19 หน่วยงาน ร่วมมือเปิดตัวแอปพลิเคชั่น “พ้นภัย”ฐานข้อมูลภัยพิบัติและระบบภูมิสารสนเทศ

วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ที่มิตรทาวน์ฮอลล์ สามย่านมิตรทาวน์ นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และนายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมฯ ได้รับเชิญจากสภากาชาดไทย ร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วย “ความร่วมมือในการบูรณาการขับเคลื่อนการใช้งานระบบฐานข้อมูลภัยพิบัติและระบบภูมิสารสนเทศ เป็นความร่วมมือของหน่วยงานภาคี ๑๙ หน่วยงาน

ได้แก่ สภากาชาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร กองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ  กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ  สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ  กรมการปกครอง  กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น  กรมที่ดิน  กรมพัฒนาที่ดิน  กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน  กรมอุตุนิยมวิทยา  การไฟฟ้านครหลวง  การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)  และมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย

ได้ร่วมกันพัฒนา WEB และ MOBILE APPLICATION “พ้นภัย” เพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัย” โดยเป็นความร่วมมือในการบูรณาการและขับเคลื่อนการใช้งานระบบฐานข้อมูลภัยพิบัติและระบบภูมิสารสนเทศ เพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัยร่วมกันของหน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านการบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัย

นายแพทย์พิชิต ศิริวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์ฯ กล่าวว่า “โครงการฯ นี้ เป็นความร่วมมือของหน่วยงานภาคี ๑๙ หน่วยงานข้างต้น ได้ร่วมกันพัฒนา WEB และ MOBILE APPLICATION “พ้นภัย” ซึ่งมีฐานข้อมูลแผนที่และข้อมูลสำคัญอื่นที่เป็นประโยชน์จากหลายหน่วยงาน ทำให้ประชาชน สามารถเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติและใช้แจ้งเหตุ และขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัย และมีกระบวนการคัดกรองตรวจสอบคำร้องให้ถูกต้องอย่างรวดเร็ว ผ่านตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. อำเภอ   ไปจนถึงระดับจังหวัด ก่อนที่จะจัดส่งความช่วยเหลือไป ทำให้มีการบูรณาการ การบริหารจัดการภัยพิบัติของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็ว ทันเหตุการณ์ โดยที่ทุกหน่วยงานเข้าถึงข้อมูลตรงกัน ลดความซ้ำซ้อน และความไม่ทั่วถึงในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยลงได้

แอปพลิเคชัน “พ้นภัย” ได้เริ่มมีการนำไปใช้ในการรับมือภัยพิบัติต่าง ๆ ทั้งอุทกภัย วาตภัย  ไปจนกระทั่งภัยโควิด ประสบความสำเร็จอย่างดี และจะมีการนำระบบที่พัฒนาแล้วเสร็จไปเผยแพร่ผลักดันสู่การใช้งานจริง อย่างกว้างขวางทั่วประเทศต่อไป

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ในส่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ร่วมมือในการดำเนินงานโครงการ ฯ ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังได้วางเป้าหมายขยายผลการใช้งาน แอปพลิเคชัน “พ้นภัย” ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในทุกจังหวัด พร้อมจัดให้มีเจ้าหน้าที่ประสานงานการให้ความช่วยเหลือและให้คำแนะนำการใช้งาน แอปพลิเคชัน “พ้นภัย” รวมถึงใช้ประโยชน์จากระบบฐานข้อมูลภัยพิบัติและระบบภูมิสารสนเทศ (GIS) และ แอปพลิเคชัน “พ้นภัย” ในการบูรณาการสรรพกำลัง ทั้งเจ้าหน้าที่ เครื่องมืออุปกรณ์ และเครื่องจักรกล         สาธารณภัยจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ทั้ง 18 แห่ง สนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เพื่อให้การปรับปรุงและพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านภัยพิบัติให้มีความครบถ้วนและครอบคลุมทุกประเภทภัย

นายธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สนับสนุนในด้านการพัฒนาศักยภาพ อาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. และอาสาสมัครต่างด้าว หรือ อสต. ในการเรียนรู้การใช้งานแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” และส่งเสริมให้ อสม. และอสต. นำแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” ไปใช้จริงในการปฏิบัติงานตั้งแต่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด 19 ซึ่งปัจจุบันยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราเรียกว่าการสำรวจสุขภาพใจ ด้วยการใช้แอปพลิเคชัน “พ้นภัย” สำรวจความเดือดร้อน และความต้องการความช่วยเหลือของคนในชุมชน โดยที่ผ่านมา อสม. และอสต. ได้ส่งคำร้องขอความช่วยเหลือมากว่า 20,319 คำร้อง ทั้งในเรื่องของการกักกันโรคโควิด 19 อุทกภัย อัคคีภัย วาตภัย ภัยแล้ง ภัยหนาว โรคระบาดสัตว์ โรคระบาดในมนุษย์ การคมนาคม และในอนาคตอันใกล้นี้ อสม.และอสต. จะเป็นผู้ปักหมุดพิกัด โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง เด็ก ผู้พิการ ผู้ที่ต้องพึ่งพิง ที่ อสม. อสต. เข้าในระบบแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” เพื่อให้หน่วยงานเครือข่ายใช้ประโยชน์ในการช่วยเหลือ กลุ่มเปราะบางได้อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดภัย

นายพิริยะ ฉันทดิลก รองอธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า กรมการปกครอง ได้มีการแต่งตั้งผู้แทนเข้าร่วมเป็นคณะทำงานฯ เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนโครงการฯ เชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลระหว่างฐานข้อมูลทะเบียนกลาง และระบบภูมิสารสนเทศ (GIS) เพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัย  พัฒนาขีดความสามารถและประโยชน์สูงสุดของระบบในการตรวจสอบด้วยเลขประจำตัวประชาชน เพื่อยืนยันตัวตนและข้อมูลจำนวนผู้อยู่อาศัยจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัย โดยให้ทุกจังหวัดสั่งการให้นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ดาวน์โหลดและเข้าใช้งานแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” เพื่อเป็นเครื่องมือและช่องทางในการรายงานสาธารณภัยและการร้องขอความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว และให้นายอำเภอ รายงานผลการดาวน์โหลดเพื่อเข้าใช้งานแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทุกพื้นที่ ตลอดจนกำหนดให้การใช้งานแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” เป็นหัวข้อบรรยายในการฝึกอบรมหลักสูตรกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และมอบหมายให้ลูกจ้างตามโครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ (Tambon Smart Team) ทำหน้าที่ให้คำแนะนำแก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในการเข้าใช้งานแอปพลิเคชัน “พ้นภัย”

นายธงชัย กีรติหัตถยากร  รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้สนับสนุนข้อมูลแผนที่แสดงชื่อและตำแหน่งสถานพยาบาล ข้อมูลรายละเอียดจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ และข้อมูลด้านครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อให้ทราบพื้นที่เสี่ยงภัย ตำแหน่งหรือพิกัดที่แม่นยำของผู้ประสบภัย ข้อมูลแผนที่ ข้อมูลเส้นทางถนนและปริมาณการจราจร เพื่อให้การสนับสนุนทรัพยากรและทีมแพทย์ฉุกเฉินสามารถให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงทีและรวดเร็ว พร้อมทั้งสามารถตรวจสอบและติดตามการนำส่งทรัพยากรไปยังพื้นที่ประสบภัยได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ทั้งนี้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขอขอบคุณทุกหน่วยงานภาคีเครือข่ายและทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกันในการบูรณาการและขับเคลื่อนการใช้งานระบบฐานข้อมูลภัยพิบัติและระบบภูมิสารสนเทศ เพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากรอบความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงนี้ จะเกิดประโยชน์สูงสุดในการจัดการภัยพิบัติที่อาจเกิดผลกระทบต่อภาวะสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงทีต่อไป

นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ให้จังหวัดทุกจังหวัดแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่  ดาวน์โหลดและเข้าใช้งานแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถแจ้งภัย และร้องขอความช่วยเหลือได้อย่างสะดวก รวดเร็ว รวมทั้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบพิจารณาคัดกรองคำร้องจากแกนนำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อสม. เพื่อการจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพและส่งต่อความช่วยเหลือได้ทันต่อสถานการณ์

นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวว่า กรมที่ดิน ได้สนับสนุนการจัดส่งข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลง ซึ่งไม่กระทบกับข้อมูลส่วนบุคคล เข้าไปในโครงการฯ เพื่อให้สามารถนำข้อมูลไปใช้จำแนกสภาพพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินได้เป็นรายแปลง ช่วยให้โครงการฯ ได้เห็นสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินพร้อมกับมีขอบเขตแปลงที่ดินร่วมอยู่ด้วย ซึ่งกรมที่ดินยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนและขับเคลื่อนการใช้งานแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” กรมที่ดินพร้อมและยินดีที่จะให้ความร่วมมือ เพื่อให้แอปพลิเคชัน “พ้นภัย” ถูกนำไปใช้งานอย่างแพร่หลาย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลจากกรมที่ดินจะสามารถก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่โครงการฯ และประชาชนได้

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์  ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) กล่าวว่า วันนี้นับเป็นโอกาสอันดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA ได้มาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการบูรณาการและขับเคลื่อนการใช้งานระบบฐานข้อมูลภัยพิบัติและระบบภูมิสารสนเทศ เพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัยร่วมกันของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ด้านการบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัย ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้เป็นการต่อยอดจากระบบบริการจัดการฐานข้อมูลภัยพิบัติเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระบบให้ทันสมัย นำไปสู่การให้ความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์

โดยโอกาสนี้ นายกสมาคมนักข่าวฯ และเลขาธิการสมาคมนักข่าวฯ ได้พบกับ เรืออากาศเอก อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ภายหลังพิธีลงนาม พร้อมกับกล่าวขอบคุณสพฉ. ที่ได้สนับสนุนโครงการการการรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งและภัยพิบัติ หรือ เซฟตี้เทรนนิ่ง (Safety training) ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์มาอย่างต่อเนื่องทุกปี