง อาจทำให้เกิดสงครามได้เลย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่เป็นการแปลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”

แม้งานล่ามจะเป็นงานที่ยากและกดดันสูง แต่ในขณะเดียวกัน ถือว่าเป็นงานที่โชคดี ที่ทำให้ได้เรียนรู้จากตัวงานเองและตัวเนื้อหา  ได้เจอคนในระดับที่คงยาก ที่จะสามารถหาโอกาสเจอแบบนี้ได้  ในความยากและท้าทายที่เกิดขึ้นนั้น จึงเป็นเสน่ห์ในการทำงานที่สร้างความประทับใจให้บ่อยครั้ง  เช่น ครั้งหนึ่งได้มีโอกาสไปเป็นล่ามให้กับงานขององค์การอนามัยโลก ที่เดินทางมาไทย ลงไปเยี่ยมบ้านของผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องฟอกไต ในชุมชนบ่อนไก่ เป็นความภูมิใจที่ได้สื่อสารสิ่งที่ผู้ป่วยพูดออกมาตามความหมายจริงๆให้กับองค์การใหญ่ระดับโลก 

  ซึ่งการได้ไปทำหน้าที่เป็นล่ามงานสัมมนาระหว่างไทยกับสหรัฐ “อเมริกายุคไบเดนฯ”  ที่มีผู้สื่อข่าวไทยมาร่วมสัมมนา  ก็เป็นหนึ่งในงานที่เธอยอมรับว่า รู้สึกว่าทั้งยากและท้าทายที่สุดที่เคยทำมา  เพราะหัวข้อสัมมนาที่หลากหลาย และเป็นประเด็นเชิงลึกในหลายๆเรื่อง  อีกทั้งไม่ใช่แค่ผู้สื่อข่าวที่นั่งดูล่ามแปลถูกหรือเปล่า แต่ผู้พูดก็ดู แล้วก็ใส่หูฟัง คอยฟังตามด้วยว่าแปลถูกหรือไม่  ซึ่งตามวิสัยทูตเมื่อเลี่ยงที่จะไม่ตอบ ก็จะไม่บอกตรงๆว่าจะไม่ตอบ แต่จะทำเป็นไม่เข้าใจคำถาม ดังนั้นล่ามจึงต้องตั้งสติรับสิ่งต่างๆเหล่านี้ให้ดี  

อาชีพล่ามเป็นงานที่เหมาะกับคนที่สนใจหาความรู้ใหม่ๆ ไม่ชอบอยู่กับที่ และชอบเรียนรู้  ถ้าจะถามว่าหัวใจสำคัญของการทำอาชีพล่ามคืออะไร สำหรับตัวเองสิ่งที่ยึดเป็นหลักเสมอในการทำงานไม่ว่าจะไปเป็นล่ามด้านไหนก็ตาม นั่นคือ ต้องมีความสัตย์ซื่อในเนื้อหา มีความโปร่งใสในหน้าที่  ล่ามที่ดีและเป็นมีออาชีพ จะต้องไม่มีตัวตน  ต้องทำให้ผู้ฟังไม่รู้สึกว่ามีล่ามอยู่ในห้อง เขาควรจะรู้สึกว่ากำลังฟังจากผู้พูดเอง   เพราะอย่าลืมว่าเรามีหน้าที่แค่เป็นผู้สื่อสาร และผู้ส่งสารเท่านั้นเอง ฉะนั้นเราต้องมีความโปร่งใสและซื่อสัตย์กับตัวเนื้อความของมัน  ต้องทำให้มันออกมาได้เหมือนกับที่เขาพูด และตรงกับสิ่งที่เขาตั้งใจจะสื่อ นั่นคือความหมายและหัวใจของการทำอาชีพล่าม”  “น้ำผึ้ง”  ภัทริกา จุลโมกข์  กล่าวทิ้งท้าย