ต้นไม้ใหญ่ ใครอนุรักษ์? ร่วมปักหมุดข้อมูลต้นไม้ใหญ่ เพื่อ กม. คุ้มครองมรดกสีเขียว

ปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลกระทบทางตรงและทางอ้อมทั่วทุกพื้นที่ในโลก ภัยพิบัติ ภัยสุขภาพและภัยอื่นๆ ตามมาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะมีความร่วมมือในการพยายามกำหนดกฏหมายหรือข้อตกลงสนธิสัญญานานาชาติต่างๆ  หวังช่วยกันป้องกันแก้ไขไม่ให้สิ่งแวดล้อมโลกมนุษย์ถูกทำลายเสียหายไปมากกว่านี้ เช่น กฏหมายควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มลพิษน้ำ หมอกควัน ป่าไม้ แม่น้ำ ทะเล ฯลฯ

กระแสรณรงค์ “รักษ์สิ่งแวดล้อม” เริ่มเข้มข้นขึ้นจากภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะกิจกรรมฟื้นฟูโลกด้วยการปลูกป่า ปลูกต้นไม้ บางประเทศร่วมใจกันปลูกเป็นแสนเป็นร้อยล้านต้น แม้แต่ประเทศไทยก็พยายามประกาศขอให้ประชาชนเพิ่มพื้นทีสีเขียว

ทำไมชาวโลกถึงตระหนักและส่งเสริมการปลูกต้นไม้  ก็เพราะ  “ต้นไม้” คือทรัพยากร ธรรมชาติที่สร้างประโยชน์มหาศาลให้แก่มนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้ความร่มเย็น สร้างสมดุลย์ในระบบนิเวศ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย เป็นแหล่งอาหาร ลดมลพิษทางอากาศ  ช่วยดูดซับน้ำจากฝนป้องกันการชะล้างไหลบ่าของน้ำฝน ปกป้องผืนดิน นอกจากนี้ยังช่วยด้านจิตใจ ต้นไม้ให้คุณค่าทางจิตวิญญาณ สุขภาวะอื่น ๆ อีกหลายอย่างเช่น “การอาบป่า” ที่ อาศัยธรรมชาติคือป่าเข้ามาช่วยบำบัดรักษาร่างกายและจิตใจ ซึ่งคิดค้นและพัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยชาวญี่ปุ่นในปี ค.ศ.1982 เป็นลักษณะการซึมซับธรรมชาติให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า ไม่ว่าจะเป็นรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส เหมาะกับคนเมืองผู้มีวิถีชีวิตเร่งรีบ และมีความเครียดสูงจนเสี่ยงต่ออาการเจ็บป่วยที่มีผลกับร่างกายและจิตใจ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในหลายประเทศ  และบรรพบุรุษของมนุษย์โลกใช้พลังธรรมชาติจากต้นไม้บำบัดกับสุขภาพมายาวนานหลายร้อยปี เช่น  ศาสตร์แห่งชี่กง

ประเทศที่พัฒนาแล้วให้ความสำคัญกับ “ประชากรต้นไม้ใหญ่” ไม่ต่างจาก ประชากรทั่วไป  เช่น สิงคโปร์  ญี่ปุ่น อังกฤษ อเมริกา ฯลฯ ที่นอกจากจะปลูกเพิ่มแล้วยังดูแลรักษาทนุถนอมเป็นอย่างดี มีกฏหมายปกป้องคุ้มครองหลายฉบับ และส่งเสริมกิจกรรมเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์อีกมากมาย เช่น กลุ่ม TreeCount! ใน เมืองนิวยอร์กมีอาสาสมัครดูแลต้นไม้กว่า 2,300 คน มีการช่วยกันทำ “บันทึกข้อมูลต้นไม้” กว่า 6.8 แสนต้นในเมืองอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นชนิดพันธุ์ ขนาด ลักษณะความสมบูรณ์ สิ่งที่ต้องดูแลเป็นพิเศษรวมถึงคุณประโยชน์ที่มีต่อชุมชน ฯลฯ และยังคำนวณคุณค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ปริมาณน้ำฝนที่ต้นไม้แต่ละต้นดูดซับไว้ ปริมาณที่ช่วยประหยัดไฟฟ้าคิดเป็นกิโลวัตต์ชั่วโมงเท่าใดต่อปี ปริมาณมลภาวะที่ลดลง ฯลฯ

มีการประเมินตัวเลขไว้ว่า “ต้นไม้แต่ละต้น” สามารถช่วยเมืองนิวยอร์กประหยัดค่าใช้จ่ายประมาณ 530 ดอลล่าร์สหรัฐหรือ 16,000 บาทต่อปี (ที่มา https://www.nycgovparks.org/trees/treescount)

เมื่อไทยยังไม่มีกฏหมายคุ้มครองต้นไม้

ย้อนกลับมาดูประเทศไทยรอบ 10 ปีที่ผ่านมา  พบเรื่องเศร้าใจว่าป่าไม้ของเรายังถูกทำลายลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่า 102.4 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 32 % ของพื้นที่ทั้งหมด ทั้งนี้หากเปรียบเทียบมาตรฐานเฉลี่ยพื้นที่สีเขียวในเมืองหลวงทั่วโลกเมื่อเทียบกับอัตราประชากร ควรมีพื้นที่สีเขียวในเมืองไม่ต่ำกว่า “9 ตร.ม. ต่อคน”  สิงคโปร์มี 66 ตร.ม.ต่อคน มาเลเซียมี 55 ตร.ม.ต่อคน สหรัฐอเมริกา 23.1 ตร.ม.ต่อคน  เวียดนาม  13.7 ตร.ม.ต่อคน ในขณะที่ คนกรุงเทพฯ มีเพียงเฉลี่ย 6.18 ตร.ม.ต่อคน ต่ำว่ามาตรฐาน  ที่น่าเศร้าไปกว่านั้นคือในแต่ละวันมีภาพข่าวต้นไม้ขนาดใหญ่หรือต้นไม้มรดกในที่ดินเอกชนหรือพื้นที่หน่วยงานราชการจำนวนมาก ถูกทอดทิ้ง รุกราน ตัดโค่นเพื่อรองรับการก่อสร้างถนน หมู่บ้าน สร้างสถานีรถไฟฟ้า ฯลฯ

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมี พ.ร.บ.ป่าไม้ ฉบับเดิมปี พ.ศ. 2484 ซึ่งระบุว่า  “ไม้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจบางชนิด ได้แก่ ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัน ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พยุงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยุง ไม้ซิก ไม้กระซิก ไม้กระซิบ ไม้พะยูง ไม้หมากพลูตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดำ ไม้อีเฒ่า ไม้เก็ดเขาควาย ไม่ว่าจะขึ้นอยู่ในที่ใดๆ ก็ตามในราชอาณาจักร ถือเป็นไม้หวงห้ามทั้งสิ้น”

ล่าสุด เมื่อเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2562 รัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ป่าไม้ฉบับใหม่ที่ปลดล็อกการตัดไม้หวงห้าม ซึ่งใช้มาอย่างยาวนานกว่า 78 ปี โดย พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ระบุว่า “ไม้ทุกชนิดที่ขึ้นในที่ดินมีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม” นั้นหมายความว่า การทำไม้โดยเฉพาะไม้มีค่า จึงไม่จำเป็นต้องทำเรื่องขออนุญาตอีกต่อไป

แม้กฎหมายดังกล่าว จะเป็นการปลดล็อกเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้มั่นคงจากการประกอบอาชีพทำไม้ ปลูกป่าเศรษฐกิจ และนำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงเกิดคำถามถึงต้นไม้ใหญ่หรือต้นไม้เก่าแก่ที่มีมูลค่าทางสิ่งแวดล้อมและทางจิตใจของชุมชน ซึ่งเติบโตอยู่นอกเขตป่าคุ้มครอง ใครจะมีสิทธิในการอนุรักษ์ ?

การอนุรักษ์พรรณพืชในประเทศไทยนั้นแตกต่างจากการอนุรักษ์สัตว์เป็นอย่างมาก กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สัตว์นั้นครอบคลุมสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า โดยมีพ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เป็นหลัก หรือแม้แต่สัตว์ที่อาศัยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าก็อาจถูกคุ้มครองได้ด้วยกฎหมายว่าด้วยการอนุรักษ์ในเขตพิเศษดังกล่าว จึงอาจสรุปได้ว่ากฎหมายว่าด้วยอนุรักษ์สัตว์นั้น ครอบคลุมทั้งการอนุรักษ์ในถิ่นอาศัย (in situ conservation) การอนุรักษ์นอกถิ่นอาศัย (ex situ conservation) และการใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่า

ในขณะเดียวกัน กฎหมายว่าด้วยการอนุรักษ์พรรณพืช เช่น พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และ พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 นั้นเน้นการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก และเน้นการนำเข้า-ส่งออกของพืชอนุรักษ์และพืชสงวนมากกว่าการอนุรักษ์ภายในประเทศ และยังเน้นการปรับปรุงพันธุ์เพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์มากกว่าจะคำนึงถึงการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ

กลุ่ม mor and farmer ได้ทำการใช้ machine learning แยกพื้นที่สีเขียวออกจากภาพถ่ายดาวเทียมของกรุงเทพฯ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2560 ถึง ต้นปี พ.ศ. 2561 พบว่า กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวทั้งสาธารณะและส่วนบุคคลคิดเป็นเพียง 13.7% ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับแนวคิดเมืองสีเขียวของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เสนอให้เมืองควรมีพื้นที่สีเขียว 30-50% ต่อพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับเป้าหมาย 40% ภายในปี พ.ศ. 2583 ของเมืองเมลเบิร์นในประเทศออสเตรเลีย (เริ่มต้นโครงการในปี พ.ศ. 2555 ด้วยพื้นที่สีเขียว 23%) ที่ปัจจุบันดูแลต้นไม้ใหญ่ในเมืองกว่า 70,000 ต้น และให้ความสำคัญต่อการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของพืชท้องถิ่น

สิงคโปร์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้ความสำคัญต่อปริมาณพื้นที่สีเขียวในเมือง โดยมี Singapore Botanic Gardens หรือสวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 150 ปี และครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 512.5 ไร่ เป็นพื้นที่สำคัญและเป็นผู้นำระดับโลกในการวิจัยพันธุ์กล้วยไม้ที่ทางสวนฯ ดูแลอยู่มากกว่า 1,200 ชนิด

สิงคโปร์เองยังมีชุดกฎหมายว่าด้วยการรักษาต้นไม้โดยเฉพาะอย่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยพื้นที่สีเขียวและต้นไม้ (Parks and Trees Act) ซึ่งห้ามตัด แต่ง ทำลาย หรือย้ายต้นไม้ใดๆ ที่มีเส้นรอบวงใหญ่กว่าหนึ่งเมตรขึ้นไป ในพื้นที่อนุรักษ์หรือพื้นที่ว่าง (vacant land) เว้นเสียแต่จะได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 50,000 ดอลลาร์สิงคโปร์หรือประมาณล้านบาทเศษ และยังมีชุดคำสั่งเพื่อคุ้มครองต้นไม้ใหญ่สองข้างถนนสายสำคัญโดยเฉพาะ (Heritage Road Green Buffers, 2006) โดยทั้งหมดนี้สังกัดอยู่ภายใต้ความดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติสิงคโปร์

นำชัย แสนสุภา นายกสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย  อธิบายว่า ปัจจุบัน มีเทคโนโลยีและเครื่องมือในการล้อมย้ายต้นไม้ ที่ผ่านมา ประเทศสิงคโปร์ เคยทำการย้ายต้นจามจุรียักษ์ ทั้งต้นไปอยู่ในที่ๆ ดีกว่าเดิม และให้ดิน อาหาร ที่ดีกว่าเดิม โดยย้ายไปทั้งรากกว้าง 6x6 เมตร และขุดลึกลงไป 1 เมตร โดยไม่มีการตัดแต่งกิ่ง

“แน่นอนว่าการย้ายต้นไม้ดังกล่าว ต้องได้รับการวางแผน จัดสรรงบประมาณล่วงหน้า เพราะการย้ายต้นไม้หนักหลายตัน เกี่ยวข้องกับหลายส่วน เช่น เครื่องมือ เครน การขุดดิน เตรียมต้นไม้ให้พร้อมสำหรับการถูกย้าย และที่สำคัญไม่แพ้กันคือ หลังจากย้าย ต้องมีการเสริมรากเทียม ยึดสลิงเพื่อให้ต้นไม้ไม่ล้ม ติดเซ็นเซอร์วัดความเอียงของต้นไม้ โดยลิ้งค์กับแอพพลิเคชั่นแบบเรียลไทม์ ปล่อยให้ต้นไม้โยกได้เล็กน้อยเพื่อให้แทงราก ซึ่งต้องดูแลอย่างต่ำ 5 ปี เพื่อให้ความเอียงอยู่ตัว รวมถึงดูแลสุขภาพต้นไม้ในระยะยาว ดังนั้น ทุกอย่างต้องได้รับการวางแผน" นำชัย กล่าว

สำหรับประเทศที่มีความภาคภูมิในทรัพยากรธรรมชาติของชาติตนเองจนเห็นได้ชัดจากการใช้ชีวิตและกิจกรรมหลากหลายกลางแจ้งที่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอย่างกลมกลืนเช่นสหรัฐอเมริกานั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 รัฐสภากลางของอเมริกาได้ออกกฎหมาย Endangered Species Act, 1973 เพื่อคุ้มครองชนิดพันธุ์ต่างๆ ของสัตว์และพืช ทั้งในแง่คุณค่าทางความงดงาม, ระบบนิเวศ, การศึกษา, ประวัติศาสตร์, นันทนาการ, และวิทยาศาสตร์ ต่อชาติและประชาชน (aesthetic, ecological, educational, historical, recreational, and scientific value) และมีเกณฑ์ในการพิจารณาว่าชนิดพันธุ์ใดสมควรได้รับความคุ้มครองอย่างเป็นระบบ โดยในแต่ละมลรัฐยังมีชุดกฎหมายและหน่วยงานว่าด้วยการอนุรักษ์ที่แยกย่อยลงไปอีก เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม สังคม และวิถีชีวิตที่แตกต่างของแต่ละรัฐด้วย

BIG Trees จุดประเด็นสังคม อนุรักษ์ต้นไม้ในเขตเมือง

ทั้งนี้ ในปี 2554 กลุ่ม BIG Trees ซึ่งก่อตั้งขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มคนที่ต้องการขับเคลื่อนพื้นที่สีเขียวในเมือง โดยการดูแลที่ถูกต้องบนพื้นฐานของความเข้าใจ เพื่อให้ต้นไม้ใหญ่ ได้เติบโตไปพร้อมกับเมือง

อนันตา อินทรอักษร ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มบิ๊กทรีส์ (BIG Trees Project) เล่าถึงจุดเริ่มต้นของบิ๊กทรีส์ว่า เรามองว่า หากต้องการอยู่ในเมืองที่พัฒนา มีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากอาคารที่พัฒนาจะเป็นไปได้หรือไม่ที่ต้นไม้จะอยู่ร่วมกับเมือง เกิดคำถามขึ้นมาว่า เมืองที่มีคุณภาพที่ดีเป็นแบบไหน ทำให้เกิดการรวมตัวจากกลุ่มคนเล็กๆ เพียง 5 คน ด้วยเงินเพียง 0 บาท เมื่อ 9 ปีที่แล้ว เพราะเราเชื่อว่าทุกคนเป็นบิ๊กทรีส์ เราไม่ใช่ส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แต่เราคือธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวที่สมดุลย์

หลังจากการก่อตั้ง บิ๊กทรีส์ทำงานร่วมกับหลายฝ่ายทั้งภาครัฐ เช่น สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร รวมถึงภาคเอกชนที่ให้ทุนในการสร้างพื้นที่สีเขียวธรรมชาติคุณภาพ และภาคประชาสังคม ในการสร้างจิตสำนึกไม่เพียงแค่การอนุรักษ์ต้นไม้ แต่ยังลงรากลึกไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่จะส่งผลต่อธรรมชาติ ผ่านกิจกรรมรวมกลุ่มอาสาสมัครสำรวจ ดูแลคุณภาพต้นไม้ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การยับยั้งการตัด หรือย้ายต้นไม้ โดยเปลี่ยนการออกแบบทางสถาปัตยกรรม รักษาพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองให้คงอยู่ เกิดความเคลื่อนไหว เห็นคุณค่า แลกเปลี่ยน และหาทางออกร่วมกัน

ทั้งนี้ หลังจากก่อตั้งบิ๊กทรีส์ได้ไม่นาน การสำรวจต้นไม้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้เริ่มต้นขึ้น โดยการให้ประชาชนถ่ายภาพ พร้อมเขียนรายละเอียดต้นไม้ส่งเข้าประกวดผ่านทางเฟซบุ๊ก รวมกว่า 100 ต้น โดยแบ่งหมวดเป็น ต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุด ต้นไม้ที่สูงที่สุด ต้นไม้ที่สวยที่สุด ต้นไม้ที่มีคุณค่าน่าประทับใจมากที่สุด และต้นไม้พิเศษที่น่าสนใจที่สุด รวมทั้งจัดทำหนังสือ “100 ต้นไม้ มหานคร” เพื่อเก็บบันทึกภาพและข้อมูลของต้นไม้อันทรงคุณค่าทั้ง 100 ต้นเอาไว้เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษา

แต่จากการสำรวจต้นไม้ 100 ต้น ที่กลุ่มบิ๊กทรีส์ เคยเก็บรวบรวมมากว่า 9 ปีก่อน ผ่านทางภาพถ่ายดาวเทียม พบว่า ต้นไม้บางต้น ได้หายไปจากพื้นที่ที่มีการระบุไว้ และมีการสร้างคอนโดเข้ามาแทนที่ หรือ บางต้นยังคงอยู่ในจุดพิกัดเดิม แต่ไม่สามารถทราบได้ว่า ได้รับการดูแลที่ดีอย่างถูกต้องตลอด 8 ปีที่ผ่านมาหรือไม่

เครือข่ายประชาชนผลักดันรุกขมรดก

เครือข่ายภาคประชาชนที่รักษ์สิ่งแวดล้อมเริ่มตระหนักและพยายามให้ความรู้การอนุรักษ์ดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่เพิ่มมากขึ้น มีการสนับสนุนอาชีพ “รุกขกร” นอกจากนี้หน่วยงานราชการหลายแห่งเริ่มให้ความสำคัญเช่นกัน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดให้เกิดกิจกรรมขึ้นทะเบียนต้นไม้มรดกเป็น       “รุกขมรดกของแผ่นดิน” มีประชาชนและหน่วยงานเข้าไปร่วมส่งข้อมูลรายละเอียดต้นไม้จากทั่วประเทศเพื่อประกวดและขึ้นทะเบียน

ทั้งนี้ข้อกำหนดต้นไม้ที่จะถือว่าเป็น  “รุกขมรดกชาติ” ประกอบด้วยคุณสมบัติเบื้องต้น เช่น มี อายุเกิน 100 ปี มีความสวยงาม มีคุณค่าทางวัฒนธรรม ฯลฯ ปัจจุบันมีการคัดเลือกต้นไม้ขึ้นทะเบียนไปแล้ว กว่า 120 ต้น จากทั้งหมด 500 กว่าต้นที่ส่งเข้ามา  โดยต้นไม้ที่เก่าแก่สุดอายุถึงเกือบ 2,000 ปี

ยังมีต้นไม้ทรงคุณค่าอีกมากมายในเมืองไทยที่ยังไม่ได้ถูกสำรวจบันทึกเก็บข้อมูลเอาไว้ หากพวกเราปล่อยปละละเลยต้นไม้เหล่านี้คงไม่เหลือให้ลูกหลานในอนาคต!

เก็บดาต้า สำรวจต้นไม้ทรงคุณค่า

ปัญหาสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นในวันนี้ คือ ประเทศไทยยังไม่มีฐานข้อมูลดาต้า “ต้นไม้ใหญ่” หรือ “ต้นไม้มรดก” ที่ถูกจัดเก็บไว้เป็นระบบ ดังนั้น ทีมอาสาสมัครจาก “ชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกแห่งประเทศไทย” (Thailand Data Journalism Network หรือ TDJ) โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงได้รวมกลุ่มกันเพื่อนำเสนอวิธีการเก็บOpen Data ข้อมูลต้นไม้มรดกและต้นไม้ใหญ่ทั่วประเทศไทย เพื่อระดมข้อมูลเชิงลึก ด้วยการใช้ระบบ “Youpin” (https://beta.youpin.city) ซึ่งเป็น Crowdsourcing Platform พัฒนาโดย Boonmee Lab ให้คนไทยได้มีโอกาสช่วยกันปักหมุดเก็บข้อมูลต้นไม้ที่ตัวเองต้องการรักษาไว้ โดยระบบดังกล่าว สามารถระบุพิกัด รายละเอียดและรูปภาพของต้นไม้ได้ ผ่านมือถือหรือคอมพิวเตอร์

พงศกร ธีรภาพวงศ์ CTO บริษัท อินดี้ ดิช จำกัด อดีตวิศวกรอาวุโสด้านการพัฒนาซอฟแวร์ อเมซอน หนึ่งในทีมอาสาสมัครจาก ชมรมทีดีเจ (TDJ) กล่าวว่า ความตั้งใจในการเดินหน้าผลักดันให้มีการปักหมุด เพื่อช่วยกันสำรวจและแชร์ต้นไม้ใหญ่ โดยหวังสร้างโอเพ่น ดาต้า (Open Data) และ Tree Census เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้นำไปใช้วิเคราะห์และสร้างผลกระทบต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ ยังอยากให้คนไทยทั่วประเทศได้มีส่วนร่วมในเรื่องราวเกี่ยวกับต้นไม้สำคัญอายุหลายร้อยปี ที่ตั้งอยู่ในถนน ในชุมชนของตนเอง โดยเฉพาะคนเมือง เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ และสร้างพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน และอีกส่วน หนึ่ง คือ สร้างความมีส่วนร่วมและความตระหนักในเรื่องต้นไม้โดยเฉพาะคนเมือง เพื่อให้เกิดการอนุรักษณ์และสร้างพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืนต่อไป

ทดสอบระบบ Youpin พื้นที่มักกะสัน

สำหรับพื้นที่นำร่องในการทดสอบระบบ Youpin ทีมทีดีเจ ได้ร่วมกับ กลุ่มบิ๊กส์ทรี สำรวจต้นไม้ในโรงงานมักกะสัน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย พื้นที่สีเขียวใจกลางเมือง ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมและมรดกสีเขียวที่อุดมสมบูรณ์ เมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ จากการสำรวจต้นไม้ขนาดใหญ่ ในพื้นที่ราว 100 ไร่ พบว่า มีต้นไม้ขนาดใหญ่จำนวนมากและยังมีความสมบูรณ์ อาทิ ต้นยางนา สูงที่สุดในกรุงเทพฯ 40 เมตร ขนาดทรงพุ่ม 16 เมตร เส้นรอบวง 250  เซนติเมตร, ต้นไทร สูง 30 เมตร ขนาดทรงพุ่ม  60 เมตร เส้นรอบวง 500 เซนติเมตร, ต้นโพธิ์ สูง 25 เมตร ขนาดทรงพุ่ม 30 เมตร เส้นรอบวง 250 เซนติเมตร, ต้น         หูกวาง สูง 24 เมตร ขนาดทรงพุ่ม 10 เมตร เส้นรอบวง 125 เซนติเมตร ต้นจามจุรี (เอวา) สูง 45 เมตร ขนาดทรงพุ่ม 60 เมตร เส้นรอบวง 400 เซนติเมตร, ต้นประดู่ สูง 30 เมตร ขนาดทรงพุ่ม 25 เมตร เส้นรอบวง 312 เซนติเมตร, ต้นพระยาสัตบัญ สูง 25 เมตร ขนาดทรงพุ่ม 8 เมตร เส้นรอบวง 145 เซนติเมตร, ต้นหูกวาง สูง 35 เมตร ขนาดทรงพุ่ม 30 เมตร เส้นรอบวง 196 เซนติเมตร,   ต้นมะฮอกกานี สูง 25 เมตร ขนาดทรงพุ่ม 30 เมตร เส้นรอบวง 330 เซนติเมตร, ต้นมะขาม สูง 35 เมตร ขนาดทรงพุ่ม 20 เมตร เส้นรอบวง 130 เซนติเมตร และสูง 25 เมตร ขนาดทรงพุ่ม 35 เมตร เส้นรอบวง 230 เซนติเมตรอีกหนึ่งต้น

เก็บดาต้าต้นไม้รอบ 2 กับการมีส่วนร่วมของประชาชน

เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ทีมทีดีเจ ได้ร่วมกับ กลุ่มบิ๊กส์ทรี ได้เดินทางไปสำรวจต้นไม้ในพื้นที่โรงงานมักกะสันอีกครั้ง  โดยเปิดให้อาสาสมัครกว่า 50 คน ได้ร่วมสำรวจต้นไม้ใหญ่ในครั้งนี้ ซึ่งจากการสำรวจพื้นที่ราว 120 ไร่ จากพื้นที่รวมกว่า 497 ไร่ พบว่า มีต้นไม้ใหญ่อันทรงคุณค่าหลายสิบต้น โดยต้นไม้ที่สำคัญๆ ได้แก่ ต้นจามจุรี ต้นยางนา ต้นไทร ต้นโพธิ์            ต้นประดู่แดง ต้นพญาสัตบัน ฯลฯ

ทั้งนี้ การลุกขึ้นเดินหน้านำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนดังกล่าว ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการทำฐานข้อมูลเปิด (Open Data) เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมให้คนไทยได้มีส่วนร่วมในการผลักดันกฏหมายคุ้มครองต้นไม้ที่มีคุณค่าเหล่านี้เพื่อผลประโยชน์ต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทยและสิ่งแวดล้อมโลก

ถึงเวลาที่ “คนไทย” ต้องมี กม.คุ้มครองต้นไม้มรดก !

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่คนไทยจะมีโอกาสได้ร่วมมือกันผลักดัน “กฎหมายคุ้มครองต้นไม้มรดก” และควรเริ่มจากหลักการสำคัญเบื้องต้น ดังนี้

1 การกำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนต้นไม้มรดกและต้นไม้ใหญ่ทั่วประเทศไทย เป็นการระบุสถานที่ตั้งชัดเจนเพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบดูแล

2 ภาครัฐและภาคเอกชนรวมถึงประชาชนทั่วไป ควรร่วมจัดตั้งกองทุนคุ้มครองดูแลและรักษาต้นไม้มรดกที่ขึ้นทะเบียน มีกรณีศึกษาจากทั่วโลกว่าชี้ให้เห็นว่า “เงินทุนสนับสนุน” ทำให้กิจกรรมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

3 นอกจากการออกกฎระเบียบเพื่อปกปักรักษาแล้ว การกำหนดบทลงโทษผู้ทำลายหรือทำร้ายต้นไม้มรดก ยังสามารถเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยเพิ่มแรงต้านการทำลายมรดกสีเขียวเหล่านี้

สำหรับแนวทางในการยกร่างกฏหมายนั้น อาจศึกษาตามแนวทางของ พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ร.บ. น้ำบาดาล ฯลฯ และควรมีการออกกฏหมายให้มีการคุ้มครองแก่ต้นไม้ใหญ่ทุกชนิด เช่นเดียวกับในแคนาดาหรืออินเดีย และควรออกกฏหมายให้ความคุ้มครองแก่ต้นไม้ที่มีสถานะเป็นมรดกชาติ (Heritage)  รวมถึงการอาศัยช่องทางกฏหมายผังเมือง กฏหมายระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่องทางสิทธิของชุมชนตามรัฐธรรมนูญช่วยจัดสรรงบประมาณบำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ อย่างยั่งยืน

ความร่วมมือ “ปักหมุดต้นไม้ใหญ่” ของคนไทยครั้งนี้ คือพลังสำคัญที่จะช่วยกันปกป้องและหยุดยั้งการทำลายต้นไม้มรดกของพวกเรา และเป็นข้อมูลสำคัญที่จะช่วยส่งเสียงผลักดันให้รัฐบาลออก “กม.คุ้มครองต้นไม้มรดก” ...  ก่อนที่จะไม่เหลือมรดกของต้นไม้ให้คุ้มครอง !

----------------------------------------------------------------------------------------

ชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกแห่งประเทศไทย

ปาริชาติ บุญเอก

สิริพรรณี  สุปรัชญา

ประภาภรณ์ เคารพ

ธณพงศ์  เกษมาลี

พงศกร  ธีรภาพวงศ์


 

รายการอ้างอิง

http://tree.culture.go.th/mobile/index.html

https://www.nycgovparks.org/trees/treescount

https://www.bltbangkok.com/article/info/8/263

https://th.wikipedia.org › wiki › รุกขมรดก

กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ. โครงการการจัดการข้อมูลข่าวสารเชิงประเด็นสู่สาธารณะในโครงการ ความเต็มใจจ่าย

เพื่อพื้นที่ป่าไม้ในเมือง กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

https://dsignsomething.com

https://thaipublica.org/2019/05/ho-chi-minh-city-green-area-trees/

https://www.facebook.com/pg/morandfarmer/photos/?tab=album&album_id=2472450906106707&__tn__=H-R

https://www.telegraph.co.uk/expat/expatlife/12066748/Botanist-who-left-austerity-hit-Kew-for-Singapore-Its-a-dream-world-here.html

http://melbourneurbanforestvisual.com.au

https://www.nparks.gov.sg